ชาวไทยในยุโรปกับการเตรียมรับมือคลื่นโควิด-19 ลูกที่ 2

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยุโรปนั้นมีความรุนแรงมากกว่าที่ประเทศไทยมากเพียงใด ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคม 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยุโรปนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งที่สอง รองจากมณฑลอู่ฮั่น ประเทศจีนที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดใหญ่ ในเวลานั้นไม่มีหน่วยงานใดที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวโรค การแพร่กระจาย หรือวิธีการรับมือที่แน่ชัด สื่อต่างประเทศรายงานยอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตกันรายชั่วโมง จนสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นดูรุนแรงเหนือการควบคุม สิ่งเหล่านี้ถูกยืนยันด้วยจำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลหลายแห่งในยุโรป บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ มีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย หลายประเทศในยุโรปเริ่มตัดสินใจปิดประเทศ (ล็อคดาวน์) อย่างไม่มีกำหนดเพื่อชะลออัตราผู้เสียชีวิต แลกกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมาในอนาคต เมื่อทำการปิดประเทศทำให้วิถีชีวิตของผู้คนนั้นได้แตกต่างออกไป และส่งผลเสียสืบเนื่องมายังธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการเกี่ยวกับการให้บริการ ที่บางรายที่ยังพอประคับประคองได้ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อ แต่บางรายเลือกที่จะปิดกิจการถาวร เพราะไม่มั่นใจว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ไปอีกนานเท่าไร 
 

กลุ่มอาสาสมัคร “ไทยอาสาฝ่าวิกฤต COVID-19 – ทีมคนไทยในยุโรป”

การรวมกลุ่มของทีมงาน “ไทยอาสาฝ่าวิกฤต COVID-19 – ทีมคนไทยในยุโรป” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนทำงาน นักวิชาการ และนักศึกษาไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรปกว่า 10 ชีวิต มาอัพเดตข่าวสารและหาทางออกให้แก่ชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อน วัตถุประสงค์หลักของทีมงานคือเพื่อเป็นพื้นที่กลางในการคัดกรองและรายงานข่าวสาร ประสานงาน ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ สำหรับชาวไทยในยุโรปในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะกับกลุ่มชาวไทยที่ไม่ได้มีที่พำนักถาวร โดยในช่วงแรกเริ่มเราพบว่าปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นกับชาวไทยคือ การถูกพักงานแบบไม่มีกำหนด ไม่ได้เดินทางกลับไปเจอครอบครัว ขาดเงินทุนสำรองในการซื้ออาหาร ยารักษาโรค การขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาหากได้รับเชื้อ COVID-19 ในส่วนของปัญหาระยะยาวที่พบคือ การถูกเลิกการจ้างงานแบบถาวร ไม่มีที่อยู่อาศัย รวมถึงการขาดใบอนุญาตในการพำนักในยุโรป (VISA)

“ขอความช่วยเหลือค่ะ วีซ่าเชงเก้นหมดอายุแล้ว ลงทะเบียนไว้กับสถานกงสุลแล้วแต่ยังไม่มีข้อความตอบกลับ”
 

“ทำอย่างไรดี ไม่ได้เจอหน้าลูกและสามีมาเป็นเวลาเจ็ดเดือนแล้ว พอจะทราบเที่ยวบินกลับไทยรอบถัดไปไหมคะ”
 

“มีชาวไทยอีกมากในปารีสที่ต้องการกลับไทยแต่ตั๋วเที่ยวบินพิเศษแพงมากค่ะ พอจะมีทางไทนที่จะได้ตั๋วที่ราคาพอดีกับทุกคนไหมคะ”

นี่คือส่วนหนึ่งในหลายข้อความที่ทีมอาสาสมัครของเราได้รับจากชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าทางทีมอาสาสมัครไม่มีอำนาจในการพาชาวไทยกลุ่มนี้กลับบ้านแต่สิ่งที่ทางทีมอาสาของเราทำได้เพื่อบรรเทาทุกข์คือ การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง แนะนำ และช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับภาครัฐ เพื่อที่จะทำให้ชาวไทยที่ได้รับผลกระทบได้รู้ว่าพวกเขาจะไม่เผชิญวิกฤตอยู่คนเดียวในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ 

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญของทีมอาสาสมัครของเรา คือการพยายามนำเสนอข้อมูลที่รวดเร็วและแปลข่าวสารท้องถิ่นให้ออกมาเป็นภาษาที่ไทยที่เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงข่าวปลอม (Fake news) เพื่อให้ชาวไทยที่อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ของยุโรปมีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากแต่ละประเทศมีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ทางทีมงานของเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาถึง 6 ภาษาด้วยกันได้แก่ อังกฤษ, เยอรมัน, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, เดนมาร์ก และ เบลเยี่ยม ซึ่งข้อดีตรงนี้ทำให้ทีมงานของเราสามารถสืบค้น ตรวจสอบแหล่งข่าวที่ถูกต้อง และนำมาเสนอในภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ทีมงานของเราจะนำเสนอออกมาในรูปแบบบทความที่ทันสมัย ผสมผสานกับ Infographic เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเข้าถึงได้ทุกวัย เน้นย้ำให้ชาวไทยตระหนักแต่ไม่ตระหนก และมีความเข้าใจในตัวโรค COVID-19 มากขึ้น 


ภาพประกอบข้อมูลที่ทีมงานไทยอาสาจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่เป็นองค์ความรู้แก่ชาวไทย

คลื่นลูกที่สอง และการเตรียมการรับมือกับวิกฤตนี้ในฐานะกลุ่มทีมงานไทยอาสา
แม้ว่าในปัจจุบันความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ COVID-19 ของชาวไทยที่อาศัยอยู่ที่ยุโรปนั้นถือว่ามีมากขึ้นแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรกของการระบาด แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันออกไป ในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณเตือนการระบาดระลอกสองและมีแนวโน้มที่ดูรุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก ดังนั้นสิ่งที่ทีมงานไทยอาสาจะดำเนินการต่อไปคือ คัดกรอง แปล และนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวไทยที่เดือดร้อน นอกจากนี้จะยังคงนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมด้านข่าวสารจากเมืองไทย โดยเฉพาะในส่วนของข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยจากยุโรป และเน้นย้ำไปที่การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

ความช่วยเหลือรัฐบาลไทย มาสู่ชาวไทยในยุโรป

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าในช่วงแรกของการแพร่ระบาดนั้น การดำเนินการช่วยเหลือชาวไทยจากสถานทูตหรือหน่วยงานภาครัฐนั้นยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศอื่นที่มีต่อพลเมืองประเทศตัวเองที่อาศัยในยุโรป ส่วนตัวมองว่าเป็นได้หลายสาเหตุคือประการแรกชาวไทยอาศัยอยู่ในหลากหลายพื้นที่และมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของทางรัฐบาลไทย ซึ่งอาจจะทำให้การช่วยเหลือมีความล่าช้า ประการที่สองวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลกและเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับทุกคน ดังนั้นส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาหรือการช่วยเหลือชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนควรเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน และในปัจจุบันพบว่าเริ่มมีการประสานงานจากภาครัฐกับชาวไทยในยุโรปมากขึ้นแล้ว ทำให้ชาวไทยบางส่วนเริ่มคลายความกังวลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตนี้

ยอดผู้ติดเชื้อไม่เป็นศูนย์แต่เปิดประเทศ...หรือการปิดประเทศไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด?

อีกประเด็นที่ทางทีมงานพยายามผลักดันคือ การถอดบทเรียนการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในยุโรป แล้วส่งผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยนำไปถ่ายทอด และปรับใช้ในการจัดการให้ชาวไทยเรียนรู้กับการรับมือ การอยู่กับ COVID-19 ได้ในช่วงที่ยังไม่มีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรค ยกตัวอย่างเช่นการรณรงค์ให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (Work from home) การใช้หลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพราะหลายประเทศเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการปิดประเทศอาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืน จริงอยู่ที่ว่าการปิดประเทศในช่วงแรกนั้นเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดไปยังกลุ่มเสี่ยง แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเข้าใจในตัวโรค COVID-19 นั้นย่อมมีมากขึ้น เราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศอื่น หรือหาวิธีป้องกันที่ถูกต้องได้ เนื่องจากการปิดประเทศเองก็มีราคาที่ต้องจ่ายในแง่ของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไปยังรัฐบาลไทยและผู้เกี่ยวข้องคือการนำเอาบทเรียนที่สำเร็จมาปรับใช้กับประเทศไทย

ประเด็นที่อยากฝากถึงชาวไทยในยุโรปที่ได้รับความเดือดร้อน

ในฐานะของตัวแทนทีมงานไทยอาสานะคะ หากคุณเป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ในยุโรปแล้วได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แล้วต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ Facebook page “ไทยอาสา ฝ่าวิกฤต Covid-19 - ทีมคนไทยในยุโรป” ค่ะ ทางทีมงานยินดีช่วยเหลือ และเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชาวไทยทุกท่านที่ได้รับความเดือดร้อนค่ะ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท