'ปิยบุตร' ข้องใจ มธ.ไม่มีเสรีภาพ หลังขวางแกนนำชุมนุม ขึ้นเวที 44 ปี 6 ตุลา

'ปิยบุตร' ข้องใจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีเสรีภาพ หลังขวางแกนนำชุมนุมขึ้นเวที 44 ปี 6 ตุลา ชี้ควรเปิดพื้นที่ให้ได้พูด เพราะคนพูดจะรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาพูดอยู่แล้ว


ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า | แฟ้มภาพประชาไท

4 ต.ค. 2563 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าที่ตึกไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่จะเกิดขึ้น ว่าตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะนิสิต นักศึกษากลุ่มนี้จัดการชุมนุมมาแล้วหลายครั้งและดำเนินการมาได้ด้วยดี พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาจัดการชุมนุมอย่างผู้มีวุฒิภาวะ อยากฝากไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ว่าคนที่ออกมาชุมนุมมีเสรีภาพและปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นจึงควรยุติกระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ที่ออกหมายจับหลังปล่อยให้มีการชุมนุม หากรัฐบาลนี้เข้มแข็งจริงและทำผลงานได้ดีจริง ตัวรัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อประโยชน์ต่อท่านขนาดนี้ ท่านคงไม่ได้ล้มไปได้ในเร็ววัน ดังนั้น ควรเปิดให้พวกเขาใช้เสรีภาพจะดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง นายปิยบุตร กล่าวว่า ในท้ายที่สุดการชุมนุมจะได้ผลอย่างไร ตนคิดว่าแบบม้วนเดียวจบ ไม่ชนะไม่เลิกนั้นไม่น่าจะใช้ไม่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ตนเชื่อว่าการชุมนุมแต่ละครั้งได้ทำลายความชอบธรรมของการมีอยู่ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว หากพี่น้องประชาชนออกมาแสดงพลัง อย่างน้อยผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะต้องขบคิดเหมือนกันว่าท่านจะครองอำนาจแบบนี้ต่อไปอย่างนั้น หรือคืนอำนาจให้กับประชาชนแล้วเริ่มต้นสร้างกติกาแบบใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความปกติอย่างนี้จะดีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดถึงลูกหลานในระยะยาว ตนคิดว่าควรจะออกไปได้แล้วหมดเวลาของท่าน แล้วมันนานเกินพอแล้ว

หนึ่งในคณะผู้จัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา เผย มธ. ห้าม 'รุ้ง-เพนกวิน-อานนท์' ขึ้นเวที

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 ควรจะนำมาเป็นบทเรียนอะไรบ้าง นายปิยบุตร กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นคือการชุมนุมของนิสิตนักศึกษารอบนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการพูดถึงสถาบัน แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมตกขอบกล่าวหาโจมตีไปไกลถึงขั้นพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ล้มสถาบัน แต่สังคมไทยเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม เราพิสูจน์แล้วว่า เราพูดกันตรงไปตรงมาถึงสถาบัน แต่สังคมไทยก็ยังยินยอมรับฟัง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีหากเราคิดว่าเส้นทาง 44 ปีที่ผ่านมาสอนอะไรกับเรา ตนคิดว่าเรื่องนี้เราช่วยกันได้เยอะในการประคับประคองสถานการณ์ ไม่ใช่การเข้าไปยุยง ปลุกปั่น ให้แรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ควรสร้างพื้นที่สาธารณะให้มีการถกเถียงกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาต 3 แกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขึ้นเสวนาในงานครบรอบ 6 ต.ค. 2519 ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคียงคู่กับการเมืองไทยมาสม่ำเสมอ กล่าวกันว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทุก ๆ ความคิดและทุก ๆ รสนิยมทางการเมือง แต่ครั้งนี้กลับมีการปิดกั้นไม่ให้ 3 คนนี้เข้าร่วมเสวนา หากไม่ให้เขาทั้ง 3 คนอภิปรายพวกเขาก็มีพื้นที่อื่นทั้งผ่านทางออนไลน์ การชุมนุม หรือสถานที่อื่น ๆ ที่ให้อนุญาต ตนก็ไม่เข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องปฏิเสธเช่นนี้ ทำราวกับว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อยากยุ่ง ไม่อยากเกี่ยว ถึงกีดกันพวกเขาออกไป ตนคิดว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องควรเปิดพื้นที่ให้พวกเขาพูดดีกว่าเพราะคนพูดจะรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาพูดอยู่แล้ว

ขณะที่ ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนคิดว่าดูจากทิศทางแล้วน่าจะเป็นไปได้ที่ในท้ายที่สุดหลังจากที่เคลียร์กับส.ว.เรียบร้อยแล้วส.ว. อาจจะยอมลงมติให้ในวาระที่ 1 ในร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นตนไม่แน่ใจ

นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. อย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอเพราะกว่าที่จะได้ ส.ส.ร. หรือกว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็กินเวลานานหลายปี หรือเผลอๆ รัฐบาลอาจจะอยู่ครบเทอม เท่ากับว่าเราจะต้องอยู่กับระบอบประยุทธ์ที่สร้างมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นนอกจากจะมีการให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น จะต้องแก้ในบางมาตราเพื่อล้างระบอบประยุทธ์ออกโดยระบอบประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกค้ำยันด้วย 1. ส.ว. 250 คน 2. องค์กรอิสระต่าง ๆ และ 3.แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ จึงต้องเอาส่วนนี้ออกไป เพราะตนเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่เราใฝ่ฝันว่าจะร่างกันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบประยุทธ์ และคงจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่อยู่ในชั้น กมธ. ควรจะลงมติรับรองหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่าส่วนตัวตนเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ส.ส.ร. เท่านั้นแต่จำเป็นต้องจัดการเรื่อง ส.ว. ด้วยอย่างน้อย ๆ จะต้องปิดสวิตช์ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหากตั้งเฉพาะ ส.ส.ร.ในท้ายที่สุดอาจจะเข้าข่ายเป็นการซื้อเวลา เพราะในร่างของรัฐบาลมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร. จำนวน 50 คนด้วย และภายใต้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ก็ไม่ทราบว่าผลการเลือกส.ส.ร.จะออกมาเป็นแบบใด และหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เกรงว่าจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 พลัส ที่แต่งหน้าทาปากให้ดูดีกว่าเดิมขึ้นนิดหน่อย

'ศรีสุวรรณ' ระบุ 'นักเรียนเลว' ขึ้นรถแห่ประท้วงผิดกฎหมาย 6 ข้อ ผู้ปกครองเข้าข่ายด้วย

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มนักเรียนเลว ได้นัดรวมตัวกันประมาณ 30 กว่าคน จัดกิจกรรมขึ้นรถแห่ไปยัง 5 โรงเรียน และ 1 กระทรวง เพื่อมีเป้าหมายไล่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยเริ่มกิจกรรมขึ้นรถแห่ไปที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเป็นจุดแรก มีการปราศรัยกรณี ลงโทษนักเรียนรุนแรง และทำร้ายร่างกายนักเรียนพร้อมติดป้ายผ้าขวางประตูทางเข้าโรงเรียน

ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนเทพศิรนทร์ และโรงเรียนวัดราชบพิธ ตามลำดับ ก่อนจะมาถึงบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีต้องจัดการกับปัญหาโรงเรียนไม่ปลอดภัย โดยหากทำไม่ได้จะมีกิจกรรมไล่รัฐมนตรีต่อไปนั้น

การจัดกิจกรรมดังกล่าวแม้เป็นการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.34 แต่ทว่ากลับเป็นการฝ่าฝืนข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

ดังนั้น การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหลายข้อหา อาทิ 1.ข้อหากีดขวางทางจราจร และหยุดหรือจอดรถเป็นการกีดขวางการจราจร ตาม ม.43 พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 2.ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม.4 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 3.ข้อหาใดส่งเสียงทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.370 ซึ่งทั้ง 3 ข้อหาข้างต้นมีอัตราโทษปรับเล็กน้อยไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น

4. ข้อหายุยง ส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 5.ข้อหาจัดชุมนุมสาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้าออกของสถานที่ราชการ และหรือไม่ขออนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืน ม.8 ม.10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ 6.การฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียนตาม ม.64 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ซึ่งผู้ที่ยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้เด็กนักเรียนดังกล่าวทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญการที่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ปล่อยปละละเลยให้เด็กออกมากระทำผิดกฎหมายเยี่ยงนี้ ผู้ปกครองย่อมมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติอีกด้วย นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท