นักสิทธิฯ นักวิชาการ ร้องหยุดนิคมอุตฯจะนะ กรมโยธาฯ แจง 3 ข้อ ปมเปลี่ยนผังเมืองรวมจากสีเขียวเป็นสีม่วง 

นักสิทธิฯ นักวิชาการขอให้หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะและยุติการดำเนินการใดใดในพื้นที่อำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงที่จะส่งผลให้ผู้หญิงเด็กและชุมชนของเขา กรมโยธาฯ แจง 3 ข้อ ปมเปลี่ยนผังเมืองรวมจากสีเขียวเป็นสีม่วง 

แฟ้มภาพ 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' ค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ จะนะ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

1 ต.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับจดหมายเปิดผนึกจากผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ถึง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เรียกร้องให้หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะและยุติการดำเนินการใดใดในพื้นที่อำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงที่จะส่งผลให้ผู้หญิงเด็กและชุมชนของเขา

โดยมีรายละเอียดจดหมายดังนี้ 

วันที่ 1 ตุลาคม 2563

เรื่อง       ขอให้หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะและยุติการดำเนินการใดใดในพื้นที่อำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงที่จะส่งผลให้ผู้หญิงเด็กและชุมชนของเขา

เรียน       เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร

สำเนาส่งถึง  1. ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

เมื่อวันที่  28 กันยายน 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเปลี่ยนแปลงผังเมืองอำเภอจะนะ จากสีเขียวให้เป็นสีม่วงเพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงผังเมือง 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน  เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในจำนวนหนึ่งมีนักกิจกรรมสตรีจำนวนหลายคนร่วมด้วยได้เดินทางมายื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งแก่เครือข่ายฯ ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ยื่นข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ว่า ขอให้ส่งประธานการจัดประชุมกรรมการที่ปรึกษาเปลี่ยนแปลงผังเมือง ลงมารับหนังสือแทนก็ได้ แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครมารับหนังสือ และต่อมาได้มีข่าวยืนยันวันที่ประชุมดังกล่าวได้อนุมัติข้อเสนอให้เปลี่ยนผังเมืองอำเภอจะนะจากพื้นที่เกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) โดยขาดการตระหนักถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะจากผู้หญิง  ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเชื่อได้ว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายดังกล่าว

รายนามบุคคลและองค์กรที่แนบท้ายมานี้ มีความเห็นว่า การดำเนินการศอบต.ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังขาดการการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองปกป้องสตรีและเด็กที่จะได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสตรีและเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้หญิงและเด็กมักตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาและความไม่เป็นธรรมจากนโยบายและการดำเนินการทางธุรกิจพลังงานที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน

องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคลตามหลายนามนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อปกป้อง คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ การฟื้นฟูเยียวและแก้ไข การพัฒนาศักยภาพของเด็ก สตรีข้อเสนอข้อห่วงใยต่อท่านในฐานะเลขาธิการศอบต.  ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มประชากรที่จะได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนและรุนแรงโดยเสมอมาเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในชุมชนโดยเฉพาะในชุมชนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นเกษตรกรรม  ชุมชนในพื้นที่อำเภอจะนะมีความเป็นอยู่ผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ครอบครัวของผู้หญิงและเด็กครอบครัวชาวประมงและชาวสวนจะได้รับผลกระทบทั้งจากถูกอพยพโยกย้ายจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและซ้ำร้ายชุมชนใกล้เคียงอีกจำนวนมากก็จะได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายนามบุคคลและองค์กรที่แนบท้ายมานี้จึงขอให้ท่านในฐานะเลขาธิการศอบต. ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านหยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะและยุติการดำเนินการใดใดในพื้นที่อำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงที่จะส่งผลให้ผู้หญิงเด็กและชุมชนของเขาได้รับผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโดยทันที องค์กรภาคประชาสังคมด้านเด็กและสตรี จังหวัดชายแดนใต้ ตามรายนามด้านล่างนี้มีความคาดหวังอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกันให้เกิดการมีส่วนร่วมทุกระดับอย่างยั่งยืนได้จริง ขอให้ท่านดำเนินการและสื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะระยะให้เกิดความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ลงชื่อ

1.       รอซิดะห์ ปูซู   ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัด 

2.       สุชาติ เศรษฐมาลินี  อดีตหัวหน้าสาขาวิชาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ

3.       วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ 

4.       พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

5.       อัญชนา หีมมิหน๊ะ  กลุ่มด้วยใจ 

6.       ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ประธานสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

7.       ผศ.ดร.กัลยา ดาระหะ อดีตประธานหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

8.       ลม้าย มานะการ  เลขาธิการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี

9.       ฮันซอลาห์ มะสง ประธานสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดชายแดนใต้

 

กรมโยธาฯ แจง 3 ข้อ ปมเปลี่ยนผังเมืองรวมจากสีเขียวเป็นสีม่วง 

ขณะที่วานนี้ (30 ก.ย.63) เดลินิวส์ รายงาน คำอธิบายของ อนวัช  สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.)ซึ่ง อนวัช ชี้แจงว่า กรณีที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมตัวกันที่ศาลากลาง จ.สงขลา ยื่นหนังสือคัดค้านการเปลี่ยนผังเมืองรวมจากสีเขียว เป็นสีม่วง เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ 3 ตำบล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ส.ค. 2563 ไม่มีความชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ดังนั้น การดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงาน จ.สงขลา ที่จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงเป็นการดำเนินการอันมิชอบ ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลบนฐานข้อมูลอันผิดพลาดที่ ศอ.บต. จัดทำขึ้น  

ทั้งยังผิดขั้นตอนตามพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2562 จึงเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงาน จ.สงขลา ยุติกระบวนการทั้งหมดที่กำลังดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาจากสีเขียวให้เป็นสีม่วง เพียงเพื่อตอบสนองผลประโยชน์กลุ่มทุนที่ต้องการใช้พื้นที่อำเภอจะนะ ตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม นั้น ว่า 1.ตามมติครม. วันที่ 18 ส.ค. เรื่องสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2563 ตามที่ศูนย์ ศอ.บต. เสนอเรื่องผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีประเด็นดังนี้ รับทราบและเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ทั้ง 4 ประเภทการลงทุน (สวนอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด) และรายละเอียดการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อนำไปสู่การดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจ.สงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน 3 ตำบล นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ตามแผนเร่งด่วน การลงทุนของภาคเอกชนและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ให้ศอ.บต. ส่งผลรายงานผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนฯ ไปยังหน่วยงานเป็นการเร่งด่วน และให้ศอ.บต.ประสานขับเคลื่อนมติ ของกพต.ไปยังคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ ในฐานะกลไกเชิงนโยบายตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการลงทุน ตามแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้ประสานจ.สงขลา โดยผวจ.สงขลา มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจ.สงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

อนวัช กล่าวว่า 2.ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดตามมติครม. เพื่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลาจึงต้องดำเนินการขอแก้ไขกฎกระทรวงผังเมืองรวมจ.สงขลา พ.ศ. 2559 ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผังสอดคล้องกับแผนงานโครงการ 4 ประเภทการลงทุนได้แก่สวนอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคตเมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า และศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด โดยต้องนำประเด็นการขอแก้ไขกฎกระทรวงฯ เสนอ คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจ.สงขลา คณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยเมื่อคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องปิดประกาศ 30 วันโดยปิดประกาศแผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวมที่แก้ไขและรายละเอียดของการแก้ไขไว้ในที่เปิดเผยภายในเขตของผังเมืองรวม โดยในประกาศให้มีคำเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ

 3. ทั้งนี้เครือข่ายจะนะรักษ์ท้องถิ่น หากมีความเห็นต่างอย่างไร ก็สามารถแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรได้ (ยื่นคำร้องเดิม) ตามกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดมีสิทธิในการแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่ระบุในประกาศ เพื่อให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาคำร้อง และจะได้มีการแจ้งผลการพิจารณาข้อคิดเห็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท