Skip to main content
sharethis

เสวนา 44 ปี 6 ตุลา ที่จุฬาฯ 'กนกรัตน์' ระบุเลิกเทียบคนแต่ละยุคสมัย แค่การเปลี่ยนรัฐบาลไม่พอแล้วสำหรับคนรุ่นนี้ 'ประจักษ์' ชี้ยุติวงจรอุบาทว์ด้วยความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน 'ธนาธร' แจงภารกิจเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แก้รธน., ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม -ระบบเศรษฐกิจ-สถาบันกษัตริย์, ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ 

6 ต.ค. 2563 วันนี้ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงาน 44 ปี 6 ตุลาฯ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ และทำพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ ภายในงานประกอบด้วยการวางดอกไม้รำลึกโดยตัวแทนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากคณะต่าง ๆ และกลุ่มนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียน รวมถึงการแสดงปาฐกถา และการเสวนา

ในการแสดงปาฐกถาโดย สุรชาติ บำรุงสุข อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา สุรชาติได้เล่าถึงบรรยากาศทางการเมืองในช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย รวมถึงนำเสนอแนวทาง 3 ป. ในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันที่นำโดยนักเรียน นักศึกษา คือ เปิดโปง ประท้วง และ (ไม่)ปะทะ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการทำลายระบอบอำนาจนิยม สร้างประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยนั้นแข็งแรง

"เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นอาวุธอานุภาพร้ายแรง เห็นอำนาจของปืนไร้แรงสะท้อน อำนาจการทำลายของอาวุธยิง M79 ซึ่งปกติแล้วอาวุธเหล่านี้ใช้ต่อสู้กับรถถังข้าศึก แต่นักศึกษาไม่ใช่ข้าศึก และไม่มีรถถังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่เราเห็นการใช้ปืน M16 อย่างเต็มรูปแบบ วันนั้นเราได้ยินเสียงกระสุน M16 ปะทะเข้ากับกำแพงของอาคารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การถ่ายทำภาพยนตร์สงคราม แต่เป็นการยิงที่มีชีวิตนักศึกษาเป็นเป้าหมาย"

"สิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ 6 สะท้อนชัดว่านิสิต นักศึกษาคือข้าศึกทางการเมือง และเมื่อเป็นข้าศึกทางการเมือง ก็ถูกตอบโต้ด้วยอาวุธสงคราม"

สุรชาติกล่าวว่า วันนั้นคนในสังคมถูกสร้างให้เกลียดชังนักศึกษา การเสพวาทกรรมเช่นนั้นทำให้คนเสพพร้อมแปลงตัวเองเป็นผู้ล่า ที่มีชีวิตนักศึกษาเป็นเหยื่อ วิชิตชัยเป็นหนึ่งในนั้น โดยที่พ่อแม่ของเขามายืนยันศพได้ทีหลังจากรองเท้ากีฬาคู่โปรดที่วิชิตชัยใส่ไป โดยการรุนแรงในครั้งนั้นตามมาด้วยการที่นิสิต นักศึกษาหลายคนตัดสินใจเข้าป่าเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และมีหลายคนที่เสียชีวิต เป็นวีรชนนิรนามที่ฝังร่างในป่าเขา เท่าที่รวบรวมมาได้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นนิสิตจุฬาฯ 9 ราย จากคณะรัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

สุรชาติกล่าวต่อไปว่า การต่อสู้จบหลังนโยบายใช้การเมืองนำการทหารของรัฐบาลไทยในปี 2526 ต่อจากนั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นท่ามกลางการรัฐประหารเรื่อยมา สะท้อนว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่หยุดนิ่งและยังดำเนินต่อไป การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันซับซ้อนมากขึ้น เผด็จการวันนี้ใช้สนามเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ เป็นเผด็จการครึ่งใบ การต่อสู้ระบอบเช่นนี้ต้องอาศัยพลังนิสิต นักศึกษา ประชาชน และเสนอว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพหลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ

"อย่าคาดหวังว่าการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมไทยจะสำเร็จได้ด้วยการจัดม็อบเพียงครั้งเดียว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ารบครั้งเดียวชนะในสงคราม เพราะสงครามการเมืองไม่เคยจบในสนามรบเดียว ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านจะเป็นหนทางสำคัญของการปฏิรูปกองทัพ การเปลี่ยนผ่านสำเร็จจะปฏิรุปกองทัพได้ แต่ถ้าเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ การปฏิรูปกองทัพก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้"

"การสร้างการเมืองใหม่ที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพก็จะเป็นเพียงความเปราะบางที่รอเวลาของการมาของรัฐประหารครั้งใหม่ เราอาจต้องคิดถึงการปฏิรูปภาคความมั่นคงของประเทศทั้งหมดในอนาคต"

"ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า วันนี้หากท่านทั้งสองยังมีชีวิต หรือบรรดาเพื่อนๆ เราที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีโอกาสได้รับรู้ด้วยญาณใดก็ตาม พวกเขาคงจะอวยชัยให้กับการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันให้ประสบชัยชนะ ผมเชื่อว่าพวกเขาจะมองถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างภาคภูมิใจ ที่เห็นการขับเคลื่อนไปสู่ความฝัน เหมือนเช่นครั้งหนึ่งคนรุ่นเขาก็ได้เคยฝันมาแล้ว"

"ผมเชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ฝ่ายประชาธิปไตยประสบชัยชนะ และประสบชัยชนะในเร็ววัน และที่สำคัญผมขอให้ชัยชนะคั้งใหม่นี้ ยั่งยืนสถาพร และยังประโยชน์ให้กับคนทุกชั้นในสังคมไทย" 

"ผมเชื่อว่าเราอยู่ด้วยกันเพื่อจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ร่วมกัน เรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนของขบวนคนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยจงเจริญ" สุรชาติกล่าวพลางชูสามนิ้ว

ต่อมา ธงชัย วินิจจะกูล ได้แสดงปาฐกถาผ่านทางวิดีโอ โดยเสนอว่า นอกจากการรำลึกถึง บุญสนองและวิชิตชัยในฐานะวีรชนแล้ว การเสียสละของบุคคลทั้งสองยังสะท้อนคุณสมบัติ 3 ประการที่หาได้ยากยิ่งในสังคมไทย นั่นคือ ความฝันและความปรารถนาที่จะสร้างสังคมที่ดี ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง และความกล้าหาญที่จะออกไปยืนอยู่แนวหน้าของการต่อสู้ ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยในปัจจุบันพอจะทำได้คือ การสานต่อแนวทางทั้ง 3 ข้อ เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียและเชิดชูการเสียสละของพวกเขาทั้งสอง รวมถึงวีรชนนิรนามอีกหลายคน

ต่อมาเป็นงานเป็นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “6 ตุลาฯ กับอนาคตสังคมไทย” มีผู้ร่วมเสวนาคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ประจักษ์ ก้องกีรติ โดยสื่อคณะก้าวหน้ารายงานว่า

กนกรัตน์กล่าวว่า เราควรเลิกถามว่าเด็กรุ่นนี้เหมือนคนรุ่น 6 ตุลา 14 ตุลาหรือไม่ เราควรมองขบวนการเคลื่อนไหวของคนแต่ละยุคแยกกัน สำหรับคนรุ่นนี้ ในฐานะอาจารย์ ตนไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจะรับมือกับเด็กที่ตั้งคำถามกับทุกอย่างอย่างแหลมคม และอ่านหนังสือมากขนาดนี้ได้อย่างไร ถือเป็นความท้าทายในวิชาชีพอย่างมาก และแน่นอนว่าเมื่อนักเรียนมัธยมรุ่นนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัย พวกเขาจะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่า 14 ตุลา เป็นชัยชนะของประชาชน การเปลี่ยนแค่ผู้นำ แค่รัฐบาล ไม่เพียงพอสำหรับพวกเขาอีกต่อไป

กนกรัตน์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเด็กจำนวนมากรู้สึกว่าคนที่ถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา เชื่อมโยงกับพวกเขาได้อย่างน่าประหลาดใจ เพราะเขาเติบโตมาในโลกที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เมื่อเขาเห็นว่าคนที่คิดต่าง ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงและความตายอย่างโหดเหี้ยม มันจึงช็อคในความรู้สึกของพวกเขา เพราะพวกเขาเริ่มคิดว่า แล้วถ้าวันหนึ่งเขาถกเถียงไปเรื่อยๆ มันจะจบลงที่ความตายเช่นนั้นหรือ เขาจะยอมให้สังคมเป็นแบบนั้นได้อย่างไร

