Skip to main content
sharethis

หากยังจำกันได้ หลังปฏิบัติการ ‘สาดสี’ ใส่ตำรวจโดย ‘แอมมี่’ (จากวง The Bottom Blue) เกิดกระแสถกเถียงกันในสังคมพอสมควรว่านี่เป็นสันติวิธีหรือไม่ ฯลฯ จากนั้น อานนท์ นำภา ทนายความซึ่งกลายมาเป็นแกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญตั้งคำถามในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า

“ถ้าตำรวจเอาแผงเหล็กมากั้นและยืนตั้งแถวหลังแผงเหล็กนั้น เพื่อไม่ให้เราเดินไปข้างหน้า เราควรทำยังไง?”

ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ 13 ปีก่อนหรือในปี 2550 การเคลื่อนไหวของ ‘คนเสื้อแดง’ กลุ่ม นปก.ที่ตอนนั้นยังใส่เสื้อสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่ก็เผชิญกับโจทย์นี้และมีผลลัพธ์ในปัจจุบันเป็นการจำคุกแกนนำ 4 คน

เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อ 22 ก.ค. 2550 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

วันที่ 26 มิถุนายน 2563 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำ 4 คน ได้แก่ 1.วีระกานต์ มุสิกพงศ์ 2.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 3.วิภูแถลง พัฒนาภูมิไท 4.นพ.เหวง โตจิราการ (รวมถึงแนวร่วมอย่างนพรุจ วรชิตวุฒิกุล จากกลุ่มพิราบขาวซึ่งฐานความผิดจะแตกต่างจากแกนนำ 4 คนเนื่องจากมีประเด็นการต่อสู้ทำร้ายร่างกายกับเจ้าหน้าที่โดยตรง) เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ เหตุสืบเนื่องจากนำผู้ชุมนุมนับหมื่นเดินจากสนามหลวงบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อไปชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศวร์ อันเป็นที่พักของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2550 เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี (ปัจจุบันเหวงและวีระออกจากเรือนจำแล้วเนื่องจากมีวาระการอภัยโทษและเป็นผู้ต้องขังสูงวัย รวมแล้วพวกเขาอยู่ในเรือนจำราว 3 เดือน ตามด้วย วิภูแถลง ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน)

ภาพ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ปล่อยตัว วีระกานต์ มุสิกพงศ์,นพ.เหวง โตจิราการ พร้อมเสื้อ 'โคกหนองนาโมเดล' หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยมีผู้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วประเทศจำนวน 27,000 ราย (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)

ในโอกาสที่การชุมนุมในปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขัดขวาง การต่อสู้ การกระทบกระทั่งอาจจะวนกลับมาอีกครั้ง แม้ผลลัพธ์ทั้งในระดับปฏิบัติการหรือในทางคดีอาจแตกต่างจากอดีต กระนั้นก็ขอใช้โอกาสนี้ทบทวนคดี ‘บ้านสี่เสาฯ’ โดยพิจารณาคำพิพากษาทั้งจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เพื่อทำให้เห็น ‘มาตรฐาน’ ของอำนาจตุลาการในประเทศไทยว่ามองหลักการเรื่องสิทธิในการชุมนุมของประชาชนอย่างไร

ภาพกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบฯ (ที่มาภาพ wikipedia)

อย่างไรก็ตาม อีกคำถามหนึ่งที่ดังขึ้นทันทีหลังมีคำพิพากษาคดีนี้คือ ศาลได้ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับทุกกลุ่ม ทุกครั้งหรือไม่ ในโลกอินเตอร์เน็ตมีผู้คนจำนวนไม่น้อยนำโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ของแกนนำ นปช. ไปเปรียบเทียบกับ โทษจำคุก 8 เดือนของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในคดียึดทำเนียบรัฐบาลนาน 193 วัน ซึ่งศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาไปเมื่อ 13 ก.พ.2562 แกนนำที่ถูกพิพากษาประกอบด้วย 1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3.นายพิภพ ธงไชย 4.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 5.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 6.นายสุริยะใส กตะศิลา อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 คนยกเว้นสนธิอยู่ในเรือนจำเพียงราวๆ 3 เดือน เนื่องจากมีการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระบรมราชาภิเษก 2562

สรุปคำพิพากษา 4 แกนนำ ในคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาฯ

  • ศาลชั้นต้น (16 ก.ย.2558) ลงโทษจำคุก 4 ปี 4 เดือน
  • ศาลอุทธรณ์ (28 พ.ย.2559) ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน
  • ศาลฎีกา ( 26 มิ.ย.2563) ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน

หากเราดูการเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ จะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

การชุมนุมช่วงเดือน ก.ค.2550 ที่ท้องสนามหลวง (ภาพจาก wikipedia)

  • เหตุเกิดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550
  • เวลานั้นเป็นห้วงเวลาของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากรัฐประหารของ คมช. สนามหลวงกลายเป็นพื้นที่แห่งการต่อต้านของคนกว่า 20 กลุ่มที่เวียนกันมาใช้ กระทั่งเกิดกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มพีทีวี
  • พีทีวี นำการประท้วงหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อ 30 พ.ค.2550 เวทีปราศรัยจัดที่สนามหลวงเรื่อยมาจนมีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เมื่อ 9 มิ.ย.2550
  • การปราศรัยเกิดขึ้นที่สนามหลวงทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ช่วงเย็นถึงเที่ยงคืน และเริ่มมีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 บางวันมีการเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงกระจายตัวไปที่ต่างๆ แล้วกลับมาที่สนามหลวงเช่นเดิม โดยมีอาสาสมัครหน่วยรบอหิงสา หน่วยละ 8 คนจำนวน 200 หน่วยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก
  • การปราศรัยโจมตีพลเอกเปรมเกิดขึ้นต่อเนื่อง ในฐานะ ‘ผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร’ จนมีการยกระดับนัดหมายเคลื่อนขบวนไปปราศรัยถึงหน้าบ้าน แต่ช่วงแรกของการนัดหมาย แกนนำไม่บอกว่าจะไปที่ใดเหมือนทุกครั้ง เพียงนัดวันเวลาให้ประชาชนมารวมกันที่ท้องสนามหลวงเพื่อเคลื่อนขบวน
  • 14 ก.ค.2550 หรือก่อนเคลื่อนขบวนราว 1 สัปดาห์ พล.อ.เปรมกล่าวปาฐกถาอันลือลั่นว่าด้วย ‘จ๊อกกี้’ หากม้าเปรียบได้กับทหาร รัฐบาลคือจ็อกกี้หรือคนดูแลม้า แต่ไม่ใช่เจ้าของคอกม้า
  • ตำรวจระบุว่าผู้ชุมนุมในวันที่ 22 ก.ค. มีราว 15,000 คน แกนนำอยู่บนรถกระบะและรถหกล้อหลายคันพร้อมลำโพง เคลื่อนขบวนพร้อมประชาชนออกจากสนามหลวงราว 14.00 น.
  • นพ.เหวง โตจิกราการ นำทีมสันติวิธีเดินเท้าอยู่ด้านหน้าขบวน ส่วนมากเป็นผู้หญิงแบ่งเป็น 3 แถว แถวละ 20 คน มีหลักว่า “ไม่โกรธ ไม่รุนแรง ไม่ตอบโต้”
  • ตำรวจตั้งด่านสกัดบริเวณสะพานมัฆวานฯ ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินไปยังจุดหมาย การเจรจากับตำรวจเป็นไปอย่างยาวนานแต่ก็ไม่เป็นผล
  • กลุ่มผู้ชุมนุมดื้อแพ่ง มีการยึดรถขยะที่ถูกนำมาจอดขวางแล้วขับชนแนวรั้ว พากันรื้อรั้วที่กั้นไปทิ้งในคลองผดุงกรุงเกษม แล้วจึงเดินเท้าไปเจอด่านตำรวจอีก 2 ด่าน แต่ทั้ง 2 ด่านสามารถเจรจาและเปิดทางให้เดินไปถึงหน้าบ้านสี่เสา
  • แกนนำผลัดกันปราศรัยโจมตี พล.อ.เปรมว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเพราะนำ คมช.เข้าเฝ้าฯ และทำตัวเป็น “ประมุขภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย” โดยแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จึงเรียกร้องให้ลาออกจากประธานองคมนตรี
  • แกนนำผลัดกันปราศรัยอยู่หลายชั่วโมงแล้ว ตำรวจพยายามเข้าสลายการชุมนุม 3-4 รอบแต่ละครั้งประชาชนช่วยกันผลักดันและปกป้องรถแกนนำได้สำเร็จ มีครั้งหนึ่งที่ตำรวจประกาศว่าผู้ชุมนุมกำลังทำผิดกฎหมายแต่โดนประชาชนขว้างขวดน้ำและอิฐตัวหนอนทุบเป็นก้อนเล็กๆ ตำรวจให้การในศาลว่านั่นเป็นเหตุให้จำเป็นต้องจัดการด้วยการใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่ตอบโต้ด้วยการขว้างปาไม้และอิฐตัวหนอนทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 23.00 น.
  • หลังจากแตกพ่าย แกนนำตัดสินใจพาผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนกลับสนามหลวง
  • ในชั้นศาล แกนนำยืนยันว่า นี่เป็นการต่อสู้โดยสันติวิธีโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 ที่ให้สิทธิบุคคลต่อต้านการยึดอำนาจโดยสันติวิธี
  • แกนนำต่อสู้ในชั้นศาลด้วยว่า การเคลื่อนขบวนไปปราศรัยไม่ได้มีเวทีจัดตั้งเพื่อค้างคืนและมีการประสานกับตำรวจแล้วว่าจะกลับประมาณเที่ยงคืน และยังไม่ทันพูดคุยกันเสร็จสิ้นดีก็มีการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมโดยไม่ทันตั้งตัวทำให้เกิดความอลหม่านและผู้ชุมนุมยิ่งไม่ไว้ใจตำรวจ สถานการณ์ตึงเครียดจัด
  • แกนนำระบุว่าในการสลายการชุมนุมตำรวจแถวหน้ามีการใช้ไม้กระบองกรูเข้าทุบตีผู้ชุมนุม การขว้างปาสิ่งต่างๆ ใส่ตำรวจจึงเป็นการป้องกันตัวของผู้ชุมนุม
  • แกนนำต่อสู้ในชั้นศาลด้วยว่า คดีนี้พวกเขาถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากอัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วเพราะเห็นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วยความสงบปราศจากอาวุธ ย่อมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมา ผบ.ตร.ในขณะนั้นกลับมีความเห็นแย้งให้สั่งฟ้อง และอัยการสูงสุดก็มีความเห็นให้สั่งฟ้อง
  • ในอีก 10 กว่าปีต่อมาแกนนำ 4 คน บวกกับแนวร่วม 1 คน ถูกศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยคดีของนพรุจนั้นแยกเป็นอีกสำนวน เนื่องจากเป็นประเด็นการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ข้อมือหัก

บางส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้น

กรณีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกนั้น

ศาลเห็นว่า ในช่วงเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในมาตรา 3 การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธย่อมทำได้ โดยปกติกลุ่มผู้ชุมนุมก็มาชุมนุมกันที่สนามหลวงโดยปกติ มีตำรวจมาดูแลความเรียบร้อย บางครั้งก็เคลื่อนขบวนไปในที่ต่างๆ และเคยจะเคลื่อนขบวนไปหน้าบ้านพลเอกเปรมครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ 1 ก.ค.2550 แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต มีการสกัดกั้น ผู้ชุมนุมจึงล้มเลิกและเคลื่อนขบวนกลับสนามหลวง

“ในการนี้ ไม่มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง นับเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อต้านโดยสันติ โดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ....”

แต่สำหรับการชุมนุมในวันที่ 20-22 ก.ค.ศาลเห็นว่า แกนนำปราศรัยเชิญชวนโดยมีลักษณะปกปิดว่าจะเคลื่อนขบวนไปที่ใด ไม่มีการประสานหรือแจ้งเจ้าหน้าที่เหมือนที่เคยกระทำ แต่เจ้าหน้าที่ก็สืบทราบได้เองว่าจะไปหน้าบ้านพลเอกเปรม และมีหลักฐานเป็นบันทึกวิดิโอซึ่งปรากฎการปราศรัยเชิญชวนของแกนนำ เช่น  

“ถ้าประกาศว่าจะไปไหน ต้องไปให้ถึงที่นั่น ไม่ถึง ไม่กลับ ไม่เลิกรา ... เราจะทำให้กรรมเวรที่คนคนหนึ่งกระทำต่อประเทศชาติและประชาชนนั้น ให้จบสิ้นลงเสียทีหนึ่ง”

“เราอาจจะต้องไปค้างคืนกันในบางที่..เราจะไม่นอนรอความตายที่ท้องสนามหลวงและไม่มีวันให้ตัวบงการ คมช.และพวกได้นอนหลับและลอยนวลเหมือนปัจจุบันนี้ พรุ่งนี้ทัพหน้าเป็นของสันติวิธี คุณหมอเหวงก็ว่ากันไปอย่างเต็มที่ แต่บอกกับพี่น้องไว้อย่างเดียวก็คือว่า เรายึดหลักแนวทางสันติวิธีที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีด่านพรุ่งนี้บอกไปยังผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเลย ต่อให้ร้อยด่าน เราก็จะฝ่าข้ามไป เป็นไงเป็นกัน พรุ่งนี้มันจะไปแบบหน่อมแน้มเหมือนเดิม ไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว ไปเผชิญหน้าหายใจรดก็ฝ่าไป มันเอารถมากั้นก็คว่ำรถมันบ้างจะเป็นอะไรรอบนี้”

