Skip to main content
sharethis

วันงานที่มีคุณค่าสากล กลุ่มแรงงานเรียกร้อง 'ประกันสังคม' นําเงินไปลงทุนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล ลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม รวมทั้งรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน

 

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร้อง 6 ข้อ ปฏิรูปประกันสังคม

8 ต.ค.2563 วานนี้ (7 ต.ค.63) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (World Day for Decent Work) ช่วงสายของวันสำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมารับหนังสือ โดยก่อนรับมอบ ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้กล่าวสรุปข้อเรียกร้องจำนวน 6 ข้อ และยืนยันว่าหากตัวแทนผู้รับมอบหนังสือไม่ทำตามข้อเรียกร้องอย่างน้อย 3 ใน 6 ข้อภายใน 1 เดือน จะทำการยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นคดีตัวอย่างต่อไป

จากนั้นหนังสือจำนวน 3 ฉบับถูกส่งถึงมือ ธีระวิทย์ วงศ์เพชร ตัวแทนคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง, ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รวมทั้ง มนัส โกศล ผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

สำหรับ 6 ข้อเรียกร้องนี้ มาจากการระดมความคิดในงานเสวนา "ฟังเสียงเจ้าของเงิน: ประชาชนต้องมีสิทธิบริหารประกันสังคม" เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  1. ปฏิรูปวิธีการนําเงินประกันสังคมไปลงทุนให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลยิ่งขึ้น
  2. ปฏิรูปสํานักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม
  3. สร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม โดยเร่งรัดให้รัฐบาลชําระหนี้เงินสมทบที่ค้างจ่าย ณ สิ้นปีงบประมาณปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 87,000 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2563
  4. ปรับปรุงและพัฒนาการดําเนินการของสํานักงานประกันสังคมเพื่อลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม และมุ่งเน้นให้บริการกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่ คนจน ผู้มีรายได้ตํ่า คนชรา และแรงงานในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ
  5. ในกรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์ Covid-19 และสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ให้สํานักงานประกันสังคมตั้ง คณะกรรมการพิจารณาความเป็นไปได้ในการนําเงินกองทุนชราภาพบางส่วนออกมาใช้ ก่อนผู้ประกันตนมีอายุครบเกณฑ์ 55 ปี ภายใต้เงื่อนไข “ยืมแล้วค่อยคืน” หรือคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา ตํ่าให้ผู้ประกันตนรับผิดชอบ และให้รัฐรับผิดชอบจ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้จนเท่าอัตรากู้ยืม เชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ประกันตนและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน
  6. เมื่อรับหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้แล้ว สํานักงานประกันสังคมต้องไม่นิ่งนอนใจหรือเมินเฉยต่อ “เสียง” ของผู้ประกันตนและประชาชนที่เรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลง โดยกําหนดเส้นตายในการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องข้างต้นอย่างน้อย 3 ข้อใหญ่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันรับหนังสือ รวมถึงให้มีตัวแทนของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ทําหน้าที่ติดตามการตอบรับข้อเสนอจากตัวแทนของสํานักงานประกันสังคมอย่างใกล้ชิดด้วย และหากไม่เกิดความคืบหน้า เราจะดําเนินการฟ้องร้องสํานักงานประกันสังคมให้เป็นคดีตัวอย่างต่อไป

คสรท.- สรส.เสนอ 7 ข้อ จัดสวัสดิการถ้วนหน้า-ปฎิรูปสปส.

ขณะที่แรงงานอีกกลุ่ม คือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้ ยื่นข้อเรียกร้อง ผ่านสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยมีรายละเอียด 7 ข้อเรียกร้องดังนี้

  1. รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทำงานมีงานทำอย่างทั่วถึง จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ และยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทุกรูปแบบ
  3. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 3.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 3.2  กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง มีระบบการปรับค่าจ้างทุกปีไม่น้อยกว่าอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐต้องเร่งดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาท ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน 3.3 รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริง
  4. รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ ให้เพียงพอตามความจำเป็นให้กับผู้ ประกันตนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประกาศใช้อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมแก้ไขปี 2558 และดำเนินการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมแทนชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช.เป็นกรณีเร่งด่วน
  5. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สัดส่วน 5% เท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้าง และให้เลขาธิการประกันสังคมเร่งดำเนินการให้รัฐบาลนำเงินสมทบค้างจ่าย จำนวน 87,737 ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน
  6. ให้ประกันสังคมจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อให้บริการผู้ประกันตน
  7. ให้ประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน

เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยให้มีตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงในลำดับต่อไป

สำหรับวันงานที่มีคุณค่าสากล วันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันงานที่มีคุณค่า” (World Day for Decent Work) ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้ 1. การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income) 2. การมีสิทธิ (Rights)  3. การได้แสดงออก (Voice) 4. การได้รับการยอมรับ (Recognition) 5. ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability) 6. การได้พัฒนาตนเอง (Personal development) 7. การได้รับความยุติธรรม (Fairness)  8. การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

เรียบเรียงจาก  voicelabour.org และเพจสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม Just Economy and Labor Institute

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net