Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสลัม 4 ภาค หลักพันคนนัดรวมตัว พร้อมเดินขบวนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก กดดันรัฐบาลเร่งจัดการปัญหาที่ดิน พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในแผนพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน สนับสนุนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง-ระบบบำนาญแห่งชาติ จี้รัฐหยุดละเมิดสิทธิ หยุดคุกคามประชาชน และสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 5 ต.ค. 63 เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้เกิดความชอบธรรมในการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัย และพยายามสื่อสารให้สังคมเห็นถึงความเดือดร้อน และช่วยกันแก้ปัญหาให้พวกเขา

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบไปด้วยสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ คนจนเมืองที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อนไร้บ้านจากทั่วประเทศ ปักหลักบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนจะเคลื่อนขบวนผ่านถนนราชดำเนินมุ่งหน้าองค์การสหประชาชาติ มีอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม​สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วย​รัฐมนตรี​ประจำนายกรัฐมนตรี​ และตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ​ กระทรวงพัฒนา​สังคม​และ​ความมั่นคง​ของ​มนุษย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลรับข้อเรียกร้อง

โดยการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันในการเข้าถึงที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของพวกเขา ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. ด้านการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนา รวมถึงให้มีการแบ่งปันที่ดินสำหรับที่ดินของรัฐ และนำนโยบายโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินมาใช้รับรองสิทธิ 2. ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ให้เพิ่มประเภทสหกรณ์ที่สอดคล้องกับการดำเนินการที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง ต้องสนับสนุนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และสนับสนุนให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติ และ 3. ด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ให้ภาครัฐหยุดละเมิดสิทธิและหยุดคุกคามประชาชน และต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในหนังสือที่ยื่นถึงหน่วยงานต่างๆ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานและรัฐบาลไทย ได้ผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กระทรวงคมนาคมกำลังเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ – หัวหิน, โครงการรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่, โครงการรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา – หนองคาย, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รวมไปถึงโครงการพัฒนาธุรกิจในพื้นที่การรถไฟฯ เช่น โครงการพัฒนาย่านพหลโยธิน ย่านบางซื่อ กม.11 โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ และการพัฒนาสถานีแม่น้ำ ย่านถนนพระราม 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ครอบครัว ที่ต้องถูกไล่รื้อ โดยไม่มีกระบวนการในการปรึกษาหารือและไม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการพัฒนาเหล่านี้ และที่สำคัญยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนจากกระทรวงคมนาคม ที่จะรับผิดชอบ และแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ทุกวันจันทร์ของสัปดาห์แรกในเดือน ต.ค. เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก หรือ World Habitat Day เพื่อให้นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net