Skip to main content
sharethis

เสวนาแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกประเทศไทย 'โภคิน' เสนอ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน 'สุดารัตน์' ระบุรัฐบาลแห่งชาติเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ยังไม่ถอดใจจะเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

3 ต.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกประเทศไทย โดยมีนายโคทม อารียา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนู ญประชาธิปไตย นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เข้าร่วมสัมมนา

นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าชนะการเลือกตั้งได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระต่างๆ พร้อมจะยัดคดีให้ และวางบทเฉพาะกาลเพื่อจะอยู่ต่อไป คือประเด็นใหญ่ที่สุด ดังนั้น ประเทศจึงเดินไม่ได้ ผลของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทางเดียวที่จะเป็นทางออกในขณะนี้ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน

“วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกปัญหาจะต้องจบที่ประชาชน โดยต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับปี 2539 โดยสิ่งที่เสนอคือ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่าง แต่ไม่แตะต้องหมวด1-2 จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายผลักดันให้เกิดการตั้ง ส.ส.ร.และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เชื่อว่าไม่มีใครบังคับ ส.ส.ร.ได้ และ ส.ส.ร.เองไม่มีทางร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการแน่นอน” นายโภคิน กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกของประเทศ ตนรู้สึกว่ามีประตูที่เป็นทางเข้าสู้วิกฤติอย่างรุนแรงของประเทศ เพราะเรามีปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างวัย เพราะขณะนี้เด็กกับผู้ใหญ่คุยกันไม่รู้เรื่อง ปัญหาทางการเมืองรุนแรงมากในสภาฯ ซึ่งขณะที่อภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญเหมือนเราอยู่ท่ามกลางแล้วมีกระสุนมาจากทั้งสองข้าง ทั้งนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นประตูสู่วิกฤติครั้งใหญ่มากกว่าปี 2535 แต่เป็นประตูเดียวที่จะออกจากวิกฤติเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องเลือกว่าจะเปิดเข้าหรือเปิดออก

“จุดแข็งรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เราทำสำเร็จเพราะไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ วันนี้ก็เช่นกัน ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ก็ไม่มีทางทำได้ ผมไม่ห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะเขียนเอาไว้เป็นค่ายกลเจ็ดดาว ซึ่งแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นเมื่อทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจี้ไปที่มาตรา 256 ที่เป็นประตูเปิดสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 80% เชื่อว่าจะแก้ได้ จากที่ฟังความเห็นทั้งจากฝ่ายค้าน รัฐบาลและ ส.ว. อาจจะเป็นฉบับที่ 1 หรือ 2 ยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะรับหลักการในวาระแรกแน่นอน” ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าว

นายนิกร กล่าวว่าการตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ที่กำหนดระยะเวลาศึกษาไว้ 30 วัน คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ ในวันที่ 21 ตุลาคมจะพิจารณาแล้วเสร็จ และวันที่ 22 ตุลาคมจะตรวจสอบความเรียบร้อย และจะนำรายงานนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ต่อไป

ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวว่า กลุ่มไอลอว์จัดทำโครงการเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนเข้าชื่อกว่าแสนราย และนำร่างไปยื่นต่อสภาผู้แทน บที่ไม่ปกติตระหนักรู้แล้วว่าระบบการเมืองไม่ปกติ เป็นอย่างไร และใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน

“เป็นข้อเสนอที่เห็นต่างยาก และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้ ข้อเสนอนี้ เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรอับอายต่อตัวเองและประชาชน หากมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตไม่รับจะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้าโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง” นายยิ่งชีพ กล่าว

นายโคทม อารียา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2516 แม้จะผ่านมาแล้ว 47 ปี แต่มองว่าเหตุการณ์ตุลาฯ ยังไม่จบ และตลอดหลายปีที่ผ่านมายังคงมีทหารการเมืองกลับเข้ามาทั้งในปี 2535 และปีอื่น ๆ วันนี้ตนอายุมากแล้วไม่กล้าบอกว่าจะจบที่รุ่นเราหรือไม่ แต่แอบหวังว่าวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จะเป็นวันเปิดฟ้าประชาธิปไตย ขับไล่ทหารการเมืองออกไป ยืนยันว่าส่วนตัวชอบท หาร แต่ทหารต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

นายโคทม กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพราะผู้มีอภิสิทธิ์อ้างสิทธิ์ที่จะมีอำนาจต่อไป โดยสร้างวาทกรรมขอทำงานเพื่อประชาชน นี่คือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น รวมถึงวาทกรรมที่บอกว่าระบบที่มีอำนาจนี้ไม่มีใครเดือดร้อน มีคนเยอะแยะที่รักชาติที่สนับสนุนอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นวาทกรรมที่ร้ายแรงว่าใครที่ไม่สนับสนุนจะกลายเป็นฝ่ายใดการที่บอกว่าถ้าทำงานเต็มที่แล้ว ควรให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำกติกาให้แฟร์หรือเป็นธรรม เลือกตั้งให้สุจริต และประชาชนจะบอกเองว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้บริหารประเทศ แต่ตอนนี้คือการไม่เป็นธรรม และการจะบอกว่าไม่มีใครเดือดร้อน ก็อยากบอกด้วยเสียงอันดังว่า ทั้งเยาวชนและผู้ชราก็เดือดร้อน โดยคำว่าจบของผมคือขอเชิญทหารออกจากการเล่นการเมือง” นายโคทม กล่าว

“ต้องรื้อซากที่ผุพังและสร้างสิ่งที่เป็นความหวังแห่งอนาคต การรื้อซากคือไว้ใจประชาชน ให้ประชาชนตัดสินเลือกเดินไปข้างหน้า ซึ่งไม่ใช่การตีเช็คเปล่า เพราะสามารถดำเนินการได้โดยก้าวแรกประชาชนจะลงประชามติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือไม่ ต่อมาคือการตั้ง ส.ส.ร. และจบท้ายด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านที่ประชุมรัฐสภา” นายโคทม กล่าว

นายโคทม กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญคือความแตกต่างของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน คือการแก้ ม.256 ที่ร่างของรัฐบาลต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส.กับ ส.ว. จึงต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพิ่ม หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วย แก้อย่างไรก็ไม่ผ่าน การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ต้องยึดตามร่างของฝ่ายค้าน ที่ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.กับ ส.ว. ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่ไหนแต่ไร นอกจากนี้ การการลงประชามติต้องตัด ม.256 (8) กรณีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ ซึ่งต้องให้อกเสียงประชามติเพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้เถียงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนำไปสู่การกำหนดโครงสร้างของสังคมผ่านการออกกฎหมาย นำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ดังคำที่บอกว่าการเมืองดี กฎหมายจะดี และเศรษฐกิจจะดีตามไปด้วย ซึ่งนำไปสู่มาตรฐานของชีวิตและสังคม แต่หากการเมืองและกฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจจะแย่ดท้ายทำให้มาตรฐานชีวิตเราแย่ไปด้วย ซึ่งการเมืองดีมาจากการกำหนดโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ

นายพรสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่กระทบกับการดำรงอยู่ของสังคมในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่น่ากลัว โดยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความขัดแย้งมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ประเทศไทยมีความขัดแย้งสูงที่สุดในปี 2558 ซึ่งเป็นปีภายหลังการทำรัฐประหารและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถูกแฝงเข้ามาอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ดังนั้นโครงสร้างของรัฐธรรมนูญยังเป็นโครงสร้างเดิม

“การบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะสลายความขัดแย้ง จึงไม่ตรงกับความจริง เพราะความขัดแย้งในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มลดลง คือปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อกฎหมายเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่แก้ไขและทำให้ดีขึ้น แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะทำประชามติทั้งในส่วนของการรับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่เป็นการทำประชามติภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกร่างด้วยคนกลุ่มเดียวเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว จากคำพูดที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของประชาชน” นายพรสันต์ กล่าว

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าปัญหาของประเทศมี 2 ปัญหา คือ การเมืองและเศรษฐกิจ หากแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ ปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ไขได้ หากบ้านเมืองวุ่นวายจะไม่มีใครกล้ามาลงทุน อีกทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งดูได้จากในรัฐสภา คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคนที่มาจากการแต่งตั้งจะขัดขวาง ดังนั้น ทางออกของประเทศมีเรื่องเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่แก้ไข เลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพีนธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคุมเผด็จการ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจและลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ตนและคณะยังไม่ยอมถอดใจและจะเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะถือว่าเป็นทางออกที่สันติและดีที่สุดของการออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่การมีรัฐบาลแห่งชาติ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการเสนอคือ ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน

“ยืนยันว่าไม่เข้าไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติตามที่มีกระแสข่าวแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้พูดคุยกันในกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยหลายครั้ง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอให้ปิดประตูเรื่องนี้ไปเลย ส่วนกระแสข่าวการดิวลับให้คนในตระกูลชินวัตรมานั่งบริหารพรรคและกลับมาเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ก็ไม่มี เป็นเพียงข่าวลือ ซึ่งไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน ยืนยันว่าไม่มีการเข้ามาครอบงำภายในพรรค หากจะมีรัฐบาลแห่งชาติ ต้องเป็นชาติหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net