Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: สมัชชาคนจน Assembly of the Poor

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 หลายสื่ออาทิ The Reportersบ้านเมือง | ข่าวสด รายงานว่ากลุ่มสมัชชาคนจนจัดเวทีระดมความคิดแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนโปร่งขุนเพชร ที่อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ โดยได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมหารือแก้ปัญหา โดยมีพันตำรวจเอก ทวีสอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการที่ดินฯ, นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการที่ดินฯ, นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ฯ มาร่วมหารือ และทางกลุ่มสมัชชาคนจนได้เชิญนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีมาร่วมหารือด้วยแต่ไม่สามารถมาได้

ที่บ้านห้วยทับนายน้อยวันนี้จึงเต็มไปด้วยสมาชิกจากกลุ่มสมัชชาคนจนและกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาที่มาร่วมกันสะท้อนปัญหาและส่งกำลังใจแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 28 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพชรที่ได้อนุมัติให้ก่อสร้างในยุครัฐบาล คสช. ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ สามารถกักเก็บน้ำได้แล้ว ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงนี้ทำให้มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง บ้านเรือน 28 หลัง รวมทั้งเส้นทางเข้าหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหาย

พันตำรวจเอกทวี  นำ ส.ส.ฝ่ายค้าน ลงพื้นที่เดินเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยได้เยี่ยมบ้านทราบว่า ชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็น "ชาวบน"  ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยหากินอยู่กับป่า บรรพบุรุษตั้งเดิมมีภาษาของตนเอง อาศัยหากินอยู่ในป่าโดยไม่ปักหลักถิ่นฐาน แต่ในรุ่นหลังได้เริ่มสร้างกระท่อมปักหลักอาศัยอยู่บนเขา จึงทำให้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน หากินโดยปลูกพืชไร่ เช่นข้าวโพดและมันสำปะหลังบนพื้นที่ภูเขา แต่ภายหลังสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมบ้านและพื้นที่เพาะปลูกเสียหาย

พันตำรวจเอกทวี ได้พูดคุยกับชาวบ้านว่า "ในฐานะฝ่ายค้านเพื่อประชาชน เราต้องทำให้หมู่บ้านอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและสันติภาพให้ได้ ซึ่งสันติภาพจะต้องประกอบด้วยสามองค์ประกอบ คือ หนึ่ง ประชาชนต้องอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนต้องมีปัจจัยสี่ที่สมบูรณ์ ต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และได้รับความยุติธรรม การปกครองของทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะระบอบใดต้องมีองค์ประกอบนี้ วันนี้เราเห็นว่าพี่น้องประชาชนที่นี่ยังไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมีแผ่นดินเกิดแต่ไม่มีแผ่นดินตาย" 

"องค์ประกอบที่สองคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายที่ดีที่ประชาชนรักและหวงแหน ต้องยอมรับว่าการลงทุนสร้างเขื่อนต้องใช้เงิน แต่การลงทุนสร้างกฎหมายที่ดีไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งตามกฎหมายแล้วอาชญากรคือผู้ที่กระทำผิดกฏหมาย แต่อาชญากรที่น่ากลัวที่สุดคือผู้บงการให้ร่างกฎหมาย ถ้ากฎหมายเขียนขึ้นเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุขแต่คนจำนวนมากมีความทุกข์ นี่คือกฏหมายที่ไม่มีความยุติธรรม  ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 บอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เคยเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน หากเจ้าหน้าที่ไปบังคับใช้กฎหมายจริง ประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด 320 ล้านไร่  มีการทำระบบรวบรวมแผนที่ ปรากฏว่าพบข้อมูลว่ามีที่ดินของรัฐ 480 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ของประเทศทั้งหมด บางแห่งทั้งอำเภอเป็นที่ดินของรัฐทั้งหมด ที่ดินของรัฐคือเขตอุทยานหรือเขตป่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงแล้ว นั่นหมายถึงประชาชนทั้งหมดจะถูกจับกุม เพราะบุกรุกที่ดินของรัฐ! เราจะต้องไม่มองความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้นเราจะเห็นว่าหากประชาชนพิพาทกับรัฐแล้ว ข้าราชการจะช่วยเหลือประชาชนลำบาก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด”

"ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน รัฐจะต้องจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรมีเอกสารสิทธิ์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเป็นผู้ยากไร้ก่อน นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญดูถูกประชาชนว่าต้องไปพิสูจน์ว่าเป็นผู้ยากไร้ก่อน พิสูจน์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้ชี้ว่าคุณอยู่บนที่ดินนี้ได้หรือไม่ได้!" 

"มนุษย์เกิดมาต้องมีถิ่นที่อยู่อาศัย ต้องมีปัจจัยสี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องส่งเสริม และการพัฒนาจะต้องเป็นสิทธิ์ของคนในชุมชนว่าจะพัฒนาอย่างไร ไม่ใช่ให้คนส่วนกลางมาคิด และประโยชน์จากการพัฒนานั้นจะต้องเป็นของประชาชนในพื้นที่" 

"ทฤษฎีการมองที่ดินของรัฐแย่มาก หากใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 ปัญหาเรื่องที่ดินก็จะจบลง เพราะในรัฐธรรมนูญมีเขียนไว้ว่า รัฐต้องจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร คนในชนบท ให้มีกรรมสิทธิ์ และต้องไม่พรากคนในพื้นที่ออกจากพื้นที่"  

"องค์ประกอบที่สามคือผู้นำ ต้องมีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่คนชั่วที่แข็งแกร่งใช้คนซื่อสัตย์ที่อ่อนแอ ตามระบอบประชาธิปไตยนั้นผู้นำที่ดีต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผู้นำสูงสุดในประเทศไทยคือนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าผู้นำไม่ได้มาจากประชาชนก็จะมองความมั่นคงของรัฐและตัวเองสำคัญกว่าความมั่นคงของประชาชน" 

พันตำรวจเอกทวี  กล่าวเน้นย้ำว่า "การพัฒนาต้องควรต้องสิทธิของทุกคนมีส่วนรวมทุกขั้นตอนและคนทุกกลุ่มจะต้องได้รับประโยชน์ไม่ใช่บางส่วนได้ประโยชน์แต่พรากคนในพื้นที่ให้อพยพโดยไม่มีที่อยู่ การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทำให้น้ำท่วมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือกฏหมายฝ่ายบริหาร คือ มติ ครม.ในการชดเชยความเสียหายที่ทำให้ชาวบ้าน 28 ครัวน้ำท่วมเพื่อโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ทำไมจึงยากแสนยากที่กรณีกลุ่มคนรวยจะมีมติ ครม ช่วยเหลืออย่างง่ายๆ ไม่ต้องพิสูจน์ความลำบากด้วยการด้อยค่าของมนุษย์ ต้องให้หาหลักฐานแสดงบอกว่ามาอยู่ก่อนทั้งที่วิถีชีวิตและประเพณีคนดงจะอยู่กับป่าหลักฐานที่รัฐต้องการจะไม่มีความรู้หรือหามาแสดงได้อยาก ความจริงรัฐมีข้อมูลอยู่แล้ว มีข้อมูลท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและฟังเสียงประชาชน ส่งให้ ครม.อย่างรอบด้านเพื่อได้ทราบและใช้ตัดสินใจด้วย" 

"วันนี้ฝ่ายการเมืองได้มารับฟังข้อมูล เพื่อเป็นข้อมูลช่วยเหลือ และส่งต่อให้รัฐบาลต้องแก้ไข และหากยังไม่ดำเนินการจะใช้ช่องทางสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อนต่อไป ตามแนวทางประชาธิปไตยแล้วสิทธิสิริภาพไม่ได้อยู่แค่ในรัฐสภา แต่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทุกที่ เราจะต้องรวมตัวกัน เพื่อทวงอำนาจและความเป็นธรรมแก่ประชาชน"  

ภายหลังตัวแทน ส.ส.ได้หารือเสร็จแล้ว ชาวบ้านบ้านห้วยทับนายน้อยและสมัชชาคนจน ได้อ่านแถลงการณ์ส่งเสียงต่อรัฐบาลว่า สมัชชาคนจนขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ และความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจ ต้องมีมติ ครม.ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจังหวัดแพร่ หรือเขื่อนยมบน-ยมล่าง และให้ดำเนินการเร่งรัดการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร จังหวัดชัยภูมิ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563  หากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนอย่างที่เคยกระทำในระยะที่ผ่านมา  สมัชชาคนจนก็พร้อมแล้วที่จะเดินทางไปปักหลักชุมนุมยืดเยื้อที่กรุงเทพมหานคร  

นอกจากนี้ในเพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor ยังได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ 'สมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนโป่งขุนเพชร จังหวัดชัยภูมิ' โดยระบุว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งพวกเราชาวบ้านก็ได้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนมาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 พวกเราได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมัชชาคนจน และได้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จนมาถึงในปี 2543  รัฐบาลได้มีมติให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร

แต่ในปี 2555 รัฐบาลกลับมีมติให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร แต่เกิดกรณีทุจริตเรื่องค่าชดเชยหมู่บ้านผี โครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวจึงเงียบหายไป กระทั่งปี 2559 รัฐบาล คสช. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มีการอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร ด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งพวกเราก็ยังคงมีการคัดค้านการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร แต่ด้วยอำนาจเผด็จการทหารจึงมิอาจต้านทานได้ จนมีการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา และได้มีการปิดประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ได้ส่งผลให้น้ำเข้ามาท่วมบ้านและท่วมถนนเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านห้วยทับนายน้อย

และถึงแม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ที่ 334/2562 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2562 โดยมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง แต่ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้าและเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เท่าทันกับสถานการ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

ดังนั้น พวกเราขอประกาศว่า แม้เขื่อนโป่งขุนเพชรจะมีการกักเก็บน้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงน้ำจะท่วมบ้าน เราก็สู้ไม่ถอยจะขอปักหลักอยู่ที่นี่ต่อไป จนกว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาโดยการจัดสรรที่ดินตามข้อเรียกร้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net