Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การชุมนุมใหญ่ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมือง 3+10 ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีความสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสมัยใหม่ที่คนทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน กลุ่มสังคมนิยมแรงงานขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมมีข้อเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อแลกเปลี่ยนกับมวลชน นักเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ ตามที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการเมืองไทยคือการที่ประชาชนถูกตัดออกจากการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนภายใต้การบริหารของระบอบเผด็จการที่มีทหาร กลุ่มจารีตอนุรักษ์นิยมร่วมกับนายทุนใหญ่ที่เรียกรวมกันว่า “ชนชั้นนำ”

การเมืองของชนชั้นนำจัดวางระบบโครงสร้างที่สร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้แก่พวกตัวเอง เป็นระบบเหลื่อมล้ำต่ำสูง สะสมทุนที่มาจากการเอารัดเอาเปรียบคนจำนวนมาก ดูดงบประมาณแผ่นดินไปเสพสุขอย่างหรูหรา สร้างสุมกำลังพล ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เบ่งอำนาจกับคนในประเทศ และผลิตซ้ำระบบอภิสิทธิ์ให้ลูกหลานตัวเองเกิดมาร่ำรวยและได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจต่อไป ในขณะที่ประชาชนนับล้านกำลังตกงาน ขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต การที่พวกเรามารวมพลังกันในวันนี้ก็คือความพยายามที่จะบั่นทอนระบบผูกขาดและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำ

นอกจากนี้ ระบบผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำกำลังถูกคนธรรมดาท้าทายอย่างรุนแรง สองปีที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ “ไม่กลัวใคร” ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาโลกร้อน กะเทาะจิตสำนึกของเหล่านักการเมืองในสภาที่เก่งแต่ตีฝีปาก  เราเห็นการปฏิวัติ การนัดหยุดงานโค่นล้มเผด็จการในซูดาน แอลจีเรีย การประท้วงของคนหนุ่มสาวคนทำงานในฮ่องกงนับล้านเพื่อสิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเอง และชาวเลบานอนนับแสนที่กำลังโกรธแค้นรัฐบาลที่เห็นแก่ตัว ละเลยการแก้ปัญหาต่างๆ จนทำให้คนตกอยู่ในสภาพขาดความปลอดภัยในชีวิต และการต่อสู้ของคนผิวดำในขบวนการ Black Lives Matter ต่อต้านการกดขี่ทางเชื้อชาติสีผิวในอเมริกา ซึ่งอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เชื่อมโยงกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่มาจากโรคระบาดด้วย การประท้วงล่าสุดในไทยก็ไม่ต่างออกไป มันเชื่อมโยงกับการที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามใช้โรคระบาดเพิ่มอำนาจให้ตัวเองในการปราบปรามจับกุมประชาชน ซึ่งนักการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็ไม่สามารถหยุดยั้งคนพวกนี้ได้  

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอาจไม่สำเร็จในเร็ววัน เราควรขยายพื้นที่การต่อสู้เรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ การรวมกลุ่มจัดตั้งของคนในชุมชน ในที่ทำงาน เพื่อรวมพลังกันมากขึ้น เพราะเราอยากเห็นคนออกมาเดินขบวนนับแสนนับล้านอีก เห็นการแสดงออกต่อต้านในชีวิตประจำวัน ในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงานทุกภาคส่วน รวมทั้งการนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อให้ได้ชัยชนะ

สิ่งที่กลุ่มสังคมนิยมแรงงานต้องการเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นเนื้อหาของข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการและวิธีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย กล่าวคือ

ขณะนี้ได้มีการเดินหน้ารณรงค์เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อจัดวางโครงสร้างระบบให้เป็นประชาธิปไตย และผลักดันรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษา แรงงาน เกษตรกร นักวิชาการ เอ็นจีโอและกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก ยังมีบางจุดที่สำคัญเกี่ยวกับการผลักดันรัฐสวัสดิการคือ การเก็บภาษีรายได้และทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการนำเงินภาษีมาสร้างรัฐสวัสดิการ การประกันการว่างงานและลดอิทธิพลของคนรวย ไม่แตกต่างจากการลดอิทธิพลและงบประมาณของสถาบันกษัตริย์

สำหรับวิธีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย คือ การเสริมสร้างสถานการณ์และมาตรการที่เอื้อต่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมืองถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการต่อสู้ระยะต่อไป เพราะหากไม่มีองค์กรสหภาพแรงงาน ก็ไม่สามารถคานอำนาจของนายทุน ผู้บริหารให้หยุดละเมิดสิทธิเสรีภาพในที่ทำงานได้ และการจัดตั้งกลุ่มการเมืองนอกสภาที่ช่วยขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้าและนโยบายลดความเหลื่อมล้ำได้ไปต่อ ดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่การโค่นล้มเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 16 อาศัยปัจจัยการมีกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย พรรคการเมืองของคนชั้นล่าง และการที่นักศึกษาต่อสู้ร่วมกับประชาชนและขบวนการแรงงาน

สรุปข้อเสนอเพิ่มเติม 5 ประการตามลำดับ ดังนี้

  1. สร้างรัฐสวัสดิการ โดยต้องเก็บภาษีรายได้ ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินจากคนรวยในอัตราก้าวหน้ามากขึ้นเพื่อกระจายรายได้และประกันการว่างงานให้ประชาชนทุกคน
  2. องค์กรนักศึกษาควรขยายแนวร่วมเพื่อจุดไฟในหมู่แรงงานคอปกน้ำเงิน คอปกขาวให้มีการรวมกลุ่มต่อสู้ ใช้การนัดหยุดงานมาสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง
  3. สร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน  จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ว่าจะในหมู่กรรมกร ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐและเอกชน คนทำงานต้องมีส่วนร่วมในการบริหาร เจรจาต่อรองในที่ทำงาน
  4. จัดตั้งองค์กร/กลุ่มการเมืองที่มีเอกภาพภายใน ในลักษณะองค์กรมวลชน มีระบบสมาชิก โดยเริ่มจากการจัดประชุมร่วมกันกับองค์กร/กลุ่มต่างๆ และขยายกลุ่มศึกษา
  5. จัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายนอกสภาในอนาคต เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงาน

ทั้งนี้อิทธิพลของระบอบเผด็จการไม่ได้มีแค่หัว ยังมีเครือข่ายที่แทรกไปทั่วสังคมไทย เราจึงต้องรณรงค์สร้างวัฒนธรรมค่านิยมเสรีภาพ เสมอภาคและการมีพื้นที่ในการเข้าตรวจสอบและมีส่วนร่วมให้ลงลึกถึงรากและสำเร็จในรุ่นนี้.

 

ด้วยความสมานฉันท์

กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน

FB page @SocialistWorkerThai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net