#3 ความประสาทแดกของเฟมินิสต์: ทำไมจึงเกรี้ยวกราด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ บทความชุด เฟมินิสต์ประสาทแดก ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนบางส่วนจึง "ไม่ซื้อ" เรื่องการต่อสู้สิทธิสตรีและการต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่ ผู้เขียนได้ใช้เวลาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพยายามทำความเข้าใจความคิดของคนเหล่านั้น และได้ข้อสรุปคร่าวๆประมาณ 3 ประเด็นหลักๆ ที่เห็นในสังคมออนไลน์ (ไทย)

 #1เฟมินิสต์ประสาทแดก: ระบอบชายเป็นใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว (?)
มีคนไม่เชื่อว่าระบอบชายเป็นใหญ่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งผู้เขียนในพยายามวิเคราะห์และแบตัวอย่าง/ตัวเลข ให้เห็นหลักฐานว่าสังคมเรายังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ (แนบว่าในเมล์นี้พร้อมรูปประกอบ)

 #2เฟมินิสต์ประสาทแดก: มายาคติเรื่องสมองของสองเพศ 
บางคนไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังมีมายาคติเรื่อง Gender role
และมักอ้างว่าสังคมชายเป็นใหญ่ดีอยู่แล้ว เพราะสมองของผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน จึงทำให้ผู้หญิงและผุู้หญิงเหมาะกับงานที่ต่างกัน (ซึ่งไม่จริง) ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยเรื่องสมองและประสาทมาบ้าง และได้เรียนรู้ว่า งานวิจัยด้านนี้นอกจากซับซ้อน มี controversial แล้ว ยังมีความ Neurosexism อีกด้วย มีงานวิจัยยุคใหม่หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สมองมนุษย์นั้นคล้ายกับพลาสติกที่สามารถแปรรูป เปลี่ยนโครงสร้างได้ตลอดเวลา และเพศกำเนิดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกับโครงสร้างสมอง สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมก็ส่งผลต่อโครงสร้างสมองเช่นกัน ทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำให้เราต้องทบทวนมายาคติ และ Stereotype ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องเพศ อีกสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อในบทความนี้คือ สุดท้ายแล้วแม้ความรู้ทาง Brain และ Neuroscience จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ควรทำความรู้พวกนี้มา stereotype และปิดกั้นโอกาสของคนเพศต่างๆ เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมควรขับเคลื่อนด้วยคนที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักได้อย่างมีความสุข

#3 เฟมินิสต์ประสาทแดก: ทำไมจึงเกรี้ยวกราด?
ผู้เขียนพยายามเข้าใจความเกรี้ยวกราดของตัวเองและเฟมินิสต์คนอื่นๆ

ผู้เขียนคิดว่า การแสดงความเกรี้ยวกราด คือ การทวงคืนอำนาจอย่างหนึ่ง การบอกให้ผู้หญิงต้องเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวาน ถือเป็นการควบคุมผู้หญิงอย่างหนึ่ง เหมือนที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ชอบควบคุมประชาชน

ประเด็นสุดท้ายของการ “ไม่ซื้อ” เฟมินิสต์ในไทย โดยเฉพาะเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ คือ ความเกรี้ยวกราด ใช้แต่อารมณ์ ไร้เหตุผล ย้อนแย้งของเฟมินิสต์ บทความนี้ขอเน้นไปที่ปฏิกิริยาของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยบางคนที่มักจะอ้างว่า พวกเขาสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แต่ไม่สนับสนุนเฟมินิสต์ประสาทแดกแบบนี้

ฉันคิดว่าผู้คนเหล่านี้

1) อาจไม่ได้เข้าใจและรู้ซึ้งจริง ๆ ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศมีรากฐานจากอะไร อยู่ในมิติไหนบ้าง ไม่ได้เข้าใจว่าภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง คือ โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่รองรับ-สร้างความชอบธรรมให้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เริ่มจากสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างวาทกรรมทางภาษา การเล่นมุกสองแง่สองง่าม ที่ผลิตซ้ำการเหยียดเพศ-การคุกคามทางเพศ นอกจากนี้พวกเขาดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้หญิงชั้นรากหญ้าที่ถูกกดทับทางด้านเศรษฐกิจ แต่ผู้หญิงคนชนชั้นกลาง-หรือชั้นบน ก็มีโอกาสถูกทำร้ายจากความไม่เท่าเทียมทางเพศด้วยกันทั้งสิ้น

2) ฉันคิดว่าปฏิกิริยาโต้กลับโดยการมองว่าเฟมินิสต์ประสาทแดกด้วยเหตุผลข้างต้น คือ Misogyny อย่างหนึ่ง

ตามพจนานุกรมเคมบริดจ์ Misogyny คือ ความเกลียดชังที่มีต่อผู้หญิงหรือความเชื่อที่ว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง แต่ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาอย่าง Kate Manne ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า Misogyny คือ การควบคุมและลงโทษผู้หญิงที่ท้าทายค่านิยม-ความคาดหวังของระบอบชายเป็นใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็เชิดชู-ชมเฉยผู้หญิงที่ปฏิบัติตามค่านิยม [1] ตามนิยามนี้ ไม่ว่าคนเพศไหนก็สามารถควบคุม-ลงโทษผู้หญิงที่ละเมิดกฎทางวัฒนธรรมนี้ได้ ในสังคมไทย เราก็ต่างรู้ดีว่าผู้หญิงไทยถูกคาดหวังให้เป็นอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับ ต้องสวย แต่อย่าแต่งหน้าจัด-แต่งตัวเยอะ ต้องเก่ง แต่อย่าแสดงความคิดเห็นมาก อย่าโต้เถียง ต้องว่านอนสอนง่าย จึงจะเป็นผู้หญิง “น่ารัก” ต้องยิ้ม-ไม่โวยวายเวลาถูกแซว ฯลฯ เหนือสิ่งอื่นใดคือ ห้ามแสดงความเกรี้ยวกราด หรือเรียกร้อง “มากเกินไป”

คนฝ่ายประชาธิปไตยเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหากับความเกรี้ยวกราดในตัวมันเอง แต่พวกเขามีปัญหากับผู้หญิงที่เกรี้ยวกราด ปฏิกิริยาโต้กลับของพวกเขาจึงถือเป็นวิธีควบคุมและลงโทษผู้หญิงเหล่านี้ที่ละเมิดกฎของระบอบชายเป็นใหญ่ โดยที่พวกเขาก็อาจไม่รู้ตัวเลย

ทำไมฉันจึงคิดเช่นนั้น?

เพราะในการวิจารณ์อำนาจรัฐโดยผู้ชายฝ่ายประชาธิปไตย ก็ไม่ใช่ทุกเสียง ทุกคนที่วิจารณ์อำนาจเหล่านั้นด้วยความสุภาพ มีตรรกะ และเหตุผลที่ดี หลายครั้งเราก็เห็นพวกเขาเกรี้ยวกราด วิจารณ์อย่างรุนแรง หรือพูดจาย้อนแย้ง หรือมีความเห็นในประเด็นยิบย่อยไม่ตรงกัน แต่ฉันไม่เคยเห็นกลุ่มคนในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันออกมาต่อต้านการกระทำเหล่านี้จนติดเป็นกระแส หรือเอาคนพวกนี้มาล้อเลียน-ด้อยค่า เหมือนอย่างที่กลุ่มคนฝ่ายประชาธิปไตย (โดยเฉพาะผู้ชาย) ต่อต้าน-ล้อเลียน-ด้อยค่าเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์

ในทางตรงกันข้าม คนที่ออกมาวิจารณ์ฝ่ายประชาธิปไตยว่าเกรี้ยวกราด-หยาบคาย-ไร้เหตุผล คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขาถูกสั่นคลอน

ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่ใช่เพราะทุกคนกลายเป็นสุภาพชนผู้เพรียบพร้อมด้วยตรรกะและเหตุผลภายในชั่วข้ามคืนหรอก แต่พวกเขากำลังใช้คำท้วงติงที่ดูศิวิไลซ์มาบดบังความจริงที่ว่า อำนาจและอภิสิทธิ์แก่เก่าที่พวกเขามีนั้นกำลังถูกสั่นคลอน (โดยที่พวกเขาก็อาจไม่รู้ตัว)  ทั้งอำนาจทางจารีตของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และอภิสิทธิ์ของผู้ชายในระบอบชายเป็นใหญ่ (หรือประโยชน์ของผู้หญิงที่ปฏิบัติตัวตามจารีตของระบอบชายเป็นใหญ่) ดังนั้นเพื่อปกป้องอำนาจ-อภิสิทธิ์-ผลประโยชน์เหล่านั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องโต้กลับเพื่อดับเสียงหรือลดทอนคุณค่าของคนที่มาท้าทายอำนาจและผลประโยชน์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา

สำหรับการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางชนชั้นหรือความเท่าเทียมทางเพศ ความขัดแย้งภายในขบวนการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือเป็นความล้มเหลว เพราะการต่อสู้เหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อทุกคนที่ถูกกดทับโดยโครงสร้างทางสังคม การถกเถียงและการเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นธรรมกับทุกคนได้ อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่า เสรีภาพในการถกเถียงไม่ได้อนุญาตให้ใครใช้คำพูดคุกคามทางเพศ ผลิตซ้ำวาทกรรมเหยียดเพศ หรือลดทอนคุณค่าของเสียงที่ถูกกดทับอยู่ก่อนแล้ว เช่น เสียงของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ฉันมองว่าเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ก็คือเฟมินิสต์แบบหนึ่ง และการถกเถียงในทวิตเตอร์ก็คือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลังแบบหนึ่ง ฉันจะไม่เรียกร้องให้เฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ หรือเฟมินิสต์จากที่ไหน ๆ หยุดเกรี้ยวกราด เหมือนอย่างที่ฉันจะไม่เรียกร้องให้คนที่วิจารณ์สถาบันหลักของประเทศ วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการหยุดเกรี้ยวกราด เพราะฉันเชื่อว่าทุกคนมีความชอบธรรม มีสิทธิที่จะเกรี้ยวกราดและโกรธได้อย่างเต็มที่

โกรธระบบกฎหมายไม่ยุติธรรม-เอาเปรียบ ขูดรีดผู้คน

โกรธระบบที่ไม่ทำให้ทุกคน-ทุกเพศรู้สึกอิสระและปลอดภัย

โกรธระบบที่ไม่โอบกอดความหลากหลาย-ขัดขวางการปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคน

ฉันเชื่อว่าความโกรธมีพลัง และเราสามารถใช้พลังนี้เพื่อเปลี่ยนให้สังคมดีกว่านี้ได้

ฉันเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางระดับล่างที่โตมาแบบเด็กที่ว่านอนสอนง่าย (เป็นส่วนใหญ่) ฉันไม่เคยเถียงหรือตั้งคำถามเวลาที่พ่อแม่บอกให้แต่งตัวให้เรียบร้อยมิดชิด เพราะฉันมัวแต่ยุ่งอยู่กับการไล่ตามความฝันของตัวเอง ในโรงเรียน ฉันโตมากับวาทกรรมที่ว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย มุกสองแง่สองง่าม การล้อเรื่องหน้าอก จากทั้งครูและเพื่อน ครั้งหนึ่งในช่วงมัธยมต้น เพื่อนผู้ชายร่วมชั้นคนหนึ่งได้เคยทำนายอนาคตของฉันไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะถูกข่มขืนจนโด่งดังได้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์... มันน่าตลกร้ายตรงที่ว่า ในช่วงเวลาเหล่านั้น ฉันไม่รู้เลยว่าการกระทำเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) เพราะสังคมมัวแต่วุ่นวายกับการสอนฉันให้เป็น “เด็กผู้หญิงที่ดี” เพื่อโตเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ฉันเรียนรู้หน้าที่การเป็นลูกสาวที่ดี นักเรียนหญิงที่ดี แต่ไม่ได้เรียนรู้ว่าสิทธิเหนือร่างกาย-ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า-ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง ประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเกิดขึ้นในวันที่ฉันเดินมาเกือบครึ่งทางของความฝัน ฝันที่ฉันไม่เคยคิดเลยว่าการเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรค จนกระทั่งได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดูแคลนสติปัญญาของผู้หญิง และซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ ขโมยความคิดของผู้หญิงที่ตัวเองดูถูกไปเป็นผลงานของตัวเอง วันนั้นคือวันที่ฉันได้เข้าใจว่าการต่อสู้ของเฟมินิสต์ยังไม่จบ ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังมีอยู่จริงในทุกวิชาชีพ (แม้แต่อาชีพที่เต็มไปด้วยคนที่มีการศึกษาสูง) ทุกมิติของชีวิตผู้หญิงทุกคน

ฉันตระหนักดีว่าความเจ็บปวดในฐานะผู้หญิงของฉันนั้นอาจเทียบไม่ได้เลยกับความเจ็บปวดของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศคนอื่นที่เจอสิ่งที่เลวร้ายกว่าฉันมาก ฉันตระหนักดีกว่าฉันอาจไม่เข้าใจทุกหยดของความรู้สึกและความเจ็บปวดของผู้คนเหล่านั้น และไม่บังอาจขโมยความเจ็บปวดเหล่านั้นมาเป็นของตัวเอง แต่ฉันคิดว่าฉันมีสิทธิที่จะฟังและเห็นใจทุกคนบนโลกในนี้ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะมายาคติทางเพศ

ฉันโชคดีที่เพื่อนคนนั้นทำนายผิด ฉันไม่เคยถูกข่มขืน ไม่เคยถูกผู้ชายทุบตี ไม่เคยถูกคู่ชีวิตบงการ แต่ไม่ได้แปลว่า ฉันไม่รู้สึกอะไรเลยเวลาเห็นข่าวความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง ฉันเชื่อว่าฉันมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะโกรธและท้าทายระบอบชายเป็นใหญ่ ฉันจะไม่ปล่อยวาง เพราะฉันทำไม่ได้และจะไม่พยายามทำ ตราบใดที่ระบอบชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่และยังไม่ให้ที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีต่อใครก็ตามที่ไม่ใช่เพศชายตามขนบ

ถ้าขอได้ ฉันก็อยากขอให้ทุกคนกล้าเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ เพราะสำหรับฉันการเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์คือคำมั่นสัญญา (ที่มีกับตัวเอง) ว่าจะต่อสู้และท้าทายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่ฉันรู้ดีว่า ภายใต้ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมนี้ นี่คือคำขอที่มากเกินไป อย่างน้อยที่สุด ฉันก็อยากขอแค่ให้ทุกคนเปิดใจ..ฟัง..เสียงของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฟัง... เวลาที่พวกเขาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือในสภา.. โดยเฉพาะเสียงที่เปล่งออกมาในยามที่พวกเขาเจ็บปวด หรือกรีดร้องด้วยความโกรธในวันที่พวกเขาถูกทำร้ายโดยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ฟังด้วยหัวใจและไม่ตัดสิน

 

..........

ในประเทศที่นายกเผด็จการอย่างคุณประยุทธ จันทร์โอชากล้าพูดจาเหยียดผู้หญิงออกสื่อซ้ำไปซ้ำมา

มีประธานสภาที่เรียกส.ส.หญิงว่า หนู เรียกส.ส.ชายว่า ท่าน

นักการเมืองหญิง-ไม่ว่าฝ่ายไหน-แสดงความคิดเห็นเรื่องใด ก็หนีไม่พ้นการถูกวิจารณ์เรือนร่าง คุกคามทางเพศ ราวกับพวกเธอเป็นเพียงตุ๊กตายาง

ผู้หญิงออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนก็หนีไม่พ้นการคุกคามทางเพศ [2]

ผู้ชายผู้เรียกร้องประชาธิปไตยออกมาล้อเลียน-ด้อยค่าเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์  ตาสว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น รู้ทันโฆษณาชวนเชื่อ แต่กลับมืดบอดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

ฯลฯ

 

ตราบใดที่สิ่งเหล่านั้นยังมีอยู่จนเรารู้สึกชินชาราวกับว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติ”

ฉันก็ว่าเฟมินิสต์ไทยยังเกรี้ยวกราดและ “ประสาทแดก” ไม่พอ

ในเมื่อความเท่าเทียมทางเพศไม่สามารถได้มาด้วยการบรรจงกราบแทบเท้าใคร

เฟมินิสต์ไทยก็จำเป็นต้องส่งเสียง (กรีดร้อง) และ “ประสาทแดก” ให้มากกว่านี้

 

 

อ้างอิง

1. “What we get wrong about misogyny: why sexism and misogyny aren’t the same - Vox.” https://www.vox.com/identities/2017/12/5/16705284/elizabeth-warren-loss-2020-sexism-misogyny-kate-manne (accessed Aug. 02, 2020).

2. “เยาวชนประท้วง รบ. ฟ้องหนุ่มใหญ่โพสต์เหยียดจ้างให้มานวดหลังแลกค่าเทอม.” https://prachatai.com/journal/2020/07/88785 (accessed Aug. 03, 2020).

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท