5 เหตุผลและความชอบธรรมในการเปลี่ยนโรงโม่หินดงมะไฟเป็นป่าชุมชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยทางกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได เป็นกลุ่มราษฎรในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ทำการคัดค้านการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินของนายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ หรือบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพบความผิดปกติและข้อสงสัยเกี่ยวกับการรังวัดปักหมุด และกำหนดเขตประทานบัตร ในวันที่ 15 กันยายน 2563 โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้ทราบค่าพิกัดและสถานที่วางหมุดต่าง ๆ อย่างชัดเจนขึ้น และเมื่อไปตรวจบริเวณหมุดที่ 6 อันเป็นหมุดเขตร่วมกันระหว่างหมุดเขตประทานบัตร (หมุดที่ 6) และหมุดเขตโรงโม่ (หมุดที่ 1) กลุ่มอนุรักษ์ฯพบว่ามีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงมีการสร้างถนน เกินออกมาจากแนวเขตที่ทางบริษัทฯพิพาทขอใช้พื้นที่ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปส.23 เล่มที่ 70 ฉบับที่ 06 ลงวันที่ 11 เมษายน 2557

การกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตดังกล่าวในข้อที่ 1. ซึ่งระบุว่า “ต้องไม่ทำการหรือยินยอมให้ตัวแทน คนงาน หรือลูกจ้างกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าไม้ หรือของป่า นอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต บริเวณพื้นที่ติดต่อใกล้เคียงกัน” 

พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นการจงใจบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ

และเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2509 มาตรา 14 ที่ระบุว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องระวางโทษตามมาตรา 31 ที่มีใจความว่าผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

นี่คือเหตุผลและความชอบธรรมข้อที่หนึ่งในการเปลี่ยนโรงโม่หินดงมะไฟเป็นป่าชุมชน

ข้อที่สอง เนื่องจากนายธีรสิทธิ์หรือบริษัทฯได้มีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หินปูน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และมีการลงนามรับคำขอโดยนายกิตติกูล แก้วเปรม เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส จังหวัดหนองบัวลำภู ในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นการรับคำขอโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในการยื่นคำขอดังกล่าวต้องทำตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 กำหนด กล่าวคือ ต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบคำขอต่ออายุครบถ้วนสมบูรณ์ก่อน จึงจะสามารถรับจดทะเบียนคำขอต่ออายุนั้นไว้ได้

ซึ่งในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวได้กำหนดหลักฐานแนบต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะหลักฐานที่แสดงว่าได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่ป่านั้นตั้งอยู่ โดยในวันที่มีการ ‘ยื่นคำขอ’ และ ‘รับจดทะเบียนคำขอ’ นั้น ไม่ปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟเคยมีมติเห็นชอบในการต่ออายุดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงมติภายหลังจากยื่นคำขอและรับจดทะเบียนคำขอในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 (มติหลังวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอและรับจดทะเบียนคำขอ) ที่ถูกเพิกถอนไปในภายหลังอีกด้วย

ดังนั้น การยื่นคำขอและรับจดทะเบียนคำขอดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีการยื่นหลักฐานที่ไม่ครบถ้วนตามระเบียบ และรับจดทะเบียนคำขอที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบเช่นกัน 

ข้อที่สาม เนื่องจากนายธีรสิทธิ์หรือบริษัทฯได้มีการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด กล่าวคือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หมวดที่ 10 เรื่องการยกคำขอ ในมาตรา 125 (3) ได้ระบุว่า อธิบดี หรือเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ มีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรได้ หากเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดที่ 5 หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำนั้น ซึ่งบทบัญญัติในหมวดที่ 5 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำเหมือง ที่มีการระบุในมาตรา 52 วรรคสามและสี่ว่า การขอและการออกประทานบัตร หรือคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎกระทรวง และกฎกระทรวงดังกล่าวต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 19 ซึ่งได้กำหนดว่าการอนุญาตให้ทำเหมือง อนุญาตได้เฉพาะพื้นที่ที่เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ที่มีการกำหนดพื้นที่ต้องห้ามไม่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองไว้ในมาตรา 17 วรรคสี่ว่า “ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” 

ดังนั้น พื้นที่ภูผาฮวกที่มีการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เข้าข่ายเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ เนื่องจากพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องปั้นดินเผาอายุเก่าแก่ และได้ถูกประกาศเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของจังหวัดหนองบัวลำภู และเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม มีทั้งโถงถ้ำและตาน้ำที่เป็นบ่อเกิดลำธาร 

พื้นที่ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรดังกล่าวจึงต้องถูกกันออกจากการเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’

ข้อที่สี่ จากรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 พบว่ารายงานฉบับนี้ มีการระบุว่ายังไม่มีการโม่บดและย่อยหินในพื้นที่โรงโม่หินแต่อย่างใด ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่พบว่ามีการนำเครื่องโม่หินเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 แล้ว และเริ่มดำเนินการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ในรายงานดังกล่าวกลับไม่มีรายงานที่เกี่ยวข้องกับการโม่หินแต่อย่างใด อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและขอข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่และโรงโม่หินในพื้นที่พิพาท ก็ไม่มีหน่วยงานใดให้ข้อมูลต่อกลุ่มอนุรักษ์ฯว่านายธีรสิทธิ์หรือบริษัทฯได้รับใบอนุญาตแต่งแร่เพื่อทำการโม่หินแต่อย่างใด

ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 106 ประกอบมาตรา 4 ว่า ห้ามผู้ใดแต่งแร่ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี และเว้นแต่เป็นผู้ถือประทานบัตรที่มีการแต่งแร่ภายในเขตประทานบัตร และการแต่งแร่หมายความรวมถึงการบดและคัดขนาดแร่ด้วย

และข้อที่ห้า ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย มีว่า ใบอนุญาต​ 'เหมืองหินปูน'​ และ 'โรงโม่หิน'​ ของนายธีรสิทธิ์หรือบริษัทฯ มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหลายใบ​ ได้แก่ (1) 'ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ​ เพื่อทำเหมืองหินปูน'​ พื้นที่​ 175 ไร่ ซึ่งหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่​ 3​ กันยายนที่ผ่านมา และยังไม่ได้รับการต่ออายุออกไปอีกสิบปีตามความประสงค์ของบริษัทฯ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ทำการเข้ายึดเหมืองเพื่อเปลี่ยนเขตเหมืองแร่เป็นเขตป่าชุมชนเรียบร้อยแล้วในวันที่​ 4​ กันยายนที่ผ่านมา (2)​ '​ใบประทานบัตรทำเหมืองหินปูน'​ พื้นที่​ 175​ ไร่​ พื้นที่เดียวกันกับข้อ (1) ซึ่งจะหมดอายุในวันนี้ (24​ กันยายน 2563) (3) 'ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ​ เพื่อปลูกสร้างโรงโม่หิน' พื้นที่​ 50​ ไร่​ ซึ่งจะหมดอายุในวันที่​ 10 เมษายน​ 2567 (4) '​ใบอนุญาตปลูกสร้างโรงโม่หิน'​ พื้นที่​ 43 ไร่​ 1 งาน​ 42​ ตารางวา​ พื้นที่เดียวกันกับข้อ (3) ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้ในใบอนุญาตฉบับนี้ว่า​ "เมื่อสิทธิทำเหมืองสิ้นสุดลง​ ใบอนุญาตฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุด"

ดังนั้น​ เมื่อ​ '​ใบประทานบัตรทำเหมืองหินปูน'​ จะสิ้นอายุในวันนี้ (24​ กันยายน 2563)​ '​ใบอนุญาตปลูกสร้างโรงโม่หิน'​ จึงต้องสิ้นสุดตามไปด้วย

และเมื่อ​ '​ใบอนุญาตปลูกสร้างโรงโม่หิน'​ สิ้นสุดลง​ 'ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ​ เพื่อปลูกสร้างโรงโม่หิน' จะต้องสิ้นสุดไปตามกัน

ถึงแม้​ 'ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ​ เพื่อปลูกสร้างโรงโม่หิน' ได้ระบุวันหมดอายุไว้ในวันที่​ 10​ เมษายน​ 2567​ หรืออีกสี่ปีข้างหน้าก็ตาม​ นายธีรสิทธิ์หรือบริษัทฯก็ไม่สามารถครอบครองพื้นที่​ 50​ ไร่​ ตามใบอนุญาตดังกล่าวได้อีกต่อไปแม้สักวันเดียว นับตั้งแต่วันที่​ 25​ กันยายน​ 2563​ เป็นต้นไป

จำต้องคืนพื้นที่​ 50​ ไร่​ ตาม​ 'ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ​ เพื่อปลูกสร้างโรงโม่หิน' ด้วยการขนย้ายเครื่องจักรอุปกรณ์ ยานพาหะ​ สิ่งปลูกสร้าง​ และคนงาน​ ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวให้หมดภายในวันนี้ (24 กันยายน 2563) มิฉะนั้น​ จะถือว่ามีการกระทำอันเป็นการบุกรุกพื้นที่ราชการ​ จำต้องถูกดำเนินคดี

และขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรม​ เพื่อนำความสงบสุขกลับคืนสู่ชุมชน​ มิหวั่นเกรงและหวั่นไหวต่ออิทธิพลและผลประโยชน์จูงใจใด​ ๆ​ อันเป็นการประพฤติและปฏิบัติโดยทุจริตต่อหน้าที่ที่พึงรับใช้ประโยชน์สุขของประชาชน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท