Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' แถลงข่าวกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน-ขบวนเสด็จฯ ผ่านพื้นที่ชุมนุม เสนอแก้วิกฤต เรียกร้องนายกลาออก-ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทันที-เปิดพื้นที่คุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะ ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นอ้างใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แถลงอีกหลังคุยตำรวจ ปลุกสื่อมวลชนยืนยันเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร

16 ต.ค. 2563 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่าที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงข่าวความเห็นต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการดำเนินคดีกรณีขบวนเสด็จ ในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายปิยบุตรเริ่มการแถลงข่าว ได้มีตำรวจเกือบ 10 นาย รวมถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางขึ้นมาที่ชั้น 5 ซึ่งเป็นห้องแถลงข่าวของคณะก้าวหน้า และพยายามจะเข้าไปในห้องแถลงข่าว แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลอาคารได้สอบถามถึงการใช้อำนาจและขอดูหมายตรวจค้น เนื่องจากเป็นสถานที่ของเอกชน เป็นอาคารเช่าที่ทางคณะก้าวหน้าได้ทำการเช่าพื้นที่ ทั้งนี้ จากการสอบถามทราบว่า เป็นตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน นำโดย พ.ต.อ.ชนะวรศิณธุ์ ศุภพนารักษ์ ผกก.สน.มักกะสัน

ตำรวจได้เปิดให้ดูรูปเอกสารการใช้อำนาจตรวจค้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แต่ฝ่ายดูแลอาคารยืนยันว่าจะขอดูที่เป็นเอกสาร ทำให้ต้องรอตำรวจอีกชุดหนึ่งซึ่งจะนำเอกสารมาแสดง ซึ่งเมื่อมาถึงปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวคือ "ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 3 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจตรวจค้นตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548" ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่า มีอำนาจตรวจค้นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางใดๆ ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ลงนามโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตรได้แถลงข่าวต่อไปจนจบ ขณะที่ในช่วงท้ายของการแถลงเมื่ออนุญาตให้ตำรวจเข้ามาในห้องแถลงข่าวได้ นายปิยบุตรได้สอบถามถึงการใช้อำนาจตรวจค้น ซึ่งต่อมาตำรวจได้ขอคุยกันเป็นการส่วนตัว

ชี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือการรวบอำนาจสู่ฝ่ายบริหารโดยสมบูรณ์ – คือรัฐประหารโดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ

ในการแถลงข่าว นายปิยบุตร ระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04.00 น. นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีการอ้างถึง 1. มีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย 3. มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน 4. มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และ 5. อ้างเหตุการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2558 อย่างไรก็ตาม การจะใช้คำว่า 'มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล' ได้ จะต้องมีข้อเท็จจริงนี้เกิดขึ้นก่อนจึงจะประกาศได้ ในการนี้ สื่อมวลชน ประชาชน และวิญญูชนทั้งหลายที่ได้เห็นเหตุการณ์คงใช้ดุลยพินิจพิจารณาได้เองว่า การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน มีเหตุอัควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงจริงหรือไม่ ซึ่งการกระทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวทีปราศรัย ผูกโบว์ขาว ยืนตรงชูสามนิ้ว ร้องรำทำเพลง เดินขบวนจากราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่มีอะไรเลยที่เป็นความรุนแรง ไม่มีการทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน

"แล้วเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา หากท่านจะซื่อสัตย์ต่อตนเอง ควรจะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ว่าที่เลือกมาตรา 11 เพราะท่านเองไม่พอใจ ไม่สบายใจ กับข้อเเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุม ไม่พอใจและไม่สบายใจกับการชุมนุมครั้งนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์คิดว่ากระทบต่อขบวนเสด็จ ไม่พอใจและไม่สบายใจที่การชุมนุมครั้งนี้อาจกระทบต่อตำแหน่งของท่าน นี่ต่างหากคือมูลเหตุที่ท่านเลือกใช้ประกาศนี้ ทั้งนี้ โดยหลัก สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าไม่เข้าไปแก้ไข ปรับปรุง เยียวยา ประเทศจะไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้ แต่มาจนถึงตอนนี้ประเทศยังไม่เสียหายอะไรเลย บ้านเมืองยังคงอยู่เหมือนเดิม การชุมนุมวันละ 2-3 ชั่วโมง ไม่ได้กระทบกับประเทศชาติ ไม่มีการบุกรุกสถานที่ราชการตรงไหน ที่สำคัญยังมีกฎหมายอื่นให้ใช้เต็มไปหมด ไม่ได้มีแค่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น หากเรายังยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบฟุ่มเฟือยเช่นนี้ต่อไป นานวันเข้า พล.อ.ประยุทธ์ย่อมสามารถใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้รวบยึดอำนาจสู่ตัวเองแต่เพียงผู้เดียว นี่คือการทำรัฐประหารในระบบที่ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจ แต่โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองแต่เพียงผู้เดียว" นายปิยบุตรกล่าว

ชี้กรณี "ขบวนเสด็จ" ข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้ชุมนุมตั้งใจเลี่ยง- ถามรัฐจงใจเปลี่ยนเส้นทางจนอาจเป็นชนวนปราบการชุมนุมหรือไม่

นายปิยบุตร ระบุว่า อีกปัญหาหนึ่ง คือเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว กฎหมายไทยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล สภาไม่มีอำนาจใดยับยั้งหรืออภิปรายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรตุลาการก็ยกเว้นอำนาจของศาลปกครอง บ้างอ้างว่าผู้ฟ้องไม่ถูกกระทบสิทธิ บ้างอ้างว่าเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ทั้งหลายเหล่านี้เองทำให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ ทั้งสิ้น จึงกลายเป็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ต้องถูกตรวจสอบ ประกาศใช้ขึ้นมา ทุกอย่างยกเว้นรัฐธรรมนูญไปหมด นอกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วยังมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ตั้งข้อหาที่มีโทษสูงเป็นความผิดร้ายแรง ล่าสุดคือการออกหมายจับนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 กรณีร่วมกันกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 16- 20 ปี ตามคำอธิบายตามตำราของ ศ.หยุด แสงอุทัย และ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ การกระทำประทุษร้ายต่อเสรีภาพ คือ ความผิดต่อเสรีภาพตามลักษณะ 11 ได้แก่ การข่มขืนใจหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว เมื่อมาพิจารณาดูเหตุการณ์ในวันนั้น ไม่มีการข่มขืนใจจนพระราชินีต้องกระทำการหรือไม่อาจกระทำการใดได้ ไม่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวพระราชินีใดๆ ทั้งสิ้น ประชาชนเพียงยืนชุมนุมรอบๆ แล้วชูสามนิ้ว ตะโกนบ้าง แต่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ เลยที่เป็นการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี

"หากย้อนทบทวนดูจะเห็นได้ว่า การชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน มีการประกาศบนเวทีว่าวันที่ 14 ตุลาคมจะมีการชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมเยาวชนปลดแอกก็ประกาศนัดหมายการชุมนุม วันที่ 8 ตุลาคมก็แถลงข่าวว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม แต่หากลองกลับมาพิจารณาช่วงเวลาในการมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินของพระราชินี เปิดเผยในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ว่าจะมีการเสด็จพระราชดำเนินในวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากนั้น จึงมีการเปลี่ยนหมายกำหนดการ จากเสด็จจากเวลา 17.00 น. เป็น 16.00 น. ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการกำหนดการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม กำหนดกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน จึงต้องให้ความเป็นธรรมว่าผู้ชุมนุม ที่ประกาศแล้วว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม แล้วจึงมีหมายกำหนดการตามออกมา อีกทั้งในวันชุมนุม แกนนำผู้ชุมนุมยังตัดสินใจเคลื่อนย้ายตนเองออกมาตั้งแต่ 14.00 น. ออกไปจากถนนราชดำเนิน ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง และใช้ความพยายามทุกวิถีทางหลีกเลี่ยง ในการเคลื่อนพลออกไปทำเนียบรัฐบาล แต่แล้วก็เกิดข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมา ที่สื่อมวลชนหลายสำนักยืนยันตรงกันได้ว่า ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าจะมีการเสด็จของพระราชินีผ่านทำเนียบรัฐบาลมาทางสะพานชมัยมรุเชษฐ ตำรวจเองยังไม่ทราบด้วยซ้ำ เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้ต้องการไปขัดขวางขบวนเสด็จ" นายปิยบุตร กล่าว

ย้ำต้องสืบสวนให้กระจ่างชัดในข้อเท็จจริง - ห่วงใช้เป็นข้ออ้างใส่ร้ายป้ายสีปลุกปั่นความโกรธให้ประชาชนเหมือน "6 ตุลา 19"

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมตั้งใจหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญกับขบวนเสด็จเสียด้วยซ้ำ ถ้าหากจะตั้งข้อกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสีเช่นนี้ สมควรที่จะต้องสืบสวนข้อเท็จจริงให้ชัดว่าที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลือกเส้นทางผ่านนางเลิ้งและสะพานชมัยมรุเชษฐ เจ้าหน้าที่ทราบมาก่อนหรือไม่ ทำให้เรื่องนี้กระจ่างชัดแล้วเราก็จะได้ข้อเท็จจริงออกมา ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 2-3 วันที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งและไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก คือผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง '6 ตุลา 19' ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมาฉายภาค 2 อีกครั้งหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้น เสมือนว่ามีคนบางกลุ่มต้องการให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก และต้องการเอาเรื่องขบวนเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นชนวน เพื่ออ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เหมือนการประกาศยึดอำนาจ อ้างดำเนินคดีข้อหารุนแรงกับประชาชน เอามาใช้ปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความโกรธแค้นกันเอง

"ผมอยากฝากให้สื่อมวลชน ประชาชน และผู้นิยมเจ้าที่มีเหตุผล อย่าให้ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดำเนินภาคสองอีก เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์มาต่อเนื่องยาวนาน เราควรมีเพื่อเป็นศูนย์รวมใจคนทั้งชาติ เป็นมรดกตกทอดในทางประวัติศาสตร์ มิใช่เพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งนำมาใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร ในการเข่นฆ่าประชาชนกันเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ควรตั้งอยู่และมีเพื่อให้คนได้รักตามศรัทธา ตามวิถีทางของแต่ละคน ไม่ใช่ต้องรักเพราะถูกบังคับตามตามแบบแผนที่กำหนดกันขึ้นมาเอง เราต้องยอมรับว่าประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์การเมืองไทยไปแล้ว นี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ว่าเราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้อยู่กับประชาธิปไตยได้อย่างไร ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ยกประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา หลายท่านที่ไม่เห็นด้วย ไม่พอใจ ตนต้องขอถามกลับไปว่าท่านไม่เคยตั้งคำถามหรือมีข้อสังเกต ฉุกคิด สงสัยเรื่องอะไรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยหรือ" นายปิยบุตร กล่าว

เสนอ 5 ข้อแก้วิกฤต เรียกร้องนายกลาออก-ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทันที-เปิดพื้นที่คุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะ

นายปิยบุตร กล่าวว่า เมื่อเรื่องมาถึงขนาดนี้ เราต้องยอมรับความจริง สร้างพื้นที่ให้กับการพูดคุย ซึ่งตนมีข้อเสนอทั้งหมดในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตินี้ 5 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1. ต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายเแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และยุติการดำเนินคดีผู้ชุมุมทั้งหมดทันที ยุติการรัฐประหารผ่านระบบกฎหมาย และสร้างบรรยากาศแห่งการทำรัฐธรรมนูญใหม่ไปด้วยกัน 2.ประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้ถูกจับกุม ทุกคนต้องรู้ว่าจะโดนข้อหาอะไร ถูกจับกุมที่ไหน ต้องรู้และมีสิทธิในการมีทนายความเข้าเยี่ยม 3. พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรเสียสละเพื่อประเทศไทยลาออกจากตำแหน่งเสีย เพราะท่านอยู่ในอำนาจมา 6 ปีนานเกินพอแล้ว นี่จะเป็นการทำคุณูปการครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย ตราบที่ท่านยังอยู่ในตำแหน่งประเทศนี้เดินต่อไปไม่ได้ 4. เรียกร้องไปยังศาลหรือองค์กรตุลาการ เมื่อใดที่รัฐบาลลุแก่อำนาจมากขึ้น ขอให้ท่านเป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และ 5. ต้องมีความพยายามช่วยกันในการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการอภิปราย ถกเถียง พูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจและตรงไปตรงมา เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่ประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้นักเรียนเยาวชนแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา มีวุฒิภาวะ ว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร

"มีแต่วิธีเหล่านี้เท่านั้นที่จะสามารถเป็นทางออกให้กับประเทศไทยได้ ท่านย่อมรู้ว่าเด็กสมัยนี้ ยิ่งท่านกด ยิ่งท่านห้าม ยิ่งปราบ พวกเขาก็จะยิ่งลุกขึ้นสุ้ ทำไมไม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดคุยกัน ทุกวันนี้มีแต่การราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟเพิ่มขึ้น วันหนึ่งจะเดินทางไปสู่จุดที่ไม่มีวันถอยกลับอีกแล้ว แล้วท่านจะเสียใจว่าทำไมไม่พูดคุยตั้งแต่ตอนนี้ ยิ่งท่านใช้กฎหมายเข้าปราบยิ่งไม่จบ ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้วหลายหน สุดท้ายก็ต้องกลับมาปรองดองอยู่ดี แล้วจะทำให้เสียหายไปทำไม บ้านเมืองของเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ยังพอมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ ถ้าร่วมมือกัน หยุดรัฐประหารผ่านการประกาศสถานกาณณ์ฉุกเฉิน หยุดระบอบ คสช. สืบทอดอำนาจ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อคนไทยทั้งผองจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ แล้วก็เลิกคิดได้แล้วว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง สาเหตุที่เขาออกมาวันนี้ก็เพราะคนรุ่นก่อนผมและคนรุ่นผมส่งสังคมที่แย่แบบนี้ให้พวกเขา ไม่มีใครอยากมาลำบากชุมนุม เสี่ยงตัวเองถูกดำเนินคดี แต่เพราะเห็นแล้วว่าปล่อยบ้านเป็นเมืองแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เราร่วมกันส่งมอบสังคมที่แย่ให้เขาไปแล้ว แต่วันนี้เรายังมีโอกาสที่จะร่วมมือกับเขาเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับเขา เหลือเพียงทางนี้เท่านั้น การใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงปราบปรามไม่อาจหยุดความขัดแย้งในครั้งนี้ได้" นายปิยบุตร กล่าว

'ปิยบุตร' แถลงอีกหลังคุย ตร. - ปลุกสื่อมวลชนยืนยันเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร

ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานว่า ต่อมาภายหลังการที่ตำรวจขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว นายปิยบุตรได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า การมาตรวจค้นครั้งนี้เจ้าหน้าที่อ้างตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย วัตถุสิ่งของผิดกฎหมายใดหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเมื่อมาดูแล้วไม่มีอะไร ก็ได้มีการทำบันทึก อ่านให้ทราบว่าตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และตนได้ลงนามรับทราบเรียบร้อยแล้ว จะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา หรือร้องทุกข์กล่าวโทษใดๆ ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อสังเกต กรณีการมาแบบนี้เรา สื่อมวลชน จะปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากข้อกำหนด ตามมาตรา 9 ประกอบ มาตรา 11 ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ข้อ 2นั้น ห้ามเสนอข่าวข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว บิดเบือนจนกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งข้อนี้ ในความเห็นของตนแล้วเป็นปัญหายิ่ง เพราะเปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างกว้างขวางมาก จนอาจทำให้ผู้มีอำนาจรัฐอาจใช้ปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ซึ่งภายใต้สถานการณ์แบบนี้ การให้ข้อมูลข่าวสารต้องเปิดเต็มที่ ให้ประชาชนรับรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอข่าวสารด้านเดียวหรือไม่

"ข้อความที่ว่าทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ที่ว่าบิดเบือนนั้นกว้างมาก เสรีภาพประชาชน เสรีภาพสื่อมวลชนจะอยู่ตรงไหน ซึ่งจะทำให้ทำงานกันอย่างยากลำบาก เช่น ย้อนแย้งมากกับการที่ตนกำลังแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา ซึ่งอย่างนี้ ถ้าตนพูดว่าไม่เห็นด้วยจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ดังนั้น อยากฝากรัฐบาล การใช้อำนาจตามข้อ 2 ต้องระวัง ต้องวางกรอบหลักเกณฑ์ให้ชัด ให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มิฉะนั้นจะเป็นการปิดกั้นข่าวสาร จะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ เพราะถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ บุคคลภายใต้อำนาจรัฐจะไม่กล้าใช้เสรีภาพนำเสนออะไรเลย สื่อมวลชนจะไม่กล้านำเสนออะไรเลย กลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ยิ่งใต้สภาวะการชุมนุมแบบนี้เรื่องดังกล่าวต้องไม่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันเรียกร้องรัฐบาล เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐ หากจะนำข้อ 2 ของข้อกำหนดนี้มาใช้ ต้องวางกรอบให้ชัดเจน และสำหรับเรา สื่อมวลชน ก็ต้องยืนยันว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงออก" นายปิยบุตร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net