Skip to main content
sharethis

2 ต.ค. 2563 กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรม 'เส้นทางแห่งความเจ็บปวดของนักเรียนเลว' นั่งรถแห่ไปยังโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร พร้อมนำจดหมายลาออกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนาม

ขบวนรถแห่ที่ใช้ #ขับรถแห่ไปกูจะไปไล่อีณัฏฐพล เคลื่อนขบวนจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เวลา 13.00 น. ไปยังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เวลา 14.00 น. โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เวลา 14.30 น. โรงเรียนเทพศิรินทร์ เวลา 15.30 น. โรงเรียนวัดราชบพิธ เวลา 16.15 น. และมีจุดหมายที่กระทรวงศึกษาธิการ เวลา 17.00 น.

“ภายในสองนาทีหลังจากที่เรายื่นหนังสือ ถ้าท่านไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เราก็จะไล่ท่านออกทันทีครับ” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสองนาทีน้อยไปไหม ลภนพัฒน์ตอบว่า นี่คือข้อเรียกร้องเดิมที่เราเคยเรียกร้องไปแล้ว ถ้านับรวมจริงๆ มันไม่ใช่สองนาที แต่มันคือเกือบหนึ่งเดือนแล้วที่นักเรียนยังถูกตีในโรงเรียนทุกๆ วัน ยังถูกตัดผมอยู่ทุกๆ วัน นี่มันไม่ใช่น้อยไป นี่มันมากเกินไปด้วยซ้ำ 

“กระทรวงศึกษาธิการไม่มองเห็นปัญหาตรงนั้นเลยเหรอ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง แค่นั้นเลย แค่ครูไม่ทำร้ายร่างกายนักเรียน ทำไมถึงทำไม่ได้” ลภนพัฒน์กล่าว

ลภณพัฒน์ หวังไพสิฐ กลุ่มนักเรียนเลว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเวลาครูตีเพราะเราไปทำอะไรรึเปล่า ลภนพัฒน์ตอบว่า 

“ไม่ว่าครูจะมีเหตุหรือไม่มีเหตุ นักเรียนจะทำผิดหรือไม่ ครูไม่สมควรทำร้ายร่างกายนักเรียนอยู่แล้ว” 

เขายกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ.2548 ซึ่งระบุไว้แค่ 4 สถาน และไม่มีข้อใดอนุญาตให้มีการทำร้ายร่างกายนักเรียน 

“ไม่ว่านักเรียนจะไปฆ่าใครตายหรืออย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือส่งขึ้นศาล ไม่ใช่การไปขู่ ไปเฆี่ยน ไปตี นั่นไม่ใช่การลงโทษนักเรียนที่ถูกต้อง ถ้าคุณอยากให้สังคมมีแต่ความถูกต้อง คุณก็ต้องลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้อง เราไม่ได้ค้านให้คุณหยุดการลงโทษนักเรียน แต่ต้องลงโทษด้วยวิธีที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น” ลภนพัฒน์กล่าว

สำหรับการแห่ขบวนวันนี้ ลภนพัฒน์ระบุว่า ข้อเรียกยังเหมือนเดิมคือ 1.หยุดคุกคามนักเรียน 2.ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3.ปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งข้อเรียกร้องจากนักเรียนในแต่ละโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องใดๆ เลย ได้แค่คำพูดที่จะทำ แต่การกระทำยังไม่เกิดขึ้น

"ถ้ารัฐมนตรีไม่ออกมา อย่างน้อยท่านก็ต้องส่งตัวแทนออกมา เรายินดีที่จะคุยกับตัวแทนครับ คาดหวังว่าเขาจะไม่ปล่อยให้นักเรียนโดดเดี่ยว" ลภนพัฒน์กล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่าโรงเรียนบนเส้นทางรถแห่ยังมีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้นักเรียนออกมาร่วมกิจกรรม

16.40 น. ฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงบ่ายทำให้ขบวนรถแห่เคลื่อนตัวล่าช้า ขณะที่โรงเรียนวัดราชบพิธ นักเรียนนำป้ายผ้ามาติดที่รั้วโรงเรียน พร้อมปราศรัยเกี่ยวกับความรุนแรงต่อนักเรียนอยู่ด้านในโรงเรียน รอขบวนรถแห่ของกลุ่มนักเรียนเลวซึ่งเดินทางมาถึงประมาณ 17.00 น.

17.10 น. ขณะผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวตั้งคำถามถึงกรณีคลิบที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นภาพครูใช้ความรุนแรงกับเด็ก พร้อมขอให้ ผอ.ให้คำอธิบายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จากนั้นตัวแทนนักเรียนโรงเรียนราชบพิธขึ้นกล่าวปราศรัย​ถึงการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และกล่าวกับเพื่อนนักเรียนว่า ขอให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และให้ออกมาพูดความจริงกับสังคม อย่างไรก็ตาม ตัวแทนนักเรียนระบุว่าทางโรงเรียนกำลังตรวจสอบกรณีดังกล่าว

17.20 น. ตัวแทนนักเรียนยื่นหนังสือถึง ผอ.โรงเรียนวัดราชบพิธ เรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงกับนักเรียน จากนั้นนำป้ายข้อความ "ครูโรงเรียนนี้ยังใช้ไม้เรียวฟาดนักเรียน" ไปติดไว้ที่รั้วโรงเรียน ก่อนขบวน รถแห่จะเคลื่อนออกจากโรงเรียนวัดราชบพิธประมาณ 17.30 น.

ประมาณ 17.45 น. ขบวนรถแห่เดินทางถึงกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มนักเรียนร่วมเคารพธงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว

ตัวแทนกลุ่มยื่นข้อเรียกร้องจากนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ขอให้หยุดคุกคามนักเรียน, ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา ต่อการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบเป็นตัวแทนของณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

การุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มารับข้อเรียกร้องจากกลุ่มนักเรียนเลว

ลภนพัฒน์ กล่าวแก่ปลัดกระทรวงฯว่า ต้องการให้โรงเรียนยุติความรุนแรงกับนักเรียน พวกตนยื่นขอเรียกร้องนี้ไปแล้ววันที่ 5 ก.ย. ผ่านมา 28-29 วันแล้ว ทำไมถึงยังไม่คืบหน้า แม้จะเห็นว่ากรณีโรงเรียนสารสาสน์ได้ส่งรัฐมนตรีช่วยฯ คือกนกวรรณ วิลาวัลย์ ไปดูแลแล้ว แต่ก็เป็นแค่หนึ่งในหลายพันโรงเรียนที่มีการทำร้ายร่างกาย คำถามคือทำไมถึงไม่สามารถดำเนินการให้ ร.ร. ปลอดภัยได้นับตั้งแต่วันนี้

ปลัดกระทรวงฯกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็ช้ำใจ เพียงแต่มาตรการรัฐอาจจะยังไม่รวดเร็ว ไม่เข้าที่ เราพยายามจะเข้าถึงปัญหา เข้าถึงการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ตัวอย่างเมื่อสักครู่ รัฐมนตรีช่วยก็พยายามจะเข้าไปโดยเร็ว ในพื้นที่ก็กำลังมีการสำรวจสภาพที่เกิดขึ้นและพยายามจะจัดการเชิงคดี พร้อมกับการเข้าไปตรวจสอบไม่ให้มีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น บางคนที่เป็นครูพี่เลี้ยง ไม่ใช่ครูแท้ๆ ก็ต้องมีการคัดกรองที่ดี

ลภนพัฒน์ตอบกลับว่า คำตอบของปลัดกระทรวงไม่ได้แตกต่างอะไรกับปลัดคนก่อนและรัฐมนตรีเลย แน่นอนว่าทุกคนย่อมจะตอบว่า การทำร้ายร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องไม่ควร นี่เป็นสามัญสำนึกของคนทั่วไป แต่นักเรียนก็ยังถูกครูตี ถูกบังคับให้ตัดผมทรงที่โรงเรียนกำหนด ทั้งที่กฎกระทรวงยกเลิกไปแล้ว นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถูกครูดีดสายเสื้อใน เพราะไม่ใส่เสื้อทับและใส่เสื้อในสีประหลาด นักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ถูกครูเอาไม้ปิงปองทุบหัว นักเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธถูกครูเอาไม้เรียวฟาดก้น และนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ถูกครูตี

“คำถามคือสิ่งพวกนี้เกิดขึ้นแต่ท่านไม่ทราบเลย ถ้านักเรียนไม่ออกมาพูด ผมพูดกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของท่านณัฏฐพล เพราะผมเชื่อว่าควรจะต้องดำเนินการบางอย่างได้แล้ว ไม่ใช่แค่ตบปากรับคำ แล้วสุดท้ายสิ่งพวกนี้ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิมและไม่ลดน้อยลงเลย” ลภนพัฒน์ระบุ

การุณกล่าวตอบว่า ตนยังไม่สามารถตอบได้ตรงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้จะลดได้ไหม แต่สิ่งที่ตอบได้คือเราจะกำจัดสิ่งเหล่านี้ไปให้มากขึ้น เราจะช่วยกันทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องนี้ลดลง ไม่เกิดขึ้น

ลภนพัฒน์จึงตอบกลับว่า สิ่งที่เราเห็นก็คือรัฐมนตรีไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากการไปโรงเรียนต่างๆ แล้วถ่ายรูปเหมือนเดิม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีทำเป็นประจำอยู่แล้ว 

การุณพยักหน้ารับ ลภนพัฒน์จึงกล่าวติดตลกว่า “ท่านอย่าพยักหน้าครับ เดี๋ยวท่านณัฏฐพลจะว่าท่าน” พร้อมกล่าวต่อว่า “ไม่เป็นไร วันนี้ผมไม่อยากคาดหวังกับท่าน เพราะท่านเพิ่งมาดำรงตำแหน่งได้วันสองวันเอง ผมก็อยากหวังว่าท่านจะสามารถทำอะไรบางอย่างให้การศึกษาไทยมันดีขึ้น”

“วันนี้เราไม่ได้มาเพื่อคุยกับท่านปลัดกระทรวง แต่เรามาไล่คุณณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่สามารถทำให้โรงเรียนปลอดภัยได้เลยนับตั้งแต่วันที่เรายื่นข้อเรียกร้อง ถ้ากระทรวงศึกษาที่การไม่สามารถทำให้นักเรียนปลอดภัย ไม่สามารถที่จะคุ้มครองนักเรียนได้ กระทรวงศึกษาธิการก็เป็นได้แค่เค้กแหละครับ” ลภนพัฒน์กล่าว

จากนั้นลภนพัฒน์ได้ขึ้นไปยังรถแห่และโยนเค้กรูปณัฏฐพลลงมา พร้อมกล่าวว่า

“เค้กมีแค่แป้ง น้ำตาล ครีม ไม่ได้มีความสามารถหรือมีประสิทธิภาพอื่นใดที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันนักเรียนไม่ให้ถูกละเมิดเสรีภาพในรั้วโรงเรียนได้ นี่ผ่านมา 1 เดือนแล้ว ผมให้เวลาท่านมาเกินไปแล้ว ผมไม่ได้กำหนดเวลาแต่ไม่ได้แปลว่าท่านจะสามารถเอ้อระเหยลอยชาย ทำอะไรก็ได้กับข้อเรียกร้องของพวกเรา เรากำลังดูอยู่ และจับตาดูอยู่ว่าแต่ละโรงเรียนทำอะไรบ้างกับนักเรียน”

พร้อมกันนี้ลภนพัฒน์ได้อ่านจดหมายลาออกที่เตรียมไว้สำหรับณัฏฐพลดังต่อไปนี้

เรื่อง ขอลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เรียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไม่สามารถคุ้มครองและปกป้องนักเรียนในฐานะผู้บริหารระบบการศึกษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังปล่อยปละละเลยให้ครูทำร้ายร่างกายนักเรียน ตบตีนักเรียน และละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมิได้มีความตั้งใจที่จะระงับยับยั้งเหตุเหล่านั้น หรือดำเนินการใดๆ เพื่อคุ้มครองนักเรียนเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังดูถูกดูแคลนนักเรียนที่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพของตนเองว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง นักเรียนคงไม่มีความสามารถในการจัดชุมนุมให้ยิ่งใหญ่ดังที่ปรากฎได้ 

อีกทั้งที่มาของข้าพเจ้ามีความเกี่ยวโยงกับคณะรัฐประหาร โดยที่ข้าพเจ้าชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2557 ร่วมกับกลุ่ม กปปส. ส่งผลให้คณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ใช้อำนาจเผด็จการยึดครองประเทศ ซึ่งข้าพเจ้ายังเห็นดีเห็นงามกับการกระทำดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งใดๆ จนได้รับความไว้วางใจจากพลเอกประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะข้าพเจ้ามีประสบการณ์ทำธุรกิจโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติเพียงเท่านั้น 

รายละเอียดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความผิดบาปทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้ทำต่อประเทศนี้ไว้ ข้าพเจ้ารู้สึกละอายใจอย่างมากที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป โดยที่รู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า ข้าพเจ้าไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำพาการศึกษาชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ประชาชนและนักเรียนต้องการ 

ข้าพเจ้าจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ 
ขอแสดงความนับถือ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ขณะที่ 'รัฐ' (นามสมมติ) นักเรียน ม.4 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ที่มาร่วมชุมนุมวันนี้ กล่าวว่า ปัญหาที่เจอในโรงเรียน คือ เรื่องทรงผมที่คุกคามสิทธิมนุษยชนของนักเรียน หลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน หรือการที่ครูละเมิดนักเรียนโดยที่คนภายนอกยังเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

“เคยโดนครูท่านหนึ่งดึงผม แล้วให้วิ่งรอบสนาม เพราะเราตัดหน้าม้า เราผมยาวเกิน” 'รัฐ' เล่าประสบการณ์ตรง

'รัฐ' เคยร่วมชุมนุมมาแล้ว 2 ครั้ง เธอเล่าว่า ครอบครัวสนับสนุนให้ออกมาชุมนุม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เด็กคนหนึ่งไปโรงเรียนเพื่อศึกษา แต่กลับถูกละเมิดสิทธิของตนเอง

“เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่บางบ้านอาจไม่เข้าใจ หลายบ้านเป็นแบบนั้น แต่เราก็ดีใจที่พ่อแม่เปิดรับฟังปัญหาของคนรุ่นเรา และฟังเสียงของเรา ไม่ได้เอาเสียงของตัวเองเป็นที่ตั้ง จริงๆ อยากให้พ่อแม่คนอื่นคิดได้อย่างนี้เหมือนกันค่ะ เห็นใจเพื่อนร่วมรุ่น เห็นใจเพื่อนร่วมชะตากรรม ที่นอกจากจะโดนโรงเรียนละเมิดสิทธิแล้ว ยังโดนที่บ้านทำร้ายจิตใจอีก” 'รัฐ' กล่าว และเล่าอีกว่า มีเพื่อนที่พบกันในที่ชุมนุมแล้วถูกที่บ้านไล่ออกจากบ้านด้วย

ด้าน ‘ซิน’ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า เคยถูกละเมิดเรื่องทรงผม กฎระเบียบการแต่งกาย และการใช้ชีวิตในโรงเรียน จนได้เรียนวิชากฎหมาย จึงรู้ว่าที่ถูกกระทำนั้นขัดต่อกฎหมาย และทำให้รู้สิทธิของตนเองมากขึ้น

“(ในวิชากฎหมาย) คุยทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิและเรื่องสังคมการเมืองด้วย คุยถกกันเลย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร ก็เลยคุยกันหาวิธีแก้แต่หาไม่ได้ เพราะเราโดนกดขี่อยู่ฝ่ายเดียวแล้วทำอะไรกับเขาไม่ได้” ‘ซิน’ กล่าว

‘ซิน’ เล่าอีกว่า ครอบครัวสนับสนุนให้ออกมาชุมนุมเพราะเห็นว่าสิ่งที่เธอเผชิญเป็นปัญหามานานแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net