ถ้าพระราชาทรงธรรม .. แล้วไง?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในระบอบประชาธิปไตย การเมืองไม่ใช่เรื่องคนดี การเมืองไม่ใช่เรื่องคนเก่ง แต่เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ ซึ่งผู้มาจัดสรรต้องมาจากการเลือกของประชาชน ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม คือทุกคนมีสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันโดยไม่แบ่งวุฒิการศึกษาหรือฐานะการเงิน .. ประโยคนี้ดูพื้นฐานมาก แต่ต้องย้ำเสมอเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย

ก่อนอื่นอยากให้อ่านสิ่งที่กลุ่มพระขึ้นสาธยายธรรมในวันชุมนุนที่ธรรมศาสตร์ 19 กันยา ซึ่งเป็นต้นเรื่องให้ผมเขียนบทความนี้ “... เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข” (อธัมมิกสูตร: https://bit.ly/3ib8Rec)

ผมเห็นด้วยอย่างมาก ที่พระไปแสดงออกด้วยการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในฐานะที่ท่านเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันกับคนไทยอื่นๆ และไม่ได้เรียกร้องให้ตนได้สิทธิพิเศษแบบที่พระรุ่นก่อนๆ เรียกร้องศาสนาประจำชาติและ พ.ร.บ.คุ้มครองพุทธศาสนาเป็นต้น หากแต่ต่างไปตรงที่สัญลักษณ์ของจีวรและประเด็นอื่นๆ ที่จะตามมา อาจช่วยเตือนให้ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยไม่ลืมที่จะปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ให้มีเสรีภาพ เป็นแบบรัฐโลกวิสัยด้วย

แต่สงสัยว่า เราหาพระสูตรอื่นๆ มาแสดงเพื่อยืนยันว่าพุทธส่งเสริมประชาธิปไตยที่ดีกว่านั้นได้ไหม เช่น เมื่อมหาสมมติ (ราชา) ถูกประชาชนยกสู่ตำแหน่ง คือตัดสินคดีความและว่ากล่าวตักเตือนคนด้วยความยุติธรรม ประชาชนก็จะให้ข้าวสาลี (ปัจจุบันอาจหมายถึงภาษี) แก่เขา นั่นหมายความว่า เมื่อเขาไม่ทำตามสัญญาหรือความยุติธรรมในแบบที่ตกลงกัน ประชาชนก็จะเอาเขาลงจากตำแหน่ง ด้วยการไม่ให้ข้าวสาลี พระสูตรนั้นเห็นภาพความเป็นสัญญาประชาคมและส่งเสริมประชาธิปไตยมากกว่า (อัคคัญญสูตร ข้อ 62-63: https://bit.ly/3j9EeHn)

เพราะการใช้คุณธรรมความดีทางศาสนามาอ้างมีจุดอ่อนตรงที่ ถ้าพระราชา A ทรงทศพิธราชธรรม (หรือถูกสร้างภาพให้ทรงธรรม) ก็แสดงว่าเราต้องยอมรับการปกครองในรูปแบบที่เป็นอยู่หรือ? สิ่งที่ต้องเน้นให้ชัดคือ ไม่ว่าท่านจะทรงธรรมหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ท่านต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน

กษัตริย์ผู้ทรงธรรม เป็นการพูดถึงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่กษัตริย์มีหน้าที่ดูแลทุกอย่าง กษัตริย์มีหน้าที่พระราชทานทรัพย์สินให้แก่คนยากไร้ ตลอดจนเทศน์สอนธรรมแก่ประชาชนด้วย ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ไม่สำคัญอีกแล้วในระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญคือ “ที่มาของอำนาจ” พูดให้สั้นคือ ไม่ว่าพระองค์จะทรงธรรมมากแค่ไหน บรรลุอรหันต์แล้วจนเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกเป็นแก้ว หรือมีฤทธิ์เหาะไปโปรดประชาชนได้ ก็ใช้ไม่ได้ในแง่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเราต้องการคนที่ประชาชนเลือกมาเท่านั้น

อย่างน้อย ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ยืนยันหลัก “คนเท่าเทียมกัน” ด่ากันได้ วิจารณ์ได้ มีปัญหาก็ถกเถียงกันได้ จะช่วยยืนยันว่าเขาจะไม่ใช้อำนาจและกฎหมายฆ่าเรา ในขณะที่ผู้นำซึ่งมาจากการแต่งตั้งและเชื่อว่าเป็นคนดี เพราะมีศักดิ์ศรี (อย่างน้อยทางศีลธรรม) สูงกว่าคนทั่วไป ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของคนที่คิดต่างได้ และถ้าเราพบว่า คนที่เราเลือกมาโง่มาก ขี้โกงมาก แก้ปัญหาไม่เป็นเลย เราก็ด่าได้ และสามารถเลือกคนใหม่ได้

ประเด็นเรื่องที่มาของอำนาจสำคัญมากในการถกเถียง เพราะเรามักจะยกให้กับความดีและความเก่ง กรณีของวัยรุ่นไทยภักดีเถียงกับประชาชนปลดแอก เขาพูดกันคนละประเด็น ไทยภักดีเสนอว่า สมควรแล้วที่ประยุทธ์แต่งตั้งหมอมาดูแล ศบค. เพราะท่านควรหาคนเก่งมารับผิดชอบงาน (บีบีซีไทย: https://bit.ly/2S4vKp5) แต่ปมอยู่ตรงที่ จะแต่งตั้งคนเก่งแค่ไหนไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เราขอเลือกคนที่มาเป็นผู้นำเองได้ไหม ไม่ใช่ใช้กฎหมายและปืนปล้นอำนาจเข้ามา แล้วแต่งตั้งใครก็ได้  

สิ่งสำคัญคือ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การเรียกหาผู้นำหรือพระราชา (leader) ที่เป็นคนดี แล้วให้ทำหน้าที่เป็นโคผู้นำ พวกเราก็เป็นโคที่เดินตามผู้นำที่มีจริยธรรมนั้นไปสู่ความสุขและความเจริญ แต่เราต้องการผู้แทน (representative) ที่มาจากการเลือกของคนส่วนใหญ่ และเขาจะมาทำหน้าที่รับใช้/ตอบสนองความต้องการของเรา เพื่อการกินดีอยู่ดีของคนทุกคน ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องความดี แต่การถูกเลือกมาด้วยกติกาที่เป็นธรรม เป็นสถานะที่ชอบธรรม (legitimate) ในตัวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์หลวงพี่นพผู้ชุมนุมซึ่งเสี่ยงต่อการถูกเจ้าอาวาสไล่ออก (ประชาไท: https://bit.ly/2G5jORI) ได้รื้อให้เห็นปัญหาการปกครองแบบเผด็จการของกฎหมายคณะสงฆ์ การแสดงออกเช่นนี้เป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชม ทั้งที่ระบบพระก็เหมือนข้าราชการอื่นๆ ที่ต้องเคารพผู้บังคับบัญชา และคำสั่งหรือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ก็ขัดกับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้พวกเรารวมถึงนักการเมือง ต้องไม่ลืมประเด็นแยกศาสนาออกจากรัฐ ช่วยกันพูดให้กลายเป็นกระแส เพื่อจะสามารถปลดปล่อยอิสรภาพให้กับองค์กรศาสนาได้ หากมีการร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท