Skip to main content
sharethis

สช.และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพประชุมหารือนโยบายการจัดการหาบเร่แผงลอยใน กทม. ระบุจัดหาบเร่แผงลอยได้แต่ตำรวจจราจรต้องเห็นชอบ ตำรวจชี้หากกระทบการจราจรอาจจับกุม แต่หากหมดชม.เร่งด่วนจะผ่อนปรน ผอ.ศูนย์สันติภาพฯแนะต้องไม่ใช้การรวบอำนาจ

6 ต.ค. 2563 วันนี้ เวลา 09.00-12.00 น. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จัดการประชุมปรึกษาหารือกับผู้กำหนดนโยบาย เรื่อง “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” ณ ห้องประชุมสุชน 1-2 ชั้น 2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 

นพ. วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้าคณะทำงานวิชาการประเด็นฯ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร นำเสนอ ร่าง ข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” มีการกำหนดนิยามของ 1. หาบเร่แผงลอย 2. พื้นที่สาธารณะ 3. การบริหารจัดการระดับพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่ เช่น ชุมชน หรือประชาชน มีการระบุขอบเขตที่ชัดเจน ร่วมกันกำหนดนโยบายและการจัดการทรัพยากรส่วนรวม นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แม้กระบวนการของสมัชชาฯ จะมีการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการในเดือนพ.ย. แต่กระบวนการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือมีมาอย่างต่อเนื่อง

ไชยณัฐ เจติญานุวัฒน์ ประธานคณะทำงานวิชาการ ของกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา แสดงความคิดเห็นว่า กทม. เป็นกลไกหลักในการอนุมัติให้หาบเร่แผงลอยขายได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากตำรวจจราจร การจัดการหาบเร่แผงลอยต้องคำนึงถึงคนกลุ่มอื่นด้วย อย่างประชาชนผู้ใช้ทางเท้า และชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ต้องสร้างความรู้และเข้าใจร่วมกัน

พ.ต.ท. ภูมิสิทธิ์ ไตรพัฒน์ศิลา สารวัตรงานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยหากกระทบกับการจราจรก็ต้องล็อคล้อหรือจับกุม แต่หากหมดชั่วโมงเร่งด่วนก็จะลดความเข้มงวดลง

นพ. ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นความมั่นคงทางอาหาร การใช้พื้นที่สาธารณะของทุกฝ่าย และนโยบายระดับชาติที่ต้องการให้ กทม. เป็นสมาร์ท ซิตี้ เป็นการอยู่ร่วมกันในสังคม

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์นี้ยากลำบาก เพราะอยู่ภายใต้การจัดการที่มีสถานการณ์พิเศษอย่างต่อเนื่อง มีการจัดระเบียบจากโจทย์ที่ถูกตั้งคำถามจำนวนมาก ภายใต้แรงกดดันทางสังคมและการเมือง ในบริบทที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งเอเชีย แต่วิธีการจัดการทั้งหมดไม่ยั่งยืน เพราะ 8 ปีที่ผ่านมามีการรวบอำนาจ และใช้ความรู้ทางวิชาการน้อยลง ต้องสร้างโอกาสเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช้อำนาจอย่างเดียว 

ภญ.จิราพร ลิ้มปนานนท์ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๑ กล่าวว่า หลักการของ ศาสตราจารย์ สุริชัย อยู่ในเอกสารข้อเสนอ จะวางแผนร่วมกันอย่างไร มีกลไกอย่างไร และใช้กระบวนการสมัชชาฯ สร้างแรงจูงใจในการร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net