อย่าบิดเบือนความหมายของคำว่ารักด้วยความหวาดกลัวใดใด: ความรักและความหวาดกลัวในสาขาประวัติศาสตร์ 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประโยคที่นำมาตั้งเป็นชื่อบทความนี้ ผู้เขียนนำมาจากบทเพลงของวงสามัญชนที่ชื่อว่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”[1] ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสไปร่วมม็อบประท้วงรัฐบาลหรือติดตามการถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ คงจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับผู้เขียนแล้ว นัยสำคัญของเพลงนี้เป็นการสะท้อนว่า ในสังคมไทยเกิดภาวะ ‘การบังคับให้รัก’ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ต่อให้คุณจะไม่ได้รู้สึกรักอย่างจริงใจก็ตาม คุณก็ต้องยอมรับเพราะฝ่ายที่ออกกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมความรักแห่งชาติ ถือครองอำนาจนำเหนือกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างคุณ หากคุณไม่รับรักแล้วไซร้ ก็ยากที่จะหยัดยืนในพื้นที่ต่างๆ ของสังคมได้อย่างสบายอกสบายใจ ซึ่งภาวะแบบนี้ดูจะขัดกับความเป็นสังคมประชาธิปไตย อันเป็นตัวบทที่กำกับชื่อระบอบการปกครองของไทยอยู่ใช่น้อย

ฉะนั้น ประโยคที่ว่า “อย่าบิดเบือนความหมายของคำว่ารักด้วยความหวาดกลัวใดใด” จึงคมคายเหมาะแก่การอธิบายภาวะ ‘การบังคับให้รัก’ ในแวดวงหรือระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ความหวาดกลัวที่ว่า อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การที่คนที่แหวกขนบหรืออยู่ไม่เป็น ถูกคุกคามหรือประทุษร้ายทางกาย หรือโดนถ้อยวาจาอันรุนแรงสาดเสียเทเสีย แต่อาจเป็นภาวะที่เราจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า ถ้าละเมิดกฎเกณฑ์ที่ดูเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานของชุมชนหรือแวดวงใดในระดับต่างๆ เราอาจกลายเป็นพวกแปลกแยกไม่ที่ยืนในสังคมไป หรือถูกมองราวกับเป็นปีศาจร้ายที่ไม่ยอมดำเนินตามรอยธรรม ตามครรลองที่คนส่วนใหญ่คิดว่าถูกคิดว่าดีไป

เมื่อบริบทของการเมืองไทยเอื้อให้เกิดภาวะเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อวัฒนธรรมการผูกขาดมาตรฐานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ของการศึกษาเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นปัญหากดทับและครอบงำผู้คนมาเป็นเวลานาน รัฐไทยมุ่งแต่ส่งเสริมให้ประชาชนภายในรัฐเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยโครงเรื่องแบบเดียว ถ้าใช้คำตามแบบธงชัย วินิจจะกูล คือ ‘ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม’ ที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องเล่าการต่อสู้แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ และสืบสาวสาแหรกของความเป็นชาติไทยย้อนกลับไปได้ก่อนหน้าถึงประมาณ 700 กว่าปี[2]

หากใครหาญกล้าลุกขึ้นมาท้าทายองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม ด้วยการนำเสนอข้อมูลหรือตีความหลักฐานใหม่ๆ ก็จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น ด้วยเหตุที่ไปลบหลู่ความศักดิ์สิทธิ์ของประวัติศาสตร์ฉบับมาตรฐานที่รัฐใช้ กรณีข้อเสนอของพิริยะ ไกรฤกษ์ เกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง[3] และข้อเสนอของสายพิณ แก้วงามประเสริฐ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี[4] คงจะสะท้อนปรากฏการณ์ที่ว่าได้ชัดเจน

นี่คือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ระดับรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหาการกดทับทางความรู้จนผู้คนรู้สึกเกิดความอึดอัดคับข้องใจ ต้องการแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ในแบบใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นข้อถกเถียง และโต้แย้งความรู้เดิมที่ได้รับจากรัฐ ความพยายามหาทางออกเช่นว่าสะท้อนออกผ่านแฮชแท็ก #ประวัติศาสตร์ปลดแอก ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์เมื่อไม่นานมานี้

ในพื้นที่ระดับรัฐยังพอเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในแง่ที่ว่า ประชาชนไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปกำหนดรูปแบบการศึกษาประวัติศาสตร์แนววิพากษ์ตามอย่างที่มีกระแสเรียกร้องกันในขณะนี้ แต่อนิจจา… ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในพื้นที่ระดับรัฐเท่านั้น แต่ในระดับย่อยลงมาอย่างในมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตหน้าใหม่ในทุกๆ ปี กลับยังปรากฏปัญหาที่ทำให้ทิศทางของการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ดำเนินไปอย่างที่มันควรจะเป็น

ตั้งแต่การยึดถือสิ่งที่เรียกว่า ‘วิธีการทางประวัติศาสตร์’ (Historical Approach) อย่างเป็นสรณะ อันประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคลาสสิค ได้แก่ กำหนดหัวข้อ รวบรวมข้อมูลหลักฐาน ประเมินคุณค่าหลักฐาน วิเคราะห์หลักฐาน และเรียบเรียงและนำเสนอข้อมูล ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ วิธีการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมาระบุในเนื้อหาของวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นวิธีการคลาสสิคที่ทุกคนย่อมรู้โดยอัตโนมัติอยู่แล้วเมื่อคิดที่จะริเริ่มทำวิจัย

สิ่งที่สาขาประวัติศาสตร์ควรจะเปิดกว้าง ไม่ทำให้ตัวเองเป็นศาสตร์เอกเทศและศักดิ์สิทธิ์กว่าศาสตร์อื่น คือ การเปิดรับวิธีวิทยาหรือแนวคิดทฤษฎีที่อยู่นอกเหนือศาสตร์ของตน เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้มีทางเลือกในการศึกษาอย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ใช่ต้องมานั่งท่องจำว่า ประวัติศาสตร์ต้องทำตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น หรือประวัติศาสตร์ต้องใช้หลักฐานชั้นต้นในปริมาณมหาศาลเท่านั้น ซึ่งถ้าทำได้ไม่ดีอาจจะทำให้เกิดข้อกังขาได้ว่า งานวิจัยที่ออกมานั้นเป็นงานเรียบเรียงจดหมายเหตุไม่ใช่งานประวัติศาสตร์

ความรักและความหวงแหนในความสูงส่งของศาสตร์ตนเช่นนี้ อาจนำไปสู่การสร้างความรู้สึกหวาดกลัวแก่ผู้เรียน มิให้กล้าหยิบยืมวิธีวิทยาแบบอื่นๆ ที่จะช่วยเปิดมุมมองและทำการวิเคราะห์หลักฐานได้อย่างเฉียบคมมาใช้ อันเป็นสิ่งที่อันตรายต่อตัวผู้เรียนเอง เมื่อเจอทางตันระหว่างการทำวิจัย จนไม่สามารถหาช่องทางไปสู่ทางออกได้

ความรักอย่างแรกเป็นความรักในแง่ของวิธีการศึกษาของสาขาประวัติศาสตร์ แต่ความรักอย่างที่สอง เป็นความรักที่สัมพันธ์กับบริบทการเมืองไทย

ครั้งหนึ่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยกล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ “กษัตริย์ศึกษาในรัฐไทย-รัฐไทยกับการศึกษาสถาบันกษัตริย์” (พ.ศ. 2556) ความว่า

“…ปัจจุบันไม่มี “วิชาการ” ในประเทศไทย และเงื่อนไขที่ทำให้ไม่มีเพราะมีประเด็นสถาบันกษัตริย์บล็อคอยู่… สมมติในจักรวาลนี้มีเรื่องทั้งหมด 26 เรื่องที่เราจะศึกษา แต่ถ้ารัฐขีดกรอบไว้ตั้งแต่แรกว่า เรื่อง a ศึกษาไม่ได้ เรื่อง b-z เท่านั้นที่ศึกษาได้ คุณพูดไม่ได้หรอกว่า คุณไม่ได้อยากศึกษาเรื่อง a และคุณทำเรื่อง b-z เพราะคุณสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะมีการขีดกรอบเรื่อง a ไว้ตั้งแต่แรก… ตราบใดที่คุณยังไม่มี autonomy หรือเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่คุณจะทำการศึกษา สิ่งที่คุณศึกษาไม่ว่า b-z ก็ไม่ใช่ “วิชาการ”…”[5]

แน่นอนว่าในมุมมของนักวิชาการบางคนอาจเห็นแย้งกับคำพูดของสมศักดิ์ เพราะ ‘วิชาการ’ อาจไม่จำเป็นต้องตีความอย่างที่สมศักดิ์เสนอข้างต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ การบล็อคการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังมีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในสาขาประวัติศาสตร์ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ตลกร้ายมากสำหรับกรณีนี้คือว่า สาขาประวัติศาสตร์อันเป็นสาขาที่ถือตัวว่าทำงานคลุกคลีกับหลักฐานชั้นต้นมากที่สุด  ในความรู้สึกของผู้เขียนมีความเห็นว่า (ขอย้ำว่าความรู้สึก) กลับผลิตงานศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ (แนววิพากษ์) ออกมาค่อนข้างน้อยในระยะหลัง ที่เห็นได้ชัดที่สุดมีแต่ดุษฎีนิพนธ์ 700 กว่าหน้าของอาสา คำภา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาเครือข่ายชนชั้นนำไทยอย่างละเอียดกว่า 4 ทศวรรษ[6] ส่วนสำนักพิมพ์ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลังอย่าง ‘ฟ้าเดียวกัน’ เมื่อสำรวจหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา 4 เล่ม ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาขาประวัติศาสตร์โดยตรง[7]

ภาวะเช่นนี้อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ วงวิชาการประวัติศาสตร์เริ่มหันไปสนใจประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมมากขึ้น แต่กระนั้น ภายใต้บริบทการเมืองไทยที่ผูกขาดความรักต่อประวัติศาสตร์รูปแบบเดียว ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อลูกศิษย์ตัดสินใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แนววิพากษ์ จึงต้องมีข้อแม้หรือเลยเถิดไปถึงห้ามไม่ให้ศึกษา

เป็นธรรมดาที่มนุษย์ย่อมมีความหวาดกลัวขึ้นในจิตใจ แต่ผู้เขียนคิดว่านักวิชาการจำต้องมีความกล้าหาญทางคุณธรรม (moral courage) กล่าวคือ ต้องไม่กระทำตนเสมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง แล้วไม่สนใจใยดีต่อปัญหาแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ ต้องไม่พยายามห้ามเมื่อมีผู้ที่คิดจะศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าหากคนผู้นั้นมีข้อเสนอและข้อมูลหลักฐานเพียงพอต่อการวิเคราะห์ตีความ ในทางกลับกัน จำเป็นยิ่งที่ต้องสนับสนุนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะนี่คือการแสดงออกซึ่งความเคารพต่อความคิดของผู้ที่จะศึกษาและสิ่งที่จะศึกษาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สร้างความหวาดกลัวอย่างรัฐ ต้องปรับวิธีการประนีประนอมกับผู้ที่จะต้องการวิพากษ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างสุจริตใจ การโต้ตอบด้วยกฎหมาย การไล่ล่าทางวัฒนธรรม การออกมาประณามว่าผู้ที่กระทำการวิพากษ์บิดเบือนประวัติศาสตร์ย่อมไม่สมควร ไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐจะเจอกับแนวรบทางวัฒนธรรมของประชาชนโต้กลับว่าเป็นผู้บิดเบือนประวัติศาสตร์เสียเอง ดังที่พบเห็นได้ทั่วไปในสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้

การบอกรักที่ดีที่สุดต่อคนที่เรารัก คือ การที่เรากล้าจะบอกว่า คนรักของเรานั้นมีข้อเสียอย่างไร เพื่อนำไปสู่ทางออกในการครองคู่กันให้ยาวนาน ไม่ใช่ว่าในวันใดวันหนึ่ง ต้องมาเลิกรากันอย่างเด็ดขาดด้วยการทะเลาะในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เพราะความหวาดกลัวที่เราไม่กล้าบอกข้อเสียและพยายามปรับตัวเข้าหากันและกัน

 

อ้างอิง

[1] วงสามัญชน Commoner. (2563). คนที่คุณก็รู้ว่าใคร. จาก https://www.youtube.com/watch?v=82hySr6mQ40

[2] ธงชัย วินิจจะกูล. (2559). โฉมหน้าราชาชาชาตินิยม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

[3] พิริยะ ไกรฤกษ์. (2547). จารึกพ่อขุนรามคำแหง: วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

[4] สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. (2538). การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ: มติชน.

[5] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2556). ปัญหาเรื่องการศึกษาสถาบันกษัตริย์. ฟ้าเดียวกัน. 11(2): 75-89.

[6] อาสา คำภา. (2562). ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ประวัติศาสตร์). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[7] ดูตัวอย่างในเว็บไซต์ของฟ้าเดียวกัน https://sameskybooks.net/index.php/product/series_001/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท