Skip to main content
sharethis

คุยกับนักกิจกรรมกลุ่ม NU-Movement หลังใช้ Performance art ตั้งคำถามและสร้างข้อถกเถียงถึงการประกวดดาวเดือนในมหาวิทยาลัย และการรับน้องในระบบ SOTUS เผยเคยไปคุยกับสโมสรนิสิต องค์การนิสิต และสภานิสิตแล้ว ได้รับคำตอบเพียงแค่เข้าใจ แต่ยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ไม่ได้มีผู้นำความเคลื่อนไหวที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทว่าในครั้งนี้ตัวแสดงหลักผู้ขับเคลื่อนการชุมนุม ล้วนแล้วแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นในบางพื้นที่ผู้ขับเคลื่อนการชุมนุมเป็นเพียงแค่นักเรียนมัธยม

ปรากฎการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่ามหาวิทยาลัยไทยได้ผ่านพ้นยุคสายลมแสงแดดเสียสิ้นแล้ว มีหลายภาควิชา หลายคณะ และในหลายมหาวิทยาลัย ยุติการทำกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ต่อสังคม อาทิ การประกวดดาวเดือน และการรับน้องในระบบโซตัส (SOTUS) 

แต่ในมหาวิทยาลัยหัวเมือง จังหวัดพิษณุโลก อย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีกลุ่มนิสิตทั้งกลุ่มแกนนำ และกลุ่มผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นทางการเมืองคู่ขนานไปกับขบวน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ กลับยังคงตั้งมั่นในธรรมเนียมปฏิบัติที่เชื่อว่าเป็นประเพณีอันดีงามอยู่เช่นเดิม 

แม้ว่า นิสิตกลุ่ม NU-Movement จะเคยตั้งคำถาม และเรียกร้องไปยังองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจต่อการทำกิจกรรมดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กิจกรรมการประกวดดาวเดือน ซึ่งปลูกฝัง และตอกย้ำค่านิยมความเชื่อเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์จากรูปลักษณ์ภายนอก และกิจกรรมรับน้องในระบบโซตัสซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของระบอบเผด็จการ ยังคงเกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์ปัจจุบัน

สิ่งที่พวกเขาทำได้ และเลือกที่จะทำคือ การใช้ศิลปะการแสดง (Performance art) ตั้งคำถามถึงสามัญสำนึกของเพื่อนนิสิตต่อกิจกรรมดังกล่าว 

ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย นิสิตภาควิชาจิตวิทยา ชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่ม NU-Movement เล่าถึงที่มาของการทำกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา ตัวเองและกลุ่มเพื่อนได้ตั้งคำถามถึงการทำกิจกรรมประกวดดาวเดือนมาตลอดว่ามีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ และให้ประโยชน์อะไรสังคม หรือแม้กระทั่งให้ประโยชน์อะไรกับตัวนิสิตเอง อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ใช้เงินจำนวนมาก 

“ในงาน Freshy night มีการใช้เงินของมหาวิทยาลัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกวดดาวเดือนประมาณ 5-6 แสนบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเงินสมทบจากกลุ่มศิษย์เก่า และหน่วยงานภายนอกอีกจำนวนมาก โดยรวมๆ แล้วการจัดประกวดดาวเดือนของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีจะใช้เงินหลักล้าน” 

นอกจากเรื่องการใช้เงินโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ปองภพได้ขยายความเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการประกวดดาวเดือนต่อไปว่า เป็นกิจกรรมที่ตอกย้ำคุณค่าความเป็นมนุษย์จากหน้าตา และรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งหมายความว่า ด้วยเกณฑ์การคัดเลือกแล้วจะมีคนที่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ไปทันที จากการที่ไม่ได้มีหน้าที่ตรงตามนิยามของคนหน้าตาดี

“เชื่อไหมว่าเวลามีกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ที่มีเด็กหลายคนเข้าร่วม โดยปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะถ่ายภาพมาลงใน Facebook ภาพที่ปรากฏส่วนใหญ่จะเป็นภาพของคนหน้าตาดี คนที่เป็น ดาวคณะ เดือนคณะ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ส่วนคนที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกนิยามว่าหน้าตาดี แทบจะหารูปตัวเองไม่เจอเลย”

ปองภพเล่าต่อว่า การประกวดดาวเดือนในแต่ละปี ก่อนที่จะเป็นแข่งขันในรอบชิง ในแต่ละคณะจะมีการประกวดกันภายในก่อน เพื่อคัดเลือกตัวแทนของคณะเข้าสู่รอบต่อไป และเมื่อจบการประกวดสิ่งที่ได้รับกลับมาก็มีเพียงแค่ชื่อว่า ดาว-เดือนในปีนี้มาจากคณะอะไร และเมื่อถามถึงประโยชน์ที่คณะได้รับจากการเข้าประกวดก็ไม่มีใครตอบสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลได้ นอกจากคำตอบที่ตายตัวในแบบเดิมว่า “นี่คือหน้าตาของคณะ”

“สุดท้ายแล้วคุณให้คุณค่ากับคณะด้วยหน้าตาของคนที่เข้ามาเรียน และคนที่ได้เป็นดาว-เดือนของมหาวิทยาลัยแค่นั้นหรือ แม้แต่คนที่ได้เป็นดาว เดือน มหาวิทยาลัยเอง เขาก็มองไม่ออกว่าการที่เขาได้รับตำแหน่งนี้มันทำประโยชน์อะไรให้คณะ หรือมหาวิทยาลัย ส่วนเด็กมัธยมที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็ไม่ได้เลือกเข้าเรียนในคณะต่างๆ เพราะว่ามีดาวเดือนของมหาวิทยาลัยอยู่”

ปองภพ เล่าต่อว่าก่อนหน้านี้ เคยเข้าไปคุยกับสโมสรนิสิต แต่ก็ได้รับคำตอบมาว่าเข้าใจถึงข้อเรียกร้อง เข้าใจเหตุผลทั้งหมด แต่ไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมนี้ได้ เพราะทุกสมาคมศิษย์เก่าบอกให้ทำกิจกรรมนี้มาอีกที และเป็นกิจกรรมที่ทำสืบทอดมายาวนานแล้ว โดยเห็นว่ากิจกรรมลักษณะนี้จะเป็นหน้าตาให้กับคณะ ส่วนองค์การนิสิตยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเคยเข้าไปพูดคุยแล้วก็พบว่าเรื่องนี้ถูกปัดตกไป ขณะที่สภานิสิตก็เคยส่งเรื่องร้องเรียนไปให้ และได้มีเข้าไปพูดคุยกับสโมสรนิสิตของคณะต่างๆ แล้วได้รับคำตอบว่าไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมนี้ได้ พร้อมให้เหตุผลด้วยว่า มหาวิทยาลัยยังให้งบในการทำกิจกรรมส่วนนี้ก็จำเป็นต้องทำต่อไป

“มันคือการกดดันกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ว่าคนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันจะให้คำตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่ก็ต้องทำมันต่อไป”

ส่วนเรื่องการรับน้องแบบระบบโซตัส ปองภพ เล่าถึงการแสดงที่ทำในครั้งนั้นว่า จำลองมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งบางคณะจะมีกฎเกณฑ์ที่สร้างกันขึ้นมาเองว่า ห้ามนิสิตชั้นปีที่ 1 ย้อมสีผม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุผล นอกจากนี้นิสิตชั้นปีที่ 1 ยังถูกบังคับให้แต่งกายให้ถูกต้องตามระเบียบในขณะที่ชั้นปีอื่นๆ จะได้รับการผ่อนปรน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่าย้ำให้เห็นชัดถึงวิธีที่มองคนไม่เท่ากัน และเป็นการเลือกปฏิบัติ

ปองภพ เปิดเผยว่า การทำกิจกรรมทั้งเรื่องดาวเดือน และเรื่องโซตัสนั้น เป็นเพราะต้องการให้เกิดการถกเถียง และกระตุ้นสามัญสำนึกของในมหาวิทยาลัย เสียงตอบรับที่ได้คือ มีการพูดถึงความจำเป็นของการประกวดดาวเดือนเกิดขึ้นในกลุ่มนิสิตหลายคณะ ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนประเด็นเรื่องการรับน้องแบบโซตัสนั้นกลับไม่ได้สร้างข้อถกเถียงอะไรมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกคนต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่ตัวเองทำไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

“จริงๆ โซตัสใน ม.นเรศวร รุนแรงแบบที่เห็นตามข่าวไหม ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน แต่จะเป็นไปในลักษณะของการสร้างแรงกดดันทางสังคมอยู่ ส่วนใหญ่ก็อ้างเหตุผลเรื่องการรวมคน ให้มาทำความรู้จักกัน แต่จริงๆ แล้วเราสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องสร้างการกดดัน หรือออกกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผล คุณลองนัดน้องมาเล่นบอร์ดเกมดูไหม หรือจะมาชวนกันมาแนะนำหนังสืออ่านนอกเวลา หรือชวนกันออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยกัน ทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ดีกว่าการสร้างให้พี่ระเบียบ พี่วินัยเป็นศัตรูร่วมของน้องปี 1 เพื่อให้เขามารู้จักกัน และสามัคคีกัน”

สำหรับกลุ่ม NU-Movement ส่วนใหญ่เป็นนิสิตในคณะสังคมศาสตร์ เคยเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งจากการทำกิจกรรมล่ารายชื่อยืนถอดถอน กกต. และจัดการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยหลังจากเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งมีการจัดการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 ที่สนามบริเวณด้านหน้าตึกคณะสังคม ซึ่งในครั้งนี้มีนิสิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกตัวไปสอบปากคำในฐานะพยาน และหลังจากนั้นนิสิตคนดังกล่าวยังพบว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลส่งข้อความทางไลน์มาข่มขู่เพื่อไม่ให้เดินทางไปร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่สนามหลวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net