Skip to main content
sharethis

เป๋า ไอลอว์ กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 44 ปี สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ว่ากิจกรรมล่าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีคนร่วมด้วยถึงแสนกว่าคนและคนรอบๆ ตัวที่เข้ามาร่วมการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เขามีความหวังแม้ว่าผลการออกเสียงประชามติเมื่อ 4 ปีที่แล้วจะทำให้สิ้นหวังไปแล้ว และแม้ว่าการต่อสู้จะยังต้องมีอีกยาวนานแต่อย่าทิ้งความหวังที่จะสู้

6 ต.ค.2563 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวปาฐกถาบนเวที PRIDI talks #6 "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ยิ่งชีพ กล่าวว่าผลการทำประชามติเมื่อ 7 ส.ค. 2559 เป็นวันที่ทำให้เขาสิ้นหวังทางการเมืองมากที่สุดหลังจากผลออกมาว่ามีคน 61% เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพราะก่อนการทำประชามติหลายเดือนได้ศึกษาพบว่า คสช.ได้วางการสืบทอดอำนาจเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและยังใช้อำนาจนอกระบบเพื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้ และวันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็รณรงค์กันในเรื่องง่ายๆ ว่าการรณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีคนถูกจับดำเนินคดีเพราะไปบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้จะสืบทอดอำนาจให้ คสช. อย่างไร

ยิ่งชีพกล่าวถึงผลลัพธ์หลังการทำประชามติครั้งนั้นว่า รัฐธรรมนูญที่ได้มาจะนำไปสู่การเมืองที่เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะทำให้ได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ไม่ว่าอีกฝั่งจะได้คะแนนเสียงมากแค่ไหน และรัฐธรรมนูญนี้ก็เขียนมาเพื่อให้แก้ไขไม่ได้ และให้ทหารมาเป็นคนวางอนาคตแทนพวกเราไว้อีก 20 ปี เมื่อนึกถึงวันนั้นก็เป็นวันที่น่าสิ้นหวังที่สุดเท่าที่เขาจำได้ในชีวิต

ยิ่งชีพเห็นว่าถ้ามองเป้าหมายที่ความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง อยากเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาล หรืออยากรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ การเลือกที่จะสิ้นหวังก็คงง่ายกว่า แต่ถ้ามองเป้าหมายว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่พอจะสามารถทำได้มีอะไรที่ทำได้ก็ทำถ้ามองแบบนี้การที่จะสู้ต่อก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำ

ยิ่งชีพกล่าวถึงการทำงานของไอลอว์หลังการทำประชามติครั้งนั้นว่าตลอด 4 ปีไอลอว์ติดตามประเด็นต่างq ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ จนมีการจัดการเลือกตั้งแปลกๆ ในปี 2562 รวมทั้งการตั้งตัวเองเป็น ส.ว. และมานั่งขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการผลิตงานเขียน อินโฟกราฟฟิค จัดกิจกรรม จัดค่าย จัดงานอบรม เพื่อเปิดเพื่อส่งสารปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจะเปลี่ยนแปลงตัวบทไม่ได้ แต่เมื่อได้เห็นการตอบรับกลับมาบอกว่ายังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าจากนั้น 4 ปี ต่อมาในฐานประชาชนจึงเริ่มได้โต้กลับจากกิจกรรมชวนคนมาเข้าชื่อให้ครบ 50,000 เพื่อยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญคิดว่าจะทำสำเร็จภายในประมาณ 5-6 เดือน ถ้าหากมีคนเห็นความสำคัญของประเด็นนี้มากพอ แต่ปรากฎว่าใช้เวลาในการทำกิจกรรมเพื่อรวบรวมรายชื่อไปทั้งหมดเพียง 43 วันเท่านั้น และได้นำ 100,732 รายชื่อ ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เท่าตัว ไปนำส่ง ให้สภาเมื่อ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา

ยิ่งชีพเล่าต่อถึงเบื้องหลังและอุปสรรคของการล่ารายชื่อครั้งนี้ว่า การที่คนต้องกรอกเอกสารใน แบบฟอร์มเฉพาะ และต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงลายมือชื่อจริงๆ เป็นอุปสรรคมากในการรวบรวมรายชื่อโดยที่ไม่สามารถทำทางออนไลน์ได้ จึงขอให้ทุกคนทำเองและส่งมาทางไปรษณีย์ ซึ่งปรากฏว่ามีจำนวนมหาศาลมากทุกครั้งที่ไปเปิดตู้ ปณ. รวมแล้วมีอย่างน้อย 30,959 คน ที่ทำทุกขั้นตอนแล้วส่งไปรษณีย์มาเอง

นอกจากนั้นยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ติดต่อมาตามช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นอาสาสมัครมาช่วยงานและไปตั้งโต๊ะในพื้นที่ของตัวเองมีอย่างน้อย 43 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ได้มาอีก 20,878 รายชื่อจากอาสาสมัครกลุ่มนี้ และบางคนยังมาช่วยงานต่อในที่ชุมนุมอีก

ยิ่งชีพยังเล่าถึงคนอื่นๆ ที่เขาได้เจอระหว่างการทำกิจกรรมล่าชื่อนี้อีก เช่น พนักงานที่ไปรษณีย์ไทยที่แรกๆ เขาก็บ่นๆ ว่าทำอะไรกันเยอะแยะเพราะว่าจดหมายมาเยอะมากต้องดูแลจัดการให้เรียบร้อย แต่พอตอนหลังเขารู้จากการติดตามข่าวสารแล้วเขาก็เปลี่ยนท่าทีขนาดบอกว่า “สู้ๆ นะ ขอให้ครบเร็วๆ นะ” แล้วเขายังบอกด้วยว่า “พี่ใส่ของพี่ไปในนั้นแล้วนะ อยูู่ในนั้นแหละ แล้วก็ยังมีคนอีกเยอะเลยนะที่เขาช่วยกัน”

นอกจากนั้นยิ่งชีพยังเล่าถึงคนอื่นๆ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสมัยเรียนที่รวมเงินกันซื้อน้ำส้มมาเลี้ยง ลุงคนหนึ่งที่มาร่วมลงชื่อแล้วก็ช่วยจัดคิวและให้คำแนะนำคนที่มาลงชื่อต่อ พนักงานร้านค้าที่ให้ความช่วยเหลือสิ่งของแม้ว่าเจ้าของจะไม่ให้ตั้งโต๊ะ ร้านถ่ายเอกสารที่ให้ยืมกล่องใส่กระดาษมาใส่รายชื่อและปริ้นเตอร์ ร้านซักรีดที่คอยให้กำลังใจ คนขับรถแกรบไบค์ที่คืนเงินค่าโดยสารให้เพราะอยากช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ กิจกรรมนี้ได้ทำให้เขาเห็นว่าโลกรอบตัวของเขา อย่างน้อยเท่าที่มองเห็นตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราได้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่า เรามีเพื่อนพร้อมสนับสนุนอยู่กับเรามากขนาดไหนและเมื่อมันเปลี่ยนแปลงแล้วมันจะย้อนกลับไม่ได้

“ถ้าหากวันนั้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราท้อแท้ สิ้นหวัง เลิกที่จะเชื่อในคนที่อยู่รอบตัว เลิกมีความหวังกับคนมากมายที่เราอาจไม่รู้จักกันมาก่อน เราก็จะมาถึงวันนี้ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โอเค เราพยายามทำอะไรที่เราพอจะทำได้ในสภาวะที่สิ้นหวังแบบนั้นเพื่อรอให้วันนี้มาถึง และวันนี้ก็มาถึง ซึ่งมาได้เร็วและก็ง่าย แล้วก็สวยงามกว่าที่เคยคาดคิดไว้ ซึ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นแล้ว”

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าวันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นและเจ็บปวดที่เราจะต้องจดจำประวัติศาสตร์ เขาได้รับรู้จากเพียงคำบอกเล่า เขาคิดว่าอาจจะเป็นวันหนึ่งที่คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รู้สึกน่าท้อแท้สิ้นหวังที่สุดสำหรับการเมืองไทยเท่าที่จะมีได้ แต่วันนี้บริบททางการเมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและเมื่อมาถึงขนาดนี้แล้วมันก็จะย้อนกลับไม่ได้ แล้วหลายคนที่เคยต่อสู้ในวันนั้นก็ยังคงนั่งอยู่ที่นี่ก็ยังสูู้อยู่ ไปพร้อมกับพลังคนรุ่นใหม่ที่กำลังเบ่งบานเติบโตไปทำอะไรอีกหลายอย่าง และยิ่งมีการกดขี่มากเท่าไรก็ยิ่งทำให้แรงต้านมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งวันนี้เป็นวันที่การเมืองมีความหวังที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทยและขอบคุณหลายคนที่ต่อสู้และยังมีความหวังมาตลอด 44 ปี แต่การต่อสู้นี้ยังอีกยาว เราต้องมีความหวังเสมอเพื่อที่จะได้เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นด้วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net