Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘ทัช’ นักเรียน ม.ต้น ผู้ไม่อินต่อกิจกรรมปลูกฝังการรักชาติและประวัติศาสตร์ด้านเดียว เมื่อเขาต้องกลายเป็น ‘เด็กก้าวร้าว’ ในสายตาผู้ใหญ่เพียงเพราะพูดอย่างตรงไปตรงมา และฟังเสียงจากโรงเรียน - ภาคปชช.จี้ ผบ.ทบ. ลงโทษทหารทำร้าย นร.-เลิกบรรยายใน รร. - 'ประยุทธ์' สั่ง “ศอ.บต.” ปรับโครงการรักชาติ เลี่ยงถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งการเมือง

“ผมว่ามันไม่ใช่วิธีที่จะให้ใครรักชาติสักคนหนึ่งเขาทำกัน ถ้าเกิดว่าเขาจะรักนะครับ ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” คำพูดของทัช นักเรียน ม.2 ที่พูดแสดงความรู้สึกต่อกิจกรรมปลูกฝังรักชาติต่อหน้านายทหารที่เป็นวิทยากรบรรยายใน ‘โครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ’ ให้กับนักเรียนชั้น ม.1-2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา บรรยายโดยชุดปฏิบัติการพลเรือน กองพลทหารราบที่ 4 ขุนศึก 41 ต่อมาประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงในโลกออนไลน์จนแฮชแท็ก #เบญคอน ติดเทรนด์ทวิตเตอร์จำนวนกว่า 30k ทวิต ในคืนวันที่ 5 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา

ประชาไทชวน ‘ทัช’ นักเรียน ม.ต้นที่แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมดังกล่าวมาเรียบเรียงเหตุการณ์และพูดคุยถึงเบื้องหลังแนวความคิดว่าอะไรทำให้เขาไม่อินกับกิจกรรมปลูกฝังให้รักชาติ และอะไรคือความฝันที่เด็ก ม.ต้นคนหนึ่งอยากจะเห็นในสังคมไทย

นร.ม.2 พูดแสดงความเห็นต่อกิจกรรมปลูกฝังความรักชาติโดยมีนายทหารยืนอยู่ข้างๆ

กราฟิกสำหรับขึ้นจอทีวีในห้องอบรม

เกิดอะไรขึ้นในกิจกรรมอบรม

ทัช นักเรียน ม.2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าเช้าวันที่ 1 ต.ค. 63 ที่ผ่านมาอาจารย์ประจำชั้นแจ้งว่าวันนี้จะมีทหารมาให้ความรู้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความรักชาติจำนวน 3 ชั่วโมงในช่วงเที่ยงโดยอาจารย์แจ้งว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่บังคับเข้าแต่ต้องเข้าทุกคน ซึ่งทัชมองว่าเป็นกิจกรรมที่แจ้งกะทันหันและเป็นการใช้เวลามากเกินไป

บริเวณหน้าห้องประชุมประดู่แดงสถานที่จัดอบรมดังกล่าว

ทัชเล่าต่อว่า ช่วงแรกของการอบรมเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ประเทศไทยตั้งแต่ 'สมัยชาติปางก่อน' พร้อมกับเปิดสื่อวิดีโอไปด้วย หลังผ่านช่วงแรกมีการเล่าถึงพระราชกรณียกิจตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน ผ่านไป 2 ชั่วโมงกว่ามีการให้นักเรียนยืนร้องเพลงชาติต่อด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี รวมถึงท่องคำปฏิญาณตนซึ่งเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้า จะรักชาติและหวงแหนแผ่นดินไว้ด้วยชีวิต ข้าพเจ้าดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา จะเทิดทูนและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าจะทำแต่ความดีไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เป็นอันขาด ข้าพเจ้าจะไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จะอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” 

คำปฏิญาณในห้องอบรมโครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ

ทัชเล่าต่อว่าช่วงท้ายของกิจกรรมมีการเชิญนักเรียนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมดังกล่าวบริเวณหน้าห้องอบรม ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในสามของนักเรียนที่ออกไป เขากล่าวว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่บิดเบือน บางอย่างอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดอาจเป็นการเติมแต่งเพื่อเชิดชูอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาสูญเสียเวลาในการเรียนไปอีกด้วย

ความรู้สึกต่อการบรรยายครั้งนี้ ถ้าตอบแบบตรงๆ ก็จะอ้วก แต่มันก็อาจจะมีความจริงบางส่วนอยู่ แต่บางอย่างมันบิดเบือน บางอย่างมันไม่ใช่ความจริง… การเรียนรู้นอกห้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้ ถ้าเกิดเราอยากจะเรียนรู้เราสามารถเรียนรู้ได้ตัวเองครับ ไม่ต้องมีใครเป็นคนมาสั่งว่า เฮ้ยคุณ เรามาฟังกันเถอะ เดี๋ยวเราจะยัด mindset นี้เข้าไปในหัวคุณให้ ผมว่ามันไม่ใช่วิธีที่จะให้ใครรักชาติสักคนหนึ่งเขาทำกัน ถ้าเกิดว่าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” ทัชกล่าวแสดงความเห็นต่อกิจกรรมดังกล่าวโดยมีนายทหารท่านหนึ่งยืนข้างๆ 


วิดีโอช่วงนักเรียนม.2 หรือทัช ออกไปแสดงความเห็นต่อกิจกรรมปลูกฝังความรักชาติ

จากการพูดตรงไปตรงมา สู่การเป็นเด็ก ‘ก้าวร้าว’ ในสายตาผู้ใหญ่

ภาพเด็ก อายุ 13 ยืนแสดงความเห็นต่อกิจกรรมปลูกฝังการรักชาติในสถานศึกษาอย่างตรงไปตรงมาแบบไม่อ้อมค้อมต่อหน้าชายชุดเขียว เป็นภาพที่ไม่ค่อยได้พบเห็นนักในสังคมไทย เนื่องจากภาพจำนักเรียนในสายผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มองว่า เด็กควรมีความนอบน้อมถ่อมตนและไม่ก้าวร้าวต่อผู้ที่มีความอาวุโสกว่า ทำให้ภาพและคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วส่งผลให้แฮชแท็ก #เบญคอน ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์จำนวนกว่า 30k ทวิต ในคืนวันที่ 6 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา

แฮชแท็ก #เบญคอน ติดเทรนด์ทวิตเตอร์จำนวนกว่า 30k ทวิต ในคืนวันที่ 6 ต.ค. 63

ทัชเล่าต่อว่าหลังจบกิจกรรม รองผู้อำนวยการโรงเรียนได้ร้องขอให้ไปขอโทษนายทหารผู้บรรยายที่ยืนฟังอยู่ข้างๆ เมื่อตอนแสดงความเห็น พร้อมเชิญเข้าห้องปกครองในวันต่อมา ทัชเล่าให้ฟังว่ามีการพูดถึงเรื่องการหักคะแนนความประพฤติด้วยเหตุผลว่าเขามีพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่ 

“ผมไม่ได้ทำอะไรผิด” คำพูดของเด็กม.2 ที่พูดออกมาจากความรู้สึกหลังจากจบกิจกรรมอบรม เขากล่าวต่อว่าหากมองในมุมมองของผู้ใหญ่เขาอาจก้าวร้าว แต่หากมองในมุมมองของเขา เขามองว่าไม่ได้ก้าวร้าวและเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพูดคุยหรือแสดงออกมาได้ เพียงไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเขามองว่าไม่ผิดและเขารู้สึกไม่โอเคที่อาจารย์ทำกับเขา

การที่ผมแสดงออกแบบนั้นออกไป มันคือการแสดงออกจากใจผมจริงๆ และผมรู้สึกว่ามันเป็นการเสียเวลาเรียนของผมมากๆ ซึ่งแทนที่ผมจะได้เรียนในเวลา 4 คาบกว่า ซึ่งขณะนั้นผมอาจจะมีอารมณ์ขึ้นอาจจะพูดในสิ่งที่ไม่ถูก แต่ผมก็มองว่ามันก็ไม่ได้ผิดอะไรขนาดนั้นอยู่ดี

ผมต้องการนิยามคำว่าก้าวร้าวจากพวกเขา ผมไม่เข้าใจว่าคำว่าไม่น่ารัก ก้าวร้าว สิ่งที่ผมทำไปมันก้าวร้าวตรงไหน ผมแค่พูดตามความในใจของผมจริงๆ สิ่งที่ผมพูดมันออกมาจากในใจผมล้วนๆ ซึ่งเขาเป็นคนที่ถามความคิดเห็นของผมเอง พอผมแสดงความคิดเห็นหรือพูดความจริงไปในสิ่งที่ผมคิด พวกเขาก็รับไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มันไม่โอเค” ทัชกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ทัชเล่าต่อว่าเขาเคยยืนชู 3 นิ้วที่ลานเข้าแถวหน้าเสาธงโรงเรียนขณะเคารพธงชาติ แต่กลับถูกอาจารย์ท่านหนึ่งตะโกนมาบอกว่า “เธอๆ เอามือลงนะ ถ้าไม่เอามือลงจะหักคะแนน” เขาเล่าต่อว่าหลังเกิดเหตุการณ์วันอบรมเขาได้ถูกอาจารย์ท่านหนึ่งเลือกปฏิบัติการเรียนการสอนต่อเขาหลังจากเกิดเหตุการณ์วันอบรมดังกล่าว 

วิดีโอบรรยากาศ ‘โครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ’ ที่ห้องประดู่แดง รร.เบญจมราชูทิศ

คำชี้แจงจากฝั่งโรงเรียน

5 ต.ค. 63 สุวิมล อ้นทอง ประชาสัมพันธ์โรงเรียนเบญจมราชูทิศชี้แจงต่อสื่อมวลชนที่ห้องประชุมประดู่แดงว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่สำนักงานศึกษาธิการ จ.นครศรีธรรมราช ยื่นหนังสือถึงโรงเรียนเบญจมราชูทิศเมื่อวันที่ 29 ก.ย. และถึงโรงเรียนในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งโรงเรียนเบญจมราชูทิศอยู่ในการกำกับการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ทางโรงเรียนจึงเชิญนักเรียนชั้น ม.1-2 โครงการภาคภาษาอังกฤษ (English program) เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วยเหตุผลอาคารเรียนของนักเรียนชั้น ม.1-2 โปรแกรม EP. ใกล้ห้องประชุมประดู่แดงโดยไม่ได้แจ้งนักเรียนล่วงหน้า

สุวิมลยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าทางโรงเรียนไม่ได้เรียกร้องให้จัดโครงการดังกล่าว แต่เป็นโครงการตามแผนการเข้าบรรยายในสถานศึกษาของโรงเรียนมัธยม ซึ่งจะจัดทุกโรงเรียนในจังหวัดนครศรีธรรมราช

สุวิมล กล่าวต่อว่าก่อนอบรมทางโรงเรียนได้พูดกับนักเรียนว่าวันนี้นักเรียนจะได้รับเป็นข้อมูลข่าวสารด้านหนึ่ง ซึ่งไม่ได้บอกให้นักเรียนเชื่อแต่ให้นักเรียนทุกคนฟังแล้วคิดรวมถึงใช้วิจารณญาณ ซึ่งจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของนักเรียน และหลังจบกิจกรรมได้เรียกนักเรียน 1 ใน 3 คน ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อกิจกรรมไปพูดคุยที่ห้องพัฒนานักเรียนจริง แต่สาเหตุที่เชิญไปนั้นไม่ใช่เพราะนักเรียนคิดเห็นต่าง เพราะทางโรงเรียนมีนโยบายว่าโรงเรียนมีความเป็นกลางและไม่เคยปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างของนักเรียน แต่สาเหตุที่เรียกนักเรียนเข้าห้องพัฒนานักเรียนเนื่องจากการใช้ถ้อยคำและกิริยาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในวันอบรมดังกล่าวมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งอยู่ในห้องอบรมด้วยรวมถึงผู้บริหารคนอื่นๆ  

ส่วนประเด็นการหักคะแนนพฤติกรรม สุวิมล ชี้แจงว่าทางโรงเรียนไม่มีการหักคะแนนแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการถามนักเรียนคนดังกล่าวว่าควรให้มีการหักคะแนนความประพฤติหรือไม่ และทางโรงเรียนไม่ได้อยู่ๆ ก็จะหักคะแนนเลย ก่อนหน้านี้นักเรียนคนดังกล่าวมีการโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางโรงเรียนจึงได้เข้าพูดคุยกับนักเรียนดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจต่อกฎหมายที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งรวมแล้วมีการพูดคุยกับนักเรียนคนดังกล่าวถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งถึงการอบรมในครั้งนี้ ทางโรงเรียนจึงถามนักเรียนคนดังกล่าวว่าอีกครั้งควรมีการหักคะแนนความประพฤติหรือไม่

“ขอให้เข้าใจว่าครั้งนี้ไม่ได้เรียกพบผู้ปกครอง หรือหักคะแนนเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง แต่เป็นในเรื่องของการใช้ถ้อยคำ ภาษา... ในความเป็นเด็กเขาอาจเข้าใจว่าคำพูดอาจไม่รุนแรง แต่ว่าอย่างที่บอกในเมื่อครูเข้าใจความแตกต่างของเรา เราก็ต้องเข้าใจความแตกต่างของผู้ใหญ่เช่นเดียวกันว่าคำพูดของเราในบริบทของเด็กเมื่อมาพูดต่อหน้าผู้ใหญ่ คำพูดนั้นความหมายเดียวกันหรือไม่และส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนอย่างไรบ้าง”  สุวิมล กล่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน

ตารางรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ความฝันของเด็ก ม.ต้น ที่อยากเห็นสังคมไทยมีความเท่าเทียม

ทัชเล่าว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อย่างมากรวมถึงชอบค้นคว้าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและมักนำข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายมาชั่งน้ำหนักกันเพื่อหาคำตอบ โดยเรื่องที่เขาสนใจคือเรื่องประวัติศาสตร์ของคนไทยว่ามาจากที่ไหนอย่างไร เขามองว่าประวัติศาสตร์ไทยนั้นพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านในเชิงตัวร้ายมากเกินไป เช่นพม่าหรือกัมพูชา ฯลฯ

สำหรับเรื่องสถาบันกษัตริย์นั้น ทัชมองว่าเป็นระบอบที่ไม่ให้ความเท่าเทียม พร้อมยกตัวอย่างกฎหมายมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่มีบทลงโทษรุนแรงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เขามองว่าโดยปกติคนเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้และต้องวิจารณ์แบบมีเหตุมีผล เขามองว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับกฎหมายดังกล่าวเหมือนเป็นการแบ่งแยกชนชั้นของคน ทัชยังเล่าถึงความฝันต่อว่า เขาอยากเห็นการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ เช่น สามารถตรวจสอบได้ และเห็นควรยกเลิกมาตรา 112 

ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่รับฟังเสียงของทุกคนและมีสิทธิเท่ากันไม่มีแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งหากเป็นคนเหมือนกันก็ควรมีสิทธิพูดและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม และหากไม่สามารถพูดและแสดงความเห็นได้มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง” ทัชกล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไท

ภาคปชช.จี้ ผบ.ทบ. ลงโทษทหารทำร้าย นร.-เลิกบรรยายใน รร.

6 ต.ค. 2563 วันนี้ ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) วรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ กรณีมีทหาร เข้าไปบรรยายและฉายวิดีโอในโครงการ “เสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ” ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

โดยลักษณะแทรกแซงการเรียนการสอนโดยที่นักเรียนไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมไม่ได้มีการแจ้งหรือนัดหมายล่วงหน้าอีกทั้งไม่ใช่หน้าที่ของทหารในโรงเรียน ซ้ำร้ายยังมีทหารต่อยท้องนักเรียน 2-3 ครั้ง จากนั้นก็กอดอย่างแรง แล้วพูดว่าหล่อ เป็นการกระทำที่เข้าข่ายทำร้ายข่มขู่คุกคามเด็กซึ่งแม้จะมีการไกล่เกลี่ยของผู้ใหญ่ อ้างว่าหยอกเล่น แต่ก็ไม่ใช่ความยินยอมของเด็ก ไม่มีใครมีสิทธิละเมิดร่างกายผู้อื่นโดยเฉพาะเยาวชน

จึงขอเรียกร้องให้ลงโทษทหารที่ข่มขู่คุกคามทำร้ายละเมิดร่างกายเด็ก, ขอให้ทหารเลิกไปแทรกแซงการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา และขอวิดีโอที่นำไปเผยแพร่ในโรงเรียน เพื่อนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ สังคมไทยจะได้ศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ต้องแอบไปฉายในโรงเรียน และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่ต้องใช้ไปดำเนินการในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องการให้ทหารทำ

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายได้แนบหลักฐาน ซึ่งเป็นข้อความผ่านทวิตเตอร์ ที่นักเรียนและเพื่อนโพสต์ข้อความว่าถูกทหารเข้ามาบรรยายล้างสมองและคุกคามทำร้ายร่างกายด้วย แต่ไม่มีภาพการทำร้าย ไม่ทราบชื่อทหารที่ลงมือทำ

ภาพจาก สำนักข่าวไทย

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนได้สอบถามประเด็นนี้กับ ผบ.ทบ. ซึ่ง ผบ.ทบ. บอกว่า ได้รับรายงานแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนย้ำว่า สังคมต้องอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างให้ได้ และต้องเรียนรู้ ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องปฏิรูปและแก้ไข โดยกำลังพลกองทัพบกมีกว่า 300,000 นาย และสิ่งที่เราได้มอบหมายงานลงไป แต่ละคนแต่ละหน่วยก็มีวิธีปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ความเข้าใจอาจไม่เต็มร้อย ไม่มีใครสมบูรณ์ 100% เพราะเขาทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว การแก้ปัญหาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าคนของเรายังทำไม่สมบูรณ์ ยังทำไม่ดี กองทัพต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ ต้องอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างในหลายๆ ด้านร่วมกันได้

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ก็มีทหารเข้าไปในหลายโรงเรียน ผบ.ทบ. กล่าวว่า โรงเรียนมีกี่โรงเรียนในประเทศไทย ทหารคงไปตามหมดไม่ไหว หากมีหลักฐานก็ให้แจ้งเข้ามา เพราะกองทัพบกไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้ เด็กก็คือเด็ก เราก็มีลูกมีหลาน ซึ่งเด็กก็มีความคิดของเขา มีโลกส่วนตัวของเขา

 

ที่ ๐๐๑/๒๕๖๓ เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม ๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ เรื่อง ...

โพสต์โดย วรา จันทร์มณี เมื่อ วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2020

 

'ประยุทธ์' สั่ง “ศอ.บต.” ปรับโครงการรักชาติ เลี่ยงถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งการเมือง

เมื่อเวลา 13.15น. วันที่ 6 ต.ค.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช แสดงความเห็นต่างระหว่างที่โรงเรียนจัดให้มีการบรรยายโครงการ “เสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ”โดยเจ้าหน้าที่ทหาร แล้วถูกผู้บริหารโรงเรียนเรียกผู้ปกครองเข้าพบจนมีการวิพากษ์วิจารณ์ติดแฮชแท็ก #เบญคอน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ให้ทบทวนแล้ว เพราะช่วงนี้มีปัญหาอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย ถ้าเวลาปกติคงพอได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบแล้วเป็นโครงการของศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเรื่องของจิตอาสาลงไป ซึ่งตนได้สั่งให้ปรับแล้ว อะไรที่ไม่จำเป็นยังไม่ต้องไปทำในตอนนี้ หาวิธีการอื่นไปไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านการเมือง จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างอุดมการณ์รักชาติ ปลูกจิตสำนึกประชาชน ก็ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ฉะนั้นไม่อยากให้เป็นภาระหรือปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ เดินออกจากโพเดี้ยมเพื่อกลับขึ้นห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวถามถึงการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.ที่ประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอยู่แล้ว เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมหลักล้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ทราบ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net