Skip to main content
sharethis

'ศรีสุวรรณ' พาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก สปสช. ยกเลิกบัตรทองในสถานพยาบาลกว่า 190 แห่งจากเหตุทุจริตเบิกค่ารักษาไม่จริงมาร้องเรียน ชี้พบข้อพิรุธในความโปร่งใสของ สปสช. ขอให้แต่งตั้ง กก.ตรวจสอบ รวมทั้งแก้การลงโทษการปกครองให้ชัดเจน กก.สปสช.ระบุ ถ้าจะตั้ง กก.สอบสวนควรมีหลักฐานชัดเจน-คลินิกติดใจดำเนินการตามกฎหมายได้

6 ต.ค. 2563 วันนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากศรีสุวรรณ จรรยาว่า เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทำเนียบรัฐบาล ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำผู้ป่วยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญาการให้บริการบัตรทองของสถานพยาบาลต่างๆใน กทม.กว่า 190 แห่ง หลังจากตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก กระทบประชาชนรวมกว่า 2 ล้านคนนั้น

ทั้งนี้ ประชาชนและหรือผู้ป่วยบัตรทองทั่วกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลต่างๆ จำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ สปสช. ในการยกเลิกสัญญาดังกล่าว เห็นว่า การดำเนินการของ สปสช. มีข้อพิรุธ และมีข้อสงสัยในความโปร่งใส หลายประการ โดยเฉพาะยังไม่ปรากฏว่าจะมีการสอบสวนเอาผิดผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สปสช. ที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นการทุจริตบัตรทองแต่อย่างใด มีแต่ปล่อยข่าวเล่นงานเฉพาะสถานพยาบาลต่างๆ ประหนึ่งจะกลบเกลื่อนความผิดของพวกพ้องกันเอง จึงได้นำความมายังร้องนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการ ดังนี้

1)ขอให้ใช้อำนาจตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.11(6) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ ขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้บริหาร ผู้บริหาร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สปสช. ที่มีพฤติการณ์ หรือการกระทำในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับสถานพยาบาลทั้ง 190 แห่งหรือมากกว่านั้น ที่มีการตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตามการแถลงของ สปสช. ผ่านสื่อมวลชน

2)สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ใช้อำนาจตาม ม.18(7) แห่งพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสวมสิทธิ์หรือแอบอ้างสิทธิ์ของผู้รับบริการ เพื่อนำไปดำเนินการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และค่าเสียหายที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการบริการยังสถานบริการแห่งใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และเสียเวลามากขึ้นด้วย ทั้งนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และ 

3)สั่งการให้ประธานบอร์ด สปสช. ใช้อำนาจตาม ม.18(11) แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดหลักเกณ์เพื่อ “แยกปลาออกจากน้ำ” เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครอง และเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่าง ๆ ให้มีรายละเอียดการลงโทษที่ชัดเจนและมีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ มิใช่การเหมาเข่ง โดยที่หน่วยบริการที่ถูกผลของคำสั่งมิได้ชี้แจง หรืออุทธรณ์ ตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ทั้งนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย 

 

กก.สปสช.ระบุ ถ้าจะตั้ง กก.สอบสวนควรมีหลักฐานชัดเจน-คลินิกติดใจดำเนินการตามกฎหมายได้

ประชาไทสัมภาษณ์ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อกรณีดังกล่าว

สุภัทราให้ความเห็นต่อกรณีที่ศรีสุวรรณเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อตรวจสอบ สปสช. ว่า สปสช. เองถูกตรวจสอบอยู่แล้ว และได้รางวัลองค์กรโปร่งใสดีมาโดยตลอด ตามการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ขณะเดียวกันก็สนับสนุนว่าหากมีพยานหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ สปสช. เอื้อประโยชน์ในการทุจริต ก็สนับสนุนให้มาเปิดเผย 

"ถ้าพบว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการทุกฝ่ายตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดหลักฐาน เป็นเพียงการกล่าวหา จึงไม่มีเหตุผลให้ตั้งกรรมการพิเศษสอบสวน" สุภัทราระบุ

สุภัทรายังกล่าวถึงประเด็นตรวจพบว่ามีการเบิกเงินเท็จและยกเลิกสัญญากับคลินิกที่พบการทุจริตว่า การกระทำดังกล่าวผิดเงื่อนไขร้ายแรง จึงไม่สามารถให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของหน่วยงานในเบื้องต้นก็คือการยกเลิกสัญญา และก่อนที่จะยกเลิกก็มีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอการทุจริต และจากนี้ก็จะขยายไปตรวจในพื้นที่อื่นด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคิดว่าจะมีระบบการป้องกันการทุจริตได้อย่างไร

"ถ้าคลินิกรู้สึกติดใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โกง ไม่ได้ทำอะไรผิด ก็โต้แย้ง แจ้งความดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ตามกฎหมาย" สุภัทรากล่าว

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ในคลินิกซึ่งได้รับผลกระทบ ถูกเลิกจ้างหรือถูกลดเงินเดือน สุภัทราระบุว่าเป็นเรื่องระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าของคลินิก ดังนั้นต้องไปว่ากันตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่เกี่ยวกับ สปสช.

ทั้งนี้สุภัทราอธิบายว่าสำหรับผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง รวมคนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2 ล้านคน แต่จำนวนนี้ 70% ไม่ป่วย ไม่ได้ไปใช้สิทธิ หากอยากจะเปลี่ยนสิทธิก็สามารถเปลี่ยนได้อยู่แล้วปีละ 4 ครั้ง และตอนนี้ทั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตาม พรบ .หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50 (5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน หรือสปสช.เองก็ออกไปสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วกรุงเทพฯ โดยผ่านแกนนำ ผู้นำชุมชน กลุ่ม อสม. อสส. ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะมีการยกเลิกบัตรทอง

สุภัทรายังกล่าวว่า นอกจากนี้มีการพูดคุยกับกรุงเทพมหานครเพื่อให้ศูนย์บริการทั้ง 60 แห่งของกรุงเทพมหานครเข้ามาช่วยพูดคุยกับโรงพยาบาลรัฐให้เข้ามาช่วยรองรับประชาชน มีการขึ้นทะเบียนคลินิกใหม่ ซึ่งกรณีนี้ก็มีคลินิกที่ทาง สปสช. ไม่ต่อสัญญาจะมาขอขึ้นทะเบียนใหม่ ตนก็คิดว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะยังเป็นการดำเนินการของคนกลุ่มเดิม หรือกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคร้ายแรง ก็ให้สิทธิพิเศษในการไปรักษาได้เลย ไม่ต้องมีการส่งตัว สามารถไปรักษาต่อเนื่องได้เลย ดังนั้นจะเห็นว่ามีระบบจัดการอยู่ว่าจะไม่สร้างผลกระทบ หรือสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดสำหรับประชาชน

 

*หมายเหตุ เพิ่มเติมสัมภาษณ์เมื่อเวลา 18.40 น.

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net