ครม. ไฟเขียวเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มที่ อบจ. ภายใน ธ.ค.

ประยุทธ์ระบุที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิดและงบประมาณ ย้ำอยากให้การเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ทุจริต 'เทพไท' แนะให้แบ่งจัดเป็น 5 รอบทุก 3 เดือน ห่วงพื้นที่เลือกตั้งทับซ้อน

ครม. ไฟเขียวเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มที่ อบจ. ภายใน ธ.ค.

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า การประชุมครม.วันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้นำเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมาพิจารณาร่วมกับครม. ซึ่ง เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วในเรื่องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมามีเหตุผลและความจำเป็นทั้งเรื่องสถานการณ์โควิด และเรื่องงบประมาณต่างๆที่ได้เตรียมการไว้ในระดับหนึ่ง โดยส่วนที่มีความพร้อมมากที่สุด

"วันนี้มติ ครม. ให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ก่อน ภายในระยะเวลา 60 วัน คาดว่า ภายเดือนในธ.ค. ส่วนการกำหนดช่วงเวลาต่างๆเป็นเรื่องของกกต. กำหนดเอง ส่วนการเลือกตั้งรูปแบบอื่นปีหน้าก็จะทยอยดำเนินการต่อไป พร้อมการเตรียมงบประมาณปี 64 ไว้ด้วย" นายกฯกล่าว

ทั้งนี้อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ทุจริตและได้คนดีมาทำงานท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภท ซึ่งหลังจากนี้ไปก็จะดูรูปแบบที่เหลืออยู่ ว่าจะทำอย่างไรแต่ก็ต้องมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว ย้ำว่าขอให้ได้คนดี ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ อย่าให้เกิดเหตุแบบเดิมขึ้นอีก หลายอย่างเป็นประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งรัฐบาล ครม.ประชาชนและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องทำตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยไร้ระบบ โดยสิ้นเชิงก็คงไม่ใช่เหมือนกัน

 

'เทพไท' แนะให้แบ่งจัดเป็น 5 รอบทุก 3 เดือน ห่วงพื้นที่เลือกตั้งทับซ้อน

ก่อนหน้านี้ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวจากการที่ คสช. ได้ต่ออายุให้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ มาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อ3ส่วน เกี่ยวกับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ

1.ส่วนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม อยู่ในวาระยาวนาน จนเกิดการผูกขาดการใช้อำนาจ ของผู้บริหารกับประชาชน และจากการต่ออายุให้อยู่ในตำแหน่งต่ออย่างไม่มีกำหนด ทำให้ผู้บริหารไม่มีความกระตือรือร้นในการปฎิบัติหน้าที่บริการประชาชน

2.ส่วนของประชาชนในเขตพื้นที่ของการบริหารองค์กรปกครองส่งท้องถิ่นนั้นๆ ก็เกิดสภาพรู้สึกเบื่อหน่ายกับผู้บริหารท้องถิ่น เสียโอกาสในการเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ยังต้องทนต่อสภาพการบริหารของคณะผู้บริหารชุดเดิมๆต่อไป

3.ส่วนของท้าชิงหรือผู้เสนอตัวแข่งขันในตำแหน่งผู้บริหารคนใหม่ เกิดอาการอ่อนล้า เสียค่าใช้จ่ายกับการเปิดตัว การรณรงค์หาเสียง มาเป็นเวลาหลายปี แต่ยังไม่รู้กำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน

ถ้าหากรัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)กำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเร็วๆนี้จริง ตนขอเสนอให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งแต่ละระดับ หรือเป็นรอบๆ ทุกระยะเวลา3เดือน ต่อการเลือกตั้งหนึ่งรอบ

โดยแบ่งระดับประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น รอบแรกจัดการเลือกตั้งของ อบจ. 76จังหวัด, รอบที่2 จัดการเลือกตั้งระดับเทศบาลนครและเทศบาลเมือง จำนวน225แห่ง,รอบที่3 จัดการเลือกตั้งระดับเทศบาลตำบล จำนวน2247แห่ง,รอบที่4 จัดการเลือกตั้งระดับ อบต.จำนวน 5300แห่ง,รอบที่5 จัดการเลือกตั้งของการปกครองรูปแบบพิเศษ คือ กทม.และเมืองพัทยา หรือจะกำหนดให้การเลือกตั้งองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษเป็นรอบแรก ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ถ้าหากการกำหนดวันเลือกตั้ง ของแต่ละระดับหรือแต่ละประเภท กระชั้นชิดเกินไป ก็จะทำให้เกิดความสับสนเรื่องป้ายโฆษณา รถแห่หาเสียงในหมู่ประชาชน เพราะมีบางพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทับซ้อนกัน

จึงขอเสนอให้รัฐบาลได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง ได้มีโอกาสเตรียมตัวเข้าสู่สนามการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

อ้างอิง: แนวหน้า, โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท