Skip to main content
sharethis

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอในเวทีรำลึกครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาฯ ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนที่มีความคิดแบบยุคสงครามเย็นและคนรุ่นโบว์ขาวที่มีความคิดไม่เหมือนกันและไม่สามารถทำให้คนทั้งสองกลุ่มเปลี่ยนความคิดได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องคิดหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้โดยที่ทุกคนสามารถเข้าไปแบ่งสรรอำนาจและสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจขึ้นมาใหม่โดยก้าวผ่านข้อจำกัดไปให้ได้

6 ต.ค.2563 กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว กล่าวปาฐกถาในเวที PRIDI talks #6 "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

กนกรัตน์ นำเสนอถึงกระแสการชุมนุมระลอกล่าสุดนี้โดยเริ่มต้นเล่าว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเธอได้พูดคุยกับคนหนุ่มสาวเป็นร้อยคนจากพื้นที่ต่างๆ เพราะอยากรู้ว่าคิดอะไรอยู่และทำไมถึงมาชุมนุม โดยเธอเล่าย้อนกลับไปว่าก่อนหน้านี้ก็เคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องคนเดือนตุลาฯ โดยการสัมภาษณ์คนในยุคนั้นร้อยกว่าคนเพื่อเข้าใจว่าทำไมคนเดือนตุลาฯ ที่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันและประชาธิปไตยกลับขัดแย้งและต่อสู้กันผ่านขบวนการเสื้อเหลืองเสื้อแดง และอยากเข้าใจว่าคนเดือนตุลาฯ หลายคนจึงสนับสนุนขบวนการที่ถูกเรียกว่าขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย

กนกรัตน์บอกว่าหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ได้เห็นพลังใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา และอธิบายถึงปรากฏการณ์ของความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับคนที่บ้าน การชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ใช่เรื่องของช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นวิกฤตความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่ม คือความคิดที่แตกต่างกันผ่านชุดประสบการณ์ ความเชื่อ บรรยากาศแวดล้อมที่ต่างกัน และบอกว่าความขัดแย้งนี้เป็นสงครามกลางเมืองระยะยาวตั้งแต่กบฏบวรเดช พลังของทั้งสองฝ่ายสองขั้วนั้นต่อสู้กันมาแล้ว 88 ปี

กนกรัตน์กล่าวว่าทั้งสองขั้วพลังต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอด แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมีวิธีการที่ใช้เหมือนกันอยู่ 4 อย่าง คือ การประณาม การลดทอนความชอบธรรมของอีกฝ่าย สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง การหาทางขจัดและเอาอีกฝ่ายออกจากสังคมนี้

กนกรัตน์อธิบายโดยเริ่มจากการเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ทางความคิดของทั้งสองฝ่ายต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายด้วยวิธีการและกรอบคิดที่อาจจะไม่ต่างกันมากนัก หลังการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาฯ ความขัดแย้งถูกทำให้เงียบหายไป ผู้ที่คิดต่างฝ่ายหนึ่งสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้ และทำให้อีกฝ่ายเงียบแล้วผลักพวกเขาออกไปจากประเทศนี้เข้าป่าเขา

กนกรัตน์กล่าวต่อว่า จากนั้นในช่วง 2530-2540 ความขัดแย้งต่างๆ ก็ถูกประคับประคองต่อไปด้วยรัฐบาลที่อ่อนแอและไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและยังพยายามประนีประนอมให้ฝ่ายต่างๆ อยู่ร่วมกันแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมจำนน แต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540  มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมีการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยผลที่ออกมาคือรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำหรือไม่ แต่ผลที่ตามมาคือการสร้างพลังให้กลุ่มคนรากหญ้า คนที่มีความคิดแตกต่างเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และนำมาสู่ความขัดแย้งระลอกต่อไปของสงครามกลางเมือง 100 ปี

กนกรัตน์อธิบายความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองนั้นไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับคนรากหญ้า ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับสูงกับชนชั้นกลางระดับล่าง หรือจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยก็แล้วแต่ แต่เป็นเรื่องความแตกต่างของความคิดทางการเมือง โดยจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งรอบนี้คือชัยชนะของชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับสูง จากความสำเร็จในการทำรัฐประหารในปี 2557

กนกรัตน์กล่าวว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารทำหลังจากนั้นคือวิธีการแบบเดิม คือทำให้เงียบ การลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม การทำให้ตัวเองมีความชอบธรรม การทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องออกไปจากประเทศนี้และไม่มีที่ยืน และคณะรัฐประหารก็ทำได้สำเร็จ คนเสื้อแดงถูกเยี่ยมบ้านทุกวันทุกสัปดาห์และทุกเดือนทำให้พวกเขาเงียบ ไม่มีที่ยืนสำหรับคนคิดต่าง นอกจากนั้นพวกเขายังเรียนรู้มากกว่าเดิมว่าจะทำอย่างไรให้ชัยชนะชั่วคราวเป็นชัยชนะถาวรมากขึ้นด้วยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การยุบพรรค และทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหลังการเลือกตั้งไม่มีบทบาทและที่ยืน แต่เรื่องก็ยังไม่จบ

กนกรัตน์อธิบายต่อว่าพลังใหม่ที่ไม่พอใจต่อการสร้างชัยชนะถาวรของชนชั้นนำก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 แต่หายไปในเดือนกุมภาพันธ์ แต่พวกเขาก็กลับมาอีกครั้งในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความไม่พอใจของนักศึกษาต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้เห็นนักเรียนในชั้นมัธยมที่ไม่พอใจปัญหาทางเศรษฐกิจการเมือง โครงสร้างสังคมและอำนาจที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ โดยรัฐไทยยังคงใช้วิธีการ 4 อย่างแบบเดิม และมีวิธีการเพิ่มขึ้นมาหลัง 19 กันยายนที่ผ่านมาอีกหนึ่งวิธีคือคือการเพิกเฉย

กนกรัตน์กล่าวว่าตั้งแต่การชุมนุมเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีการออกหมายจับน้อยลง การข่มขู่คุกคามเห็นน้อยลง แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการเพิกเฉย ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากกระทรวง รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจทั้งหมดว่าข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวจะไปอย่างไรต่อ เป็นการปรับตัวของชนชั้นนำที่จะจัดการกับแรงระเบิดของความโกรธความไม่พอใจของพลังอีกปีกหนึ่งที่เขาทำสำเร็จในการจัดการตั้งแต่ปี 2557 แต่ก็มีคำถามว่าเครื่องมือที่ของผู้ชนะทั้งหมดนี้ยังใช้ได้ผลหรือไม่

กนกรัตน์เล่าว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาจากการได้เดินทางพูดคุยกับนิสิตนักศึกษาพบว่าวิธีการดังที่กล่าวใช้ไม่ได้ผลแล้วกับคนรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม ลดทอนความชอบธรรม ประณามหรือการเพิกเฉย ล้วนไม่ได้ผล

“เด็กเกิน 50% บอกว่ากลัว แต่เด็กเกิน 80% ที่บอกว่ากลัว เขาบอกว่าเขาไม่เลิกที่จะมาชุมนุม ดิฉันถามต่อว่าทำไมถึงไม่กลัว พวกเขาบอกว่ทั้งหมดนี้เป็นเดิมพันชีวิตใน 60 ปีข้างหน้าของพวกเขา พวกเขาถามดิฉันอย่างสงบว่าเขาไม่เข้าใจว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ทนอยู่ในระบบแบบนี้ได้อย่างไร”  กนกรัตน์เล่าถึงเหตุผลที่คนหนุ่มสาวยังคงไม่ร่วมชุมนุมแม้ว่าจะถูกคุกคามหรือต้องเจอแรงกดดันต่างๆ จากที่บ้าน

กนกรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยได้มาถึงทางแพร่งของความขัดแย้งโดยสมบูรณ์ เป็นความขัดแย้งที่คนทุกกลุ่มในสังคมตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่แบบ 14 ตุลาฯ หรือ  6 ตุลาฯ ที่มีคนจำนวนไม่มากที่เชื่อมโยงตัวเองกับบทบาททางการเมือง ตอนนี้คนส่วนใหญ่ตั้งแต่เสื้อเหลืองเสื้อแดง คนรากหญ้า คนในหัวเมืองและล่าสุดคือขบวนการนิสิตนักศึกษาตื่นตัวขึ้นมาแล้ว

กนกรัตน์บอกว่าความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งของคนสองกลุ่มที่ไม่ใช่เรื่องของช่องว่างระหว่างวัย ไม่ใช่เรื่องสถานภาพทางการเมืองและสังคม แต่เป็นความขัดแย้งของคนที่มีชุดความคิดสองแบบ แบบแรกคือ กลุ่มคนที่มีความคิดแบบยุคสงครามเย็นในทั้งฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา กับกลุ่มคนรุ่นโบว์ขาว โดยเธอเริ่มอธิบายว่ากลุ่มคนที่มีความคิดแบบยุคสงครามเย็นมีความเชื่ออยู่ 5 ประการ

ประการแรก ความเชื่อเรื่องบทบาทของประเทศมหาอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงว่ามีอิทธิพลเหนือการเมืองไทยและกำหนดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย กนกรัตน์อธิบายว่าคนที่มีความคิดแบบยุคสงครามเย็นต้องเผชิญปัญหาและได้รับความเจ็บปวดจริงๆ จากการเข้ามาของจักรวรรดินิยมอเมริกา และถูกทำให้กลัวจากภัยคอมมิวนิสต์ที่มาจากจีน พวกเขาโตมากับสิ่งนี้มากว่า 20-30 ปีในการมีชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขา

ประการที่สอง พวกเขาใช้ชาตินิยมในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยมแบบ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือ ชาตินิยมแบบต่อต้านอเมริกาและโจมตีทหารในยุค 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ความคิดเรื่องนี้อยู่ในทั้งฝ่ายซ้ายและขวาในยุคนั้นและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ห้ำหั่นกันมาตลอด และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามและสร้างความชอบธรรมกับตัวเองด้วย

ประการที่สาม คนยุคสงครามเย็นเชื่อเรื่องการจัดตั้งองค์กรแบบผู้นำที่มีบารมี กนกรัตน์เล่าในประเด็นนี้ว่าข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในช่วงสามเดือนนี้ หลายคนบอกว่าทำไมขบวนการนักศึกษาตอนนี้ถึงไม่มีผู้นำที่มีบารมี ไม่มีผู้นำเก่งๆ หรือปราศรัยเก่ง และทำไมถึงไม่มีการจัดรูปองค์กรที่เป็นเอกภาพที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ และเห็นว่าเป็นจุดอ่อน ทำให้เห็นว่าคนยุคก่อนเชื่อจริงๆ เรื่องการจัดตั้งองค์กรที่มีผู้นำเข้มแข็ง

ประการที่สี่ พวกเขาใช้เครื่องมือทั้ง 4 อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ พฤษภาทมิฬ สมัชชาคนจน และเสื้อเหลืองเสื้อแดง ในการโจมตีฝั่งตรงข้ามและสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด

ประการที่ห้า กนกรัตน์บอกว่าพวกเขาผ่านการต่อสู้มาหลายระลอกโดยผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาโดยตลอด พวกเขาไม่มุ่งหวังถึงการเปลี่ยนแปลง พวกเขายอมอยู่ในระบบแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน จินตนาการของทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายที่เป็นคนเดือนตุลาฯ และเขาฝากความหวังไว้กับคนรุ่นนี้หรือไม่เชื่อว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกแล้วในรุ่นของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะตรงกันข้ามกับคนรุ่นโบว์ขาว

กนกรัตน์อธิบายความแตกต่างนี้ว่า คนรุ่นโบว์ขาวไม่ได้สนใจและไม่มีความเชื่อเรื่องอิทธิพลและพรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนมาจากประเทศต่างๆ จะเข้ามาแทรกแซงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาได้ เพราะการพัฒนาความเป็นปัจเจกและความเป็นตัวตนของพวกเขา โดยพวกเขาเชื่อจริงๆ ว่าตัวเองเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงและเชื่อจริงๆ ว่าเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องพึ่งโครงสร้างขนาดใหญ่

นอกจากนั้น กนกรัตน์ยังบอกว่าความแตกต่างกับคนรุ่นสงครามเย็นอย่างสุดท้ายคือ คนรุ่นนี้ยังเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ว่าจะต้องเกิดขึ้นและเขาจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลง เด็กเกือบทุกคนบอกกับเธอว่าพวกเขาจะไม่ยอมอยู่ในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว

กนกรัตน์จึงตั้งคำถามว่าในเมื่อเครื่องมือแบบเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะไปไกลกว่าวิธีการแบบเดิม และจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

กนกรัตน์กล่าวสรุปว่า จากการศึกษาคนทั้งสองกลุ่มพบว่า พวกเขาทั้งสองฝ่ายจะไม่เปลี่ยน และไม่สามารถทำให้พวกเขาเปลี่ยนได้ด้วยวิธีการข่มขู่คุกคามบังคับหรือแม้แต่ไล่พวกออกไปนอกประเทศไปทั้งสองฝ่าย และคนทั้งสองกลุ่มนี้มีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมเท่าๆ กัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของอนาคตมีจินตนาการว่าระบบจะเปลี่ยนอย่างไร ส่วนคนรุ่นสงครามเย็นที่คุมอำนาจอยู่ในสภา วุฒิสภา ในคณะรัฐมนตรีและกองทัพแต่อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นกับพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กนกรัตน์บอกว่าไม่มีขบวนการนักศึกษาไหนที่ไปทุกสถาบันเหล่านี้แล้วเปลี่ยนแปลงจากด้านบนมันเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มันเกิดสิ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ สร้างสถาบันที่มีการแบ่งสรรอำนาจกัน มีระบบใหม่ที่ให้มีการสับเปลี่ยนกันเข้าไปมีอำนาจ

กนกรัตน์บอกว่าต้องก้าวผ่านกำแพงที่บอกว่าเรามีทรัพยากรที่จำกัดและการเข้าไปมีส่วนร่วมของทุกคน การทำให้ทุกคนพอใจมันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้มีนวัตกรรมมากมายหลากหลายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้าคนทั้งสองกลุ่มยอมรับจริงๆ ว่านี่คือทางแพร่งที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net