Skip to main content
sharethis

'เมียวมินตุน' ผู้สมัครส.ส.เกย์คนแรก สังกัดพรรคการเมืองใหม่พีเพิลส์ไพโอเนียร์ปาร์ตี ที่แยกตัวออกจากพรรคเอ็นแอลดีของซูจี พูดประเด็นชาว LGBTQ+ ในพม่ายังเผชิญกับการถูกกีดกัน ข่มเหง และถูกปราบปราม ขณะที่ภาพรวมของการหาเสียงทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านมีทิศทางบวกต่อประเด็น LGBTQ+

ในพม่าซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวคิดพุทธศาสนาแบบอนุรักษ์นิยมครอบงำอยู่เป็นส่วนใหญ่ ก็มีผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. รายรายแรกที่เปิดตัวว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน เขาคือ เมียวมินตุน อายุ 39 ปี เป็นผู้สมัครจากพรรคพีเพิลส์ไพโอเนียร์ปาร์ตีหรือพีพีพี (ชื่อพรรคแปลตรงตัวได้ว่า "ผู้บุกเบิกของประชาชน") ซึ่งเป็นพรรคใหม่ที่มาจากกลุ่มคนที่แยกตัวออกจากพรรคสันนิบาตชาติแห่งเพื่อประชาธิปไตยหรือพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน

เมียวมินตุนมีเป้าหมายต้องการชิงที่นั่งสภาจากเขตมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากย่างกุ้งและมีประชาชน 1.2 ล้านคน เขาเป็นคนที่มีอาชีพเป็นนักจัดดอกไม้และผู้ดูแลจัดงานแต่งงาน ประเด็นที่เมียวมินตุนต้องการชูในการเมืองของเขาคือการคุ้มครองสิทธิของชุมชนชาว LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ โดยที่ในพม่ายังมีปัญหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังจับกุมอย่างไม่มีเหตุให้ต้องจับกุมและใช้กำลังทำร้ายร่างกายบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้

ในปี 2556 มีเหตุการณ์ที่กลุ่มชายรักเพศเดียวกันและหญิงข้ามเพศกล่าวหาว่าตำรวจใช้กำลังจับกุมพวกเขาโดยพลการ รวมถึงใช้กำลังทุบตีพวกเขา ล่วงละเมิดทางวาจาต่อพวกเขา และบังคับให้พวกเขาอยู่ในท่าที่เป็นการหมิ่นหยามความเป็นมนุษย์ ซึ่งตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

เมียวมินตุนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายและเขามองว่าการที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนที่เป็นชาว LGBTQ+ ในสภาจะสามารถปกป้องพวกเขาเหล่านี้ได้

 

"ไม่พึ่งพาแค่คนมีอำนาจเพียงคนเดียว" จุดยืนของพรรคพีพีพี

พรรคพีพีพีเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งประกาศก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค. 2562 โดยเป็นพรรคการเมืองที่นำโดย เต็ตเต็ตคาย (Thet Thet Khine) ส.ส. หญิงและนักธุรกิจผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในพม่าผู้เป็นเจ้าของบริษัททองและเพชรพลอยหลายบริษัท โดยที่ตัวแทนจากพรรคนี้แยกตัวออกมาจากพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีมีสมาชิกอย่างน้อย 1,000 รายจากข้อมูลปีที่แล้ว และมีการส่งตัวผู้แทนลงเลือกตั้งในครั้งนี้มากกว่า 200 ราย ทั้งในระดับรัฐและในระดับท้องถิ่น ซึ่งเมียวมินตุนก็เป็นหนึ่งในนั้น

เต็ตเต็ตคายเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคเอ็นแอลดีมาก่อนหน้านี้โดยบอกว่าพรรคเอ็นแอลดีมีกฎของพรรคที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตย ในการแถลงเปิดตัวพรรคพีพีพีเต็ตเต็ตคายแถลงว่าพรรคใหม่ของเธอจะเน้นการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ในหลายสาขาในการคิดค้นโครงการใหม่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิการของประชาชน นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าพรรคของเธอจะ "ไม่พึ่งพาแค่คนมีอำนาจเพียงคนเดียว"

 