ด้านประจักษ์ กล่าวว่า 14 ตุลา 6 ตุลา มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการสลายชมนุมเสื้อแดง พฤษภา 53 ล้วนเป็นความพ่ายแพ้ที่เปิดเปลือยความอัปลักษณ์ของรัฐไทย การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ และวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ที่เด่นชัดมากก็คือ คนรุ่นปัจจุบันมองว่า 14 ตุลา เป็นความพ่ายแพ้ที่พิสูจน์ว่ายุทธศาสตร์การสู้เพื่อโค่นล้มชนชั้นนำ โดยเอาชนชั้นนำอีกกลุ่มมาเป็นพันธมิตร เป็นยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลว จึงเรียกได้ว่า คนรุ่นนี้ได้ก้าวข้าม 14 ตุลาไปแล้ว

คำถามสำคัญคือ แล้วทำอย่างไรจึงจะยุติวงจรอุบาทว์ของการสังหารประชาชน ประจักษ์เสนอว่า “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” เป็นหัวใจสำคัญ เหตุการณ์ 6 ตุลาแสดงถึงความอัปลักษณ์พิกลพิการของระบบยุติธรรมไทย เพราะนิสิตนักศึกษาถูกสังหาร แต่กลับไม่มีใครต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรม ในทางตรงข้าม นักศึกษานับพันกลับถูกจับกุม แกนนำนักศึกษาถูกนำตัวขึ้นศาล ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่ควรเกิดคือการแสวงหาความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเยียวยาผู้เสียหาย คืนศักดิ์ศรีให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่เคยเกิดเลยในเหตุสังหารหมู่ทั้ง 4 ครั้ง เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา ที่ดีที่สุด ก็คือการทวงคืนความจริงและความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย

ด้านธนาธร กล่าวว่า สิ่งแรกที่ประทับใจก็คือ การจัดงานรำลึก 6 ตุลา ในวันนี้ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีคนมาร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แสดงถึงความตื่นตัวต่อปัญหาอาชญากรรมโดยรัฐ การสังหารประชาชน ที่คนรุ่นนี้มีมากกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคที่ตนเป็นนักศึกษา ซึ่งจัดงานรำลึก 6 ตุลา แต่ละครั้ง มีคนมาร่วมเพียง 10-20 คนเท่านั้น

ธนาธรย้อนไปพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่าอยากให้มองเหตุการณ์นี้ในฐานะส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจที่มาจากจารีตประเพณี ซึ่งมาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเราจะให้อำนาจไหนเป็นอำนาจนำในสังคม

และอีกสิ่งที่ชัดเจนว่าเรายังกำจัดไปจากประเทศไทยไม่ได้ ก็คือวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่รวมถึงสื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์พาดหัวข่าวว่า การสังหารที่ธรรมศาสตร์ ตำรวจพลร่มตายเจ็บเกลื่อน นักศึกษาใช้อาวุธสงครามปักหลักสู้กับเจ้าหน้าที่ ข้อความทั้งหมดไม่เป็นความจริง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำขอโทษใดๆจากเดลินิวส์

ธนาธรประกาศว่า ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัตศาสตร์ เป็นผู้รับภารกิจการต่อสู้มาจากคนยุค 6 ตุลา มีภารกิจที่เราต้องทำร่วมกันให้สำเร็จ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หากทำเช่นนั้นได้ เราจึงจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ

หลังการแลกเปลี่ยนบนเวที มีผู้เข้าร่วมงานถามคำถามว่า ตอนนี้จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะอาจทำให้เสียแนวร่วม ซึ่งนายธนาธรตอบว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยืนยันว่าเป็นการพูดด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังว่าสังคมจะร่วมกันหาทางให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงและสง่างาม

“หากปล่อยให้มีคนแค่ไม่กี่คนพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณจะโดดเดี่ยวพวกเขา ปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับคดีความและการคุกคาม เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่มีใครออกมาสู้เพื่อพวกคุณ มาเรียกร้องแทนพวกคุณ เราประชาชนมีเพียงจำนวน เราไม่มีตุลาการ ไม่มีปืน ไม่มีรถถัง เรามีแต่ปริมาณ เราเป็นจำนวนนับ ถ้าเราทิ้งเพื่อนของเรา จะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาสู้อีกเลย และอย่าลืมว่ากว่าเราจะเดินมาถึงวันนี้ ต้องสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อไปเท่าไหร่ จากคนในยุค 6 ตุลา มาจนถึงคนเสื้อแดง คนอย่างลุงนวมทอง กี่คนต้องเสียญาติ กี่คนต้องเสียอวัยวะ เสียชีวิตไป คุณจะตอบพวกเขาอย่างไรหากปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป โอกาสที่เราจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอย่างที่เราฝันอยากให้เป็น”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net