Skip to main content
sharethis

พนักงานกว่า 30 คนเคว้ง โรงงานปิดประตูล็อกโซ่ ไม่ให้เข้าทำงาน ประกาศปิดฟ้าผ่า ไม่จ่ายเงินชดเชย บางคนไม่ได้เงินเดือนกว่า 4 เดือน

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์แห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ม.3 ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี กลุ่มพนักงานกว่า 30 คน ได้รวมตัวเรียกร้องประท้วงผู้บริหารบริษัท จากการปิดโรงงานโดยไม่บอกล่วงหน้า และจ่ายเงินชดเชยไม่ครบตามจำนวน มีพนักงานบางคนไม่ได้รับเงินเดือนมานาน 4 เดือน และส่วนใหญ่ทางโรงงานยังคงค้างเงินเดือนจ่ายไม่ครบ และเงินสวัสดิการตามที่ตกลงไว้

โดยการพูดคุยกันระหว่างพนักงานกับผู้บริหารทำท่าจะบานปลายเนื่องจาก ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่าง สอบถามผู้บริหารคือ น.ส.จันทร์ อายุ 58 ปี ตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ถึงสาเหตุที่สั่งหยุดและออกประกาศพิมพ์ใส่กระดาษ เอ 4 ข้อความระบุว่า ทางบริษัทฯ ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบทางการเงิน ประกอบกับมีพนักงานบางคนปล่อยข่าวทำให้ทางบริษัทเสียหาย ทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากบริษัทคู่ค้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากเดิมที่เคยมีเครดิต แต่ต้องมาจ่ายเงินสดเพื่อชำระค่าวัตถุดิบทันที และสั่งจ่ายเงินเดือนล่าช้าในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 จึงขอปิดกิจการ เพื่อหาทางจัดการปัญหา และจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ทางพนักงานเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยให้ แต่ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้บริหารที่เป็นชาวญี่ปุ่นที่ป่วยและกำลังรักษาตัวอยู่ได้ ประกอบกับช่วงนี้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศยังไม่สะดวก จากนั้นผู้บริหารคนดังกล่าวได้เดินขึ้นรถและขับออกไปจากบริเวณที่มีการประท้วง ต่อหน้าต่อตาบริษัทคู่ค้าที่ทยอยเดินทางมาเพื่อรับชิ้นงานจากหลายๆ บริษัท

ด้านนายทวีทรัพย์ โพธิระ หนึ่งในกลุ่มของพนักงานที่กำลังตกงานได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะเลิกงาน ทางผู้บริหารเรียกพนักงานไปประชุมเรื่องทั่วๆ ไป พอรุ่งเช้าพนักงานจะเข้าทำงานปกติต่างก็ต้องตกใจ เนื่องจากเห็นข้อความประกาศแจ้งปิดโรงงาน ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องแจ้งล่วงหน้าให้พนักงานทราบ พร้อมกับจ่ายเงินค่าจ้าง สวัสดิการ และเงินชดเชยตามอายุงาน ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป จริงๆ แล้วมีพนักงานที่ทำงานในโรงงานนี้เพียงแค่ 20-30 คน เงินชดเชยที่พนักงานสมควรจะได้รับก็ตกคนละ 1-2 แสนบาท ถือว่าไม่เยอะ

"พนักงานไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินเลย อยู่ๆ ก็มาปิดโรงงานหนีแบบนี้ทำให้พนักงานไม่มีทางคิดเป็นอย่างอื่นได้นอกจากถูกลอยแพ และคงไม่ได้เงินชดเชย ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คงไปปรึกษากับนิติกรของศาลแรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายหาทางเอาผิดกับทางบริษัท ให้จ่ายเงินชดเชยตามสิทธิ์ที่พึงจะได้" นายทวีทรัพย์ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 2/10/2563

กสร. เผยออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ ไปแล้วกว่า 2 ล้านบาท

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง กรณีที่ลูกจ้างบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ได้รวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะนายทะเบียนโรงแรมตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ให้พิจารณาสั่งปิดโรงแรมเนื่องจากใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ หมดอายุ เพื่อจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว ได้สั่งการให้ กสร. ดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็ว ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้ตามอำนาจหน้าที่แล้ว โดยได้ดำเนินการรับคำร้องจากลูกจ้าง จำนวน 60 คน กรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างในช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่นายจ้างได้ใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมเป็นเงิน 579,960.84 บาท

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า กสร.ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนเดือนพฤษภาคม 2563 พนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องจากลูกจ้าง จำนวน 110 คน กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง และได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เป็นเงิน 2,025,054.01 บาท ซึ่งนายจ้างได้นำคดีขึ้นสู่ศาลและสามารถตกลงกับลูกจ้างได้ และเมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมาลูกจ้างของบริษัทฯ จำนวน 65 คน ได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานให้บริษัทฯ จ่ายเงินค้างจ่ายในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เป็นเงินรวม 620,658 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งดำเนินการวินิจฉัยคำร้องทั้ง 2 กรณี ภายใน 30 วัน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/10/2563

เผย บ.มิตซูบิชิฯ ชลบุรี เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ให้ค่าตอบแทนสูงถึง 16-37 เดือน

2 ต.ค. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพนักงานบริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย จำกัด จ.ชลบุรี กอดคอกันอำลา เนื่องจากถูกเลิกจ้างว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเป็นห่วงลูกจ้างของบริษัท มิตซูบิชิฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้เป็นการเลิกจ้างปิดกิจการ แต่เป็นโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก โดยมีผลตอบแทนเป็นเงินชดเชยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด คือ 16-37 เดือน ทำให้ลูกจ้างสนใจสมัครเข้าโครงการจำนวนมากถึง 970 คนเกินยอดที่ตั้งเป้าไว้แค่ 686 คน โดยส่วนใหญ่ต้องการนำเงินก้อนไปเปลี่ยนแผนชีวิต หรือไปประกอบอาชีพด้านอื่นแทน

นายสุชาติ ระบุว่าจึงไม่อยากให้คนที่ได้รับทราบข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง และคนไม่ทราบข้อมูลที่เป็นจริงจะตกใจว่าเศรษฐกิจไทยตกต่ำจนมีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
นายสุชาติ กล่าวว่า รายละเอียดและที่มาที่บริษัทมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย จำกัด ต้องเปิดโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก มีดังนั้น บริษัทฯมีลูกจ้างจำนวน 2,400 คน มีการปรับลดจำนวนลูกจ้างเนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีประกาศโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก มีการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายและยังมีเงินเพิ่มพิเศษมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยต่ำสุดที่ได้รับคนละ 16 เดือน สูงสุดได้รับคนละ 37 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 จุดนี้จึงทำให้มีลูกจ้างสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 970 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่บริษัทอนุมัติ ให้สมัครใจลาออกจำนวน 686 คน ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินค่าช่วยเหลือพิเศษและเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างแล้วจำนวนประมาณ 560 ล้านบาท

“เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ทางบริษัทฯยังมีศักยภาพในการจ้างงานได้อีก เพียงแต่เสนอผลตอบแทนเป็นค่าชดเชยที่สูง จึงทำให้ลูกจ้างสนใจที่จะได้รับเงินก้อน ไม่ได้กลัวตกงาน และไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาจนมีการเลิกจ้างจำนวนมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้จัดงาน JOB EXPO โดยรวบรวมงานกว่าล้านตำแหน่งมาให้กับนักศึกษาจบใหม่ และผู้ไม่มีงานทำได้สมัครเข้าทำงาน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงแรงงานไม่เคยทอดทิ้งแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน” รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 2/10/2563

บสย.-กพร.ลงนามช่วยแรงงาน 95,000 คน ดึง 4 แบงก์ปล่อยสินเชื่อ-ค้ำประกัน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. พร้อมให้ความสนับสนุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือตลาดแรงงานที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งกลุ่มตกงาน ว่างงาน และแรงงานกลุ่มที่มีความสามารถด้านงานช่าง หรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องการก้าวสู่ชีวิตใหม่ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภายใต้แนวคิด "บสย. เพื่อนแท้ SMEs ไทย ทางรอดใหม่ คู่ใจยามวิกฤต" มอบโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย.ให้การค้ำประกันสินเชื่อจากกลุ่มธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ให้กับกลุ่มแรงงานที่ได้พัฒนาเพิ่มทักษะและฝีมือจาก กพร.

"การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการมีพันธกิจใกล้เคียงกัน ในการช่วยเหลือของ บสย. และ กพร. ที่ช่วยเหลือแรงงานและกลุ่มคนตกงาน บัณฑิตจบใหม่ให้มีทางรอดโดยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ" นายรักษ์กล่าว
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกระทรวงแรงงาน และ 4 ธนาคารพันธมิตร ที่มีโครงการสินเชื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและอาชีพอิสระต่างๆ และในการนี้ บสย. ยังได้นำเสนอศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาทางการเงินและศูนย์ให้ข้อมูลความรู้ เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกันยกระดับฝีมือแรงงาน อาทิ ช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถ ช่างแอร์ ช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมแรงงานที่ตกงานให้เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพแบบครบวงจร

สถานการณ์ด้านแรงงานของไทยปัจจุบัน คาดว่ายังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากข้อมูล ไตรมาส 2/2563 การประเมินสถานการณ์แรงงาน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 1.6 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 1.1 ล้านคน และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน (ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-60 ปี) 38.2 ล้านคน โดยในไตรมาส 4/2563 ประมาณการว่าจะมีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสะสม 6.5% แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 2 ล้านคน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคน

นายรักษ์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่ผลสำเร็จ 3 สร้าง คือ 1.สร้างความรู้โดยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 2.สร้างอนาคตโดยให้เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น 3.สร้างโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจต่อยอดด้านการขาย โดย บสย. ทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่มีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ร่วมเข้ากับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ซึ่งปัจจุบัน ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start up & Innobiz สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับธนาคารที่พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อขณะนี้มี 4 ธนาคาร ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 8 โครงการ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อ Street food วงเงิน 3 ล้านต่อราย 2.โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย 3.โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย 4. โครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย 5.โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 50,000 บาทต่อราย

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย วงเงิน 200,0000 บาทต่อราย, ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อฮักบ้านเกิด

"การร่วมมือของ กพร. บสย. และธนาคารพันธมิตรในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบจากการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. จำนวน 29,300 ล้านบาท และช่วยอุ้มแรงงาน 95,000 คน ให้กลับมามีอาชีพและทางรอดในการฝ่าวิกฤตโควิด-19" นายรักษ์กล่าว

ขณะที่ในส่วน กพร. จะดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างและต้องการสร้างอาชีพ 2. กลุ่มผู้ว่างงาน ที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ และ 3. กลุ่มที่ให้ความรู้ด้านช่างและอาชีพต่างๆ และต้องการผันตัวเองเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำหน้าที่ให้ความรู้และฝึกทักษะต่างๆ ภายใต้ 3 หน่วยงานหลักคือ 1. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 77 ทั่วประเทศ ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน 2. สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก หน่วยงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการอบรม Online 3.กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ดูแลและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รับรองความรู้ความสามารถและการประกันคุณภาพ และช แอปพลิเคชั่น "รวมช่าง" เพื่อเป็นศูนย์รวมช่างมืออาชีพ

"นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อเปิดโอกาสการมีงานทำ เปิดประตูสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระตามความถนัด และพร้อมยกระดับพัฒนาฝีมือ โดยมี บสย. และ กพร. เป็นพี่เลี้ยงด้านการยกระดับฝีมือ และที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นการสร้างทางรอดอย่างยั่งยืนและช่วยลดอัตราการว่างงานในระบบได้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานฐานรากที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 2/10/2563

พนักงานโรงแรมดาราเทวี ยื่นเรื่องร้องขออำนาจผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งปิดกิจการถาวร เหตุโรงแรมไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ ลอยแพพนักงานกว่า 300 คน

1 ต.ค. 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มพนักงานโรงแรมดาราเทวี ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่จำนวนมากได้เดินทางมายื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามหน้าที่ ในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มีคำสั่งปิดกิจการโรงแรมดาราเทวี อย่างถาวร เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมหลังจากที่โรงแรมไม่จ่ายค่าจ้างพนักงานจำนวนกว่า 300 คน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าหลังจากรับเรื่องแล้วต้องมาพิจารณาตามข้อกฎหมายว่าจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานได้มากน้อยขนาดไหนในส่วนกระบวนการด้านแรงงานได้มีการดำเนินการถึงชั้นศาลขณะที่สำนักงานวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ส่วนประเด็นวันนี้กรณีที่โรงแรมไม่ได้ขอต่อใบอนุญาต ขณะที่พนักงานยังคงสภาพหากมีการปิดกิจการอย่างชัดเจน พนักงานจะได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานในส่วนนี้จะต้องนำมาพิจารณาตามข้อกฎหมายได้อย่างไรเพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ตามจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงาน

ขณะที่ นายอำนาจ ปันสุพฤกษ์ผู้จัดการห้องอาหารจีน โรงแรมดาราเทวี กล่าวว่า ได้รวมกลุ่มกับพนักงานโรงแรมเพื่อขอให้ทางจังหวัดช่วยดำเนินการเรียกร้องเงินเดือน จากบริษัทโรงแรมดาราเทวีจำกัด ซึ่งใช้ชื่อในการประกอบกิจการโรงแรมว่า "โรงแรมดาราเทวีเชียงใหม่"โดยมีนายทวิช เตชะนาวากุล เป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจ สำนักงานตั้งอยู่เลขที่51/4 หมู่ 1 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

โดยปัจจุบันพนักงานประมาณ 300 คนมูลค่าที่โรงแรมจะต้องชดเชยให้กับพนักงานทั้งหมดประมาณ 50 ล้านบาทเฉพาะของตัวเองมูลค่ารวมประมาณ 3 ล้านบาทซึ่งพนักงานได้รับความเดือดร้อนเดือดร้อนเกี่ยวข้องตามกฎหมายอันเกิดจากการกระทำความผิดของผู้ประกอบกิจการโรงแรม จึงเข้ามาร้องเรียนที่จังหวัดเพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมาย

สำหรับบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัดเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทในเครือของบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งมีนายทวิชเตชะนาวากุล เป็นประธานกรรมการบริหารเบื้องต้นทราบว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีกรณีเกี่ยวกับการโอนยักย้ายเงินรายได้ทั้งหมดของโรงแรมไปยังบริษัทอื่นทำให้ไม่มีรายได้เข้าบัญชีธนาคารของโรงแรมและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินค่าจ้างและผลตอบแทนอื่นให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างได้

ทั้งนี้เป็นผลให้พนักงานร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องร้องเป็นคดีแรงงานต่อศาลแรงงานภาค5 จำนวนหลายคดี และมีกรณีศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งอายัดบัญชีธนาคารเนื่องจากมีการฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจำนวนหลายสิบคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, ศาลแขวงเชียงใหม่และสถานีตำรวจภูธรแม่ปิง ในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกันกับการกล่าวหาว่าบริษัทโรงแรมดาราเทวี จำกัด กับพวก ร่วมกันโกงเจ้าหนี้นอกจากนั้น ยังตรวจพบว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมของบริษัทโรงแรมดาราเทวี จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ 32/2558นั้นใบอนุญาตได้หมดอายุไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563และยังไม่ได้มีการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาต จึงถือว่าบริษัทโรงแรมดาราเทวีไม่สามารถประกอบกิจการโรมแรมได้อีกต่อไป

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 บริษัทโรงแรมดาราเทวี โดยนายทวิช เตชะนาวากุล และนายหาญ เชี่ยวชาญกรรมการผู้มีอำนาจได้ออกประกาศเรื่องการขยายเวลาการปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 จากเดิมเคยประกาศปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปให้เห็นว่าโรงแรมดาราเทวีเชียงใหม่ยังคงประกอบกิจการแต่ปิดการชั่วคราวเท่านั้น

การออกประกาศของ บริษัทโรงแรมดาราเทวี ดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีการเพื่อคงสภาพพนักงานไว้ แต่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้และไม่จ่ายค่าจ้าง ทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะไปสมัครงานที่อื่นได้หากจะไปสมัครงานที่อื่นจะต้องยื่นเรื่องลาออก ซึ่งจะไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัท

สำหรับสภาพโรงแรมในปัจจุบันไม่พร้อมที่จะให้บริการ มีสภาพทรุดโทรมอย่างหนักจากภาพที่ทางกรมบังคับคดีเข้าไปถ่ายรูปออกมา เนื่องจากบุคคลภายนอกและพนักงานเองไม่สามารถที่จะเข้าไปในพื้นที่ของโรงแรมได้

ด้าน น.ส.กุลธนา พึ่งพิณผู้ช่วยผู้จัดการร้านของที่ระลึก โรงแรมดาราเทวี กล่าวว่าวันนี้ที่เดินทางมาพร้อมกัน เพื่อนขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งปิดกิจการถาวร เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมขาดไปแล้ว 2 เดือนซึ่งตามกฎหมายหากเกิน 2 เดือนจะต้องมีการพิจารณาขออนุญาตใหม่ทั้งหมดซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1ปี และจากสภาพโรงแรม ณปัจจุบันไม่สามารถที่จะฟื้นฟูใฟ้กลับมามีสภาพที่พร้อมเปิดให้บริการได้ซึ่งหากจะปรับปรุงเชื่อว่าจะต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาท

ปัจจุบันพนักงานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้เนื่องจากยังมีชื่อเป็นพนักงานของโรงแรมอยู่ทำได้เพียงอาชีพอิสระ ส่วนตัวเองแล้วโรงแรมจะต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทเพราะทำงานมานาน

ที่มา: Nation TV, 1/10/2563

พนักงานถ่ายรูปอำลาวันสุดท้าย หลังพานาโซนิคย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 แฟนเพจ สังคม โรงงาน เผยภาพพนักงานของโรงงานพานาโซนิค ถ่ายรูปหมู่อำลา พร้อมข้อความว่า วันสุดท้ายแล้วนะ รู้สึกใจหายไปหมด ปิดกิจการลงในไทยเป็นตำนาน panasonic ย้ายฐานไปเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า พานาโซนิค เตรียมปิดโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าที่ตั้งในประเทศไทย โดยจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามแทน เพื่อพยายามลดต้นทุนการผลิต

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 30/9/2563

กระทรวงแรงงาน ส่งแรงงานไทยชุดแรกกว่า 200 คน ไปทำงานที่ประเทศอิสราแอล หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย

30 ก.ย.2563 นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทย ที่จะเดินทางไปทำงานในภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ภายในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องชะลอการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ประกอบกับประเทศไทยมีมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้ จึงทำให้ทางการอิสราเอลมั่นใจโดยแรงงานที่ส่งไปครั้งนี้สามารถทำงานได้ทันที

สำหรับแรงงานที่ส่งไปวันนี้ เป็นแรงงานภาคการเกษตรที่ส่งไปแบบรัฐต่อรัฐ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจ้างงานใหม่ 131 คน และแรงงานที่กลับมาพักชั่วคราวในประเทศไทย ที่เคยมีการชะลอการเดินทางเข้าประเทศอิสราเอลจากสถานการณ์ COVID-19 มาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และนายจ้างรับกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอลตามเดิม จำนวน 83 คน รวมทั้งหมด 214 โดยจะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำในเวลา 11.00 น. เช้านี้ ถึงท่าอากาศยานนานาชาติ Ben Gurion ประเทศอิสราเอล เวลาประมาณ 19.00 น.

ที่มา: Thai PBS, 30/9/2563

กรรมการประกันสังคมสั่งศึกษากรณีผู้ประกันตนขอคืนเงิน 30 เปอร์เซ็นต์

29 ก.ย. 2563 นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปลงทุนในศรีพันวา ซึ่งบอร์ดประกันสังคมได้มอบหมายให้ไปดูรายละเอียดของที่ตั้งทรัพย์สินดังกล่าว

นางอรุณี กล่าวต่อว่านอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือกรณีกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม นำโดย น.สพ.บูรณ์ อารยพล เรียกร้องให้คืนเงินกองทุนชราภาพที่ผู้ประกันตนจ่ายสะสมไว้กับ สปส. โดยไปร้องในหลายที่ทั้งรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ สปส.คืนเงินสมทบในส่วนของเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนสะสมไว้ ให้นำไปใช้จ่ายดูแลครอบครัว 30 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่สะสมไว้ทั้งหมด กรณีนี้ที่ประชุมได้มอบให้อนุกรรมการที่มีฝ่ายกฎหมายอยู่ด้วยไปศึกษาว่า ทำได้หรือไม่ และจะมีผลต่อกองทุนประกันสังคมหรือไม่ หากจะดำเนินการต้องไปรื้อกฎหมายใหญ่ คือแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ขณะเดียวกันจะต้องสอบผู้ประกันตนทั้งหมดด้วย สมมติว่าขอคืนเงินสมทบในส่วนเงินชราภาพ 30 เปอร์เซ็นต์ 5 ล้านคน จะเป็นจำนวนเท่าใด และมีผลกระทบต่อกองทุนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปศึกษาก่อน

ที่มา: Newtv, 29/9/2563

ครม.อนุมัติแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

การปรับปรุงครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การห้ามปิดงานหรือการนัดหยุดงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน เช่น 1)กำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต้องยื่นภายใน 60 วันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง 2)กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ทำโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างทั้งหมด มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างทุกคน

2.วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ดำเนินการประนอมข้อพิพาทนั้นต่อไป หรือไปเจรจาตกลงกันเอง หรือส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงานเป็นผู้ตัดสิน

3.การปิดงานและการนัดหยุดงาน เช่น 1)กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงานหรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง 2) กำหนดให้การปิดงานหรือการนัดหยุดงานในงานที่เป็นบริการสาธารณะ ได้แก่ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์หรือโทรคมนาคมบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมการจราจรทางอากาศ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด โดยฝ่ายที่ปิดงานหรือนัดหยุดงาน จะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

4.กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

5. ปรับอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 87 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 (การปิดงานหรือนัดหยุดงาน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 90 ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสหภาพแรงงานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการจัดตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการจัดสัมมนาไตรภาคี เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ จาก 15 กระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 47 แห่ง และจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาในรายละเอียด ก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 29/9/2563

เผยผลการจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 สมัครงานและรอบรรจุงาน 243,566 ครั้ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ผลการจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 วันที่ 26-28 ก.ย. 2563 สมัครงานและรอบรรจุงาน 243,566 ครั้ง สมัครผ่านบูธนายจ้าง/สถานประกอบการที่เปิดรับสมัครงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค 143,066 ครั้ง สมัครผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ 81,412 ครั้ง ผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ 3,351 คน โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ (Co Payment) คงเหลือ 181,145 อัตรา งานด้านการผลิต มีความต้องการจ้างงานสูงสุด 192,291 อัตรา

นายสุชาติ กล่าวว่า ภาพรวมงานน่าพอใจมาก จากการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของผู้มาร่วมงาน ส่วนใหญ่รู้สึกได้ประโยชน์ สะดวกสบายประหยัดเวลา มีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนมาจัดบูธรับสมัครเป็นจำนวนมาก สามารถยื่นเอกสารและสัมภาษณ์งานได้เลย ด้านนายจ้าง/สถานประกอบการ ชื่นชมการจัดงานของกระทรวงแรงงานต้องการให้มีการจัดเป็นประจำทุกปี เพราะนอกจากรับสมัครงานแล้ว ยังมีโอกาสได้แนะนำองค์กร ให้ผู้ต้องการหางาน รู้จักและเข้าใจมากขึ้น โดย 3 วันที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมงานทั่วประเทศถึง 125,383 คน ในที่นี้เป็นผู้เดินทางมาร่วมงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 104,933 คน ร่วมงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 20,450 คน โดยกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา เป็นกลุ่มที่เยี่ยมชมงานมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ในโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ (Co Payment) จำนวน 260,000 อัตรา มีการรับแจ้งจากนายจ้างแล้ว 78,855 อัตรา จากนายจ้าง 1,048 ราย ยังคงมีอัตราว่างรอผู้สนใจอีก 181,145 อัตรา ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.การผลิต 192,291 อัตรา 2. การตลาด/ประชาสัมพันธ์ 60,890 อัตรา 3. เสื้อผ้า/สิ่งทอ/ช่างแพทเทิร์น 32,625 อัตรา 4. กราฟฟิค/ออกแบบ/เขียนแบบ 32,024 อัตรา 5. ก่อสร้าง 30,307 อัตรา และอาชีพอื่นๆ 345,470 อัตรา ส่วนตำแหน่งที่มีผู้สมัครงานสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ธุรการ/จัดการงานทั่วไป 10,709 ราย 2. การตลาด/ประชาสัมพันธ์ 10,074 ราย 3. บริการ/ผู้จัดการ 9,294 ราย 4. วิศวกร 7,242 ราย 5.การผลิต 6,968 ราย และอื่นๆ 37,125 ราย ซึ่งจะสังเกตได้ว่า งานด้านการผลิต ยังมีความต้องการแรงงานอีกมาก

ซึ่งจากการสำรวจความเห็นผู้มาร่วมงานพบว่า ผู้เข้าร่วมงานทราบข่าวการจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 จากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ร้อยละ 55 รองลงมาเป็นการทราบข่าวจากเพื่อน/ญาติพี่น้องและสื่อประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ ทั้งนี้ จากการพูดคุยสอบถามกับนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมงาน พบว่า ต้องการให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจัดงานนี้ขึ้นในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนซึ่งมีนักศึกษาจบใหม่ และต้องการให้จัดเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้นักศึกษาและประชาชนได้มีเวลาในการเลือกสมัครงานเพิ่มมากขึ้น

“โดยขอเน้นย้ำว่า กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้ ณ พิธีเปิดงาน JOB EXPO THAILAND เรื่องให้ความสำคัญกับการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งทุกอย่างต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บท สู่เป้าหมาย ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 29/9/2563

พิษ COVID-19 แรงงานภูเก็ต 1.5 แสน แห่ขอเงินว่างงาน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลกระทบหลากหลายมิติทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนประเทศไทยได้รับผลกระทบแทบไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างเม็ดเงินมหาศาลในแต่ละปี ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง

ภูเก็ต จึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและพึ่งพิงเม็ดเงินส่วนใหญ่จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากข้อมูลสถานการณ์ด้านแรงงานของสำนักงานสถิติ จ.ภูเก็ต รายงานสำรวจสภาวะการทำงานของประชากร

“ในไตรมาส 1 ปี 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. จ.ภูเก็ต มีประชากร 541,851 คน อยู่ในวัยทำงาน หรือมีอายุ 15 ปีขึ้นไป 452,797 คน ร้อยละ 83.56 ของจำนวนประชากรทั้งหมด”

ขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 89,054 คน ร้อยละ 16.44 ของประชากรทั้งหมด เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 336,150 คน จำแนกเป็นผู้มีงานทำ 330,543 คน ร้อยละ 98.33 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด และผู้ว่างงาน 5,201 คน ร้อยละ 1.55

การมีงานทำ ไตรมาส 1 ผู้มีงานทำ 330,543 คน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 7,417 คน ร้อยละ 2.24 และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 323,126 คน ร้อยละ 97.76

“คนทำงานนอกภาคเกษตร 98,485 คน หรือร้อยละ 30.48 ทำงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด รองลงมาคือ การขายส่ง การขายปลีก 64,989 คน ร้อยละ 20.11 และการบริหารและการสนับสนุน 29,139 คน ร้อยละ 9.02”

ทำให้ไตรมาสที่ 1 จ.ภูเก็ต มีผู้ว่างงาน 5,201 คน หรือร้อยละ 1.55 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เป็นเพศชาย 3,852 คน และเพศหญิง 1,349 คน

“แรงงานต่างด้าว ไตรมาส 1 จ.ภูเก็ต มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน 82,398 คน เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย 82,342 คน เป็นประเภทพิสูจน์สัญชาติมากที่สุด 36,064 คน คิดเป็นร้อยละ 43.80”
ส่วนคนต่างด้าวเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราว มีจำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 0.07 เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยทั้งหมด

ในไตรมาส 1 จ.ภูเก็ต มีสถานประกอบการที่เลิกกิจการ/ หยุดกิจการชั่วคราว 325 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,163 คน เป็นสถานประกอบการขนาด 1-9 คน 309 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.08 สถานประกอบการขนาด 10 คนขึ้นไป 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.92

การประกันสังคม ไตรมาส 1 จ.ภูเก็ต มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม 11,957 แห่ง และมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 170,229 พบว่า เป็นประเภทอุตสาหกรรมการค้ามากที่สุด 6,924 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 57.91 ของสถานประกอบการทั้งหมด

กองทุนประกันสังคม ไตรมาส 1 มีผู้ประกันตนมาใช้บริการประกันสังคม (เนื่องจากการทำงาน) จำนวน 84,127 คน จำนวนเงินที่ใช้บริการทั้งสิ้น 179,461,711.63 บาท ประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนมาใช้บริการมากที่สุดคือ กรณีสงเคราะห์บุตร 58,469 คน คิดเป็นร้อยละ 69350 จำนวนเงิน 37,736,600.00 บาท

กองทุนเงินทดแทน ไตรมาส 1 จ.ภูเก็ต มีผู้ใช้บริการกองทุนเงินทดแทน (เนื่องจากการทำงาน) 490 คน จำนวนเงินที่จ่าย 5,128,681.15 บาท

“โดยประเภทความร้ายแรงที่ลูกจ้าง/ผู้มีสิทธิ มาใช้บริการสูงสุด เป็นกรณีหยุดงานเกิน 3 วัน/ไม่เกิน 3 วัน 362 คน คิดเป็นร้อยละ 73.88 จำนวนเงิน 939,093.35 บาท”

ส่วนการแจ้งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีทั้งสิ้น 240 คน ความร้ายแรงส่วนใหญ่เป็นกรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 185 คน ร้อยละ 77.00 และหยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 55 คน ร้อยละ 22.92 สถานประกอบการที่แจ้งการประสบอันตรายเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานส่วนใหญ่ เป็นขนาด 201-500 คน มีจำนวน 95 คน หรือร้อยละ 39.58

ส่วนรายงานสำรวจสภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 2 ปี 2563 ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.

“จ.ภูเก็ต มีประชากรทั้งสิ้น 542,167 คน อยู่ในวัยทำงาน หรือมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 453,219 คน หรือร้อยละ 83.59 ของจำนวนประชากรทั้งหมด”

ขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 88,948 คน ร้อยละ 16.41 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 317,874 คน จำแนกเป็นผู้มีงานทำ 309,330 คน ร้อยละ 97.31 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด และผู้ว่างงาน จำนวน 8,147 คน ร้อยละ 2.56

การมีงานทำ ไตรมาส 2 ผู้มีงานทำ 309,330 คน ภาคเกษตรกรรม 6,578 คน หรือร้อยละ 2.13 และนอกภาคเกษตรกรรม 302,722 คน ร้อยละ 97.87 โดยทำงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารมากที่สุด จำนวน 88,803 คน คิดเป็นร้อยละ 28.48 ของผู้มีงานทำสาขานอกภาคเกษตร รองลงมาคือ สาขาการขายส่ง การขายปลีก จำนวน 67,996 คน ร้อยละ 21.98 และการบริหารและการสนับสนุน 26,826 คน ร้อยละ 8.67

การว่างงาน ไตรมาส 2 จ.ภูเก็ต มีผู้ว่างงาน 8,147 คน หรือ ร้อยละ 2.56 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เป็นเพศชาย 3,834 คน และเพศหญิง 4,313 คน

แรงงานนอกระบบ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติจังหวัดในปี 2562 จ.ภูเก็ต มีแรงงานนอกระบบจำนวน 100,939 คน เป็นแรงงานในภาคเกษตรมีจำนวน 10,274 คน คิดเป็นร้อยละ 10.18 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด, การผลิต จำนวน 14,367 คน คิดเป็นร้อยละ 14.23 และการค้าและบริการ จำนวน 76,298 คน ร้อยละ 75.59

ไตรมาส 2 จ.ภูเก็ต มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือ 71,295 คน เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย จำนวน 71,239 คน ไม่พบประเภทพิสูจน์สัญชาติ แต่เป็นประเภทนำเข้า MOU มากที่สุดจำนวน 60,886 คน คิดเป็นร้อยละ 85.40

ส่วนคนต่างด้าวเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราว มีจำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 0.08 เป็นแรงงานต่างด้าวที่ชนกลุ่มน้อยทั้งหมด

“การเลิกจ้างแรงงาน ไตรมาส 2 จ.ภูเก็ต มีสถานประกอบการที่เลิกกิจการ/หยุดกิจการชั่วคราว 171 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 719 คน เป็นสถานประกอบการขนาด 1-9 คน จำนวน 160 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.57 และสถานประกอบการขนาด 10 คนขึ้นไป จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.43”
การประกันสังคม ไตรมาส 2 จ.ภูเก็ต มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จำนวน 11,566 แห่ง และมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 144,185 พบว่า เป็นประเภทอุตสาหกรรมการค้ามากที่สุด มีจำนวน 6,758 แห่ง หรือร้อยละ 58.43 ของสถานประกอบการทั้งหมด

กองทุนประกันสังคม ไตรมาส 2 มีผู้ประกันตนมาใช้บริการประกันสังคม (ไม่เนื่องจากการทำงาน) จำนวน 218,599 คน จำนวนเงินที่ใช้บริการทั้งสิ้น 811,147,825.28 บาท ประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนมาใช้บริการมากที่สุด คือกรณีว่างงาน มีจำนวน 149,209 คน คิดเป็นร้อยละ 68.29 จำนวนเงิน 697,051,650.22 บาท

กองทุนเงินทดแทน ไตรมาส 2 จ.ภูเก็ต มีผู้ใช้บริการกองทุนเงินทดแทน (เนื่องจากการทำงาน) จำนวน 239 คน จำนวนเงินที่จ่าย 1,702,601.95 บาท โดยประเภทความร้ายแรงที่ลูกจ้าง/ผู้มีสิทธิ มาใช้บริการสูงสุด เป็นกรณีหยุดงานเกิน 3 วัน/ไม่เกิน 3 วัน จำนวน 151 คน คิดเป็นร้อยละ 63.18 จำนวนเงิน 593,495.55 บาท

ส่วนการแจ้งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีจำนวน 156 คน ความร้ายแรงส่วนใหญ่เป็นกรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วัน จำนวน 102 คน คิดเป็นร้อยละ 65.38 และหยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 53 คน คิดเป็นร้อยละ 33.97 สถานประกอบการที่แจ้งการประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานส่วนใหญ่ เป็นขนาด 201-500 คน มีจำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 25

ที่มา: Thai PBS, 28/9/2563

คนรุ่นใหม่สนใจเส้นทางดิจิทัล เผยกว่า 90% ใบสมัครในบูธทรูงาน JOB EXPO THAILAND 2020 เด็กเพิ่งจบ

บรรยากาศงาน JOB EXPO THAILAND 2020 สองวันแรกเป็นไปด้วยความคึกคักจากบัณฑิตจบใหม่และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะภายในบูทของเครือซีพีที่เปิดจ้างงานเพิ่มรวม 28,000 อัตราได้รับความสนใจเข้ามาสอบถามและยื่นใบสมัครเป็นจำนวนมาก ในส่วนของบูททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งนอกจากเปิดรับสมัคร 3,000 อัตราแล้วยังนำทรูคอฟฟี่ โก มาให้บริการและมีหุ่นยนต์ True 5G มาให้ข้อมูลบริษัทอีกด้วย จึงยิ่งสร้างบรรยากาศความน่าสนใจมากขึ้น และจากข้อมูลของผู้ที่กรอกใบสมัครของทรูภายในงาน พบว่า กว่า 90% เป็นบัณฑิตจบใหม่ในทุกสาขา โดยผู้สมัครให้เหตุผลว่า สนใจเพราะอยากเข้าร่วมงานกับบริษัททรู เนื่องจากเป็นธุรกิจดิจิทัล มีความหลากหลายด้านบริการและธุรกิจที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นธุรกิจยุคใหม่ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน

นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้าน Strategic Content & Public Affairs กล่าวว่า ยินดีที่มีบัณฑิตจบใหม่ให้ความสนใจกับบูทของกลุ่มทรู ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของบริษัทในการเข้าร่วมงาน JOB EXPO THAILAND 2020 ที่ภาครัฐจัดขึ้นในครั้งนี้ เพราะนอกเหนือจากเป็นการขานรับนโยบายภาครัฐด้านการจ้างงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้แล้ว ยังเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะได้เพื่อนร่วมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อเข้ามาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กรโดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้รับพนักงานเพิ่มไปแล้ว 6,500 อัตรา และในงานนี้ตั้งเป้าที่จะรับเพิ่มอีก 3,000 อัตรา โดยจะเน้นอัตราการรับพนักงานด้านไอทีการบริการและการขาย และจะมีการพัฒนาทักษะ upskill และ reskill ให้กับพนักงานกลุ่มใหม่ที่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะความรู้ทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างคนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในยุค 4.0

สำหรับผู้ต้องการค้นหางานที่ใช่ ตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ สามารถสมัครร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวทรูได้ที่บูธ 567 ในมหกรรมการจัดหางานครั้งใหญ่ JOB EXPO THAILAND 2020 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.63 ณ ไบเทค บางนา

ที่มา: สยามรัฐ, 27/9/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net