หลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัย นักวิชาการชี้ กมธ.สภาฯ ยังมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงได้

หลัง ศาล รธน.วินิจฉัยให้กฎหมายออกคำสั่งเรียกคนเข้าให้ข้อมูล กมธ.ขัด รธน. 'ไพบูลย์' อ้าง กมธ.สภาฯ หมดสิทธิ์เรียกบุคคลต่างๆเข้าชี้แจง 'เสรีพิศุทธ์' โยนสภาแก้ปัญหา ยันไม่กระทบการทำงาน ขณะที่ นักวิชาการชี้ กมธ.สภาฯ ยังมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงได้

 

8 ต.ค.2563 จากรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการ(กมธ.) ส.ส.-ส.ว. กรณีไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.ป.ป.ช.) ให้เรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม มาให้ถ้อยคำกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยศาลวินิจฉัยว่ามีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญนั้น 

'ไพบูลย์' ชี้ กมธ.สภาฯ หมดสิทธิ์เรียกบุคคลต่างๆเข้าชี้แจง

ไพบูลย์ ในฐานะผู้ยื่นเรื่องนี้กล่าวว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา จะไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆเข้ามาชี้แจงได้ และไม่สามารถดำเนินคดีอาญาดังกล่าวแก่บุคคลเหล่านั้นได้ 

'เสรีพิศุทธ์' โยนสภาแก้ปัญหา ยันไม่กระทบการทำงาน

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ได้เปิดรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ดูแล้ว ซึ่งกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ตั้งกรรมาธิการ และรายงานผลให้ประธานสภาฯทราบ และมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งคณะกรรมาธิการ ต่างๆ รวมทั้ง กมธ.ป.ป.ช. ที่ตนเองเป็นประธาน ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกมาโดยตลอด แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่สภาฯ จะต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะประเด็นศึกษาว่า กรรมาธิการ 35 คณะใช้คำสั่งเรียกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ มาตรา 129 ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร และเชื่อว่าการที่ไม่สามารถใช้คำสั่งเรียกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาอะไร

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยอมรับว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้น อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของคณะกรรมาธิการฯในส่วนของตนเองบ้าง แต่อาจจะไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นปัญหาในกรณีของการเชิญภาคเอกชนมาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมาธิการฯอาจจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่เพราะไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกตามกฎหมายแล้ว ซึ่งจะทำให้การสรุปข้อเท็จจริงทำได้ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ. คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 129 ยังได้ให้อำนาจคณะกรรมาธิการในการทำงานได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว

นักวิชาการชี้ กมธ.ยังมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงได้

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนี้ว่า บทสัมภาษณ์ของไพบูลย์ทำนองว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใน 3 มาตรา ส่งผลให้ต่อไปนี้คณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาชี้แจงได้นั้น เป็นคำสัมภาษณ์ที่คลาดเคลื่อนจากหลักการ และไม่ถูกต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติหน้าที่และประชาชน

จึงขออธิบายสั้นๆ 2 ข้อ ดังนี้

1. จริงอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า 3 มาตราในพ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่า ด้วยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวจะสามารถเข้าไปทำลาย "ความมีอยู่ของอำนาจสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการ" (Existence of Committee's Investigative Powers) ที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติในระดับรัฐธรรมนูญ (Constitutional Powers)

เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าสับสนว่า "ที่มาของอำนาจคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา" นั้นแท้ที่จริงมีฐานที่มาจาก "รัฐธรรมนูญ" (ม.129) หาใช่ "กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ" (พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ) ไม่ ดังนั้น แม้กฎหมายจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นคนละส่วนกัน

2. จากเหตุผลข้อที่ 1 คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือในวุฒิสภาก็ดี ยังคงมีอำนาจและสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ กล่าวคือยังสามารถเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจของคณะกรรมาธิการได้ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจ ม.129 ของรัฐธรรมนูญโดยตรงได้

กรรมาธิการหลายท่านอาจกังวลใจเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งผมคิดว่าต้องรออ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มเสียก่อนเพื่อความชัดเจนในเรื่องผลทางรัฐธรรมนูญของคำวินิจฉัยด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด) ว่าจะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของท่านหรือไม่

ผมเห็นว่าก็คงจะมีอยู่บ้าง แต่ท่านยังคงทำหน้าที่ตนเองโดยการใช้อำนาจคำสั่งเรียกนี้ต่อไปได้ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า "เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี" ที่จะต้องสั่งการให้บุคลากรของตนเองให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมาธิการเวลามีการออกคำสั่งเรียกไป (ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงตัวรัฐมนตรีเองด้วย หากมีคำสั่งเรียกท่านไปให้ความเห็น หรือข้อมูลใดๆ เว้นแต่จะเป็นกรณีจำเป็น)

ดังนั้น ผมจึงขออธิบายและสรุปหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องว่า คณะกรรมาธิการในรัฐสภายังคงมีอำนาจเช่นเดิม ในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริงต่างๆ และเป็นหน้าที่ของท่านที่ได้รับคำสั่งที่จะต้องปฏิบัติตามด้วย ทั้งนี้ ตาม ม.129 ของรัฐธรรมมนูญ

ถ้าเราไปสรุปอย่างที่คุณไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ ว่าต่อไปนี้คณะกรรมาธิการจะไม่มีอำนาจในการเรียกบุคคลใดๆ มาได้อีก โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมย้ำว่า "ไม่สอดคล้องกับหลักการและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" แล้ว ย่อมก่อให้เกิดความปัญหาในทางปฏิบัติหลายเรื่องทันที

นอกจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว ก็จะรวมไปถึงคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่รัฐสภาที่ก่อนนี้มีมติโดยรัฐสภาตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนลงมติในวาระรับหลักการด้วย ว่าคณะกรรมาธิการนี้ก็จะไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกบุคคลต่างๆ ไปให้ข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน

เรียบเรียงจาก : เฟซบุ๊ก Pornson Liengboonlertchai INN และไทยโพสต์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท