Skip to main content
sharethis

แม้จะมีการพูดถึงนานแล้วว่าชาว LGBTQ+ เสี่ยงต่อการเผชิญอาชญากรรมความรุนแรงมากกว่า แต่ล่าสุดมีงานวิจัยเชิงสถิติจากสหรัฐฯ เสนอว่าชาว LGBTQ+ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมความรุนแรง 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ โดยนักวิจัยยังกังวลต่อนโยบายรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถอนคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีออกจากการสำรวจประชากรเหยื่ออาชญากรรม ทำให้การวิจัยในเรื่องนี้ในครั้งต่อๆ ไปทำได้ยากขึ้น

ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/James_Seattle (CC BY 2.0)

มีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์แอดวานซ์ ระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งชาวเกย์ เลสเบียน คนข้ามเพศ เควียร์ และผู้แสดงออกทางเพศไม่ตรงบรรทัดฐานทางสังคม ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่เผชิญกับอาชญากรรมความรุนแรง 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

งานวิจัยฉบับนี้ถูกระบุว่าเป็นงานวิจัย "ชิ้นแรก" ที่จัดสำรวจประเด็นนี้ในเชิงสถิติ ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยรูปแบบอื่นที่แสดงให้เห็นว่าชาว LGBTQ และคนกลุ่มน้อยทางเพศได้รับผลกระทบมากกว่าจากอาชญากรรม งานวิจัยชั้นล้าสุดนี้ตีพิมพ์เผยแรพ่ผ่านทางวารสารไซเอนซ์แอดวานซ์เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยงานวิจัยเชิงสถิติล่าสุดนี้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาตั้งแต่ปี 2559 นับเป็นงานวิจัยแรกที่มีการเก็บสถิติจากทั่วสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

ผลการวิจัยระบุว่าสมาชิกกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศนั้นเผชิญกับอาชญากรรมความรุนแรงในอัตรา 71.1 ต่อ 1,000 คน ต่อปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช่บุคคลหลากหลายทางเพศที่มีอัตราเผชิญอาชญากรรมเหล่านี้ 19.2 ต่อ 1,000 คน ต่อปี

ในงานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า กลุ่มประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงจากคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักเป็นจำนวนมากกว่าบุคคลที่ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากแผนภาพที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ระบุว่า ชาว LGBTQ+ มีอัตราการเผชิญอาชญากรรมจากคนที่รู้จักกันดี 43.7 ต่อ 1,000 คน เทียบกับผู้ไม่ใช่ LGBTQ+ ที่อัตรา 6.9 ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีโอกาสเผชิญความรุนแรงจากคู่รัก ญาติ และคนรู้จักอื่นๆ 6-8 เท่า เมื่อเทียบกับคนแปลกหน้าที่ชาว LGBTQ+ มีอัตราเผชิญกับความรุนแรงมากกว่า 2.5 เท่า

แอนดรูว อาร์ ฟลอเรส ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันที่เป็นผู้นำเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าจำนวนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความรุนแรงจากคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักจำนวนมากเป็นเรื่องที่น่านำมาตั้งคำถามต่อสำหรับงานวิจัยต่อไปในอนาคต

ทอรี คูเปอร์ จากองค์กรสนับสนุน LGBTQ+ ในสหรัฐฯ ฮิวแมนไรท์แคมเปญกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการกล่อมเกลาทางสังคมที่ปลูกฝังความรู้สึกเกลียดกลัวคนข้ามเพศและบุคคลที่แหกขนบทางเพศให้กับผู้คน โดยที่ทางฮิวแมนไรท์แคมเปญเองก็เคยมีผลสำรวจวัยรุ่น LGBTQ+ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2561 พบว่าวัยรุ่น LGBTQ+ ร้อยละ 67 ต้องเผชิญกับการที่ครอบครัวแสดงความคิดเห็นทางลบต่อเพศสภาพหรือเพศวิถีของพวกเขา

คูเปอร์ผู้ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิสัมพันธ์กับชุมชนของโครงการริเริ่มเพื่อความยุติธรรมสำหรับคนข้ามเพศกล่าวว่าบุคคลข้ามเพศมีความเสี่ยงต้องเผชิญกับการเหยียดหรือความรุนแรงเหล่านี้มากเป็นพิเศษโดยเฉพาะจากบุคคลใกล้ชิด ในปี 2563 มีกรณีการสังหารคนข้ามเพศหรือบุคคลที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงบรรทัดฐานสังคมเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนข้ามเพศที่เป็นคนดำและชาวเชื้อสายลาติน คูเปอร์บอกว่า "มีความเกลียดกลัวคนข้ามเพศอย่างไม่มีเหตุผลในระดับไม่อาจประเมินได้ที่มีบทบาทกับความสัมพันธ์เช่นนี้"

งานวิจัยล่าสุดโดยทีมของฟลอเรสไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนข้ามเพศมากพอที่จะเจาะจงจำนวนที่ชัดเจนเปรียบเทียบระหว่างคนข้ามเพศกับกลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มอื่นๆ ในแง่ของเรื่องการเผชิญความรุนแรง แต่เขาก็บอกว่าจากงานวิจัยอื่นๆ แล้ว แสดงให้เห็น่วาคนข้ามเพศมีความเสี่ยงต้องเผชิญเรื่องเหล่านี้มากกว่า นอกจากเรื่องความรุนแรงแล้วงานวิจัยของฟลอเรสยังแสดงให้เห็นว่า LGBTQ+ เผชิญกับอาชญากรรมอื่นๆ อย่างการข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ 13 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ และเผชิญกับการลักขโมยมากกว่าคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ 2 เท่า

งานวิจัยนี้อาศัยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐฯ ในด้านสถิติอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเปิดเผยว่ารัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายยกเลิกการระบุเพศสภาพหรือเพศวิถีของเหยื่อในการสำรวจสถิติอาชญากรรม ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเองแบบไม่หารือกับประชาชนทั่วไป เรื่องนี้จะทำให้นักวิจัยเผชิญข้อจำกัดด้านการหาข้อมูลในประเด็นนี้ในเชิงสถิติใหญ๋ๆ ในอนาคต

เรียบเรียงจาก

Sexual, gender minorities much likelier to be crime victims, Phys, 02-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net