ทิศทางบวกในประเด็น LGBTQ+ ทั้งพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน

ในการเลือกตั้งของพม่าวันที่ 8 พ.ย. ที่จะถึงนี้มีเมียวมินตุนเป็นหนึ่งในผู้แทนเกือบ 7,000 คน จากพรรคการเมืองมากกว่า 90 พรรคที่ลงชิงตำแหน่ง ส.ส. มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่าในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ในพม่าพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเลย แต่ทว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างกันออกไป

ถึงแม้ว่าพรรคเอ็นแอลดีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันและพรรคการเมืองอื่นๆ จะไม่ค่อยให้ความสนใจกับกลุ่ม LGBTQ+ มากเท่าที่ควรในอดีต แต่เมียวนยุน (Myo Nyunt) โฆษกพรรคเอ็นแอลดีก็บอกว่าจากการที่วิถีชีวิตของชาว LGBTQ+ ดูแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ทำให้มีบางส่วนถูกเยาะเย้ยและดูถูกเหยียดหยาม "ในตอนนี้พวกเรา(พรรคเอ็นแอลดี)มีความสนใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้นและจะเพิ่มเข้าไปในเป้าหมายของพรรคในอนาคต"

พรรคฝ่ายค้านคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาหรือยูเอสดีพีที่ก่อตั้งโดยอดีตเผด็จการทหารก็ไม่เคยมีการพูดถึง LGBTQ+ เลยแม้แต่ในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ โฆษกของพรรคลก่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเพียงว่าพรรคของพวกเขาจะไม่กีดกันเลือกปฏิบัติบุคคลบนฐานของเพศสภาพหรือเพศวิถี

อีกพรรคหนึ่งคือพรรคสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอสเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคเพื่อชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในพม่า พวกเขาบอกว่าจะรับฟังเสียงผู้คนจากต่างเพศวิถีกันเพื่อป้องกันการกีดกันเลือกปฏิบัติโดยระบุถึงเรื่องนี้ในฐานะนโยบายเยาวชน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อว่าในถ้อยแถลงผ่านทางโทรทัศน์ของพวกเขาไม่ได้ระบุถึง LGBTQ+ ไว้ด้วย

อีกพรรคหนึ่งคือเมียนมาร์คองเกรสปาร์ตีหรือเอ็มเอ็นซีพีก็ระบุว่าพวกเขาจะสนับสนุนประเด็น LGBTQ+ กองมยินทุต (Kaung Myint Htut) ประธานพรรคพูดถึงเรื่องนี้ผ่านทางการปราศรัยหาเสียงทางโทรทัศน์โดยกล่าวว่า "ทุกคนควรจะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศสภาพ ความรู้สึก ความปรารถนา และความเชื่อของตนเอง" นอกจากนี้ยังประกาศอีกว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องการขาดคุณลักษณะทางศีลธรรม เขาอยากให้สังคมยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของชาว LGBTQ+ และควรให้ทุกเพศมีโอกาสทางหน้าที่การงานอย่างเท่าเทียมกัน คองมยินทุตยังแถลงอีกว่าพรรคของเขาจะเคารพและคุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกเพศ

พรรคเอ็มเอ็นซีพีเป็นพรรคที่เคยปราศรับประกาศสนับสนุนอองซานซูจี และระบุว่าพวกเขาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 เพื่อทำให้ประเทศ "พ้นจากอิทธิพลอำนาจนิยมของกองทัพ" ในปัจจุบันถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแต่กองทัพก็ยังคงมีอำนาจในสภาของพม่า กองทัพควบคุมคนในตำแหน่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงความมั่นคง รวมถึงมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของตัวเองเข้าไปในสภาทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับรัฐ 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่มีอำนาจมากพอในการจะโหวตคว่ำมติในสภาแห่งชาติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

นักสิทธิระบุเป็นแค่ลมปากหวังคะแนนเสียง ยังมีการละเมิดสิทธิ LGBTQ+

ถึงแม้จะมีการพูดถึงประเด็น LGBTQ+ อยู่บ้าง แต่นักกิจกรรมก็ยังสงสัยว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะทำตามที่พวกเขาพูดมากน้อยแค่ไหน จากการที่ชาว LGBTQ+ ต้องเผชิญอุปสรรคจากสภาพสังคมพม่าที่ถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบพุทธอนุรักษ์นิยมที่มีทัศนคติแบบเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หนึ่งในนักกิจกรรม LGBTQ+ คือ อองเมียวมิน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรสิทธิมนุษยชนอิควอลิตีเมียนมาร์กล่าวว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีการเรียกร้องแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ LGBTQ+ มานานแล้ว ได้แต่กฎหมายอาญามาตรา 377 ที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมเป็นกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันไม่ว่าจะมีการตกลงยินยอมทั้งสองฝ่ายหรือมีการกระทำในที่รโหฐานหรือไม่ก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้น้อย แต่ก็เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทางการนำมาอ้างใช้กดขี่ข่มเหงชาว LGBTQ+ ได้ 

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องแก้กฎหมายมาตรา 30 และ 35 ในกฎหมายตำรวจที่เปิดช่องให้ตำรวจคุกคาม, จับกุม, ใช้ความรุนแรง และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ต่อชาว LGBTQ+ ได้ โดยที่อองเมียวมินระบุว่ากฎหมายเหล่านี้ยังให้อำนาจตำรวจมากเกินไปจนทำให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิดของตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาว LGBTQ+

มะเทต (Ma Htet) คนข้ามเพศที่เป็นนักแต่งหน้าและคนมีชื่อเสียงทางเฟซบุ๊กกล่าวว่าชุมชนชาว LGBTQ+ ไม่มีช่องทางในการพึ่งพาเวลาที่ถูกละเมิดสิทธิ เพราะกฎหมายก็ยังเข้าข้างฝ่ายรัฐ มีแต่ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้นเท่านั้นชีวิตของพวกเขาถึงจะปลอดภัยและรู้สึกมีกำลังใจในการทำสิ่งต่างๆ

ถึงแม้จะมีหลายอุปสรรคและยังไม่การรับรองสิทธิของ LGBTQ+ พม่า แต่ในช่วงหลังจากที่รัฐบาลพม่าเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุมชนชาว LGBTQ+ ในพม่าก็มีตัวตนในสังคมมากขึ้นและเริ่มมีการยอมรับมากขึ้นผ่านการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2558

ก่อนหน้านี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วอองซานซูจีก็เคยกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสภาพนานาชาติด้านเอดส์แห่งเอเชียและภาคพื้นแปซิฟิกเกี่ยวกับการขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกันเพราะมันจะเป็นการขัดขวางการดูแลคนรักเพศเดียวกันที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ในช่วงปี 2561 รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่นโยบายเยาวชนแห่งชาติที่ระบุถึงการยกเลิกการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศสภาพและเพศวิถี แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ยังคงส่งผลลบต่อ LGBTQ+

อย่างไรก็ตามในแง่สังคมแล้วมีบรรยากาศในการยอมรับ LGBTQ+ มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลกด้วย ในแถลงการณ์หาเสียงเลือกตั้ง 34 หน้าของพรรคเอ็นแอลดีที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ก็มีประเด็นเรียกร้องให้หยุดการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ อยู่ด้วย

แต่อองเมียวมินก็มองว่าพรรคการเมืองเหล่านี้พูดแค่ลมปากเพื่อหลังจะได้คะแนนเสียงจาก LGBTQ+ ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตามอองเมียวมินก็สังเกตเช่นกันว่าเป็นครั้งแรกที่มีการระบุเรื่อง LGBTQ+ เอาไว้ในแถลงการณ์หาเสียงของพรรค เขาจึงขอให้พรรคการเมืองทั้งหลายอย่าพูดแค่ลมปากแต่ให้ต่อสู้ในประเด็นของ LGBTQ+ ต่อไปหลังจากที่พวกเขาชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาแล้ว

 


เรียบเรียงจาก

Myanmar Sees First Gay Election Candidate as LGBT Issues Gain Traction, Radio Free Asia, 25-09-2020

Influential ex-NLD legislator launches new party, Myanmar Times, 02-12-2019

Myanmar National Congress Party presents its policy, stance and work programmes, GMLM, 19-09-2020

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net