'เยาวชน' แห่ร่วมรำลึก '6 ตุลา' โลกทวิตเตอร์กับ Google ติดเทรนด์ 2 ปีซ้อน

 

สถิติคำค้นใน google วันที่ 6 ต.ค.63

6 ต.ค.2563 กิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 19 ปีที่ 44 เป็นอีกปีที่ปรากฏกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ 2 ปี ติดต่อ ที่มาพร้อมกับเทรนด์ทวิตเตอร์ #6ตุลา ติดเทรนด์ประเทศไทยอีก 1 ปี ด้วยจำนวนกว่า 493K ทวีต รวมทั้งใน google คำว่า '6 ตุลา' และ '6 ตุลาคม' ก็เป็นคำค้นหาที่มาแรงในวันนี้ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

ภาพบรรยากาศนิทรรศการ “6 ตุลา” นิทรรศการวัสดุ และภาพถ่ายในเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519” ที่จัด หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่จัดแสดงถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้

หทัยรัตน์ แก้วสีคราม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 1

หทัยรัตน์ แก้วสีคราม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 1 นั่งรถตาม ราม 2 บางนา มาเพื่อร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และเยี่ยมชมนิทรรศการ “6 ตุลา” นิทรรศการวัสดุ และภาพถ่ายในเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519” ที่จัด หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวถึงเหตุที่มาว่า ตนสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก และมาเพื่อรำลึกถึงคนที่เขาเสียชีวิตไป

การรับรู้ข้อมูลเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้น หทัยรัตน์ กล่าวว่า ตนเรียนรู้มาจากหนังสือเรียนชั้นประถม แต่ก็มีเพียงแค่ข้อความสั้นๆ เมื่อมาศึกษาต่อ ป.ตรี จึงศึกษาเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต หนังสือและสื่ออื่นๆ เพิ่มเติม

สถานการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตในมุมของ หทัยรัตน์ มองว่า มีความคล้ายกันบ้างตรงที่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องและโจมตีอีกฝ่าย รวมทั้งการใช้ Fake News เพื่อบิดเบือนข่าว

หากการเมืองดี หทัยรัตน์ มองว่า ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคมจะไม่ถูกเงียบหรือรู้เพียงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น แต่คิดว่าเหตุการณ์นี้มันจะสามารถเป็นที่รับรู้และเข้าใจแก่คนทุกคนว่ามันเกิดอะไรขึ้น

หนึ่ง สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปี 2

หนึ่ง สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปี 2 กล่าวถึงการมาร่วมงานครั้งนี้ว่า มาศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะขณะที่ประเทศไทยที่ถูกเรียกว่า 'สยามเมืองยิ้ม' แต่ว่าเหตุการณ์ในอดีตมันดูเหมือนจะขัดกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก และจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการจัดการกับผู้ที่คิดต่างด้วยการใช้ความรุนแรงตลอดมา โดยที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายรัฐก็พยายามตีตราฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นคนคนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่พวกเขาเพียงแค่เรียกร้องประชาธิปไตย และเหตุการณ์ในอดีตก็เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยในมุมมองของตน

หากการเมืองดี หนึ่ง มองว่าผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองไม่ว่ากลุ่มไหนว่าจะไม่มีการเสียเลือดเนื้อเสียชีวิตและทรัพย์สินอีก และความจริงการเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารเองก็ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากมีข้อครหาข้อครหาว่าทุจริตคอรัปชั่นเหมือนกัน

นอกจากนี้ช่วงเย็นเพจ '44 ปี 6 ตุลา' โพสต์ภาพกลุ่มนักเรียนมัธยม เดินทางมาร่วมงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ หลังเวลาเลิกเรียน พร้อมปฏิญาณสืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา ด้วย

ผู้สื่อข่าวยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า 2 ปี ที่ผ่านมากลุ่มเยาวชนจากหลายสถาบันการศึกษาเข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับหลังสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ที่กลุ่มคนเหล่านี้ก็เป้นอีกกลุ่มที่มาร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท