Skip to main content
sharethis

6 ตุลาปี 2563 มีนิทรรศการ (ตามบันไดและพื้นที่ทางเข้า) หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

ปีนี้จัดแบบพิเศษ ไม่ใช่นิทรรศการนิ่งๆ เพราะใช้เทคโนโลยี AR เอาอดีตมาทาบทับปัจจุบัน ให้เห็นสภาพ ‘จริง’ แสง-สี-เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อ 44 ปีที่แล้วในวันนี้ เรื่องนี้วัยรุ่นอาจคุ้นเคย ผู้ใหญ่อาจ งงๆ ต้องมาดูด้วยตาตนเอง

ความพิเศษนี้เกิดขึ้นได้เพราะการเจอกันของ 4 ผู้จัด

  1. ประวัติศาสตร์ >> ธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ตีพิมพ์งานวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองมากมายและนักขุดคุ้ยเรื่อง 6 ตุลาคนหนึ่งของเมืองไทย
  2. ข้อเท็จจริง >> ภัทรภร ภู่ทอง ผู้สืบค้นข้อมูลต่างๆ ในโครงการบันทึก 6 ตุลา จนกระทั่งทำให้สังคมไทย ‘เพิ่ง’ ทราบว่าผู้ที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงมีถึง 5 คน และยังเป็นผู้ทำสารคดี ‘สองพี่น้อง’ และ ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง’ บันทึกความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์
  3. ออกแบบ >> เบญจมาส วินิจจะกูล สถาปนิกจาก The Storeys ผู้ตีโจทย์ “แขวน” ในงานปี 2563 โดยยกสนามหลวง(ที่ห้ามประชาชนเข้า) มาไว้ตรงทางเข้าหอประชุมใหญ่ แล้วจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงของเช้าวันที่ 6 ตุลามาจัดเรียง
  4. เทคโนโลยี >> ปริยกร ปุสวิโร อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมน้องๆ จาก digital picnic มาทำ AR หรือ Augmented Reality เทคโนโลยีที่นำภาพเสมือนรูปแบบ 3 มิติจำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้อง ใครเคยเล่นโปเกม่อนน่าจะคุ้นเคย

ปริยกร ปุสวิโร

"คุณไม่มีวันลบภาพอดีต ภาพข้อเท็จจริงออกไปได้ เราแค่ใช้เทคโนโลยีมาขยายให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาซึ่งไม่เคยอยู่ในแบบเรียน แต่มันอยู่ที่นี่ และมันจะจุดประกายให้เขาไปหาอ่านต่อ"

“ชื่องานว่า แขวน คุณจะตีความยังไง ผู้ถูกกระทำถูกแขวนคอ ข้อเท็จจริงถูกแขวนไว้ เข้าถึงไม่ได้ ความยุติธรรมถูกแขวน ไม่เป็นจริง คนกระทำถูกแขวนให้อยู่ในที่อันสูงส่ง whatever แล้วแต่คนตีความ หรือบางทีอาจหมายถึงความรู้สึกของคุณที่ยังแขวนอยู่ตรงนั้น”

 

“พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีความรุนแรงเกิดขึ้น เด็กรุ่นใหม่อาจยังไม่รู้ เราอยากให้สังคมเห็นว่านี่คือ fact ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ใช้สถานที่จริง ภาพจริง แม้เราไม่รู้ว่าการแขวนคอนี้จะเป็นต้นไม้ต้นไหน แต่เราทราบว่าประมาณตรงนี้ เราจึงใช้ AR เข้ามา ถ้าเราสแกนโค้ด จากภาพที่มองเห็นธรรมดาก็จะเห็นภาพคนถูกแขวนคอ มีทั้งหมด 7 จุด ตั้งแต่ขึ้นมาจากบันไดหอใหญ่ กมลถูกยิงตรงนั้นก่อนถูกลากไปสนามหลวง ขึ้นมามีประตูเหล็กมีช่างไฟฟ้าถูกแขวนคอ จากนั้นเข้ามาตรงต้นมะขามก็จะมีอีกหลายจุด และจะเห็นคนที่ยืนมุงดูเหตุการณ์ รวมถึงเสียงของวิทยุยานเกราะที่ตอนนั้นออกอากาศกระพือให้คนมาสนามหลวง จนกระทั่งยานเกราะเองต้องขอให้คนหยุดมา เพราะสภาพมันเริ่มโหดเกิน รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ด้วย ตอนนี้ทำ offline ไปก่อน ในอนาคตอาจจะอัพโหลดเป็นแอพ”

"มิวเซียม มันคือการแปลความหมาย การแสดงความรู้ มันไม่ได้บอกให้ใครเชื่ออะไร แต่มิวเซียมมีบทบาทในการเสนอข้อเท็จจริงแล้วให้คนดูตีความตามความเชื่อของตัวเองด้วย ไม่ใช่การยัดเยียดความรู้ เราเน้นข้อเท็จจริง เข้าถึงโดยการเห็น เป็น fact ที่ไม่มีอารมณ์ใดๆ เป็นการเรียนรู้แบบ experience based learning โดยดึงอดีตกลับมาอีกครั้ง แล้วหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม”

เบญจมาส วินิจจะกูล

“เอาเข้าจริงมันเริ่มจากส่วนงานเก็บบันทึกข้อมูลเขาไปเจอประตูแดง ธนาพลก็รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ต้องเริ่มเก็บและพวกเราก็บังอาจตั้งชื่อว่า โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทั้งที่จริงๆ เรายังไม่มีอะไรเลย ไม่มีอาคาร ไม่มีทุน ใช้อาสาสมัคร ลุยเดินหน้าไปก่อนตั้งแต่ปีที่แล้ว”

“ความหมายของพิพิธภัณฑ์มันเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน ปีแรกได้ประตูมาก็แค่จัดแสดงง่ายๆ แต่ปีนี้เราก็พัฒนาขึ้น พิพิธภัณฑ์ที่เราเข้าใจมันคือ การเล่าเรื่อง มีหรือไม่มีสถานที่ไม่ใช่ประเด็น เราเล่าจากเรื่องหนึ่งเรื่องแล้วค่อยๆ โยงกลับไปสู่หลายๆ เรื่อง ทำในสเกลที่พอทำได้ จากเรื่องแขวนเอาเข้าจริงมันก็โยงไปได้อีกมาก คำถามง่ายๆ คือ ใครทำ เกิดอะไรขึ้น ฯลฯ”

“ประตู(แดง) นี่โดยตัวมันเอง ความหมายมันก็ได้พอดีเลย คือ เป็นการเปิด การเริ่มเรื่อง มันเกิดเรื่องการแขวนคอช่างไฟฟ้าขึ้นมาก่อนแล้วจึงมีเหตุการณ์ต่างๆ ตามมา”

“เรานึกถึงกลุ่ม forensic architecture ในต่างประเทศซึ่งสืบหาร่องรอยด้วยเครื่องมือทางสถาปัตย์ ตัวอย่างงานเขาก็เช่นคุกลับของซีเรีย เหยื่อที่เข้าไปทุกคนจะถูกปิดตา ไม่มีใครรู้เลยว่าคุกลับหน้าตาเป็นยังไง แต่เขาเริ่มจาก google earth เห็น top view ก่อน แล้วชวนเหยื่อทั้งหมดมานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ให้ข้อมูลแล้วสถาปนิกทำหน้าที่เขียน 3D เป็น 3 มิติตามที่เขาเล่า ห้องเป็นรูปร่างอย่างนี้ เอื้อมมือไปแค่ไหนเจออะไร เจอลูกกรงขนาดประมาณเท่าไหร่ จนกระทั่งประกอบมาเป็นอาคาร มันเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำตรงนี้ด้วย ตอนระหว่างทำก็จะมีข้อสังเกตมากมายจากภาพถ่าย เห็นมุมนั้นมุมนี้ ซึ่งมันสามารถใช้เครื่องมือสามมิติส่องดูได้ว่า ความเป็นไปได้ของตำแหน่งอยู่ตรงไหนเพราะมันจะล็อกด้วยรูปภาพมุมต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โปรเจกต์พวกนี้น่าทำต่อมากๆ”

งานนิทรรศการนี้จะจัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ส่วนจะยาวแค่ไหน ธนาพลบอกว่ากำลังต่อรองกับมหาวิทยาลัย เปิดตั้งแต่ 10.00 – 20.00 น. ภายในงานมีบูธขายหนังสือสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและอ่าน มีกำหนดทำพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ตุลาคม นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน 44 ปี 6 ตุลา ซึ่งจะมีทั้งเสวนาหลากหลายเรื่อง การแสดงละครเวที การแสดงดนตรี ฉายหนัง ฯลฯ ติดตามกำหนดการได้จากเพจ 44 ปี 6 ตุลา

ผู้สนใจสามารถสนับสนุนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาได้ที่หมายเลขบัญชี 172-0-31365-2 ธนาคารกรุงไทย สาขา ซอยอารีย์

ภาพบรรยากาศเตรียมนิทรรศการเพิ่มเติม : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net