“วันพรุ่งนี้เราจะไม่เหมือนเดิมกัน เพื่อให้ตำรวจต้องคิดบ้าง ใครอยากทำอะไรก็ทำไป แต่เป้าหมายหลักของเราคือถอนรากถอนโคนของคณะรัฐประหารและผู้บงการให้เบ็ดเสร็จในวันพรุ่งนี้ ไม่มีผลใดๆ ไม่กลับสนามหลวงเด็ดขาด”

“จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า การชุมนุมของแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมมีรูปแบบหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยดำเนินมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่มีการแจ้งหรือการประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจก็ดี การปกปิดไม่แจ้งต่อผู้ชุมนุมถึงสถานที่ที่จะเคลื่อนขบวนก็ดี และในประการที่สำคัญอย่างยิ่ง ครั้งนี้ กลุ่มแกนนำซึ่งมีจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ รวมอยู่ด้วย มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปราศรัยโดยใช้ถ้อยคำดังที่กล่าวมา แม้นมิได้พูดด้วยถ้อยคำอย่างเดียวกัน แต่ก็พูดในเรื่องและคราวเดียวกันสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีคนหนึ่งคนใดโต้แย้งคัดค้านคำพูดของแต่ละคน อันเป็นลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันปราศรัย ปลุกเร้า ยุยง ส่งเสริม ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีสิทธิเสรีภาพที่จะเคลื่อนการชุมุมไปในที่ใดๆ ก็ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย..หากมีการตั้งด่านของเจ้าพนักงานก็ให้ใช้กำลังฝ่าผ่านไปให้ได้โดยใครจะทำอะไรก็ทำไป...แม้นการปราศรัยไม่ได้ระบุว่าจะเคลื่อนการชุมนุมไปที่ใดและไม่ได้พูดถึงการเตรียมอาวุธหรือการเข้าทำอันตรายแก่บุคคลใดหรือเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจก็ตาม แต่พฤติการณ์การชุมนุมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเช่นนี้ ย่อมส่อแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากและเคลื่อนขบวนไปตามถนนสาธารณะและแม้นกล่าวอ้างว่าเป็นการเคลื่อนขบวนเพื่อเรียกร้อง แต่ก็กำหนดเงื่อนไขต้องสำเร็จหรือต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ มิฉะนั้นจะไม่ยอมหยุดหรือกลับ... การชุมนุมในลักษณะเช่นนี้หาถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบหรือป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี อันจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ไม่ พฤติการณ์ของกลุ่มแกนนำซึ่งรวมถึงจำเลย ๔ ถึงที่ ๗ รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมย่อมถือเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปเพื่อจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑๕ แล้ว”

ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติตามหนังสือคำสั่งให้มีศูนย์ปฏิบัติการในการดูแลไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ โดยตั้งศูนย์ ๔ ศูนย์และมีการกำชับไม่ให้เจ้าพนักงานพกพาอาวุธหรือกระบอง และห้ามใช้อาวุธใดๆ เพียงใช้โล่และหมวกกันน็อครวมถึงอุปกรณ์กีดขวางสกัดการเคลื่อนขบวน ศาลเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยที่เหมาะสมแก่สถานการณ์

จากนั้นเมื่อมีการเคลื่อนขบวนมาถึงสะพานมัฆวานฯ ช่วงบ่ายแก่ เจ้าหน้าที่ได้ประกาศว่าเป็นเขตหวงห้ามจะไม่ให้เคลื่อนผ่านโดยเด็ดขาด ขอให้อย่าทำผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการที่เจ้าหน้าที่บอกให้เลิกไป แต่ผู้ชุมนุมไม่เลิก ยังผลักดันจนผ่านไปสำเร็จ โดยศาลหยิบยกหลักฐานการปราศรัยบนรถปราศรัยของแกนนำที่บอกให้มวลชนบุกเข้าไป

"แม้นไม่ปรากฏว่ามีการทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาจนติดกับแผงรั้วเหล็กที่วางกั้นบริเวณคอสะพานที่มีเจ้าพนักงานตำรวจยืนชิดอยู่ด้านหลัง แล้วดึงยื้อแย่งเอาแผงรั้วเหล็กจากเจ้าพนักงานตำรวจออกไปให้พ้น ไม่ให้กีดขวางทางขึ้นสะพาน แล้วยังผลักดันเจ้าพนักงานตำรวจให้ถอยออกไปนั้น ถือว่ากลุ่มผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่"

"ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ไม่ได้เป็นหัวหน้าและไม่ได้สั่งการใดๆ ไม่มีการพูดจาปลุกระดม รุกเร้าหรือยุยงให้ประชาชนใช้ความรุนแรงกับเจ้าพนักงานตำรวจหรือทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่เคยแจ้งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ด่านสกัดกั้นที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่มีเหตุวุ่นวาย มีการเจรจาตกลงกันให้ผู้ชุมนุมผ่านไปได้ เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่าให้ผู้ชุมนุมช่วยรื้อแผงรั้วเหล็กกั้นเอง โดยเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ขัดขวาง โดยมีนายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายคณิตติน อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสุนันทา ธรรมธีระ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์....มาเบิกความสนับสนุนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ นำสืบล้วนขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวและเสียงในวัตถุพยานซึ่งเป็นซีดี....โดยเฉพาะที่อ้างว่ามีการเจรจาตกลงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าให้ผู้ชุมนุมช่วยรื้อแผงรั้วเหล็กกั้นเอง โดยเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ขัดขวางนั้น ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้าง โดยไม่ยืนยันว่าเจ้าพนักงานที่เจรจาและอ้างว่าตกลงให้ผ่านนั้นเป็นเจ้าพนักงานคนใด คงอ้างเพียงว่าไม่รู้จักชื่อเท่านั้น ซึ่งโดยรูปการณ์แล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้...ถึงหากแม้นจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ไม่เคยรู้จักมาก่อนตามที่อ้างจริง แต่ก็สามารถตรวจสอบให้รู้จักชื่อได้โดยง่าย อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นต่อสู้ แต่กลับไม่ได้ดำเนินการทำให้เห็นข้อพิรุธสงสัย"

ประกอบกับตำรวจยืนยันว่าประกาศห้ามแล้ว โดยมีซีดีบันทึกภาพเสียงประกาศห้ามเป็นหลักฐาน ขณะที่ฝ่ายจำเลยใช้พยานบุคคลขึ้นเบิกความซึ่งศาลมองว่าน้ำหนักน้อย ท้ายที่สุด ศาลจึงเห็นว่า จำเลยทั้งสี่เป็น "หัวหน้าหรือผู้สั่งการในการกระทำผิด"

กรณีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้อาวุธ โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปนั้น

ศาลหยิบยกหลักฐานซีดีที่บันทึกการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยหน้าบ้านพลเอกเปรม โดยเรียกร้องให้ลาออกจึงจะยุติการชุมนุม โดยใช้รถปราศรัยต่อลำโพงเชื่อมกัน 6 คันทำให้เสียงดังไปทั่วบริเวณจึงถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนึ่งอย่างใดในบ้านเมือง ซึ่งจำเลยทั้งหมดเป็นหัวหน้าสั่งการ เจ้าหน้าที่บอกให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเป็นความผิดที่มีอยู่แล้วต่อเนื่องกันมา

“การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมแกนนำซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงเป็นการจับกุมบุคคลขณะกระทำความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา ๘๐ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามขัดขวางไม่ให้ตำรวจขึ้นไปจับกุมแกนนำซึ่งอยู่บนรถ .... กองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวเข้าไปดำเนินการอีกครั้งเป็นครั้งที่สองและครั้งที่สาม แต่ก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางและเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นจนเกิดเหตุชุลมุน โดยขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจมีเพียงโล่ป้องกันตัว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งของต่างๆ เช่น ขวดน้ำ ก้อนหิน ก้อนอิฐตัวหนอนที่ใช้ปูพื้นฟุตบาท ขว้างปาใส่เจ้าพนักงานตำรวจจนได้รับบาดเจ็บหลายนาย ขณะที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ยังคงทำการปราศรัยโจมตีเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุมว่ารังแกประชาชน ทั้งยังพูดให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่อสู้และทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจ ....(การที่ผู้ชุมนุมขว้างสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่) จึงมิใช่การกระทำเพื่อป้องกันตัวจากการทำร้ายตามที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กล่าวอ้าง ส่วนที่อ้างว่าแกนนำมีการพูดขอร้องไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายประชาชนและห้ามประชาชนต่อสู้กับเจ้าพนักงานตำรวจ รวมทั้งไม่ให้ทำลายทรัพย์สินต่างๆ ในการปราศรัยด้วยนั้น... เห็นว่า คำพูดส่วนนี้เป็นการพูดเพียงเพื่อให้มีปรากฏปะปนอยู่กับคำพูดส่วนที่เป็นการยุยงปลุกเร้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น เห็นได้โดยชัดเจนว่ามิได้มีเจตนาที่มุ่งประสงค์ห้ามปรามในลักษณะที่จริงจัง....”

 “ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ลงมือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตำรวจที่จะเข้าทำการจับกุมด้วยตนเอง แต่การที่ร่วมกันปราศรัยด้วยถ้อยคำต่างๆ ดังกล่าวมาย่อมถือเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการใช้หรือยุยงส่งเสริมแล้ว จึงมีความผิดในฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายอีกกระทงหนึ่ง”

ผลลัพธ์คือ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4-7 ใน 3 ฐานความผิด

  1. จำคุก 3 ปี ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ
  2. จำคุก 2 ปี ฐานเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมกระทำความผิดเลิก แล้วไม่เลิก
  3. จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย

อย่างไรก็ตาม ทางพิจารณาจำเลยทั้งสี่ให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงเห็นควรลดโทษลง 1 ใน 3 ทุกฐานความผิด คงเหลือจำคุก 4 ปี 4 เดือน

บางส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

กรณีมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในบางส่วน คือ จำเลยไม่ใช่ “ตัวการร่วม” ในการต่อสู้ขัดขวางด้วยการประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ หากแต่เป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” นอกจากนี้ยังรวมความผิด 2 กรรมเป็น 1 กรรมเนื่องจากมีเจตนาเดียวกันด้วย โดยศาลเห็นว่า

“เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีคำสั่งหรือแจ้งให้ยุติการชุมนุมหรืองดที่จะเดินต่อไปในเขตพื้นที่หวงห้ามและไม่อนุญาตให้ผ่านจุดสกัดกั้น จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กับพวกก็สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองได้ โดยการยุติการชุมนุม แต่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กลับพูดปราศร้ยชักชวน ปลุกเร้า ปลุกระดมหรือยุยงให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าจนชิดติดแผงรั้วเหล็กที่วางกั้น...แล้วดึงยื้อแย่งเอาแผงเหล็กจากเจ้าพนักงานตำรวจออกไม่ให้กีดความขวางทาง....ที่บริเวณหน้าบ้านพักพลเอกเปรม เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งให้เลิกการชุมนุมอีกครั้งแต่กลับถูกผู้ชุมนุมใช้ก้อนอิฐรูปตัวหนอน ขวดน้ำ ขว้างปาใส่จนได้รับบาดเจ็บ การชุมนุม ณ บริเวณนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการปะทะกันเป็นระยะๆ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมชอบที่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามสมควรเพื่อยุติการชุมนุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้โล่กำบังแล้วผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมและพยายามปีนขึ้นรถยนต์ซึ่งใช้เป็นเวทีปราศรัยเพื่อจับกุมแกนนำเพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำสมควรแก่เหตุตามภาวะและพฤติการณ์ แต่กลับถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ขัดขวางใช้มือและเท้าผลักถีบเจ้าพนักงาน กลุ่มผู้ชุมนุมใช้อิฐตัวหนอน ขวดน้ำอัดลมขว้างใส่เจ้าพนักงานตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายนาย....”

“พฤติการณ์ดังกล่าวหาใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ แต่หากเป็นการชุมนุมโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ มีบทบาทสำคัญหรือเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีอำนาจสั่งการผู้ชุมนุมให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ วรรคแรกและวรรคสาม”

“เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสั่งให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และกลุ่มผู้ชุมนุมเลิกไป แต่ไม่เลิก จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑๖ ด้วย แต่การกระทำผิดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ตามมาตรา ๒๑๕ ๒๑๖ นั้นมีเจตนาเดียวเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา ๒๑๕ วรรคสามซึ่งเป็นบทหนักที่สุดกระทงเดียว”

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแยกเป็นความผิด 2 กระทงคือ ตามมาตรา 215 และตามมาตรา 216 ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นจึงให้ลงโทษตามมาตรา 215 เพียงอย่างเดียว

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 215 อีกทั้งยังไม่ได้เป็นแกนนำในการปลุกระดมนั้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในส่วนของการไม่ปลุกระดมนั้นขัดแย้งกับภาพที่ปรากฏตามหลักฐานเทปหรือแผ่นซีดีที่มีภาพเคลื่อนไหวและคำปราศรัย ข้ออ้างของจำเลยเป็นเพียงการอ้างลอยๆ จึงไม่อาจหักล้างพยานโจทย์ได้

ส่วนความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 นั้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดสกัดและขอให้ยุติการเดินต่อในพื้นที่หวงห้ามแต่จำเลยและผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมจนกระทั่งเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อจะมีการบุกเข้าจับกุม จำเลยก็ยังปราศรัยยุยง ปลุกเร้าจิตใจให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความฮึกเหิมกล้าต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ

“ถือได้ว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม จึงเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๔ มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา ๘๓ ตามที่โจทก์ฟ้อง ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ได้...อย่างไรก็ดี การที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๘ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๘๖”

ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การชุมนุมของ นปก.เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการและเรียกร้องอำนาจอธิปไตยอันเป็นความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษนั้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

“แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักสุจริต ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงและไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชน หรือไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม หรือไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชนเกินสมควร ขณะที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันชุมชน ณ บริเวณท้องสนามหลวงและเคลื่อนขบวนมาตามถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกจนถึงจุดสกัดกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และพวกก็ได้แสดงออกให้เห็นถึงเจตจำนงของการชุมนุมแล้วว่า เพื่อเรียกร้องให้พลเอกเปรมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีการสั่งหรือแจ้งให้ยุติการชุมนุมหรือเลิกไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ กับพวกมีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยยุติการชุมนุมเสียตั้งแต่ขณะนั้น แต่กลับยังใช้กำลังฝ่าจุดสกัดกั้นจนกระทั่งไปปักหลักชุมนุมที่ถนนศรีอยุธยาบริเวณหน้าบ้านพลเอกเปรม โดยไม่มีท่าทีจะยุติการชุมนุม ในระหว่างการชุมนุมมีการขว้างปาอิฐรูปตัวหนอน ขวดน้ำอัดลมใส่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนเกินสมควร หรือมีลักษณะล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม การชุมนุมของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบแต่เป็นการฝ่าฝืนหลักการพื้นฐานตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา”

ผลลัพธ์ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4-7 ดังนี้

  1. จำคุก 1 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 เป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย
  2. จำคุก 3 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก วรรคสาม และมาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสามซึ่งเป็นบทหนักที่สุด

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ยังคงลดโทษให้  1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุกรวม 2 ปี 8 เดือน

บางส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา

ระหว่างฎีกา จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาและขอให้ลงโทษสถานเบา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพจึงไม่อาจกระทำได้ เพราะการขอแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นจะพิพากษา และท้ายที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาเห็นว่า

“แม้รัฐธรรมนญูจะบัญญัติให้ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนในอย่างอิสระโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง...แม้ประมวลกฎหมายอาญาจะเป็นกฎหมายลำดับรองที่มิได้มีศักดิ์หรือสิทธิเทียบเท่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ต้องไม่เป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย”

“......สื่อมวลชนได้เผยแพร่ภาพพลเอกเปรม ประธานองคมนตรีนำพลเอกสนธิและคณะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งกลุ่ม นปก. เห็นว่าพลเอกเปรมไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรักษารัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยไว้ ทั้งทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียและเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการสมคบคิดกับพลเอกสนธิและคณะล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยทำให้ประชาชนทั่วไปที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจต่างเกิดความสงสัยและเข้าใจว่า พลเอกเปรมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ ถึงขนาดมีการขนานนามพลเอกเปรมเป็นผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญบ้าง หรือมือที่มองไม่เห็นบ้าง กลุ่ม นปก.รับฟังข้อมูลรอบด้านจากกลุ่มต่อต้านแล้วจึงได้จัดการชุมนุมปราศรัยที่ท้องสนามหลวงเพื่อชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ประธานองคมนตรีของพลเอกเปรม ทั้งเรียกร้องให้พลเอกเปรมตอบข้อเคลือบแคลงสงสัยและลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี แต่เนื่องจากกลุ่ม นปก.ได้จัดการชุมนุมปราศรัยเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลาเดือนเศษ โดยไม่ได้รับการตอบสนอง จึงนัดหมายมวลชนเดินทางไปเรียกร้องถึงหน้าบ้านพลเอกเปรม”

“หากพิจารณาข้ออ้างของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ในการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากท้องสนามหลวงไปยังบ้านพลเอกเปรมในวันเกิดเหตุแล้วเห็นว่า (การกระทำดังกล่าว) ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นคัดค้านการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือเรียกร้องให้คืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน หรือเรียกร้องให้รีบจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น แต่เป็นการนำผู้ชุมนุมไปแสดงพลังเรียกร้องให้พลเอกเปรมตอบข้อสงสัยของประชาชนและกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ตามความเข้าใจของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่เชื่อว่าพลเอกเปรมเป็นผู้ร่วมคบคิดวางแผนและอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้ว พลเอกเปรมได้กระทำการเช่นนั้นหรือไม่ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ไม่มีหลักฐานมั่นคงพิสูจน์บ่งชี้ให้รับฟังได้ตามข้ออ้าง”

“ประกอบกับพลเอกเปรมมิได้นัดหมายหรือแถลงข่าวยินยอมให้จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และผู้ชุมนุมไปรับฟังคำตอบหรือคำชี้แจงที่บ้านพัก การที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ นำขบวนผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตีกล่าวหาและเรียกร้องกดดันให้พลเอกเปรมต้องกระทำการตามประสงค์ของตน จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินขอบเขตถึงขั้นข่มขู่คุกคามอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเอกเปรม”

ในเรื่องเจตนารมณ์ของการชุนมนุมนั้น จำเลยที่ปราศรัยปลุกระดมไปในทิศทางเดียวกันให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นให้ได้ เช่น

  • การเดินขบวนไปข้างหน้าเป็นสันติวิธีที่บอกว่าเราไม่ต้องการเผชิญหน้า ไม่ต้องการฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดก็ตาม ไม่ว่ากรณีใดๆ แต่เราจะไม่ยอมกลับ ถ้าพลังประชาธิปไตยไม่สามารถบุกเข้าไปถึงรังหัวหน้าเผด็จการ
  • พวกเราขอใช้สิทธิและเสรีภาพของเราตามอุดมการณ์และเจตนาเราที่ได้แสดงกันเอาไว้ วันนี้เรามุ่งมั่นที่จะเดินไปสู่บ้านสี่เสาเทเวศวร์ เพื่อจะไปส่งเสียงให้เจ้าของบ้านได้พิจารณาตัวเองลาออกเสียจากตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
  • พี่น้องที่รักทั้งหลาย วันนี้ณัฐวุฒิได้ประกาศชัดว่าเราใช้ยุทธวิธีทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ แต่วันนี้เราจะไม่ตีเมืองจันท์ เราจะบุกยึดบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อให้พลเอกเปรมลาออกจากประธานองคมนตรี
  • เราไม่รู้ชะตากรรมข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่วันนี้มีด่าน เราก็จะแหวกด่าน เป็นไงก็เป็นกัน พี่น้องที่รักทั้งหลายทุกด่านวันนี้จะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น เราจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เดินทางถึงบ้านพลเอกเปรมให้ได้ ไม่ถึงไม่กลับสนามหลวง เป็นไงเป็นกัน
  • ขณะนี้การเจรจาระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ข้อยุติ ได้ข้อยุติคือตำรวจยืนยันจะไม่ให้เราผ่านเข้าไป เพราะฉะนั้น ในฐานะประชาชน ขอใช้สิทธิเจ้าของแผ่นดิน ขอใช้สิทธิผู้เสียหายที่ถูกปล้นอำนาจอธิปไตย เราขอแหวกด่านเข้าไป ลุยไปเลยครับพี่น้อง ลุยไปเลย ดันเข้าไป ดันเข้าไป

“ผู้ชุมนุมมีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดการจราจรของเจ้าพนักงานตำรวจด้วยการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อเคลื่อนขบวน ... อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของพลเอกเปรม การจัดการชุมนุมและการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงมิใช่เป็นลักษณะของการชุมนุมโดยสงบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

ศาลยังเห็นว่า แกนนำได้ปราศรัยโจมตีพลเอกเปรมที่หน้าบ้านมาระดับหนึ่งแล้ว และเริ่มเห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังระดมกำลัง น่าจะเลือกหนทางที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นหลัก เลี่ยงการปะทะโดยการยุติการชุมนุม แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น แกนนำยังคงปราศรัยปลุกระดมทำให้ประชาชนโกรธแค้นเจ้าพนักงานตำรวจต่อไป รวมทั้งระบุว่าอาจจะค้างคืนที่นั่น ซึ่งวันรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์เจ้าพนักงานตำรวจเกรงว่าจะกระทบต่อการจราจรกว้างขวาง

“ดังนั้น มูลเหตุของการสลายการชุมนุมจนมีเหตุปะทะกันเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ที่ดื้อดึงนำขบวนผู้ชุมนุมไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณหน้าบ้านพักพลเอกเปรมและดึงดันที่จะชุมนุมยืดเยื้อเรื่อยไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะตามความต้องการของตน”

ส่วนการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ก็ใช้กระบอง แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย แต่ไม่มีการใช้กระสุนยางหรือกระสุนจริง จึงไม่เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ

“ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละคนมีกำหนดคนละ ๒ ปี ๘ เดือน นับว่าเป็นการลงโทษในสถานเบาและเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net