Skip to main content
sharethis

ไอลอว์รายงานว่า เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดสงขลา เรียกร้องรัฐบาลทบทวนมติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ, ยุติกระบวนการแก้ไขผังเมือง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา หากไม่ได้รับคำตอบเตรียมไปทำเนียบรัฐบาล 5 ต.ค. 2563

2 ต.ค. 2563 เวลา 15.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เครือข่ายประชาชนคนสงขลาและภาคใต้ นำโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจัดชุมนุมรวมพลคนไม่เอานิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อแสดงพลังปกป้องพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

สืบเนื่องจากวันที่ 28 ก.ย. 2563 กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลาจัดประชุมพิจารณาให้ความเห็นเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 เป็นไปตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ให้อำนาจในการแก้ไขพื้นที่ผังเมืองรวมบางส่วนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ซึ่งมีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลาปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ อ.จะนะ ต่อมาที่ประชุมมีมติเปลี่ยนผังเมืองจะนะจากสีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) เป็นสีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม)

กิจกรรมเริ่มในเวลาประมาณ 15.00 น. โดยมีตัวแทนผลัดเปลี่ยนขึ้นมาปราศรัยเช่น รุ่งเรือง ระหมันยะ ชาวสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันที่ 28 กันยายน 2563 ชาวบ้านได้มายื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนผังเมืองจะนะให้กลายเป็นสีม่วง เขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีใครมารับหนังสือของชาวบ้าน จนกระทั่งมีการลงมติเปลี่ยนผังเมืองจะนะจากสีเขียวเป็นสีม่วง รุ่งเรืองตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดวางผังเมืองในฐานะที่เป็นคนจะนะ และเจ้าของพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าทรัพยากรในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด เขาชี้ว่า จะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารให้พื้นที่สงขลาและใกล้เคียง

อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for Life กล่าวว่า เวลาตั้งคำถามการพัฒนาของสงขลาจำเป็นต้องถามถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาสงขลา ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วม แต่อยู่ๆ ก็ต้องไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การพัฒนาแบบนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ เขาฝันจะมีอนาคตอีกไกล ถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมคิดว่า คงอยู่ได้ไม่เกินอายุ 50 ปีเนื่องจากจากมลพิษ เขาต้องการมีอากาศดี อาหารที่ดีและส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กของชาวบ้าน

อภิศักดิ์กล่าวอีกว่า วันนี้ยังมีชาวสงขลาอีกจำนวนมากที่ไม่รู้เรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จึงขอเรียกร้องให้ชาวสงขลาออกมาต่อสู้พร้อมกับชาวจะนะและชาวเทพา รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาและประชาชนร่วมกันต่อต้านอำนาจการตัดสินใจที่ไม่ชอบธรรมนี้ ถ้าประชาชนยืนยันเรื่องนิคมอุตสาหกรรมได้ ทุกเรื่องในประเทศมันจะเปลี่ยนได้เช่นเดียวกัน

สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอว่า รัฐมีทางเลือกอื่นที่สามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้เหมือนกัน แต่ภาครัฐไม่เคยบอกทางเลือกนั้นแก่ประชาชน ขอเพียงภาครัฐยอมถอยมาสักก้าว มหาวิทยาลัยยินดีที่จะระดมความคิดในเชิงการพัฒนาพื้นที่ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องนำสิ่งแวดล้อมมาแลก ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 เสียก่อนและศึกษาทางออกร่วมกัน

นอกจากนี้ มีตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคขึ้นปราศรัยเพื่อให้กำลังใจพี่น้องชาวจะนะว่า สิทธิที่อยู่อาศัยคือสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐหยุดเอื้อนายทุนสักทีและมาหนุนคนจนแทน ประชาชนต้องการพื้นที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ถ้ารัฐบาลหนุนนายทุน ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม แหล่งอาหารและทรัพยากรจะสูญหาย นายทุนคิด รัฐทำ ผลกรรมอยู่ที่ประชาชน มันสมควรแล้วหรือ? ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

เวลา 19.15 น. ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนขึ้นอ่านคำประกาศสงขลาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดสงขลาเรียกร้อง 3 ข้อคือ ให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 3 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ, ยุติกระบวนการแก้ไขผังเมืองทั้งหมดที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ และรัฐบาลและ ศอ.บต. ต้องสร้างความคิดใหม่ในการพัฒนาที่ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้นและต้องตั้งอยู่บนฐานศักยภาพที่มีอยู่จริงในพื้นที่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เครือข่ายประกาศว่า จะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2563 หากไม่มีคำตอบเครือข่ายฯ จะเดินทางไปสอบถามเรื่องนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

สำหรับการจัดการพื้นที่การชุมนุมในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวโดยรอบไม่น้อยกว่า 100 นาย มีกล้องวงจรปิดลักษณะชั่วคราวติดอยู่ที่ต้นไม้ใกล้พื้นที่ชุมนุม บริเวณใกล้เคียงมีรถกล้องวงจรปิดจอดอยู่ด้วย

นอกจากนี้ เวลา 18.32 น. ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ระหว่างที่นักศึกษากลุ่ม PerMAS ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นจากการอ่านบทกวี เดินออกไปขนน้ำเปล่านอกที่ชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขอตรวจสอบบัตรประชาชน เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่นายดังกล่าวอ้างว่า เป็นตำรวจจาก สภ.เมืองสงขลา เยาวชนและเพื่อนจึงขอดูบัตรประจำตัว แต่บุคคลดังกล่าวปฏิเสธ ก่อนจะแยกย้ายกันไปโดยที่เยาวชนไม่ได้แสดงบัตรประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net