Skip to main content
sharethis

ส.ส.พรรคกรีน เยอรมัน ตั้งกระทู้ถามกลางสภา ถึงสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย และสถานะกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี โดย รมว.ต่างประเทศ ย้ำการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศเยอรมนี ในช่วงตอบกระทู้ด้วยวาจาของรัฐบาลระหว่างการประชุมสภาในสัปดาห์นี้ ฟริธยอฟ ชมิดท์ (Dr. Frithjof Schmidt) ส.ส.จากพรรคกรีน ตั้งกระทู้ถาม ไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีต่อการประท้วงในประเทศไทย และการประทับอยู่ในเยอรมนีของกษัตริย์ไทย ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.frithjof-schmidt.de ดังนี้

ฟริธยอฟ ชมิดท์ (Dr. Frithjof Schmidt) ส.ส.จากพรรคกรีน

ฟริธยอฟ ชมิดท์ พรรคกรีน (Bündnis 90/Die Grünen):

ท่านรัฐมนตรี, ขณะนี้ผู้คนหลายหมื่นคนในประเทศไทยกำลังชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลทหาร หลังการเลือกตั้งก็มีการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักพรรคหนึ่ง หลายปีก่อนหน้านี้สหภาพยุโรประงับการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศไทยไว้ชั่วคราวเนื่องจากพฤติการณ์ของรัฐบาลทหาร  แต่หลังจากมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งเพื่อเป็นการเร่งกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยจึงได้มีการรื้อฟื้นการเจรจากับประเทศไทย จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ท่านพร้อมหรือไม่ที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเพื่อให้พิจารณาระงับการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยอีกครั้งหนึ่ง ตราบเท่าที่รัฐบาลทหารยังปิดกั้นการเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

ไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ไฮโค มาส: รมว.ต่างประเทศ:

ผมคิดว่าที่จริงแล้วมันเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่ทางฝ่ายเราภายในสหภาพยุโรปยังเปิดกว้างเอาไว้ แต่ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางฝ่ายไทยกันอีกครั้งหนึ่ง และเราก็ยังมีทางที่จะนำทางเลือกนี้มาใช้เป็นเครื่องมือกดดันไทยอีกด้วยเพราะจากที่ผมเห็นนั้นประเทศไทยมีความสนใจอย่างมากต่อการเจรจาความตกลงนี้ แต่ผมไม่ต้องการประกาศไปเลยว่า ถ้า (รัฐบาลไทย) ยังคงมีพฤติการณ์แบบนี้ต่อไปอย่างที่ทางเรารับทราบอยู่ในขณะนี้ เราจะใช้มาตรการนี้จัดการ

ฟริธยอฟ ชมิดท์ :

ผมขออนุญาตถามต่ออีกคำถามหนึ่ง กษัตริย์ของไทยเสด็จมาประทับในประเทศเยอรมนีอยู่บ่อย ๆ และประทับอยู่นาน ทรงเป็นเจ้าของวิลล่าที่นี่หลังหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร แต่พระองค์ใช้อำนาจสั่งการทางการเมืองโดยตรงจากประเทศเยอรมนี ตัวอย่างเช่น การออกพระราชโองการไม่ให้พี่สาวลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคหนึ่ง เพราะเหตุใดรัฐบาลกลางแห่งสหพันธ์จึงยอมให้มีเรื่องที่ผิดวิสัยมากขนาดนี้เกิดขึ้นนานหลายเดือนแล้วและในความเห็นของผมมันเป็นพฤติกรรมอันขัดต่อกฏหมายของประมุขต่างประเทศที่ใช้อำนาจสั่งการทางการเมืองจากผืนแผ่นดินของประเทศเยอรมนี

ไฮโค มาส: 

เราได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าการสั่งการทางการเมืองในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทยห้ามกระทำจากผืนแผ่นดินของประเทศเยอรมนี นอกนั้นผมคิดว่ามันมีข่าวแปลกประหลาดมากมายรายงานว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้นที่นั่น แต่มันไม่ตรงกับจุดยืนของรัฐบาล ซึ่งกรณีนี้มันต่างไปจากกรณีของนาวาลนี (ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย) เมื่อสักครู่นี้ – คนที่เป็นแขกในประเทศของเราแต่บริหารกิจการแผ่นดินของประเทศตัวเองจากที่นี่ เราจะต่อต้านคัดค้านอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย ผู้คนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวได้รวมตัวกันออกมาต่อสู้บนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความเป็นประชาธิปไตยและการสิ้นสุดลงของการปกครองโดยทหาร ในการชุมนุมประท้วงเริ่มมีการตั้งคำถามถึงอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์หรือตัวสถาบันกษัตริย์นั้นถือเป็นเรื่องต้องห้ามในประเทศไทย รัฐบาลไทยใช้มาตรการจัดการและคุกคามกับผู้ชุมนุมประท้วง ในขณะที่กษัตริย์ไทยทรงประทับอยู่ในวิลล่าแห่งหนึ่งในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน

หลังรัฐประการปี 2557 สหภาพยุโรปได้ระงับการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย และกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งมีรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกแบบประชาธิปไตย โดยในปี 2562 มีการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยขึ้นใหม่แม้ว่าในขณะนั้นการละเมิดสิทธิของประชาชนจะยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลทหารยังคงสืบทอดอำนาจการปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจของคณะก้าวหน้า เผยแพร่วิดีโอบันทึกการตั้งกระทู้ดังกล่าวด้วย

หมายเหตุ : ประชาไทได้รับคำแปลจากภาษาเยอรมันจาก ประภากร วงศ์รัตนาวิน คณะทำงานด้านประเทศไทย มูลนิธิอาเซียนเฮาส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net