คนรุ่นใหม่ไนจีเรีย หัวหอกจัดตั้งการชุมนุม #EndSARS ต้านความรุนแรงจากกองกำลังรัฐบาล

ในประเทศไนจีเรีย มีคนรุ่นใหม่ก็ขับเคลื่อนการประท้วงบนท้องถนนเพื่อต่อต้านความรุนแรงจากหน่วยงานพิเศษของตำรวจที่เรียกว่าหน่วย "ซาร์ส" ลบภาพเหมารวมของผู้นำรัฐบาลที่ชอบกล่าวหาว่าเยาวชนเหล่านี้ "ขี้เกียจ" เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่จัดตั้งและทำให้เกิดการชุมนุมในระดับประเทศได้โดยเป็นการจัดตั้งแนวระนาบที่ไม่มีอำนาจแบบบนลงล่าง


ที่มาภาพ: TobiJamesCandid via Wikimedia CC BY 4.0.

ในช่วงที่ผ่านมามีแฮ็ชแท็ก #EndSARS เป็นหนึ่งในแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมในทวิตเตอร์ ซึ่งพูดถึงหน่วยงานกองกำลังพิเศษของไนจีเรียที่เรียกว่ากองกำลังพิเศษต่อต้านการปล้นทรัพย์ (Special Anti-Robbery Squad หรือ SARS) ที่เป็นหน่วยงานที่อื้อฉาวในเรื่องการใช้กำลังจับกุม ข่มขู่คุกคาม และสังหารประชาชน โดยไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยที่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ในไนจีเรียนำการประท้วงในวงกว้างในหลายแห่งของประเทศเรียกร้องให้หยุดยั้งความรุนแรงจากตำรวจ

องค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเคยระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับหน่วยพิเศษของรัฐบาลไนจีเรียเอาไว้ว่าในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. 2560-พ.ค. 2561 มีกรณีการทารุณกรรมและการวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจากหน่วย SARS อย่างน้อย 82 กรณี ซึ่งกลุ่มคนรุ่นเยาว์ของไนจีเรียก็แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นนี้จากการประท้วงในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการจุดกระแสจากโซเชียลมีเดีย

เริ่มต้นจากแฮ็ชแท็ก #EndSARS (ยกเลิกกองกำลัง SARS) ในวันที่ 3 ต.ค. ที่แสดงให้เห็นถึงชายสองคนถูกกองกำลังนี้ลากตัวออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองลากอสแล้วใช้อาวุธปืนยิงใส่ชายคนหนึ่งกลางท้องถนน จนถึงวันที่ 9 ต.ค. แฮชแท็กนี้ก็มีคนทวีตต่อจนถึงระดับ 2.4 ล้านทวีตและกลายเป็นหัวข้อติดเทรนด์ที่พูดถึงกันมากในหลายประเทศ

ในเวลาต่อมากระแสทางโซเชียลมีเดียนี้ก็กลายมาเป็นการประท้วงบนท้องถนนในหลายๆ เมือง โดยที่กลุ่มเยาวชนที่เป็นผู้ทำการประท้วงในไนจีเรียคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากร 200 ล้านคนในประเทศ พวกเขาเหล่านี้มักจะถูกเหยียดหยามจากประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ของไนจีเรียว่าเป็น "พวกขี้เกียจ" ทั้งที่ในประเทศไนจีเรียกำลังประสบปัญหาคนไม่มีมีงานทำมากกว่า 13 ล้านคน และถึงแม้ว่าเยาวชนเหล่านี้จะถูกตราหน้าจากผู้นำว่า "ไม่จริงจัง" แต่พวกเขาก็สามารถทำการจัดตั้งและดำรงไว้ซึ่งการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ จากการที่เยาวชนในไนจีเรียมักจะเป็นเหยื่อที่ต้องเผชิญกับการข่มขู่ คุกคาม และทารุณกรรมจากตำรวจ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาไม่ได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์เป็นช่องทางเดียวในการสื่อสารและขับเคลื่อนการประท้วง แต่อาศัยช่องทางอื่นๆ เช่น วอทแอพพ์ ในการจัดตั้งแบบไม่มีศูนย์กลางด้วย โดยมีการใช้วิธีการทั้งการระดมทุนและใช้พื้นที่ออนไลน์อภิปรายเพื่อความโปร่งใสในการใช้ทุน

อย่างไรก็ตามในไนจีเรียผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับความรุนแรงถึงแก่ชีวิต มีคนอายุ 20-25 ปีเสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมเหล่านี้ล่าถอย และถึงแม้จะถูกกล่าวหาใส่ร้ายด้วยความเกลียดชังแต่ผู้ชุมนุมก็ไม่จ้องแก้แค้นแต่พยายานต่อต้านเรื่องเล่านี้ด้วยการกดดันเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเหตุอันควร บริหารจัดการเรื่องสวัสดิการการแพทย์ของผู้ชุมนุม และทำความสะอาดพื้นที่ชุมนุมทุกวัน

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่านอกจากการชุมนุมนี้จะจัดตั้งแบบไม่มีศูนย์กลางแล้ว ยังมีลักษณะที่ไม่แบ่งแยกทางเชื้อชาติศาสนาโดยเป็นการเรียกชุมนุมอย่างสันติโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนกลุ่มใด ทั้งที่จริงๆ แล้วในพื้นที่ทางการเมืองทั้งออนไลน์และออฟไลน์นั้นไนจีเรียมีความขีดแย้งเรื่องเชื้อชาติศาสนาร้อยแรงมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ขณะที่การประท้วง #EndSARS นี้เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ตำรวจเลือกใช้ความรุนแรงเป็นธงหลักโดยไม่เอาความขัดแย้งทางศาสนามาเกี่ยวข้อง

สื่อโกลบอลวอยซ์ระบุว่าขบวนการของไนจีเรียในตอนนี้มาจากความเจ็บปวดและโกรธแค้นไม่พอใจของประชาชนที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ทางการ รวมถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเหล่านี้ พวกเขาเปลี่ยนความเศร้าและความโกรธให้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนขบวนการอย่างสันติได้ โดยที่เป็นการจัดตั้งแบบไม่มีศูนย์กลางและไม่มีอำนาจจากบนลงล่าง ต่างจากขบวนการ #OccupyNigeria ในปี 2555 ที่ขบวนการแบบบนลงล่างทำลายขบวนการเสียเองหลังจากที่กลุ่มผู้นำขบวนการบางส่วนตกลงกับรัฐบาลได้แล้วปล่อยให้คนทั่วไปที่เข้าร่วมประท้วงรู้สึกถูกทอดทิ้งในขณะที่ฝ่ายผู้นำกลายเป็นผู้มีตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาล

เรียบเรียงจาก
‘Lazy’ Nigerian youth mobilize #EndSARS protest from social media to the streets, Global Voices, 14-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท