Skip to main content
sharethis

AirAsia ชี้อาเซียนควรเปิดพรมแดน ก่อนพนักงานบริษัทถูกเลิกจ้างเพิ่มอีก

ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia ได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ เพราะข้อจำกัดในการเดินทางอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ AirAsia และกายการบินอื่น ๆ ต้องปรับลดพนักงานลงอีก โดยชี้ว่าแม้จะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องคำนึงแต่ไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากการเปิดพรมแดน เพราะที่ผ่านมา AirAsia ได้ปลดพนักงานไปแล้ว 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 20,000 คน โดยมีการลดจำนวนทั้งลูกเรือและพนักงานภาคพื้นดินของสายการบิน

ที่มา: Nikkei Asian Review, 1/9/2020

กิจการ 852 แห่ง ในไต้หวันให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่มีค่าจ้างรวม 19,850 คน

1 ก.ย. 2020 กระทรวงแรงงานไต้หวัน ประกาศสถิติล่าสุดเกี่ยวกับยอดจำนวนลูกจ้างที่ถูกสั่งให้หยุดงานโดยไม่มีค่าจ้าง ณ วันที่ 31 ส.ค. 2020 อยู่ที่ 19,850 คน ซึ่งลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 199 คน แต่กิจการที่สั่งให้ลุกจ้างหยุดงานโดยไม่มีค่าจ้างเพิ่มเป็น 852 แห่ง เพิ่มขึ้น 32 แห่ง จากสถิติพบว่า ลูกจ้างที่แต่ละกิจการให้หยุดงานลดจำนวนลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ประมาณ 50 คน ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนแต่ละเดือนให้หยุดงาน 5-8 วัน

ข้อมูลสถิติยังระบุว่า หากจำแนกตามประเภทกิจการพบว่า เป็นกิจการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 336 ราย ให้ลุกจ้างหยุดงานโดยไม่มีค่าจ้าง 13,484 คนรองลงมาคือกิจการค้าปลีกและค้าส่ง 260 ราย รวม 3,627  คน และกิจการด้านการขนส่งและคลังสินค้า 52 รายรวม 779 คน

หวงเหว่ยเชิน รองอธิบดีกรมเงื่อนไขแรงงานและความเสมอภาคในการจ้างงาน เปิดเผยว่า ลูกจ้างที่หยุดงานโดยไม่มีค่าจ้างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 และการล็อกดาวน์ประเทศยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/9/2020

ชาวอเมริกันยื่นขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ 881,000 คนเมื่อสัปดาห์ปลายเดือน ส.ค. 2020 ซึ่งน้อยกว่าระดับ 1 ล้านคนในสัปดาห์ก่อนหน้า และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะมีผู้ขอสวัสดิการว่างงานราว 950,000 คนในสัปดาห์ดังกล่าว

ส่วนรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ช่วงเดือน ส.ค. 2020 โดยในการสำรวจของรอยเตอร์ ที่สอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า สหรัฐฯจะมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2020 ที่ผ่านมา ที่พบการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นราว 1.76 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ยังสะท้อนว่าผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ตำแหน่งงานของชาวอเมริกันราว 11.5 ล้านตำแหน่งหายไปเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด

ที่มา: VOA, 4/9/2020

Singapore Airlines เตรียมเลิกจ้างพนักงานจำนวน 4,300 ตำแหน่ง

10 ก.ย. 2020 Singapore Airlines แถลงว่าทางบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานจำนวน 4,300 ตำแหน่ง หรือราว 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 แต่ทั้งนี้ที่บริษัทได้ใช้นโยบายยกเลิกการรับพนักงานใหม่ และเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ จำนวนพนักงานที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการเลิกจ้างดังกล่าวจะมีจำนวนราว 2,400 ราย โดยเป็นพนักงานในสิงคโปร์และต่างประเทศ

ที่มา: Business Traveller, 10/9/2020

กระทรวงแรงงานไต้หวันเตือน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แรงงานต่างชาติเต็มจำนวน ห้ามหักเงินอย่างผิดกฎหมาย

ปัจจุบันแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวันมีจำนวนมากกว่า 700,000 คน ตามกฎหมาย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานต่างชาติเต็มจำนวน ห้ามมีการหักค่าใช้จ่ายรายการต่างๆ ยกเว้นที่กฎหมายกำหนดให้หักได้ 4 รายการ ได้แก่เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย เบี้ยประกันสุขภาพ ประกันภัยแรงงานและค่าอาหารที่พัก ซึ่งอนุญาตให้นายจ้างหักได้เมื่อมีการจัดอาหารและที่พักที่ได้มาตรฐานแก่คนงาน ในอัตราไม่เกินเดือนละ 5,000เหรียญ แต่โดยทั่วไปในสัญญาจ้างจะระบุหักเดือนละไม่เกิน 2,500 เหรียญ แต่ปรากฏมีนายจ้างบางรายให้ความร่วมมือกับบริษัทจัดหางานหักค่าบริการรายเดือน บางรายยิ่งกว่านั้น มีการช่วยบริษัทจัดหางานหักเงินค่างวดเงินกู้ ซึ่งเป็นค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิวจากค่าจ้างของแรงงานต่างชาติ

ต่อสภาพการณ์ข้างต้น กระทรวงแรงงานแถลงว่า กฎหมายระบุชัดเจน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แรงงานต่างชาติเต็มจำนวน ห้ามเพิ่มรายการหัก ยกเว้นที่ได้รับอนุญาตจากฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกปรับตั้งแต่ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน และจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติด้วย กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ให้แรงงานต่างชาติทราบโดยทั่วกันว่า หากนายจ้างหักค่าจ้างในรายการอื่นนอกเหนือจากกฎหมายกำหนดได้แก่ภาษี เบี้ยประกันภัยแรงงาน สุขภาพและค่าอาหารที่พัก หรือถูกบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าบริการรายเดือน 1,800 เหรียญต่อเดือนในปีแรก 1,700 เหรียญต่อเดือนในปีที่ 2 และ 1,500 เหรียญต่อเดือนในปีที่ 3 ขึ้นไป สามารถร้องเรียนต่อสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 ได้ เมื่อรับเรื่องแล้วจะส่งต่อให้กองแรงงานท้องที่ดำเนินการตรวจสอบ หากมีสภาพการณ์ที่ผิดกฎหมาย จะดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาด

ด้านกรมพัฒนากำลังแรงงานกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายที่นายจ้างช่วยบริษัทจัดหางานหักจากค่าจ้างของแรงงานต่างชาติ ที่พบเห็นและได้รับการร้องเรียนบ่อยได้แก่ ค่าบริการรายเดือน เงินกู้ก่อนการเดินทางเข้าไต้หวัน ค่าธรรมเนียมทำบัตรถิ่นที่อยู่หรือบัตร ARC รวมถึงค่าตรวจสุขภาพเป็นต้น กรมพัฒนากำลังแรงงานเตือนว่า เมื่อตรวจพบว่ามีการหักเงินรายการต่างๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดจริง นายจ้างจะถูกลงโทษปรับตั้งแต่ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน และจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ ในส่วนของบริษัทจัดหางาน หากมีการเรียกรับเงินนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต จะถูกลงโทษปรับเงิน 10-20 เท่าของจำนวนเงินที่เรียกรับ และจะถูกพักใช้ใบอนุญาตจัดหางาน

กรมพัฒนากำลังแรงงานย้ำเตือนว่า นอกจากที่กฎหมายอนุญาตให้หักได้ ได้แก่เงินภาษี เบี้ยประกันภัยแรงงาน สุขภาพค่าอาหารที่พักและเงินบำรุงกองทุนสวัสดิการแรงงาน (บางโรงงานไม่มี) แล้ว ห้ามนายจ้างหักเงินรายการอื่นใด จากค่าจ้างของแรงงานต่างชาติอีก และขณะที่จ่ายค่าจ้างแก่แรงงานต่างชาติ จะต้องมีรายการเงินค่าจ้างที่มีภาษาแม่กำกับไว้ด้วย เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้าใจในรายได้ของตนและจะต้องเก็บรายการเงินค่าจ้างดังกล่าวไว้เพื่อการตรวจสอบอย่างน้อย 5 ปี

ที่มา: Radio Taiwan International, 11/9/2020

Apple ประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัท Apple ประกาศการดำเนินนโยบายใหม่ที่เน้นย้ำเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสำหรับพนักงานของตนที่อยู่ในส่วนงานการผลิตคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนยอดนิยมของบริษัท

นโยบายล่าสุดของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ นี้ ที่ใช้ชื่อ Supplier Code of Conduct หรือ จรรยาบรรณสำหรับซัพพลายเออร์ ระบุไว้ว่า พนักงานของบริษัทผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของแอปเปิล “มีสิทธิ์ที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมและมีการเคารพจริยธรรม” และ “ห้ามไม่ให้มีการล่วงละเมิดหรือทำการละเมิดนโยบายจำกัดชั่วโมงทำงานที่ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการให้วันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์” เป็นต้น

การประกาศนโยบายใหม่ของ Apple นี้ มีออกมาหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มว่า บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้เพิกเฉยต่อปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิ์พนักงานโดยบริษัทคู่ค้า ซึ่งเพิ่งมีกรณีใหม่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังมีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในจีน แสดงให้เห็นภาพคนงานกลุ่มใหม่ในโรงงานคู่ค้าของแอปเปิลนอกนครเซี่ยงไฮ้ ที่ต้องคุกเข่าก้มลงเก็บบัตรประจำตัวที่ผู้จัดการแจกด้วยการโยนลงพื้นให้ ก่อนที่บริษัท เพกาทรอน (Pegatron) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าว จะออกมาขอโทษต่อการที่ไม่ให้เกียรติลูกจ้าง ขณะที่กลุ่ม China Labor Watch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ส่งจดหมายถึง ทิม คุก ซีอีโอ ของ Apple เพื่อเตือนว่า ตนได้รับคำร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิ์พนักงานที่โรงงานแห่งนี้มาหลายครั้งแล้ว

แต่แม้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายจะแสดงความยินดีต่อพัฒนาการของ Apple ในด้านนี้ หลายฝ่ายให้ความเห็นว่า นโยบายใหม่ของบริษัทนั้น ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดของกลไกในการปกป้องสิทธิ์คนงานแต่อย่างใด และดูจะเป็นการทำการเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

นอกจากนั้นขณะที่ Apple ย้ำว่าบริษัทพร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นสูงของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ บริษัทระบุไว้ว่า หากกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างหลักปฏิบัติใดๆ และกฎหมายของประเทศหนึ่งๆ ทางบริษัทจะขอเคารพตัวบทกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในพื้นที่นั้น ๆ เป็นหลัก ซึ่งอาจหมายความว่า Apple อาจจะไม่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปกป้องสิทธิ์ของคนงาน หากการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม แอนนา เค. เจิง ผู้ก่อตั้งองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ซึ่งตั้งอยู่ในนครนิวยอร์กกล่าวว่า แอปเปิล มีหน้าที่มากมายที่จะต้องรับผิดชอบต่อคนงานที่ช่วยผลิตสินค้าซึ่งทำให้บริษัทกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี และ “บริษัทข้ามชาติ เช่น แอปเปิล ทำเงินได้มากมายจากการทำธุรกิจในจีน และทุกรายจึงควรตอบแทน(คนจีน) ด้วยการใส่ใจเรื่องมโนธรรมบ้าง”

ที่มา: VOA, 11/9/2020

การท่องเที่ยวท้องถิ่นในออสเตรเลียเติบโต ต้องการคนทำงานเพิ่ม

การขาดแคนคนทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคนั้น เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วออสเตรเลีย แม้ชุมชนในพื้นที่ชนบทจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนในพื้นที่เขตเมือง ทั้งนี้พบว่าการที่การท่องเที่ยวท้องถิ่นนอกเมืองเติบโตขึ้นนั้น ก็ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น

ข้อมูลการประกาศรับสมัครงานจากเว็บไซต์จัดหางาน Seek แสดงให้เห็นถึงความต้องการคนทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ที่กลับมาเพิ่มจำนวนเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดในทุกรัฐและมณฑลทั่วประเทศ ยกเว้นรัฐวิกตอเรีย แต่ในพื้นที่เขตเมืองนั้น ประกาศรับสมัครงานได้ลดลงไปถึงร้อยละ 34 ตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเริ่มต้น

ที่มา: SBS, 11/9/2020

Amazon ประกาศจะจ้างงาน 100,000 ตำแหน่ง ในสหรัฐฯ และแคนาดา

Amazon.com ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ประกาศจะจ้างงาน 100,000 ตำแหน่ง โดยประกาศจ้างงานดังกล่าวมีทั้งตำแหน่งประเภทงานประจำและไม่ประจำในสหรัฐฯ และแคนาดา ในจำนวนนี้มีตำแหน่งงานที่ต้องปฏิบัติงานในคลังสินค้าและสถานที่ปฏิบัติการแห่งใหม่ที่จะเปิดตัวในเดือน ก.ย. 2020 นี้ บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตันของสหรัฐ และมีพนักงานทั้งสิ้น 876,800 คน โดยไม่รวมพนักงานสัญญาจ้างและพนักงานชั่วคราว

ที่มา: CNBC, 14/9/2020

ธุรกิจชั้นนำแถลงรายงานแนวทางใหม่ในการจัดการกับปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรในออสเตรเลีย

นักธุรกิจชั้นนำที่มีอิทธิพลของออสเตรเลียกว่า 250 คนได้ร่วมลงนามในรายงานแนวทางใหม่ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เรื่องวิธีที่สถานที่ทำงานจัดการกับปัญหาการคุกคามทางเพศ

สัมพันธมิตรสุภาพบุรุษผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้ร่างวิธีแก้ปัญหาที่สามารถนำใช้ได้จริงเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถกำจัดปัญหาการคุกคามทางเพศ ใน 2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นชายหลายร้อยคนได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอีกหลายท่านเพื่อวางแผนขจัดปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานให้หมดไปจากออสเตรเลีย

กลุ่มสัมพันธมิตรแนะนำสิ่งสำคัญ 5 ประการ รวมถึงการปฏิบัติต่อปัญหาการคุกคามทางเพศเสมือนเป็นปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย การลดจำนวนการใช้ข้อตกลงที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด และการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ

ผลการสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลียในปี 2018 ระบุว่า 1 ใน 3 ของลูกจ้างยอมรับว่าพวกเขาถูกคุกคามทางเพศใน 5 ปีแรกที่เริ่มทำงาน แต่มีเหยื่อเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ร้องเรียน

ที่มา: SBS, 15/9/2020

ผู้บริหารสายการบินในสหรัฐฯ ร่วมร้องขอความช่วยเหลือช่วยพนักงานจากทำเนียบขาว

ผู้บริหารจากสายการบินต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เข้าพบเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และอาจต้องตกงานในเร็ว ๆ นี้ ถ้าหากไม่มีแผนช่วยเหลือรอบใหม่ออกมาได้ทัน

ผู้บริหารจากสายการบินทั้งหลายเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ยอมตกลงอนุมัติแผนช่วยเหลือรอบใหม่มูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้การรับรองด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ตัวแทนสายการบินไม่ได้มีข้อเสนอใหม่มายื่นให้รัฐบาลพิจารณา แต่เพียงเน้นย้ำความจำเป็นของการช่วยเหลือไม่ให้ต้องมีการเลิกจ้างงาน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อรัฐสภาให้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายความช่วยเหลืออีกรอบได้แล้ว

เมื่อเดือน มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติความช่วยเหลือมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์มาให้แก่อุตสาหกรรมการบินแล้ว แต่แผนดังกล่าวมีกำหนดที่จะยุติลงในสิ้นเดือน ก.ย. 2020 นี้ ทำให้สายการบินทั้งหลายต้องร้องขอให้รัฐบาลยืดระยะเวลาให้ความช่วยเหลือไปอีก 6 เดือน ขณะที่พยายามเจรจากับพนักงานของตนเพื่อไม่ให้ต้องเลิกจ้างงานมาก หากไม่มีความช่วยเหลือรอบใหม่มา

ที่มา: VOA, 18/9/2020

เมืองต่าง ๆ ในไต้หวันไม่ยอมให้นายจ้างนำแรงงานต่างชาติเข้าพักโรงแรมกักโรค

แม้ไต้หวันจะอนุญาตให้แรงงานต่างชาติต่ออายุการทำงานระยะสั้นต่อไปได้ แต่ต้องทำงานกับนายจ้างรายเดิมเท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจหลังซบเซาไปหลายเดือนเริ่มฟื้นตัว ผู้ประกอบการต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่ต้องประสบปัญหาโรงแรมกักโรคสำหรับแรงงานต่างชาติมีไม่เพียงพอ

นายลวี่สีอาน นายกสมาคมการจัดหางานนครเกาสงกล่าวว่า บริษัทจัดหางานขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ได้เตรียมห้องพักสำหรับการกักตัวแรงงานต่างชาติที่ได้มาตรฐานเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่กระทรวงแรงงานกำหนดให้จะต้องตรวจสอบมาตรฐานห้องพักกักโรคทุกครั้งไป แรงงานต่างชาติคนละชุดไม่สามารถใช้สถานที่กักโรคที่เดียวกันได้ ทำให้เสียเวลาในการรอให้เจ้าหน้าไปตรวจสอบครั้งใหม่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าไต้หวันได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง นอกจากนี้นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 เป็นต้นมา เมืองต่างๆ ได้แก่เถาหยวน ซินจู๋ ไทจง จางฮั่ว เจียอี้ ไถหนานและเกาสง ได้ประกาศห้ามแรงงานต่างชาตินอกพื้นที่เข้าพักโรงแรมกักโรคของตน รวมถึงศูนย์บัญชาการควบคุมโรคของไต้หวัน ประกาศมาตรการเข้มงวดมากขึ้นสำหรับมาตรฐานของโรงแรมกักโรคตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. 2020 ที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลให้โรงแรมกักโรคที่ได้มาตรฐานใหม่ไม่เพียงพอกับความต้องการ และขึ้นราคาห้องพักจากเดิมห้องละ 1,500 เหรียญต่อคืน เพิ่มเป็น 2,000-2,500 เหรียญต่อคืน แรงงานต่างชาติต้องออกันอยู่ในต่างประเทศ เพื่อรอห้องพักโรงแรมกักโรค จากนั้นจึงจะขอวีซ่าเดินทางเข้าไต้หวันได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการที่กิจการเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติได้เพราะปัญหาสถานที่กักโรคไม่เพียงพอ

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/9/2020

อัตราว่างงานในอาร์เจนตินาแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี

สำนักงานสถิติของอาร์เจนตินาเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของอาร์เจนตินาได้เพิ่มเป็น 13.1% ในไตรมาส 2/2020 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โดยเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 10.4%

ที่มา: Buenos Aires Times, 23/9/2020

แฟชั่นหรูแบรนด์ดังปรับลดพนักงาน-ชะลอแผนขยายธุรกิจเนื่องจาก COVID-19

บริษัทแฟชั่นชื่อดังของสหรัฐฯ Ralph Lauren Corp ระบุว่าจะลดพนักงาน 15% ทั่วโลก ภายในปีงบประมาณนี้ สืบเนื่องจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19

Ralph Lauren เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Polo มีสาขาทั่วโลก 530 แห่ง และพนักงานราว 25,000 คน ซึ่งการตัดพนักงานครั้งนี้จะกระทบลูกจ้างกว่า 3,700 คน

การระบาดของ COVID-19 ทำให้ยอดขายเสื้อผ้า กระเป๋าหรู และเครื่องประดับต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น

นอกจาก Ralph Lauren แล้ว บริษัท Burberry Group และห้าง Harrods ของอังกฤษ ก็ประกาศลดจำนวนพนักงานเช่นกัน

ขณะที่บริษัทแฟชั่นรายใหญ่ของฝรั่งเศส LVMH เจ้าของแบรนด์หรู Louis Vuitton ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ต้องชะลอแผนซื้อกิจการของ Tiffany & Co มูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่สุดในวงการแฟชั่นโลก

ที่มา: VOA, 23/9/2020

อังกฤษออกมาตรการช่วยแรงงานระยะที่ 2

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร แถลงต่อสภาเกี่ยวกับมาตรการชุดใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาในอัตรา 22% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 2,500 ปอนด์ มาตรการดังกล่าวจะมีผลอย่างน้อย 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2020 นี้ แต่ลดลงมากเมื่อเทียบกับอัตราการช่วยเหลือปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 80% และจะหมดอายุในวันที่ 31 ต.ค. 2020

โดยขณะนี้นี้แรงงานเกือบ 3 ล้านคน หรือประมาณ 12% ของผู้ใช้แรงงานในระบบของสหราชอาณาจักร ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เหตุจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19

ที่มา: BBC, 24/9/2020

ไต้หวันอนุญาตให้ขยายการต่อสัญญาแรงงานต่างชาติทำงานครบกำหนด 12 หรือ 14 ปี ได้อีก 6 เดือน

กฎหมายการจ้างงานของไต้หวันกำหนดให้แรงงานต่างชาติภาคการผลิตสามารถทำงานในไต้หวันได้ รวมสะสมแล้วไม่เกิน 12 ปี ส่วนแรงงานต่างชาติภาคสวัสดิการสังคม ได้แก่ผู้อนุบาลหรือผู้ช่วยงานบ้าน ทำงานในไต้หวันรวมสะสมแล้วไม่เกิน 14 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายข้ามชาติของบุคลากร รวมถึงแรงงานต่างชาติมีอุปสรรคในการเดินทางกลับประเทศ กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศก่อนหน้านี้ อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบกำหนดระยะเวลา 12 ปีสำหรับแรงงานในภาคการผลิต และครบ 14 ปีสำหรับแรงงานภาคสวัสดิการสังคม ช่วงระหว่างวันที่ 17 มี.ค. – 17 ก.ย. 2020 สามารถต่อสัญญากับนายจ้างต่อไปได้ครั้งละ 3 เดือน รวมแล้ว 2 ครั้ง และก่อนครบกำหนดวันที่ 17 กันยายน กระทรวงแรงงานได้ประกาศว่า อนุญาตให้ขยายสัญญาจ้างต่อไปได้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้ยาวถึง 6 เดือน กล่าวคือ แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบกำหนดระยะเวลา 12 ปี หรือ 14 ปี ช่วงระหว่างวันที่ 17 ก.ย. 2020 – 17 มี.ค. 2021 สามารถต่อสัญญากับนายจ้างเดิมต่อไปได้อีก 6 เดือน ทั้งนี้การต่อสัญญาจ้างดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก่อนหรือหลังครบสัญญา 14 วัน

ส่วนแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวันยังไม่ถึง 12 ปี และไม่ประสงค์ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด แต่เดินทางกลับประเทศไม่ได้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานอนุญาตให้ต่อสัญญาจ้างระยะสั้นได้ คือ 3 หรือ 6 เดือน ต่อนี้ไปไม่มีมาตรการพิเศษนี้อีกต่อไป รายงานต่างชาติที่ยังไม่ครบ 12 หรือ 14 ปี หากประสงค์จะต่อสัญญากับนายจ้างรายเดิมและหรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างดำเนินการภายในเวลา 2-4 เดือนก่อนครบสัญญา

ที่มา: Radio Taiwan International, 25/9/2020

Lufthansa เตรียมปลดพนักงานเพิ่มเพราะพิษ COVID-19

สายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี เผยแผนที่จะดำเนินธุรกิจในระดับที่จำกัดมากต่อไปจนถึงสิ้นปี 2020 พร้อมลดพนักงานเพิ่มเติมจากที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ด้วย นับจากนี้จนถึงสิ้นปี Lufthansa จะลดกำลังการให้บริการให้อยู่ที่ระดับ 20-30% และมีแผนจะลดพนักงานประจำอีก หลังจากประกาศเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้จำนวน 22,000 ตำแหน่ง

รายงานข่าวระบุว่า ตัวแทนของสหภาพแรงงานแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนลดพนักงาน พร้อมชี้ว่าควรจะมีการเจรจากันก่อน โดยเฉพาะเมื่อ Lufthansa ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นจำนวน 10,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2020 นี้เอง

ทั้งนี้ Lufthansa กล่าวว่าบริษัทควักเงินสดจำนวนเกือบ 584 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้เป็นค่าจ่ายต่าง ๆ อยู่ทุกเดือน และต้องการจะลดเงินจำนวนนี้ให้ได้

ที่มา: VOA, 28/9/2020

สหภาพแรงงานนักบิน Cathay Pacific ขอมีส่วนร่วมปรับโครงสร้างองค์กร

สหภาพแรงงานนักบิน Cathay Pacific ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อขอเข้าร่วมการประชุมปรับโครงสร้างองค์กรของทางสายการบิน ทั้งนี้จากงานวิจัยที่สมาคมลูกเรือฮ่องกง (HKAOA) รวบรวมขึ้น ซึ่งสะท้อนความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ที่ระบุว่า สมาชิกในสหภาพทั้ง 2,200 คนมีความสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ของฮ่องกงให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก HKAOA อันเป็นสาเหตุที่สหภาพแรงงานจะขอเข้าร่วมการปรับโครงสร้างองค์กรด้วย

ที่มา: South China Morning Post, 30/9/2020

Shell ประกาศแผนการปลดพนักงานราว 9,000 คน ภายในปี 2022

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Royal Dutch Shell ประกาศแผนการที่จะปลดพนักงานราว 9,000 คน หรือกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมดตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนต่อปีลงได้ราว 2-2.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2022 ทั้งนี้แผนการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของบริษัทจากการผลิตก๊าซและน้ำมันไปเป็นพลังงานคาร์บอนต่ำ

ที่มา: CNN, 30/9/2020

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net