โควิดทำคนจนเพิ่ม 38 ล้านคน ทศวรรษหน้าการเติบโตทั้งภูมิภาคอาจลดร้อยละ 1 ต่อปี

ธนาคารโลกชี้โควิด-19 ทำคนจนเพิ่มถึง 38 ล้านคนในปี 2563และยังทำให้คนอีก 33 ล้านคนไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ และสร้างความเสียหายต่อการลงทุน ทุนมนุษย์และผลิตภาพ ถ้าไม่เยียวยาผลที่ตามมาในทศวรรษหน้าการเติบโตอาจลดลงร้อยละ 1 จุดต่อปี คนจนจะไม่ได้รับการดูแลเพราะเข้าถึงบริการต่างๆ ไม่ได้

29 ก.ย.2563 ธนาคารโลกออกรายงานด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำ เดือนตุลาคม 2563 ในรายงานประเมินการเติบโตของจีดีพีที่ลดลงในปี 2563-2654 ภายใต้การระบาดของโควิด-19 และจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดการระบาดของทั้งภูมิภาคซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  ซึ่งจะกระทบต่อการว่างงาน คุณภาพการศึกษา และทำให้เกิดคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

รายงานระบุว่าการระบาดของโควิด-19 และการพยายามควบคุมการระบาดของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่าการควบคุมการแพร่ระบาดที่ประสบความสำเร็จในบางประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูแต่ประเทศในภูมิภาคนี้ก็พึ่งพาประเทศอื่นๆ อย่างมาก

รายงานยังระบุอีกว่าในปี 2563 จีดีพีเติบโตขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2510  ไทยติดลบที่ร้อยละ 8.3 แต่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้าโดยอยู่ที่ 4.9 ซึ่งอ้างอิงจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ที่จะมีวัคซีนออกมา แต่การคาดการณ์นี้ก็ยังน้อยกว่าที่ประเมินเอาไว้ก่อนมีการระบาดที่คาดการณ์ว่าในปี 2564

ทั้งนี้ธนาคารโลกยังให้ข้อมูลอีกว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างชนชั้นที่เรียกว่า “คนจนกลุ่มใหม่” ขึ้นมา มีประชาชนต้องตกอยู่ในความยากจนเพิ่มขึ้นถึง 38 ล้านคนในปี 2563 รวมถึงอีก 33 ล้านคนที่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้หากไม่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดและอีก 5 ล้านคนที่ต้องกลับไปอยู่ในความยากจน -ใช้เส้นแบ่งความยากจนที่อัตรา 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน หรือประมาณ 175 บาทต่อวัน

อีกทั้งมีผลกระทบที่มีต่อการจ้างงานและรายได้ บางประเทศในภูมิภาคมียอดขายของธุรกิจต่ำลงถึงร้อย 38-58 ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า แม้ธุรกิจขนาดใหญ่จะฟื้นตัวจากการปรับตัวได้ แต่ธุรกิจขนาดเล็กมีความเปราะบางต่อวิกฤตที่มากกว่าและปรับตัวได้น้อยกว่า ทั้งพนักงานและผู้ที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับรายได้ส่วนใหญ่ลดลง

นอกจากนั้นการปิดโรงเรียนส่งผลให้เกิดการสูญเสียค่าเฉลี่ยของการศึกษาที่มีคุณภาพถึง 0.7 ปีของโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้นักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคนี้อาจต้องเผชิญกับการลดลงของรายได้ที่คาดหวังร้อยละ 4 ในทุกๆ ปี ของชีวิตการทางาน

รายงานยังระบุอีกว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการลงทุนและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเจ็บป่วย การว่างงาน และการปิดโรงเรียนอาจนาไปสู่การด้อยสภาพของต้นทุนมนุษย์ และการสูญเสียรายได้ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

หากไม่มีการเยียวยาอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคลดลงร้อยละ 1 จุดต่อปีในทศวรรษหน้า คนจนจะไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเนื่องจากการเข้าถึงบริการของโรงพยาบาล โรงเรียน งาน และการเงินนั้นอยู่ในระดับที่ย่ำแย่

ในรายงานยังมีข้อเสนอแนะเป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบาย 7 ประการ

  1. การตรวจคัดกรอง การติดตาม และการแยกกักตัว จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคด้วยมาตรการที่ตรงเป้ามากกว่าและก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าและการกระตุ้นให้มีความร่วมมือกันระหว่างประเทศในการผลิตวัคซีน
  2. การปฏิรูปการคลังอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการเยียวยาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบกับการลงทุนของภาครัฐ และการขยายฐานภาษีด้วยวิธีการจัดเก็บภาษีของรายได้และผลกำไรในอัตราก้าวหน้าและการใช้จ่ายที่น้อยลงในเรื่องการให้เงินอุดหนุนพลังงานแบบถดถอย
  3. รัฐบาลจะต้องรักษาชื่อเสียงในการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการคลัง การให้คำมั่นสัญญาที่เชื่อถือได้ต่อความโปร่งใสและการฟื้นฟูวินัยทางการคลังแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงของความไม่มั่นคงทางการคลังได้ แม้ว่ารัฐบาลจะจัดหาเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้ยืมหรือให้ธนาคารกลางซื้อพันธบัตร การพึ่งพาระบบธนาคารที่มากเกินไปเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการขยายการช่วยเหลืออาจเกิดความเสี่ยงได้
  4. การคุ้มครองทางสังคม โดยจะต้องมีในการบรรเทาผลกระทบของวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ช่วยเหลือในการให้พนักงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อประเทศฟื้นตัว และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับทุนมนุษย์ โดยครอบคลุมคนยากจนทั้งรายเก่าและรายใหม่
  5. การมียุทธศาสตร์ใหม่สำหรับระบบโรงเรียนเพื่อคุ้มครองนักเรียน เจ้าหน้าที่ ครู และครอบครัว อาจช่วยในการป้องกันการสูญเสียทุนมนุษย์ในระยะยาวได้ โดยเฉพาะในหมู่คนจน
  6. การให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลายและการว่างงาน และการช่วยเหลือต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม
  7. ต้องมีการปฏิรูปทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการที่ยังได้รับการปกป้องอยู่เช่น ภาคการเงิน การขนส่ง และการสื่อสาร เพื่อเพิ่มผลิตให้แก่ธุรกิจ ป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันเพื่อปกป้องภาคธุรกิจอื่นๆ และเตรียมบุคลากรให้พร้อมกับโอกาสทางดิจิทัล

รายงานฉบับเต็ม

From Containment to Recovery: Economic Update for East Asia and the Pacific, October 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท