'วิษณุ' ปัดข่าวล็อกวันเลือกตั้งท้องถิ่น 13 ธ.ค 'องอาจ' จี้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ให้ชัด

'วิษณุ' ปัดข่าวล็อกวันเลือกตั้งท้องถิ่น 13 ธ.ค 'องอาจ' เรียกร้องรัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่ต้องการมาพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ 'สุดารัตน์' เผยเพื่อไทยยังไม่เคาะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แย้มมีรายชื่อในมือแล้ว

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2563 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากกระทรวงมหาดไทยหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า  ไม่ทราบว่า กระทรวงมหาดไทยกับ กกต.พูดคุยอะไรกันบ้าง เนื่องจากเป็นการพูดคุยเบื้องต้น ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกกต. ชุดใหญ่ และยังไม่ทราบว่า จะส่งเรื่องมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้ครม. ไม่มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่แค่รับทราบว่าจะเป็นวันใด ขณะเดียวกันกกต.สามารถหารือเป็นการภายในกับทางรัฐบาลเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ในการจัดเลือกตั้งได้ เช่น เรื่องวันหยุด หรืองบประมาณที่จะต้องใช้  เมื่อทุกอย่างชัดเจน กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ  เมื่อถามว่ากรณีที่ให้มีวันหยุดยาวในเดือนธ.ค.นี้ คาดการณ์ว่าเพื่อให้ไปเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยบอกว่าจะกำหนดให้เลือกตั้งท้องถิ่นในวันไหน และไม่ได้บอกว่าจะให้เลือกตั้งในวันดังกล่าว บอกเพียงแค่ว่า ครม. ประกาศให้วันที่ 10-13 ธ.ค.เป็นวันหยุด และถ้าบังเอิญตอนนั้นจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ถือว่าเป็นช่วงที่สะดวกดี แต่ถ้ากกต.ไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะไปกำหนด เพราะรัฐบาลไม่ไปกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมให้อีกแล้ว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กกต.อาจคิดคนละแบบกับรัฐบาลก็ได้ เพราะเขาอาจเห็นว่าช่วงวันหยุดยาวคนจะออกไปเที่ยวกันมาก จึงต้องขึ้นอยู่กับ กกต. ว่าจะเลือกเอาแบบไหน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเขา เพราะ กกต.ต้องพิจารณาเรื่องจำนวนประชากร การแบ่งเขตเลือกตั้ง และหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งยังมีกรรมวิธีอีกมาก 

'สุดารัตน์' เผยเพื่อไทยยังไม่เคาะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แย้มมีรายชื่อในมือแล้ว

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่างเว้นเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมากว่า 6 ปีแล้ว และต้องยอมรับว่า ถ้าต้องการกระจายอำนาจให้สำเร็จ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งระดับท้องถิ่นได้ใกล้ชิดกับประชาชน และมองประชาชนเป็นนาย พร้อมทำตามความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จึงสมควรที่จะเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น 

สำหรับพรรคเพื่อไทย ในการสรรหาผู้สมัครของแต่ละพื้นที่นั้น ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วไป พวกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะมีผู้รับผิดชอบต่างหาก โดยจะมีการชี้แจงหลังจากนี้ ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะที่ตนเป็นประธานสรรหา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ร่วมอุดมการณ์ ทั้งในระดับ สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.), สภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) และผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่ได้มีการสรุปว่า จะเลือกใคร แต่มีรายชื่ออยู่ในมือบ้างแล้ว

'องอาจ' เรียกร้องรัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจน

ด้าน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2563 ว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ขณะนี้การเตรียมความพร้อมของการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถือว่ามีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งประกาศไปตั้งแต่ต้นปีนี้ รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งก็เรียบร้อยแล้ว แม้แต่การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้ง อบต. กรณีหมู่บ้านใดในเขต อบต. มีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เมื่อรวมแล้วจะมีราษฎร 25 คนเป็นเขตเลือกตั้งได้ ขณะนี้ก็ทำเสร็จแล้ว

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยแจ้งจังหวัดกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นได้แล้ว จึงขอเสนอให้กระทรวงมหาดไทยนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็วต่อไป หลังจากนั้น กกต. จะประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ได้ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่ละรูปแบบได้ทันที

นายองอาจ เผยต่อไปว่า ขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องเลือกตั้งทั้งหมด 7,852 แห่ง คือ 1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง 2. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,320 แห่ง 3. เทศบาล 2,454 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 187 แห่ง เทศบาลตำบล 2,237 แห่ง และ 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจน เพื่อที่พรรคการเมืองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น ให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้กำหนดอนาคตของท้องถิ่นด้วยมือของตนเองผ่านการเลือกตั้งเพื่อจะได้คนที่ประชาชนต้องการมาพัฒนาและแก้ปัญหาของท้องถิ่น ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อประโยชน์สุขของสังคมและประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท