Skip to main content
sharethis

'ก้าวหน้าทอล์ค' ย้ำจุดยืน 'คณะก้าวหน้า' ลงท้องถิ่น - ชวนคุยประเด็นร้อน สภาเยอรมันถกกรณีกษัตริย์ไทย ใช้ประเทศตัดสินใจการเมือง - ทวิตเตอร์ระบุ IO กองทัพไทยใช้ภาษีประชาชนสร้างความเกลียดชัง

ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา แกนนำคณะก้าวหน้า นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมจัดรายการเฟซบุคไลฟ์ประจำสัปดาห์ “ก้าวหน้าทอล์ค” โดยมีการพูดถึงในประเด็นว่าด้วยการเปิดตัวผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของคณะก้าวหน้า และกรณีร้อนการอภิปรายในรัฐสภาเยอรมนีเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยที่พำนักอยู่ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนีในขณะนี้

"ธนาธร" ย้ำหลักการสำคัญ "คณะก้าวหน้า" ลงท้องถิ่น - ไม่ซื้อเสียง-ใช้นโยบายสู้

ในช่วงเริ่มต้นรายการ เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะมาถึงในช่วงเดือนธันนวาคม 2563 นี้ ซึ่งคณะก้าวหน้าได้มีการเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกกตั้งเป็นนายก อบจ.ไปเมื่อช่วงเช้า (9 ต.ค.) โดย นายธนาธร ระบุว่า หากย้อนไปดูการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2555-2557 โดยเฉลี่ยมีผู้มาใช้สิทธิเพียงประมาณ 54% ทั่วประเทศ เรื่องนี้สะท้อนอยู่ 2-3 ประเด็น นั่นคือความเชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือไปเลือกแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จึงทำให้ประชาชนที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นตัดสินใจกลับไปเลือกตั้งท้องถิ่นเน้อย แต่ในวันนี้ คณะก้าวหน้าตั้งใจทำการเมืองท้องถิ่นภายใต้หลักการใหญ่ๆ คือการไม่ซื้อเสียง เพราะการซื้อเสียงคือจุดเริ่มต้นของวงจรการทุจริตและระบบอุปถัมภ์ การตัดสินใจที่ไม่เป็นอิสระ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
   
"หลังการแถลงข่าวช่วงเช้า เราได้มีการสัมมนาผู้สมัครทั้ง 32 ทีมในช่วงบ่าย ตนได้บอกกับทุกคนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าอยากร่ำรวยอย่ามาทำงานตรงนี้ เป็นนายก อบจ.มีเงินเดือน 6 หมื่นกว่าบาท เป็นสมาชิกสภา อบจ.มีเงินเดือน 3 หมื่นกว่าบาท เจอภาษีสังคมไปก็เกือบหมดแล้ว ถ้าอยากรวยก็อย่ามาสมัครเป็นผู้สมัครการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ขอให้ไปทำธุรกิจหรือไปลงสมัครกับที่อื่น แต่ถ้าเชื่อว่าตนเองมีศักยภาพ สามารถทำให้ประเทศดีได้ แม้ไม่ใช่คนนามสกุลใหญ่โตแต่อยากทำให้ประเทศดีขึ้น มาถูกที่แล้ว และเราเชื่อว่าคณะก้าวหน้าจะสามารถสสร้างการเมืองท้องถิ่นที่ดี ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้" นายธนาธร กล่าว

ชี้เลือกตั้ง 13 ธ.ค.เหมาะสุด - จี้รัฐบาลส่งเสริมคนออกไปใช้สิทธิ์

นายธนาธร กล่าวต่อไป ว่าวันนี้แม้ ครม.จะมีมติออกมาแล้วให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้ แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดวันลงไปชัดเจน และถ้าหากไปดูความเป็นไปได้ อาจจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งได้สองตัวเลือก คือวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันหยุดยาวที่ต่อเนื่องมาจากวันรัฐธรรมนูญ สัปดาห์ต่อมาคือวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม และวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม ซึ่งวันที่ 27 ธันวาคมเป็นการหยุดยาวช่วงปีใหม่แล้ว เป็นวันหยุดที่ทุกคนจะออกไปเที่ยวกัน ดังนั้น จึงเหลือวันที่ 20 ธันวาคมที่จะจัดการเลือกตั้งได้ นอกเหนือจากวันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งหากมีการจัดวันเลือกตั้งให้เป็นวันที่ 20 ธันวาคม นั่นเท่ากับว่าประชาชนจะต้องเดินทางกลับบ้านถึง 3 ครั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งแน่นอนว่าจะมีคนเดินทางกลับมาเพียงเพื่อเลือกตั้งน้อยมาก ในสภาวะที่รายได้ของประชาชนลดลงเช่นนี้ ที่สำคัญ การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต มีแต่ไปเลือกตั้งหรือไม่ไปเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขเช่นนี้แล้ว วันเลือกตั้งท้องถิ่นจะถูกจัดขึ้น หากไม่ใช่วันที่ 13 ธันวาคม ก็เป็นวันที่ 20 ธันวาคมเท่านั้น หากวันที่ 13 ธันวาคม ประชาชนที่กลับบ้านช่วงวันหยุดยาววันรัฐธรรมนูญจะได้ออกไปเลือกตั้งในวันอาทิตย์ก่อนกลับมาทำงานอีกครั้ง
   
"ภายใต้วิกฤติโควิดที่ประชาชนมีรายได้ลดลง การทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิได้โดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้สิทธิ ก็ต้องออกแบบวันเลือกตั้งให้ประชาชนมีภาระการเดินทางที่ต่ำที่สุด วันนี้คณะก้าวหน้าพร้อมแล้ว เราได้เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.ไปแล้ว 32 จังหวัด คำถามคือรัฐบาลพร้อมหรือเปล่า ถ้าอยากจะให้ปปะชาชนไปใช้สิทธิให้เยอะที่สุดด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุด วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคมคือวันที่เหมาะสมที่สุด แต่วันนี้กลับจะเลือกวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 20 ธันวาคม หมายความว่าวันเลือกตั้งที่ 20 ธันวาคมคนจะไม่กลับไปใช้สิทธิ และนั่นก็คือข้อกังวลของเรา และเราเข้าใจว่าการเลือกวันที่ 20 ธันวาคม  ในทางหนึ่งก็เพื่อต้องการลดเสียงของกลุ่มที่ต้องการจะมาเลือกผู้สมัครของคณะก้าวหน้าหรือเปล่า? เราตั้งข้อสังเกตเช่นนี้” นายธนาธร กล่าว

ยังไม่ปิดรับสมัครผู้สนใจลงชิง อบจ. ในนาม "คณะก้าวหน้า"

นายธนาธร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เรายังมีจังหวัดที่อยู่ในระหว่างพิจารณา อยู่ในกระบวนการคัดกรองตัวผู้สมัครอยู่อีก 6-7 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่เราแถลงไปเมื่อเช้านี้ ก็ยังเปิดรับผู้สมัครอยู่ หากใครมีอุดมการณ์เดียวกับเราที่ต้องการสรรค์สร้างประชาธิปไตยในประเทศ มีศักยภาพ ต้องการพัฒนาท้องถิ่น ตนขอเชิญชวนทุกคนให้มาทำงานกับพวกเรา ร่วมเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นและประเทศไทยร่วมกับพวกเรา โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดและสมัครเข้ามาทางเว็ปไซต์ของพวกเราได้ เวลาตอนนี้เหลืออยู่อีกประมาณสองเดือน เราอยากส่งผู้สมัครให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรายังต้องการคนที่มีอุดมการณ์เหมือนพรรคอนาคตใหม่เดิม มาร่วมทาง เปลี่ยนแปลงประเทศไทยกับพวกเราอีกเป็นจำนวนมาก
  
“งบเฉพาะ อบจ.อย่างเดียวปีนึงตกประมาณ 8 หมื่นล้าน หมายความว่าเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้เรากำลังเลือกตัวแทนของคน 76 จังหวัด เลือก 76 คนไปบริหารเงิน 8 หมื่นล้านต่อปี 3.2 แสนล้านใน 4 ปี นี่คือมูลค่าของงบประมาณที่วางอยู่บนโต๊ะสำหรับคนที่จะลงเลือกตั้งในกลางเดือนที่จะถึง ดังนั้นฝากไว้ เงินก้อนนี้ไม่ได้หล่นลงมาจากท้องฟ้า เงินก้อนนี้มาจากภาษีของพวกเราทุกคน ถ้าเราอยากให้ภาษีของเราถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องเริ่มตั้งแต่ตัวเราที่จะสนใจตรวจสอบการใช้ภาษีเหล่านี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ตัวเราที่ใส่ใจในการถามหาถึงนโยบายของผู้สมัครลงนายก อบจ. มาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกันครับ” นายธนาธรกล่าว

ชวนคุยกรณีสภาฯ เยอรมันตั้งคำถามการพำนักอยู่ในดินแดนของกษัตริย์ไทย

นายธนาธรและนางสาวพรรณิการ์ได้ชวนกันพูดคุยถึงกรณีที่รัฐสภาเยอรมนีมีการอภิปรายในรัฐสภา ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ถึงกรณีสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีการชุมนุมประท้วงและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ท่าทีของประเทศเยอรมนีจะมีการกดดันให้สหภาพยุโรปยุติการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทยหรือไม่? รวมทั้งในกรณีที่พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีและมีการใช้พระราชอำนาจมาจากประเทศเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร? ซึ่งการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีได้ให้คำตอบว่า การระงับการเจรจา FTA เป็นหนึ่งในทางเลือก แต่เยอรมนีไม่ต้องการให้ไปถึงจุดนั้นและมุ่งหวังที่จะให้เกิดการพูดคุยกันเพื่อแสดงความกังวลต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลไทย และจะมีการจับตาสถานการณ์ในประเทศไทยต่อไปอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีพระมหากษัตริย์ไทยที่พำนักอยู่ในเยอรมนีและใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมันนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลเยอรมนีมีความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ปล่อยให้เกิดการตัดสินใจที่กระทบต่อประเทศไทยถูกกระทำบนดินแดนของเยอรมนีได้
    
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวว่าสิ่งที่ ส.ส. คนนี้ตั้งคำถาม คือพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในฐานะประมุขของรัฐไทย มีการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศที่เป็นประมุขอยู่ในดินแดนของเยอรมนีได้อย่างไร?

"ธนาธร" ชี้เป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ - แนะต้องยอมรับข้อเท็จจริง-พูดคุยด้วยเหตุผลเพื่อหาทางออก

ขณะที่ นายธนาธร ระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกิดการถกเถียงกันในรัฐสภาซึ่งเป็นที่ ๆ ทรงอำนาจสูงสุดในเยอรมัน มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแน่นอน มีการพูดถึงการถอนการเจรจา FTA เราในประเทศไทยไม่สามารถเพิกเฉยได้ แต่ต้องพูดกันด้วยเหตุด้วยผลและยอมรับความจริง เพราะมีคนจำนวนมากที่พอพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วรู้สึกว่าถูกคุกคามจิดใจ เราไม่ต้องการพูดเพื่อทำร้ายจิตใจใคร แต่เราต้องการพูดด้วยความหวังดี เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอยู่คู่กับประชาธิปไตยและสังคมไทยได้

“นี่คือข้อความหลักที่ผมอยากจะส่งไปให้กับกลุ่มคนที่รู้สึกไม่สบายใจ กระอักกระอ่วน เมื่อมีคนพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ถูกพูดขึ้นแล้ว ไม่ได้ถูกพูดขึ้นในประเทศไทยด้วย แต่ถูกพูดขึ้นในการอภิปรายในรัฐสภาของเยอรมัน คงจะเพิกเฉยต่อมันไม่ได้ แต่ผมอยากขอร้องให้ทุกฝักทุกฝ่ายพูดด้วยความเข้าใจกัน พูดกันด้วยเหตุผล พูดกันด้วยข้อเท็จจริง เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝักทุกฝ่าย แต่จะเพิกเฉย ทำเหมือนเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น ทำเหมือนเรื่องนี้ไม่มีจริงต่อไปก็คงจะไม่ได้แล้ว” นายธนาธรกล่าว

เปิดโปง IO กองทัพ “โป๊ะแตก” ถูกลบกว่า 926 บัญชี - "อนาคตใหม่" เป้าเยอะสุด

จากนั้นทั้งสองได้ร่วมกันพูดคุยต่อถึงประเด็นทวิตเตอร์เปิดโปงปฏิบัติการ IO โดยรัฐ ที่ใช้แพลทฟอร์มทวิตเตอร์ในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และละเมิดนโยบายของทวิตเตอร์ ซึ่งประกอบไปด้วย 1,594 บัญชีใน 5 ประเทศ คืออิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คิวบา ไทย และรัสเซีย ซึ่งบัญชีที่ถูกสั่งปิดไปในประเทศไทยอย่างเดียว มีจำนวนมากถึง 926 บัญชี ที่เชื่อมโยงกับกองทัพไทย มีเนื้อหาสนับสนุนกองทัพ สนับสนุนรัฐบาล และโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เดิมและพรรคก้าวไกล ซึ่งกรณีนี้ นางสาวพรรณิการ์เล่าถึงเรื่องนี้ โดยเชื่อมโยงไปถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ที่เอาข้อมูลมาเปิดเผย ว่าปฏิบัติการ IO ของกองทัพไทยเป็นปฏิบัติการคุณภาพต่ำ ในจำนวน 926 บัญชี มีถึง 684 บัญชีที่ไม่มีผู้ติดตามเลย และเกือบ 800 บัญชีไม่เคย tweet อะไรนอกจาก retweet ปั่นกระแสอย่างเดียว โดยมียอด engagement ที่ต่ำมากในระดับ 0.26 ต่อ tweet จนนักวิจัยเรียกว่าเป็นปฏิบัติการ “เชียร์ลีดเดอร์นำเชียร์ที่ไม่มีกองเชียร์จริง” นอกจากนี้ รายงานของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดยังระบุด้วยว่าบัญชีที่เป็นปฏิบัติการของกองทัพไทยนี้ มีการ mention ถึงบัญชีของสมาชิกและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลอย่างน้อย 9 คน โดยบัญชีของตนเป็นปัญชีที่ถูก mention มากที่สุด หมายความว่าเราเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของปฏิบัติการเหล่านี้
  
“พูดตรงๆ ว่าพรรคเราในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง/นักการเมืองไม่ได้รับผลกระทบมากมายอะไรจากปฏิบัติการของ IO ในทวิตเตอร์ เพราะมันประสิทธิภาพต่ำมาก พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีฝีมือ มันไม่สามารถทำอะไรได้ ต่างจากในเฟซบุคซึ่งถือว่ามีขุมกำลังที่น่ากลัวอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่เรากังวลมากกว่าผลกระทบต่อเราก็คือภาษีของประชาชนเนี่ย ถูกนำไปใช้ในการยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนหรือ?” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

ถามดังๆ เอาภาษีประชาชนไปใช้สร้างความเกลียดชังได้อย่างไร-วอนเรียนรู้ 6 ตุลา 19 การฆ่ากันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา

ด้านนายธนาธร กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้ตนจำเป็นต้องพูดถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ทั้งคนเก่าและคนใหม่ เมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่แล้วตอนที่ตนยังเป็นกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ระหว่างที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. มาชี้แจงงบประมาณของกองทัพบก ตนได้ถาม พล.อ.อภิรัชต์ว่าตกลงกองทัพมีปฏิบัติการ IO หรือไม่? เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญ พล.อ.อภิรัชต์ตั้งใจที่จะไม่ตอบเรื่องนี้ แต่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ตอบต่อที่ประชุม ว่ากองทัพไม่มีปฏิบัติการ IO  ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งในกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในระหว่างที่เป็นกรรมาธิการความมั่นคง ก็เคยเชิญ พล.อ.อภิรัชต์มาถามคำถามนี้ ซึ่งก็ได้คำตอบเหมือนกันคือไม่มี แต่วันนี้ปรากฏว่าสิ่งที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บวกกับการเปิดโปงโดยทวิตเตอร์เองนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าวันนี้มีการเอาภาษีของประชาชนมาสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนให้เกลียดชังกันเอง
   
"วันนี้เราอยู่ในเดือนตุลาคม เราเพิ่งผ่านการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นอาชญากรรมโดยรัฐมาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง มีประชาชนที่ถูกสังหารกลางกรุงเทพอย่างโหดเหี้ยม แล้วพื้นฐานของการอนุญาตให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นในวันที่ 6 ตุลาคม ก็เกิดจากการสร้างความเกลียดชังให้ประชาชนเกลียดชังกันเอง  สังคมที่สร้างความเกลียดชัง เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังไว้ พอมันเติบโตขึ้นมาแล้วมันหยุดไม่อยู่ รูปแบบการทำงานของรัฐไทยเป็นอย่างนี้มาตลอด คือปลุกปั่นยุยง สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เมื่อประชาชนแตกแยกกันก็เป็นความชอบธรรมที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ ที่ทหารจะเข้ามาปราบปราม ตนคิดว่าเรื่องนี้น่ากลัวมาก และขอยืนยันว่า 1.มันเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เอาภาษีของประชาชนมาทำให้ประชาชนเกลียดกันเองไม่ได้ 2.การเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังสุดท้ายจะนำไปสู่ความรุนแรง ไปดูสงครามที่ไหนก็อย่างนี้ เกลียดกันเพราะความเชื่อทางศาสนา เพราะสีผิว เพราะชาติพันธุ์ เพราะความเชื่อทางการเมืองเพียงเพื่อต้องการรักษาอำนาจไว้ กรณีนี้ก็เหมือนกัน" นายธนาธร กล่าว
    
นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า คถ้าเราต้องเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคมสักอย่างหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องนี้ ว่าการสร้างความเกลียดชังไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา จะนำไปสู่การเข่นฆ่ากัน จะนำไปสู่ความรุนแรงในท้ายที่สุด ตนเชื่อว่าสังคมจะเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ความเกลียดชังที่เราต้องการ แต่เป็นการหันหน้าเข้าหากัน ขับเคลื่อนสังคมด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน ขับเคลื่อนสังคมด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ขับเคลื่อนสังคมด้วยความเกลียดชัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net