ศูนย์ทนายฯ เปิดตัวเลขการคุกคามเกือบ 3 เดือน 179 คน ดำเนินคดีอีก 23 คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดรายงานการคุกคามติดตามรวมถึงการดำเนินคดีตลอดช่วงเกือบ 3 เดือน มากถึง 179 คน แบ่งเป็นเกี่ยวกับการชุมนุม 145 คน โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 34 คน และมีการดำเนินคดีอีก 65 คน 23 คดี

ภาพโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

13 ต.ค.2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดรายงานการคุกคามติดตามรวมถึงการดำเนินคดีตลอดช่วงเกือบ 3 เดือนนับตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา จนมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัดโดยมีจำนวนทั้งสิ้นอย่างน้อย 246 การชุมนุม ในพื้นที่อย่างน้อย 62 จังหวัดโดยมีกิจกรรมที่ไม่สามารถจัดได้ 15 กิจกรรม เนื่องจากมีการกดดันจากโรงเรียนและเจ้าหน้าที่รัฐจนต้องยกเลิกกิจกรรมไป

แต่นอกจากการชุมนุมทางการเมืองที่จัดไม่ได้แล้ว ศูนย์ทนายความฯ ระบุตัวเลขการคุกคามรวม 179 คน โดยแบ่งเป็นมีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 145 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีที่เป็นนักเรียน 29 คน และเป็นนักศึกษาจำนวน 25 คน บางรายถูกคุกคามซ้ำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายครั้งในช่วง 3 เดือนนี้

รายงานแจงรูปแบบการคุกคามว่ามีการไปถึงที่บ้าน สถานศึกษา หรือโทรศัพท์ติดตามตัว มีการพูดจาข่มขู่จะโดน “แบล็คลิสต์” และขู่ด้วยการจะดำเนินคดีด้วยข้อหาเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุโพสต์ชวนชุมนุม รวมไปถึงการขัดขวางการจัดการชุมนุมโดยการข่มขู่ผู้ประกอบการที่รับจ้างจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุม

อีก 34 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามด้วยเพราะโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่เพียงแชร์ข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ที่ถูกคุกคามเป็นนักเรียน 9 คน และนักศึกษา 14 คน ซึ่งลักษณะการคุกคามของเจ้าหน้าที่เป็นการไปติดตามที่บ้านโดยไม่มีหมายเรียกและหมายค้น โดยมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวและขอให้ลบโพสต์ที่มีเนื้อลักษณะดังกล่าวหรือให้ยุติการใช้เฟซบุ๊กไปเลย และให้ลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกข้อตกลง (MOU) ยอมรับว่าการแชร์ดังกล่าวไม่เหมาะสมและจะไม่ทำอีก นอกจากนั้นยังมีการขู่ใช้ มาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หากไม่ยินยอมกระทำตาม แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายหรือไม่ได้แบบฟอร์มของทางราชการใดๆ

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองแล้ว 65 คน 23 คดีด้วยข้อหาต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมโรค รวมถึงการใช้ข้อหาปลีกย่อยอื่นๆ ด้วยเช่น พ.ร.บ.จราจรฯ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เป็นต้น

ในส่วนการสรุปของรายงานระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเพียงบางส่วนของรายงานการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นเท่านั้น เนื่องจากตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายังมีการคุกคามรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมแต่ละครั้งด้วยทั้งการล้อมรั้วการทำกิจกรรม การตั้งกล้องเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของผู้ชุมนุม เป็นต้น และนอกจากเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ครูและบุคลากรในโรงเรียนก็มีบทบาทในการแทรกแซงและปิดกั้นการแสดงออกของนักเรียนด้วย

รายงานยังระบุอีกว่าสถานการณ์การคุกคามนี้สวนทางกับข้อเรียกร้องตั้งต้น 3 ข้อ ของการชุมนุมตั้งแต่เยาวชนปลดแอก นอกจาก “การหยุดคุกคามประชาชน” จะไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว การคุกคามดูเหมือนยังดำเนินต่อไปในวงกว้าง มิหนำซ้ำยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “เคยชิน” หรือเป็น “เรื่องปกติ” ในสังคมไทย และไม่มีทีท่าจะยุติลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท