Skip to main content
sharethis

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 44 ปีสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ว่าการสังหารหมู่ครั้งนั้นถือเป็นการรัฐประหารอีกครั้งของกองทัพไทย โดยการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นงานเขียน กวี หรือการตั้งชื่อถนนในพื้นที่ มธ.ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้คนในปัจจุบันได้มีความทรงจำของอดีตติดตัวไว้เพื่อเดินทางไปสู่อนาคต

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาบนเวที PRIDI talks #6 "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ชาญวิทย์ กล่าวว่าการรำลึกวาระครบรอบ 44 ปี ของเหตุการณ์วันมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 เพื่อรำลึกอดีตที่น่าชังและขมขื่น อดีตที่หลายคนไม่อยากจำแต่ก็ลืมไม่ลง เช่นเดียวกับชื่อหนังสือ “6 ตุลาฯ จำไม่ได้ ลืมไม่ลง” ของธงชัย วินิจจะกูล นั้น โดยส่วนตัวของเขาเองที่อยู่ในฐานะผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มีความรู้สึกคล้ายกับธงชัยว่ามีความพยายามโดยไม่รู้ตัวที่จะไม่จำ ไม่อยากจะคิดถึงเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมในวันนั้น  

ชาญวิทย์เล่าว่าตัวเองเคยหลีกเลี่ยงที่จะร่วมงานรำลึก 6 ตุลาคม เมื่อหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ เขาเคยคิดว่าถ้ารอดออกไปจากประเทศนี้จะไม่ขอกลับประเทศไทยอีกต่อไปและคิดไปไกลถึงว่าไม่ต้องการพูดภาษาไทยด้วยซ้ำ แต่เพิ่งมาคิดใหม่อีกครั้งที่ว่าจะนึกถึงและเขียนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นครั้งแรกก็คือในบทความ 6 ตุลากับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมืองใหม่” ในวาระงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เมื่อ 6 ตุลาคมปี 2539 แต่นั่นหมายความว่าใช้เวลากว่า 20 ปีในการทำใจเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ 

ชาญวิทย์ย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้ง 2519 เวลานั้นเขาดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน โดยมีอธิการบดีคือป๋วย อึ๊งภากรณ์ วันนั้นหลังจากป๋วยลาออกจากตำแหน่ง ในวันนั้นเขาได้รับมอบหมายให้นำกระเป๋าเอกสารพร้อมรถประจำตำแหน่งไปคืนกับน้องสาวของป๋วยที่ซอยอารีย์ จากนั้นตัวเขาเองก็ต้องไปหลบซ่อนที่บ้านของยายที่อำเภอปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ หลายเดือนต่อมาจึงดำเนินการขอลาราชการไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นเวลาถึง 1 ปีเต็ม แล้วจึงได้ไปเยี่ยมป๋วยที่ลอนดอนในเวลาต่อมา 

ชาญวิทย์เล่าว่าป๋วยเองก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในความเงียบพูดไม่ได้ถึง 22 ปี และป๋วยเป็นเหยื่อรายแรกๆ พร้อมกับนักศึกษาและประชาชนของอาชญากรรมรัฐไทยเมื่อ 6 ตุลาคม 2519  

ชาญวิทย์ได้กล่าวสรุปภาพรวมเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “มันคือรัฐประหาร Coup d'etat อีกครั้งหนึ่งในจำนวน 12 ครั้งของกองทัพไทย มันยังเป็นทั้งวันฆ่าสังหารหมู่ในคำของดร.ธงชัยคือ Massacre นักศึกษาประชาชนผู้ชุมนุมอย่างโหดร้ายทารุณกลางกรุง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา และท้องสนามหลวงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว มันเป็นการสังหารหมู่กลางกรุงเทพมหานครชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย มันเป็นการใช้กำลังตำรวจตระเวณชายแดน ใช้อาวุธสงครามหนัก รวมทั้งใช้อันธพาลรับจ้าง ตลอดจนฝูงชนที่ถูกปลุกระดมอย่างหนักหน่วงด้วยหน่วยงานของรัฐมาอย่างเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจในความรักชาติบ้านเมือง ให้กลายเป็นความคลั่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”  

ชาญวิทย์กล่าวต่อว่าในทางวิชาการเหตุการณ์ครั้งนั้นคือการหยุดยั้งการพัฒนาประชาธิปไตยและเป็นพฤติกรรมของ “ชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐ โดยชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐและเพื่อชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐ” เป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย  

ชาญวิทย์อธิบายว่าเหตุการณ์นี้เมื่อ 44 ปีที่แล้วเกิดมาจากจอมพลถนอม กิตติขจรที่ถูกขับไล่ออกไปจากไทยตั้งแต่ 14 ต.ค.2516 ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นเณรจากสิงคโปร์แล้วเดินทางกลับเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ วัดบวรนิเวศ 

จากนั้น ชาญวิทย์กล่าวถึงงานวิชาการของเบน แอนเดอร์สัน นักวิชการที่ศึกษาเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยที่มีชื่อว่า “บ้านเมืองของเราลงแดง” ที่วิเคราะห์การเมืองไทยได้อย่างดี โดยเบนบอกว่าการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่การรัฐประหาร 6 ตุลาฯ นั้นเบนได้วิเคราะห์ว่าได้ก่อเกิดชนชั้นกลางที่ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยของสงครามเย็นซึ่งมีการทุ่มเทช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาลในแง่ของด้านสงคราม ความมั่นคงและเศรษฐกิจ เงินทุนและอาวุธของสหรัฐฯ และเงินทุนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นมาพร้อมกับการอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งตัวสถาบันและระดับตัวบุคคลในครั้งนั้นที่ช่วยรักษาอำนาจการปกครองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นเวลาถึง 2 ทศวรรษครึ่ง

ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ชนชั้นกลางที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในยุคอเมริกันนี้ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในนามลัทธิของชาตินิยมหรือความรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ถึงที่สุดแล้วชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา เวียดนาม ลาว ทำให้ชนชั้นกลางไทยที่ในตอนแรกเป็นปฏิปักษ์ชั่วคราวกับลัทธิเผด็จการทหารของจอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร รวมทั้งช่วยสนับสนุนการลุกฮือของนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ต.ค.2516 นั้นต่างกลับหลังหันและกลายเป็นปฏิปักษ์หรือผู้ทำลายหลัก ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นปกครองเดิม สถาบันและองค์กรหลักของรัฐไทยตกใจเกิดการวิกลจริต ลงแดงและกลับหลังหันมาเป็นปฏิปักษ์และก่ออาชญากรรมรัฐอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ประหัตประหารนิสิตนักศึกษา ประชาชน ผู้คนระดับล่างผู้นำชาวนาหรือกรรมกร  

ชาญวิทย์เล่าส่วนสุดท้ายของบทความของเบนว่า โดยสรุปของ 6 ตุลาฯ ชี้ไปในสองทิศทางที่แตกต่างกันแต่เชื่อมโยงกัน ในด้านหนึ่งการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการเร่งให้เห็นชัดถึงคำอธิบายความเป็นรัฐของไทยที่เป็นสิ่งน่าพิศวงสำหรับชาวต่างชาติที่ศึกษาประเทศไทยนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ มีการโจมตีสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผย กลุ่มหัวเสรีนิยมและหัวรุนแรงเริ่มเข้าใจว่าตนไม่มีที่ไม่มีทางในระบบของกรุงเทพมหานคร คนจำนวนมากมายจึงลี้ภัยออกไปต่างประเทศหรือไม่ก็ไปร่วมขบวนการต่อสู้ในป่า 

อีกประการหนึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมจะมองฝ่ายซ้ายว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นคนจีน ญวน แขก หรืออะไรก็ตาม ซึ่งในการต่อสู้ปราบคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้นก็เป็นกระบวนการระดับชาติอันสูงส่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงเป็นตัวเร่งให้ขบวนการฝ่ายขวาต้องยอมรับโดยไม่ทันได้ตระหนักด้วยซ้ำว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองครั้งนี้ ซึ่งในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเครื่องตัดสินที่สำคัญเพราะประวัติศาสตร์สมัยใหม่แสดงให้เห็นว่าไม่มีขบวนการปฏิวัติใดจะชนะได้หากไม่ได้พิชิตหรือสมาทานอุดมการณ์ชาตินิยม   

ชาญวิทย์กล่าวถึงบทความสุดท้ายที่เบนเขียนไว้ก่อนเสียชีวิตที่เขียนถึงการต่อสู้ของคนเสื้อสีต่างๆ โดยเฉพาะคนเสื้อเหลืองและแดงนั้นเปรียบได้กับนิยายคลาสสิคของจีนเรื่อง “สามก๊ก” ที่เล่าถึงสงครามกลางเมืองของจีนที่แสนยาวนาน เบนยังเขียนอีกว่าหากมีคนในระดับนำของก๊กใดก๊กหนึ่งเสียชีวิตลงไปจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประเทศไทยที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนระบบเลยก็ได้และน่าสนใจที่ผู้นำเหล่านี้ของไทยต่างก็มีเชื้อสายจีนทั้งนั้น สามก๊กของไทยคือถ้าไม่เป็นคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว ก็เป็นฮากกาหรือแคะ หรือไม่ก็เชื้อสายไหหลำ  

ชาญวิทย์กล่าวว่าจากบทความของเบนชิ้นสุดท้ายนี้ทำให้เขาได้คิดว่าเราอยู่ในสงครามกลางเมืองอันยาวนานยังสู้รบกันไม่แพ้ชนะเด็ดขาดสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกบฏบวรเดช 2476 และการรัฐประหารที่สืบเนื่องต่อมาหลังจากนั้นจนถึงปีนี้คือ 87 ปี ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมืองของไทยที่เป็นการต่อสู้กันของระบอบใหม่และเก่าเป็นสงครามกลางเมือง 100 ปี แล้วมันจะจบอย่างไร 

ชาญวิทย์ยกคำของของจอร์จ ออร์เวลมาว่า “ผู้ที่ยึดกุมอดีตไว้ได้ก็จะยึดกุมไว้ซึ่งอนาคต และผู้ที่ยึดกุมปัจจุบันไว้ได้ก็จะยึดกุมไว้ซึ่งอดีต” และอธิบายว่าใครที่ยึดกุมอดีตไว้ก็น่าจะเขาคนนั้นควบคุมการเขียนประวัติศาสตร์หรือตีความอดีตซึ่งรวมถึงการเขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ตลอดจนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ก็จะสามารถกำหนดอนาคตให้ดำเนินไปในทิศทางหรือนรูปแบบที่เขาเหล่านั้นต้องการ ดังนั้นคนที่ยึดกุมปัจจุบันไว้ได้ก็จะสามารถควบคุมไว้ซึ่งอดีต หมายถึงการเขียนแบบเรียนตำราประวัติศาสตร์รวมทั้งการตีความและการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปต้องเชื่อและปฏิบัติตามนั่นเอง 

ชาญวิทย์กล่าวเชื่อมโยงการรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อครั้งนั้นกับประโยคของออร์เวลว่า “ดังนั้นการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2563 ในโอกาสครบรอบบ 44 ปี การจัดนิทรรศการข้างหน้าที่ไปดูมา การเขียนบันทึกเรื่องราวเขียนบทความเขียนบทกวี 6 ตุลาฯ การสร้างอนุสาวรีย์ 6 ตุลาฯ รวมทั้งอนุสาวรีย์อื่นๆ ในบริเวณข้างหน้าหอประชุมใหญ่แห่งนี้ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันจากหมุดของคณะราษฎร 2475 การตั้งชื่อถนนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตก็คือการกระทำที่จะควบคุมการตีความประวัติศาสตร์การรำลึกถึงอดีต สร้างความทรงจำของอดีตให้คนในปัจจุบันมีติดเนื้อติดตัวเพื่อเดินไปสู่อนาคตนั่นเอง”  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net