Skip to main content
sharethis

6 อดีต กสม. ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และเคารพสิทธิการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน พร้อมจี้ปล่อยแกนนำทุกคนที่ถูกควบคุมตัว และเปิดให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย - สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาต้องหาทางออกให้ประเทศ

16 ต.ค. 2563 จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกโดยการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน เพื่อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุติการคุกคามประชาชน รวมถึงปฏิรูปการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบันบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ล่าสุดได้มีการประกาศการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมดังกล่าวได้ยุติในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15ตุลาคม และได้มีการนัดชุมนุมต่อในเวลา 16.00 น. ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลได้สลายการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และจับกุมควบคุมตัวแกนนำเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม อีกทั้งต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 4.00 น. รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2543 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร

พวกข้าพเจ้าตามรายชื่อแนบท้ายมีความกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปราะบาง โดยเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาลขาดความชอบธรรม เนื่องจากการชุมนุมของประชาชนยังไม่มีแนวโน้มอันจะนำไปสู่การก่อให้เกิดความรุนแรง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจึงเป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมอย่างสงบสันติของประชาชน สร้างความหวากกลัว และเป็นการใช้อำนาจเกินเลยเพื่อสลายการชุมนุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ปล่อยให้มีการเผชิญหน้ากันของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอันอาจนำพาไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งการกระทำของรัฐบาลนอกจากไม่ช่วยคลี่คลายหรือลดความรุนแรงแล้ว ยังเป็นการขยายขอบเขตความขัดแย้งให้บานปลายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พวกข้าพเจ้าจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินร้ายแรง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลสามารถแก้ไขได้โดยใช้กฎหมายปกติ

2. ปล่อยแกนนำทุกคนที่ถูกควบคุมตัว และเปิดให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงใจในการหาทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

3. รัฐบาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (CCPR) ฉบับที่ 37 ตามข้อบทที่ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ขององค์การสหประชาชาติ (ICCPR) มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐต้องเคารพและประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง สลาย หรือรบกวนการชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากเหตุอันควร และจะต้องไม่ลงโทษผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือผู้จัดการชุมนุมโดยปราศจากเหตุที่ชอบธรรมตามกฎหมาย (ข้อ 23)

4. กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องจับกุม ควบคุมตัวประชาชนที่ใช้ความรุนแรงรัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับกุม ทั้งสิทธิในการพบญาติ ทนายความ รวมถึงผู้ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจ และหากผู้ถูกควบคุมตัวเป็นเด็กหรือเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักความยุติธรรมสำหรับเด็ก (juvenile justice) อย่างเคร่งครัด โดยให้มีสหวิชาชีพร่วมในการสืบสวนสอบสวนทุกครั้ง

ทั้งนี้ พวกข้าพเจ้าขอเน้นย้ำว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกได้อย่างอิสระและเปิดเผย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐจึงควรแก้ไขปัญหาขัดแย้งทางการเมืองโดยยึดแนวทางรัฐศาสตร์มากกว่าการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ควรมีความอดทน อดกลั้นและยืดหยุ่นเพื่อหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความสงบสันติคืนสู่สังคมไทย ลงชื่อ วสันต์ พานิช, สุนี ไชยรส, นัยนา สุภาพึ่ง, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, เตือนใจ ดีเทศน์, อังคณา นีละไพจิตร

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาต้องหาทางออกให้ประเทศ

ด้าน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาต้องหาทางออกให้ประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวน 22 คน ทั้งที่แกนนำได้ประกาศจะยุติการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับในเวลาหกนาฬิกา นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่า

1. การชุมนุมและการเดินขบวนของคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการถกเถียงกันอย่างอารยะ อันเป็นการแสดงออกตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย 

2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยอ้างว่า “มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน” แต่โดยข้อเท็จจริงการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หากมีผู้ชุมนุมมีการกระทำผิดกฎหมายใดก็ควรใช้กฎหมายปกติเอาผิดกับผู้กระทำผิดนั้นๆ ได้อยู่แล้ว นอกจากนี้การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุการณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการภาวะฉุกเฉินตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ต้องเกิดภัยคุกคาม “ความอยู่รอดของชาติ” ซึ่งต้องเป็นสถานการณ์เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ และการดำเนินชีวิตของประชาชนถูกคุกคาม และต้องเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้มาตรการปกติดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งไม่เป็นไปตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลแต่ประการใดและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีแต่ประการใด

3. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ดังเช่น การห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ห้ามเสนอข่าวของหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้ามใช้เส้นทาง หรือยานพาหนะ ห้ามใช้ เข้าไปหรืออยู่ในอาคาร อีกทั้งเป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสถาบันตุลาการ เช่น การจับกุมและควบคุมตัว การสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว การสั่งยึดหรือ อายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสั่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทำหรือให้ทำการใดๆ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมีการใช้กฎหมายปกติ

2. สถาบันรัฐสภาต้องมีบทบาทในการหาทางออกให้ประเทศ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยสันติ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน

3. สถาบันตุลาการต้องตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม  ดังกรณี การพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับ หรือการพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันตุลาการเป็นสถาบันสำคัญในการหาทางออกให้ประเทศตามกรอบอำนาจหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net