Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ไอเดียของคณะราษฎรหรือประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทั่วโลก

หลักการคือระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีสถาบันกษัตริย์

ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์อนุญาตให้มีประชาธิปไตย”

  • อานนท์ นำภา –

 

ที่มาภาพและข้อความ: https://www.the101.world/arnon-nampa-interview/?fbclid=IwAR2XoXNwANvQIpprSok1nTCoRfsT7Zp1jAQRRKPZJb0ANReRoxq9Vg0TfHI

 

 

ข้อความข้างบนเป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่ดูเหมือนจะถูกทำให้ลืม ดังความตอนหนึ่งในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ระบุชัดเจนว่า

“...คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...” (ดู https://prachatai.com/journal/2020/06/88302)

การเกิดขึ้นของระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) เกิดจากข้อสรุปชัดเจนว่า การปกครองด้วยอำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ (divine right of kings) หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, รัฐศาสนา และระบอบเผด็จการรูปแบบใดๆ ไม่สามารถให้หลักประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ ระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้นที่ให้หลักประกันได้ ดังนั้น ระบอบเสรีประชาธิปไตยจึงเป็นกรอบการปกครองที่อนุญาตว่าจะให้มีสถาบันกษัตริย์ได้หรือไม่ ถ้าให้มีได้สถาบันกษัตริย์ก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน มิฉะนั้นก็ต้องเป็นระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ ตามประกาศคณะราษฎรที่ว่า “ก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...”

 

การปฏิวัติสยาม 2475 คือการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ที่ตราขึ้นโดยคณะราษฎร มาตรา 1 ระบุไว้ชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หมายถึง ชาติหรือประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ดังที่เขาหลอกลวง และ “อำนาจสูงสุด” (sovereignty) ก็ไม่ได้เป็นของกษัตริย์ แต่เป็นของราษฎรหรือประชาชนทุกคน

 

มาตรา 6 “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” หมายความว่า กษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย และไม่ได้อยู่เหนืออำนาจของประชาชน เพราะสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนประชาชนมีอำนาจวินิจฉัย “ความผิดทางอาญา” ของกษัตริย์ได้

มาตรา 7 “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” หมายความว่า กษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจในการกระทำการใดๆ ได้เหมือนกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ตราขึ้นจากการต่อสู้ต่อรองระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ได้เปลี่ยนความหมายตามมาตรา 1 ของฉบับคณะราษฎรให้คลุมเครือโดยระบุในมาตรา 2 ฉบับ 10 ธันวาคมว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นอกจากนั้ยังยกเลิกมาตรา 6 ของฉบับคณะราษฎร แทนที่ด้วยมาตรา 3 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นการนำเอา “สถานะศักดิ์สิทธิ์” สูงส่งกว่ามนุษย์ธรรมดาของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพิ่มมาตรา 4 ว่า “พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” อันเป็นการรักษาสถานะกษัตริย์ของรัฐพุทธศาสนาและทรงเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ แบบยุคเก่าเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถ “แยกศาสนากับรัฐ” (separation of church and state) ได้เหมือนประเทศเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย และเพิ่มมาตรา 5 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม” อันเป็นการวางกฎยึดโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ

โดยนัยสำคัญ (หรือโดยการสร้างความหมายที่คลุมเครือให้ตีความเอื้อต่อสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายได้เสมอ) คือ มาตรา 4 เป็นการผนวกพุทธศาสนาและศาสนาหลักๆ ที่รัฐรับรองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการรักษามิติ “ความเป็นศาสนา” ของสถาบันกษัตริย์ หรือ “ความศักดิ์สิทธิ์” เหนือมนุษย์สามัญของกษัตริย์แบบยุคเก่าเอาไว้ และเป็นเงื่อนไขให้พุทธศาสนาและศาสนาอื่นต้องมีบทบาทหน้าที่สนับสนุน “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) ของสถาบันกษัตริย์แบบที่เคยทำมาตลอดในยุคสังคมจารีต ขณะที่มาตรา 5 เป็นการสร้างหลักประกันให้กับ “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) เชิงรูปธรรมของสถาบันกษัตริย์

ดังนั้น มาตรา 4 และ 5 จึงเป็นการวางรากฐานอำนาจนำทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอำนาจเชิงนามธรรม (อุดมการณ์ ความเชื่อ ความศรัทธา) และอำนาจนำทางการเมืองตามเป็นจริง (อำนาจทางกองทัพ การใช้กองกำลัง) แก่สถาบันกษัตริย์ของฝ่ายกษัตริย์นิยมในช่วงหลัง 2475 รากฐานนี้ถูกใช้อ้างอิงในการเพิ่มอำนาจมากขึ้นโดยลำดับแก่สถาบันกษัตริย์ผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ โดยเฉพาะรัฐประหารปี 2500 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “ประเพณีที่กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร” โดยไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรับรอง หรือไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

จากรัฐประหารยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่าเครือข่ายชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือฝ่ายขวา กลายเป็นฝ่ายผูกขาดอำนาจนำทางการเมืองและทางวัฒนธรรม โดยยกสถาบันกษัตริย์เป็น “ศูนย์กลาง” ของอำนาจนำดังกล่าว ทำให้แทนทีว่าหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยจะเป็น “กรอบหลัก” ในการอนุญาตให้มีสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นกรอบกำหนดว่าสถาบันกษัตริย์ต้องมีสถานะ อำนาจ และบทบาทภายใต้รัฐธรรมนูญและภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรหรือตามระบอบเสรีประชาธิปไตยทั่วโลกที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ กลับกลายเป็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นฝ่ายอนุญาตให้มีเสรีภาพและประชาธิปไตยได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรผ่านประเพณีการทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ครั้งต่างๆ ผ่านขบวนการสรรเสริญสดุดีกษัตริย์อย่างล้นเกินและใช้งบประมาณอย่างเกินพอเพียงทั้งภาครัฐและเอกชน และการเพิ่มอัตราโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ ของกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ หรือกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ที่มีอัตราโทษสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นต้น

การที่สถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลายเป็นกรอบอ้างอิงหลักในการ “อนุญาต” หรือกำหนดว่า สังคมไทยต้องมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยได้แค่ไหนเพียงไร ผลก็คือ ประชาชนไม่สามารถจะมีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบกษัตริย์ได้ หรือไม่มีแม้แต่เสรีภาพในการยกประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยมาอภิปรายสาธารณะได้จริง จึงทำให้การอภิปรายสาธารณะ กระบวนการทางการเมืองของมวลชน และกระบวนการทางการเมืองในสภาไม่สามารถจะเป็นกระบวนการที่มี “ความเป็นประชาธิปไตย” ได้จริง เพราะกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยได้จริงต้องมี “เสรีภาพ” ที่จะพูดได้ “ทุกเรื่อง” ที่กระทบต่อสาธารณะหรือส่วนรวม

ดังนั้น ที่อานนท์ยืนยันหลักการอย่างตรงไปตรงมาและเรียบง่ายว่า ไอเดียของคณะราษฎรที่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตยทั่วโลกที่ยังมีสถาบันกษัตริย์นั้น “หลักการคือระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์อนุญาตให้มีประชาธิปไตย” ที่คือความจริงที่มีหลักฐานชัดแจ้ง แต่เราลืมหรือละทิ้งหลักการชัดแจ้งนี้ไปได้อย่างไรในเวลายาวนานที่ผ่านมา

นักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ นักกิจกรรมทางการเมืองที่พูดเรื่อง “เสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” และนักการเมืองทั้งหลายที่อ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” พึงรู้เถิดว่า ถึงเวลาที่ต้อง “สารภาพบาป” ที่เราทั้งหลายต่างละเลยหรือกลายเป็นพวก “อิกนอร์แรนท์” ต่อหลักการที่ชัดแจ้งนี้ เราเอาแต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย หรือไม่ก็เอาแต่ซุบซิบนินทา ดีขึ้นมาหน่อยก็พูดแบบอ้อมๆ เฉียดไปเฉียดมา บ้าง “โชว์” ว่านี่เป็นวิธีการพูดแบบชาญฉลาดที่ถูกเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ แต่นับจากนี้ไปการพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แบบเดิมๆ ที่ตามไม่ทันข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ” ของมวลชนนักศึกษา หรือการพูดในระดับต่ำกว่านี้ย่อมจะเป็นเรื่องที่น่าขบขัน

อันที่จริง เราต่างรู้ว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ไม่ได้ขัดหลักเสรีภาพในการพูด ไม่ผิดกฎหมายใดๆ (ยกเว้นการใช้กฎหมายมั่วๆ เพื่อขจัดคนคิดต่าง) แต่เราก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเสนอแม้ในเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายกันมานาน แต่วันนี้เวทีวิชาการต่างๆ เวทีการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่พูดเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยจำเป็นต้องพูดประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กันอย่างตรงไปตรงมา พูดอย่างเป็นปกติในวิถีชีวิตทางสังคมการเมืองและวิถีชีวิตประจำวัน หมดเวลาของการทนอยู่ด้วยความกลัว เพราะความกล้าที่จะคิดกล้าที่จะพูด กล้าใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาเป็นเงื่อนไขจำเป็นของการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง

โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จำเป็นต้องรับไม้ต่อจากมวลชน นำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปเป็นนโยบายและอภิปรายในสภา เพื่อยกระดับกระบวนการทางการเมืองในสภาให้เป็นประชาธิปไตยได้จริงเสียที เพื่อที่สภาจะพ้นจากการเป็น “สภารับใช้ศักดินา” เป็น “สภารับใช้ประชาชน” ได้อย่างแท้จริง!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net