ทำไม 'ซูเปอร์เกิร์ล' และตราอัศวินหญิง ถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงที่เบลารุส

สีสันอย่างหนึ่งจากการประท้วงต่อต้านผู้นำอำนาจนิยมในเบลารุสนั้น คือการใช้ตัวละครผู้หญิงเป็นตัวแทนการต่อสู้ของพวกเขาไม่ว่าจะเป็น "ซูเปอร์เกิร์ล" ในรูปแบบของเบลารุสที่เรียกว่า "กัปตันเบลารุส" และการใช้สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ในอดีตที่ถูกตีความใหม่ให้เป็นอัศวินหญิง

ในเบลารุสมีการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีอำนาจนิยม อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก มาอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ โดยที่นอกจากภาพถ่ายของบุคคลจริงในการประท้วงที่สะท้อนถึงความกล้าหาญร่วมกันแล้ว ศิลปินดิจิทัลในเบลารุสยังนำเสนอภาพการประท้วงด้วยภาพของ "ซูเปอร์เกิร์ล" ในฉบับของเบลารุสเอง ซึ่งสื่อโกลบอลวอยซ์มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลกในการเสริมพลังผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีการนำตราสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์มาใช้โดยดัดแปลงให้เป็นฉบับที่มีตัวแทนเป็นผู้หญิง

ภาพ Captain Belarus จากเพจ Capitaine Biélorussie โดยดัดแปลงมาจากภาพของ  Warren Louw

กลุ่มผู้หญิงเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ของขบวนการประท้วงในเบลารุสมาตั้งแต่แรกเริ่ม และมีส่วนหนึ่งที่เป็นแกนนำการชุมนุม ทำให้ศิลปินชื่อ ดาเรีย ซาซาโนวิช กล่าวถึงการประท้วงล่าสุดว่าเป็น "การปฏิวัติที่มีโฉมหน้าของผู้หญิง" ทั้งนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์ซูเปอร์วูแมนที่สวมชุดสีขาวและสีแดงตามสีเสื้อของผู้ประท้วงเบลารุสสวม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสีที่ดูขัดกับสีดำของชุดตำรวจ และภาพของผู้ชุมนุมหลายภาพก็เป็นภาพของผู้หญิงที่ดูมีพลัง

การใช้ซูเปอร์เกิร์ลฉบับดัดแปลงเป็นชุดสีขาวแดงนี้มีมาตั้งแต่การประกาศชุมนุมในเดือนสิงหาคมแล้ว ผู้ที่ออกแบบตัวละครซูเปอร์เกิร์ลฉบับเบลารุสนี้คือ ผู้ใช้นามปากกาว่าแคปิเตน เบียโลรุสซี มีการใช้ตัวละครของการ์ตูนอเมริกันผลงานออกแบบของ บ็อบ ออสค์เนอร์ เป็นต้นแบบ ซึ่งเบียโลรุสซีเรียกตัวละครที่ดัดแปลงมานี้ว่า "กัปตันเบลารุส" เขาออกแบบมาเพราะต้องการสร้างสัญลักษณ์แทนการปฏิวัติของพวกเขาและเป็นตัวแทนของชาวเบลารุสผู้ที่เป็นวีรชนผู้กล้าหาญต่อสู้กับเผด็จการที่โหดร้าย

เบียโลรุสซีกล่าวอีกว่าสาเหตุที่เขาเลือกต้นแบบเป็นซูเปอร์เกิร์ลเพราะการประท้วงในครั้งนี้มีผู้นำจุดชนวนเป็นผู้หญิงและได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงทั่วประเทศ อีกสาเหตุหนึ่งคือการที่ซูเปอร์เกิร์ล เป็นตัวละครฮีโร่ที่รู้จักกันดีอยู่แล้วและมีเป้าหมายที่น่านับถือ ตอนแรกเขาพิจารณาว่าจะใช้กัปตันมาร์เวลเหมือนกันแต่ในเบลารุสซูเปอร์เกิร์ลเป็นที่รู้จักมากกว่า ทั้งนี้ชุดคอสตูมของซูเปอร์เกิร์ลยังง่ายที่จะดัดแปลงมาเป็นชุดสีเดียวกับที่ผู้ประท้วงเบลารุสใส่

จามาล ยาสซีม อิกเล ผู้วาดภาพและลงสีการ์ตูนซูเปอร์เกิร์ลหลายฉบับกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เขาเข้าใจที่ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่เป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการที่ผู้คนวาดฝันว่าตัวเองจะมีพลัง นั่นทำให้ตัวละครเหล่านี้โลดแล่นแม้แต่นอกโลกจินตนาการร่วมกับหลายๆ ส่วนของชีวิตผู้คน อิกเลบอกว่าซูเปอร์เกิร์ลสร้างขึ้นมาตอนแรกเพื่อเป็นตัวละครคู่หูให้ซูเปอร์แมนโดยที่ต้องปกปิดตัวตน แต่ต่อมาเธอก็มีฐานแฟนคลับของตัวเองและกลายเป็นตัวละครหลักในบางเล่ม เช่น เล่มที่ชื่อว่า "เฟมินีน มีสตีค" โดยเบตตี ฟรีแดน และทำให้เกิดการพูดคุยกันเรื่องเกี่ยวกับอิสรภาพของผู้หญิง การปรากฏตัวของซูเปอร์เกิร์ลและฮีโร่หญิงอื่นๆ อย่างวันเดอร์วูแมนต่างก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในเวลาต่อมา ช่วงราวยุค 2503-2523 อิกเลบอกว่าการที่มีศิลปินในต่างประเทศหยิบยืมตัวละครนี้ไปใช้แสดงให้เห็นว่าตัวละครเหล่านี้เข้าถึงผู้คนได้ในระดับโลก

นอกจากกัปตันเบลารุสแล้ว ฮีโร่หญิงอีกรายหนึ่งที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในเบลารุสคือการดัดแปลงตราประดับโล่ในประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าพาโฮเนีย หรือ โพโกเนีย โดยเปลี่ยนอัศวินบนหลังม้าจากผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิง มีการออกแบบอัศวินหญิงแบบตราประดับเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยออเลส พล็อตกา และจูเลีย ฮาลาวินา พอตราประดับนี้กลายเป็นที่นิยมก็ทำให้มีการจัดพิมพ์ขายออนไลน์และแจกจ่ายฟรี

พล็อตกา ที่เป็นนักร้องและนักกิจกรรมสิทธิพลเมืองจากเบลารุสเล่าถึงตราประดับว่ามีการใช้ครั้งแรกในหน้าปกหนังสือบทกวีของเขาเมื่อปี 2558 จนกระทั่งกลายมาเป็นคดีเพื่อมีศิลปินที่อ้างว่าเป็นผู้ร่วมออกแบบตราประจำฉบับมาตรฐานในปี 2534 ขู่จะฟ้องร้องเขากับฮาลาวินาและศิลปินอื่นๆ โดยอ้างว่าพวกเขา "ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หมดความศักดิ์สิทธิ์" จนกระทั่งน้องสาวของศิลปินผู้ออกแบบตรามาตรฐานตัวจริงเปิดเผยความจริงและสนับสนุนให้เอาสัญลักษณ์นี้มาทำให้เป็นผู้หญิง

ภาพของพล็อตก้าที่ใช้เป็นปกของนิตยสาร Naša Niva

พล็อตกายังอธิบายอีกว่าทำไมผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการประท้วงของเบลารุสโดยเฉพาะการที่มีแกนนำหลักๆ 3 คนเป็นผู้หญิง เขาบอกว่าการที่ผู้หญิงมีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวของปีนี้ทำให้โวหารแบบชายเป็นใหญ่ที่ลูกาเชงโกมักจะชอบใช้อ่อนแรงลง ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ทำให้ลูกาเชงโกหันมาใช้โวหารในเชิงเน้นพูดอ้างเรื่องความมั่นคงและภัยจากต่างชาติแทน อย่างไรก็ตามแกนนำหญิงต่างก็รับลูกและสื่อสารได้ไวทำให้พวกเธอได้รับความนับถือจากประชาชน เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทางการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับเพศแต่เป็นเรื่องวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนไปมากกว่า

อย่างไรก็ตามพล็อตกามองว่าประเทศเบลารุสเองเป็นประเทศที่มีโฉมหน้าของผู้หญิงที่ผู้คนเล็งเห็นคุณค่าทางมนุษยธรรมและในเวลาที่เปลี่ยนแปลงก็จะเน้นเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านแบบไม่ใช้ความรุนแรงนำหน้าก่อน ทำให้เขาคิดว่าถ้าหากผู้ชายสนับสนุนผู้หญิงและฝ่ายหญิงก็สนับสนุนผู้ชายตอบเป้าหมายก็จะบรรลุผลได้

 

เรียบเรียงจาก

Supergirl and Vieršnica: Symbols of revolution and gender equality in Belarus, Global Voices, 04-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท