Skip to main content
sharethis

เปิดรายละเอียดรายงานที่ทวิตเตอร์ร่วมจัดทำกับ ม.สแตนฟอร์ด เกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลเผด็จการไทยที่อาศัยการสร้างบัญชีปลอมเพื่ออวยกองทัพหรือรัฐบาล รวมถึงรุมโจมตีผู้ต่อต้านรัฐบาล ทวิตเตอร์บอกว่าพวกเขาทำการระงับบัญชีผู้ใช้ปลอมเหล่านี้แล้ว นอกจากไทยยังมีบัญชีไอโอจากประเทศอื่นๆ คือ รัสเซีย, คิวบา, อิหร่าน, ซาอุฯ ที่ถูกตรวจพบและระงับการใช้งานในครั้งนี้เช่นกัน

ทวิตเตอร์เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาระบุถึงการที่พวกเขาตรวจพบว่ามีบัญชีผู้ใช้งานบางส่วนที่เป็นเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือที่เรียกว่าไอโอ (IO) จากภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, คิวบา, รัสเซีย รวมถึงไทยด้วย นอกจากนี้ยังได้ทำการสั่งระงับบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้แล้ว 1,594 บัญชี

ทวิตเตอร์ระบุว่าพวกเขาได้เผยแพร่รายงานความโปร่งใสของพวกเขาเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลต่างๆ ซึ่งระบุว่าเป็นรายงานแบบที่ "มีแต่พวกเขาที่ทำ" ในอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดีย คือการเปิดโปงว่ามีบัญชีผู้ใช้งานที่เกี่ยวโยงกับรัฐบ่าลไทย, อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, คิวบา และรัสเซีย ใช้งานในเชิงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ (IO) ซึ่งพวกเขาได้ทำการระงับบัญชีผู้ใช้งานรวมแล้ว 1,594 บัญชีเนื่องจากการละเมิดนโยบายของพวกเขาเกี่ยวกับ "การบิดเบือนระบบ" (platform manipulation)

ทางโซเชียลมีเดียเปิดเผยรายงานฉบับนี้พร้อมรายละเอียดที่มาจากการสืบสวนสอบสวนและการวิเคราะห์ของศูนย์สังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ครั้งนี้ปลดไทยไอโอเยอะก็จริง แต่ไม่ได้เยอะที่สุดจากสถิติทั้งหมด และไม่ได้มีประสิทธิภาพขนาดนั้น

ซึ่งทางสแตนฟอร์ดนำเสนอว่าในการระงับบัญชีทวิตเตอร์ล่าสุดนี้ 926 รายที่้เป็นของไอโอกองทัพไทย ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในการไล่ปิดบัญชีปลอมในครั้งล่าสุดนี้ อย่างไรก็ตามในบันทึกข้อมูลเพื่อความโปร่งใสของทวิตเตอร์ระบุว่าเคยมีกรณีปิดบัญชีครั้งใหญ่กว่านี้ โดยที่บัญชีผู้ใช้งานของไอโอจีนถูกปิดไป 23,750 บัญชีก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบัญชีผู้ใช้ที่เน้นแพร่กระจายข่าวสารในเชิงสนับสนุนรัฐบาลจีนและสร้างเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง

สำหรับกรณีบัญชีผู้ใช้งานไอโอไทยที่ถูกปิดไปครั้งล่าสุดนี้ ทวิตเตอร์ระบุว่ามีการใช้งานแบบเน้นเข้าไปร่วมอวยเนื้อหาที่สนับสนุนรัฐบาลไทยและกองทัพไทย รวมถึงมีการตั้งเป้าโจมตีบุคคลที่มีชื่อเสียงของฝ่ายต่อต้านทางการเมือง เช่น บุคคลของพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่ากิจกรรมของกลุ่มไอโอเหล่านี้มีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. ปีนี้ ซึ่งในตอนนั้นมีกรณีเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์คือเหตุทหารกราดยิงที่นครราชสีมาจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย และเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่

สแตนฟอร์ดตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้บัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้จะมีการประสานงานกันแต่ก็มีผลลัพธ์ต่ำ บัญชีเหล่านี้แทบจะไม่มีผู้ติดตามและไม่มีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับเนื้อหาทวีตส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้มีปฏิบัติการเนื้อหาในช่วงเวลาที่จำกัด ส่วนใหญ่เป็นบัญชีผู้ใช้งานที่สร้างขึ้นในเดือน ม.ค. 2563 และยกเลิกการโพสต์ไปแทบทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2563 เป็นต้นมายกเว้นอยู่แค่สองบัญชีเท่านั้น

สแตนฟอร์ดตั้งข้อสังเกตอีกว่าไอโอเหล่านี้มักจะเน้นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่นคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ในช่วงที่มีคดีทหารยิงคนที่โคราชไอโอเหล่านี้ก็พยายามเบี่ยงเบนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ออกห่างจากกองทัพ หรือเน้นอวยว่าทหารแก้ไขวิกฤตได้อย่างงไร อย่างไรก็ตามในแง่ยุทธวิธีกลุ่มไอโอเหล่านี้มีลักษณะยุทธวิธีแบบพื้นฐานไม่กี่อย่าง เช่นการเน้นรุมแสดงความคิดเห็น (reply) ในเชิงสนับสนุนบัญชีผู้ใช้งานฝ่ายกองทัพ และใช้วิธีการรุมโจมตีทวีตของฝายต่อต้านรัฐบาล บัญชีจำนวนมากเหล่านี้พรางตัวได้ไม่เนียนนัก เช่นในส่วนของประวัติส่วนบุคคลนั้นไม่มีเขียนอะไรไว้รวมถึงใช้รูปโปร์ไฟล์ที่ขโมยจากที่อื่นมา

มีเว็บล็อกที่ชื่อ ART's Random Thoughts ตั้งข้อสังเกตว่าไอโอเหล่านี้มักจะโพสต์ในช่วงเวลาทำงานมากที่สุดโดยเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า ลดลงไปตอนช่วงพักเที่ยง และกลับมาเยอะอีกครั้งช่วงบ่ายโมง-บ่าย 3 โมง และหลังจากนั้นก็ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนการโพสต์เฉลี่ย ทั้งนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่ามีการโพสต์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยแม้จะมีปริมาณน้อยกว่าบ้าง

กลโกงไอโอของประเทศอื่น ๆ ล่ะ

นอกจากนี้รายงานของทวิตเตอร์ยังระบุถึงกรณีอื่นๆ เช่น กรณีของคิวบานั้นพวกเขาสั่งระงับบัญชีผู้ใช้งานปลอมที่ดำเนินการโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลคิวบาคือสหภาพยุวชนคอมมิวนิสต์ (UJC) และสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัย (FEU) รวม 526 บัญชี มีการตั้งข้อสังเกตจากสแตนฟอร์ดว่าบัญชีเหล่านี้มีกิจกรรมการทวีตมากขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2562-13 พ.ค. 2563 ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่รัฐบาลคิวบาเพิ่งขยายโครงข่าย 3G ในเดือน ธ.ค. 2561

ไอโอคิวบาเหล่านี้เน้นทวีตสนับสนุนอดีตผู้นำคิวบาราอูลและฟีเดล คาสโตร รวมถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบันมาเกล ดิแอซ-คาเนล รวมถึงการส่งเสริมชาตินิยมอื่นๆ เช่นการชื่นชมการทูตทางการแพทย์และระบบทางการแพทย์ของตัวเองในประเด็น COVID-19 รวมถึงเนื้อหาต่อต้านสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการพยายามกลับมารวมกลุ่มกันใหม่ภายใต้แฮชแท็ก #DeZurdaTeam และมีการใช้แฮชแท็กต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์เพื่อผลักดันให้ผู้ใช้งานแสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นแฮชแท็กเหล่านั้น

ไอโอประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถูกระงับไป 33 บัญชี มีบัญชีบางส่วนที่สร้างขึ้นโดยแอบอ้างตัวตนของผู้มีชื่อเสียงทางการเมืองกาตาร์ และใช้สร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเมืองกาตาร์ไปในเชิงที่จะส่งผลดีทางภูมิยุทธศาสตร์ต่อทางการซาอุฯ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อและลบทวีตเก่าๆ ที่จะทำให้พวกเขาถูกจับยุทธศาสตร์ได้ นอกจากนี้ยังสร้างข้อมูลแบบปั้นน่ำเป็นตัวขึ้นมาเอง เช่นเขียนแถลงการณ์ปลอมอ้างว่ามาจากองค์กรแอมเนสตีหรือฮิวแมนไรท์วอทช์ซึ่งแถลงการณ์เหล่านั้นไม่มีอยู่จริง

สำหรับกรณีรัสเซียนั้นทวิตเตอร์พบว่าบัญชีไอโอจำนวนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรข่าวปลอมที่เรียกว่า พีชเดตา (PeaceData) ซึ่งมีการถอนบัญชีเหล่านี้ออกจากบริการทันทีและระบุให้ลิงค์ต่างๆ ที่เข้าสู่เว็บไซต์ข่าวปลอมนี้เป็นลิงค์ที่ไม่ปลอดภัย มีการตั้งข้อสังเกตจากสแตนฟอร์ดว่าทวิตเตอร์เหล่านี้นอกจากโพสต์ลิงค์ข่าวแล้วยังมีการพยายามสร้างเครือข่าย และเชื่อมโยงสื่อแนวทฤษฎีสมคบคิด นอกจากนี้ยังมีบางทวีตที่พูดถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2563 ในเชิงกระตุ้นให้เกิดข้อโต้แย้ง หรือบางทีก็โพสต์พาดหัวข่าวอย่างหนึ่ง แต่เนื้อหาในลิงค์รายงานเป็นเรื่องอื่น ไอโอรัสเซียถูกระงับไป 5 บัญชี

กรณีไอโอของอิหร่านนั้นมีการใช้วิธีการ "เชิงมุ่งร้าย" อย่างการขโมยบัญชีผู้ใช้งานจริงนำมาเป็นของตัวเอง โดยที่จากจำนวนที่ระงับการใช้งานทั้งหมด 104 บัญชี มี 23 บัญชีเป็นปัญชีปลอม และมี 81 บัญชีที่เป็นบัญชีจากการแฮ็กขโมยจากผู้ใช้งานจริงมา และหลังจากที่สามารถแฮ็กบัญชีเหล่านี้ได้ก็มีการนำมาใช้โพสต์เนื้อหาจำพวก #BlackLiveMatter ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ ช่วงกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเนื่อหาอื่นๆ เช่นการแชร์ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็มีการรีทวีตเนื้อหาจากบัญชีของทรัมป์ด้วย ส่วนเนื้อหาที่โพสต์เป็นภาษาอาหรับจะเน้นกล่าวหาคนที่วิจารณ์รัฐบาลคูเวต 2 คนว่าเป็นคนใช้ยาเสพติดและลักลอบค้ายาเสพติด

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าไอโออิหร่านมีการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเหล่านี้ในช่วงปลายเดือน ม.ค. ปีนี้ โดยมักจะใช้ชื่อทั่วๆ ไป แต่ตามหลังด้วยตัวเลขต่างๆ บางครั้งก็เป็นตัวเลขยาว เช่น "Jennife55580973" มีการปลอมแปลงประวัติให้ดูมีอาชีพต่างๆ มีบัญชีที่สร้างในวันเดียวกันคือวันที่ 25 ม.ค. ระบุแอบอ้างให้ตัวเองเป็นอาชีพนักข่าวเหมือนกันหมด

ในส่วนของบัญชีที่ถูกแฮ็กนั้นสแตนฟอร์ดระบุว่าส่วนใหญ่แล้วมีการแฮ็กมาจากผู้ใช้งานในอังกฤษ ผู้ที่ถูกแฮ็กขโมยบัญชีมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ ครูประถมศึกษา พรีเซนเตอร์รายการโทรทัศน์ นักข่าว บัญชีผู้ใช้งานรายใหญ่ที่สุดที่พวกเขาขโมยได้มีผู้ติดตาม 508,800 ราย ขณะที่บางกรณีขโมยจากบัญชีที่มีผู้ติดตามเพียง 101 ราย โดยที่ไม่ทราบว่าพวกเขาขโมยบัญชีผู้ใช้งานที่มีผู้ติดตามน้อยนี้ไปทำไม


เรียบเรียงจาก

Disclosing networks to our state-linked information operations archive, Twitter, 08-10-2020

Hacked and Hoaxed: Tactics of an Iran-Linked Operation to Influence Black Lives Matter Narratives on Twitter, Standford Internet Observatory, 08-10-2020

Analysis of Twitter Takedowns Linked to Cuba, the Internet Research Agency, Saudi Arabia, and Thailand, Stadford Internet Observatory, 08-10-2020

Disclosing networks of state-linked information operations we’ve removed, Twitter, 12-06-2020

รายงานความโปร่งใสเกี่ยวกับ Information Operation ของ Twitter

มอง IO ผ่านข้อมูล Twitter, ART's Random Thoughts, 09-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net