อนุสรณ์ อุณโณ: คนรุ่นใหม่บนแนวปะทะในสังคมของผู้ใหญ่-ผู้น้อย

อนุสรณ์ อุณโณ ชี้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนของสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวคือการถอดรื้อนิยามความหมายของ ‘ความถูกต้องดีงาม’ และพวกเขากำลังเผชิญหน้าบนแนวปะทะ 3 อาณาบริเวณคือ บ้าน โรงเรียน-มหาวิทยาลัย และประเทศ

ที่มาภาพ : เพจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2563 ที่อาคารปราบไตรจักร 2 ห้อง 311 มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “จริยธรรมจากเทวาลัยสู่อำนาจบนท้องถนน : บทบาทนักศึกษาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” โดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมี อนุสรณ์  อุณโณ รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิทยากร 

คลิปเต็มวงเสวนา 

อาณาบริเวณของการปะทะภายใต้ชุดความสัมพันธ์ผู้ใหญ่-ผู้น้อยที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญหน้า

อนุสรณ์ ชี้ว่าการที่นักศึกษาขึ้นมาเป็นตัวแสดงหลัก ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลานี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะในภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การตั้งคำถาม และถอดรื้อนิยามความหมายของ “ความถูกต้องดีงาม” 

“การถอดรื้อตรงนี้ มันเกี่ยวกับชุดความสำคัญที่กำกับสังคมไทยอยู่ เราอาจจะเรียกว่าสังคมของผู้ใหญ่-ผู้น้อย ก็ได้ ซึ่งมีนัยยะว่าผู้น้อยต้องทำตามผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีความปรารถนาดี ตั้งแต่ในสภาพครัวเรือน บ้านเมือง รวมไปถึงความปรารถนาดีต่อตัวของผู้น้อยเองว่าควรจะเป็นไปอย่างไร”

ภายใต้ชุดโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานของสังคมไทยนี้ อนุสรณ์มองว่า โครงสร้างดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคับข้องขุ่นเคือง อย่างน้อยภายใน 3 อาณาบริเวณคือ ครอบครัว สถาบันการศึกษา ทั้งโรงเรียน และมหาวิทยาลัย และสุดท้ายคือ ในระดับประเทศ โดยแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกันออกไป ในระดับครัวเรือนสถานะของพวกเขาคือลูก ซึ่งจะมีจริยธรรมบางชุดคอยกำกับอยู่ว่า ลูกที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ถัดมาในระดับสถาบันการศึกษาสถานะของพวกเขาคือลูกศิษย์ และนักศึกษา ซึ่งจะมีจริยธรรมชุดหนึ่งค่อยกำกับเช่นกันว่า นักเรียน นักศึกษาที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ควรวางตัวอย่างไรขณะที่อยู่ภายใน และภายนอกสถาบันฯ และในส่วนสุดท้ายคือระดับประเทศพวกเขาถูกคนล้วนแต่เป็นประชาชน ซึ่งก็จะมีจริยธรรมคอยกำกับเช่นเดียวกันว่า ควรจะเป็นประชาชนแบบใด จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาชนที่ดี

“ภายในอาณาบริเวณทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อเขาเริ่มขยับ เริ่มตั้งคำถามต่อความดีงามความถูกต้องของสังคมนี้ สิ่งที่เขาต้องเผชิญคืออะไร ในระดับครอบครัวเราเห็นค่อนข้างชัด จากข่าวที่ออกมาว่านักเรียนจำนวนมากที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมมักถูกผู้ปกครองตักเตือน ขู่ว่าจะตัดเงิน พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับชุดความสัมพันธ์แบบนี้ และเราเห็นได้ชัดในการชุมนุมทางการเมือง แม้จะเป็นการพูดที่ดูเหมือนเป็นการสร้างความสนุกคึกคะนอง แต่มีความสำคัญคือ การเรียกร้องให้พ่อแม่เลิกดูเนชั่น เวทีในการปะทะกันมันเริ่มตั้งแต่จุดนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่ กับลูก มีจุดยืนทางการเมืองไม่เหมือนกัน ช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแตกต่างกัน ความน่าสนใจคือจะมีการปะทะหักล้างกันอย่างไร หรือจะอยู่ร่วมกันแบบไหน นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก”

ที่มาภาพ : เพจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นอกจากนี้อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่าปัญหาอีกระดับที่เกิดขึ้นจากการที่เด็กๆ ซึ่งเป็นลูกออกไปชุมนุม หากพวกเขาเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่เปิดกว้าง ก็จะถูกพ่อแม้กดดันเรื่องการให้เงิน ในด้านหนึ่งเด็กๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองในทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวน และนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่ เพราะผู้ให้กำเนิดไม่ได้มีเอกสิทธิในการที่จะกำกับลูกของตนเองให้เป็นไปตามที่ต้องการ 

“เราไม่สามารถอ้างความปรารถนาดีที่มีต่อลูกได้ จะมาบอกว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน มันไม่ใช่ เรื่องนี้กำลังถูกรื้อครั้งใหญ่ และเราไม่รู้ว่าจะรื้อกันไปถึงขนาดไหน แต่อย่างน้อยที่สุดในระดับครอบครัวเกิดขึ้นแน่ และก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจริยธรรมชุดนี้จะเป็นอย่างไร”

เมื่อขยับออกมาจากครอบครัวก็จะมีจริยธรรมอีกชุดที่คอยกำกับ อนุสรณ์ กล่าวถึงสถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียนว่า เป็นสถานที่ซึ่งหมักหมมวัฒนธรรมอำนาจนิยม และมี concept เรื่องอำนาจระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้มแข็งที่สุด และเอาเข้าจริงแล้ว ปรากฏการณ์หมอบกราบครูสมัยก่อนไม่เข้มข้นเท่าปัจจุบัน แต่เพิ่งจะชัดประมาณ 10 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมโดยภาพรวม พยายามกระชับความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ และส่งต่อไปยังโรงเรียนซึ่งเป็นหน่อเนื้อชั้นดีในการสั่งสมวัฒนธรรมอำนาจนิยม

“ใครที่กระทำความผิดก็จะถูกทำโทษ ในแง่ของเนื้อตัวร่างกายมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 2-3 วันก่อนเราเห็นการกระชากหัวเด็ก ครูตีเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รุนแรงมากๆ และสั่งสมกันมา ไม่นับรวมกรณีที่เด็กออกมาค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบ เด็กก็ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ และยังไม่รวมกรณีที่เขาอยากขยับไปพูดเรื่องการเมือง เราก็จะเห็นว่า โรงเรียนปิดเรียนไม่ให้ใช้พื้นที่ มีการเรียกไปคุย นี่ก็เป็นแนวปะทะหนึ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย”

ในระดับมหาวิทยาลัย อนุสรณ์ชี้ว่า ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอนอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์อาจจะไม่เป็นปัญหามาก อาจจะเพราะธรรมศาสตร์มีระบบคุณค่าหลักที่พยายามจะชูคือเรื่องเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาตลอด แต่ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ย่อมส่งผลในลักษณะเอื้ออำนวยให้การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ กับลูกศิษย์มีลักษณะที่สมมาตรมากขึ้น

“ในธรรมศาสตร์มันมีคำเช่น ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว และธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน แม้มันอาจจะกลวง แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ยังเป็นกรอบให้เด็กกลับไปหาได้”

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มักพบเห็นการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่นเรื่องการจัดชุมนุมภายในสถานศึกษา นักศึกษา และผู้บริหาร ต่างก็ต้องหาช่องทาง และข้ออ้างอิงบางอย่างเป็นหลักยึด อย่างในกรณีของธรรมศาสตร์ที่จัดการชุมนุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีแนวปฏิบัติสำหรับการชุมนุมภายในสถานศึกษา จนกระทั่งมีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ศูนย์รังสิต โดยมีแนวปฏิบัติที่วางไว้ว่า จะต้องมีการหารือสามฝ่ายระหว่างกลุ่มนักศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกลั่นกรองหัวข้อ และรูปแบบในการชุมนุม รวมทั้งกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามกรอบที่วางไว้มีลักษณะกว้างๆ และมีการบังคับใช้ที่ไม่ตรงไปตรงมา และต่อให้ทำตามแนวปฏิบัติทั้งหมดแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ยังไม่อนุญาต นั้นหมายความว่า ต่อให้มีแนวปฏิบัติที่ออกมาร่วมกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยู่ดี

อนุสรณ์ กล่าวต่อถึงแนวปะทะที่ 3 คือระดับประเทศ เมื่อถึงแนวปะทะนี่สถานะของพวกเขาจะเปลี่ยนจาก ลูก ลูกศิษย์ กลายเป็นพลเมืองคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้จากจุดเริ่มต้นของการชุมนุมที่พวกเขาใช้ชื่อว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก แต่เมื่อเริ่มขยับเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ขยับออกจากรั้วมหาวิทยาลัย และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น พวกเขาก็เปลี่ยนสถานะเป็นประชาชนปลดแอก เมื่อสถานะเปลี่ยนแปลงไป ข้อเรียกร้องจึงขยับจากประเด็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายภายใต้สถานศึกษา มาสู่ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน 

“เมื่อขยับมาสู่สถานะของประชาชนแล้วสิ่งที่เป็นเหมือน Code of Conduct ของการชุมนุมคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่สำหรับประเทศนี้เวลามีการวางแนวปฏิบัติในเรื่องใดก็ตาม มักจะไม่เป็นไปในทางส่งเสริม และสนับสนุน ให้เราสามารถทำในสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องอย่างที่มันควรจะเป็น แต่กลายเป็นเงื่อนไขที่คอยกำกับว่าเราจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่วางไว้อย่างไร ฉะนั้นในแง่นี้สังคมไทยอาจจะแตกต่างจากสังคมอารยะ เพราะเวลาเขาจะมี Code of Conduct หรือหลักจริยธรรมสำหรับเรื่องใดๆ เขาจะมีการต่อรองจนเกิดความเห็นพ้องกันของสังคมในระดับหนึ่ง แต่ของสังคมไทยสิ่งเหล่าที่จะออกมาจากผู้มีอำนาจเป็นหลัก ซึ่งมักจะมองเห็นประชาชนเป็นศัตรูของตัวเอง”

อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ขยับสถานะตัวเองขึ้นมาเป็นประชาชนแล้ว ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ขยับตามไปด้วย และขยับออกไปไกลมากๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญคือ ข้อเรียกร้อง 10 ประการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงชุดความสัมพันธ์ที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลในการกำกับรวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับชุดความสัมพันธ์ที่เล็กลงไป ซึ่งกระจายอยู่ในหลายอาณาบริเวณไม่ว่าจะเป็นในบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่อื่นๆ และเมื่อพวกเขาเริ่มเรียกร้องเรื่องนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การขยับจริยธรรมของสังคมไทยครั้งใหญ่ แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปยังไม่มีคำตอบ

“ชุดความสัมพันธ์แบบนี้มันรองรับการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ และการกระจายโภคทรัพย์ หรือความมั่งคั่ง และผลประโยชน์ในประเทศนี้ ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์อยู่  โอกาสที่มันจะเปลี่ยนก็ถือว่ายากเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดีเด็กๆ เขาตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว และจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในวันนี้ หรือพรุ่งนี้อาจจะไม่เห็นชัด แม้ว่าจะล้าไปบ้าง จะถอยได้บ้าง แต่การกลับมาใหม่มันจะเกิดขึ้นได้เสมอ ตราบเท่าที่สถานการณ์และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่บ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และประเทศยังคงเป็นเช่นนี้อยู่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท