รำลึก 44 ปี 6 ตุลา 'จาตุรนต์' ย้ำเราต้องเตือนผู้มีอำนาจอย่าซ้ำรอย ไม่ใช่เตือนนักศึกษา

'จาตุรนต์' ปาฐกถารำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 วิเคราะห์ความเหมือนและความต่างของการเคลื่อนไหวยุคนี้กับยุคนั้น พร้อมย้ำเราต้องเตือนผู้มีอำนาจอย่าซ้ำรอย ไม่ใช่เตือนนักศึกษา ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนอดีตแล้ว สภา นศ. มธ. มอบรางวัล ‘จารุพงษ์’ ให้ ‘ทนายอานนท์-ไมค์’ พร้อมเปิดนิทรรศการ “6 ตุลา”

6 ต.ค.2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบ หลังนักศึกษาและประชาชนชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516

ช่วงเช้าวันนี้ (6 ต.ค.63) ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ "ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" มธ. ท่าพระจันทร์ ประชาชนและนักศึกษาจัดพิธีรำลึก ตั้งแต่การทำบุญตักบาตร วางพวงมาลา และดอกไม้ ที่ประติมานุสรณ์ “6 ตุลาคม 2519” โดยผู้แทนองค์กรการศึกษา การเมืองและภาคประชาสังคมต่างๆ

จาตุรนต์ : ความเหมือนและความต่างของการเคลื่อนไหวยุคนี้กับ 6 ตุลา 19

จากนั้น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษา “6 ตุลาฯ 2519” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นปาฐกถารำลึก โดย จาตุรนต์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ใน 3 ประเด็นว่า หนึ่ง 6 ตุลา ไม่ใช่แค่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนตามต่างจังหวัดด้วย สอง ไม่ใช่สังหารโหดและจับกุมคุมขังเท่านั้น มีการรัฐประการสู่ระบอบนายทุนขุนศึก ศักดินา ที่ดำรงอยู่ต่อจากนั้นถึง 12 ปี สาม เหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นเป็นเหตุการณ์และกรบวนการต่อเนื่องจาก 14 ตุลา 16

สำหรับเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก่ออะไรบ้าง มีทั้งการเติบโตของแนวคิดสังคมนิยม แต่สิ่งที่ชนชั้นนำกลัวคือการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนปกครองกันเองเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำทนไม่ได้ จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามและสังหารต่อเนื่องจนถึงเหตากรณ์ 6 ตุลา 19  โดยที่การชุมนุม 6 ตุลา นั้นเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย โดยที่ความรุนแรงในวันนั้น เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารเป็นการถอยหลัง รวมทั้งหยุดยั้งการเติบโตของแนวคิดเสรีประชาธิปไตย

จาตุรนต์ เรียก ปฏิบัติการปราบปราม 6 ตุลา ว่ามีต้นตอมาจากระบอบบนายทุนขุนศึกศักดินา ซึ่งให้บทเรียนกับสังคมไทย ตั้งแต่ 1. การใช้กำลังความรุนแรงกับผู้เห็นต่างไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หากแต่เพิ่มความขัดแย้งเป็นตราบาปของสังคมไทยที่แสดงถึงความป่าเถื่อนไร้อารยะ 2. การใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบโดยที่ผู้มีกำลังอาวุธในมือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ระบบนี้พร้อมฆ่าคนที่เห็นต่างเพื่อให้ระบบโครงสร้างดำรงอยู่ และ 3. การแก้ปัญหาความขัดแย้งหลัง 6 ตุลา ไม่ได้เกิดจากการประหัตประหาร แต่เป็นการใช้การเมืองระหว่างประเทศ การผ่อนคลายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างกลับคืนสู่สังคมมีที่ยืนเหมือนกับผู้อื่น

สำหรับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น อดีตผู้นำนักศึกษา กล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบแล้วมีจุดร่วมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองมีความใฝ่ฝันอยากเห็นสังคมที่ดี มีอุดมการณ์ที่ต้องการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์และต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยพลังของนักศึกษาไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่จุดที่ต่างคือปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันนั้นซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมากเนื่องจากเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงทำให้นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันเรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่เป็นไปได้อย่างดีทั้งประวัติศาสตร์และโครงสร้างในปัจจุบัน สิ่งสำคัญอีกประการคือความจริงของสังคมไทยในปัจจุบันย้อนแย้งกับสิ่งที่ท่านสอนในห้องเรียน

ส่วนคำถามที่ว่าใครหนุนหลังความเคลื่อนไหวนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันนั้น จาตุรนต์ มองว่าปรากฏการณ์การณ์เหล่านี้เป็นสิ่งหนุนให้นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันออกมาเคลื่อนไหว 1. วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน 2. วิกฤตการเมืองที่ทั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญเป็นตัวถ่วงการแก้ปัญหา 3. วิกฤตการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างให้คนสามารถดำรงชีวิตในโลกสมัยใหม่ 4. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการต่อเนื่องอื่นๆ และ 5. ความผันผวนของโลกนักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้สภาพเหล่านี้ได้ข้อสรุปว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคตพวกเขาไม่มีอนาคตซึ่งน่าจะตรงกับพวกเราที่เห็นว่าถ้าหากบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ใครก็ไม่มีอนาคต

ดังนั้นการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีนี้ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ ประการแรก ในระยะ 2 ปีมานี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคมโดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลา แสดงให้เห็นว่ามีการศึกษาอย่างลึกซึ้งในการแสวงหาความยุติธรรมหาคนผิดและเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตเข้าถึงปัญหาโครงสร้างในสังคมและที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในวันนี้มาพร้อมกับการวิเคราะห์ของนักวิชาการคนรุ่นใหม่ในการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในมิติที่กว้างขวางกว่าด้วย ประการที่ 2 ในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่มากกว่าการรำลึก แต่จะเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้น เรารำลึกเหตุการณ์ถึงเหตุเดือนตุลาคมการเสียสละของวีรชนและความโหดเหี้้ยมของระบอบเผด็จการ แต่ความเสียหายจากเหตุการณ์นั้นเราควรจะมองความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยความจริงใจที่เปิดกว้างเข้าใจถึงสาเหตุที่พวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยดูดายความล้าหลังของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชนหวังว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะได้เรียนรู้จากอดีตพอที่จะเรียนรู้ว่าการทำลายเข็นฆ่าผู้เห็นต่างมีแต่จะทำลายให้สังคมขัดแย้งมากขึ้น

จาตุรนต์ กล่าวต่อว่า หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยุดคุกคามหรือทำลายความเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาและหันมาทำความเข้าใจพร้อมที่จะรับฟังและเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวิกฤตของประเทศตามครรลองของประชาธิปไตย

ต้องเตือนผู้มีอำนาจอย่าซ้ำรอย 6 ตุลา ไม่ใช่เตือนนักศึกษา

“ผมไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่อยากจะย้ำใครที่คิดจะเตือนนักศึกษาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เดี๋ยวจะเกิดแบบ 6 ตุลาขึ้นนั้น ขอให้ทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาเสียใหม่ เพราะเมื่อ 6 ตุลา 19 นักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นักศึกษาไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปราม แต่ความรุนแรงมาจากฝ่ายนั้นทั้งสิ้น หากจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่าอย่าสร้างความเกลียดชังและเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา” จาตุรนต์ กล่าว

อดีตผู้นำนักศึกษเดือนตุลา 19 กล่าวด้วยว่า โลกยุคใหม่นี้การใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชังทำด้วยความเท็จไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นและสำเร็จง่ายๆเหมือนเมื่อ 44 ปีที่แล้ว ตนเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้หากช่วยกันทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นปัญหาร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อนักศึกษาและประชาชนก็จะยิ่งทำได้มากขึ้น ตนไม่เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะซ้ำรอย 6 ตุลาได้ เนื่องจากเหตุปัจจัยและต่างๆ หากเทียบกับอดีตแม้จะต่างกันมาก แต่สถานการณ์ในวันนี้มีโอกาสที่จะพัฒนาไปใกล้เคียงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาพฤษภา 35 มากกว่า 6 ตุลา หากประชาชนทั้งประเทศคิดร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตอย่างจริงจังไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต้องต่อสู้ไปตามลำพังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอดีตก็เป็นได้

มอบรางวัล ‘จารุพงษ์’ ให้ ‘ทนายอานนท์-ไมค์’ พร้อมเปิดนิทรรศการ “6 ตุลา”

อานนท์ รับรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย' จากสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย' ครั้งแรก ให้กับ อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ 2 นักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงนี้

และพิธีเปิดนิทรรศการ “6 ตุลา” นิทรรศการวัสดุ และภาพถ่ายในเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” โดยมี จาตุรนต์และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดงาน พร้อมด้วย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความและคนเดือนตุลา เป็นผู้นำชมนิทรรศการ ที่จัดแสดงที่ด้านหน้าและในหอประชุมใหญ่ มธ. วันนี้ถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้

กฤษฎางค์ นุตจรัส นำชมนิทรรศการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท