iLaw ชี้ ตร.ไม่ทำตามหลักสากล-สถาบันสิทธิแถลง ตร.ละเมิดสิทธิชุมนุมโดยสงบ

หลังเหตุการณ์ตำรวจเข้าสลายชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ต.ค.2563 ไอลอว์และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลออกความเห็นต่อการสลายชุมนุมว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลแต่อย่างใดตามที่ตำรวจกล่าวอ้างในขณะสลายการชุมนุม

ไอลอว์อธิบายการสลายการชุมนุมที่มีการใช้โล่ กระบอง และรถฉีดน้ำ โดยใช้น้ำสีฟ้าฉีดสลับกัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนังที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า ตามหลักสากลสากลตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติมีการกำหนดตามข้อ 12 กว่าประชาชนมีสิทะิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีหลักว่า

1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น

2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้

นอกจากนั้นตามหลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจนว่า 

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ใช้เพื่อสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรง และไม่ควรใช้ยิงในระดับสูงในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บไม่เล็งไปที่บุคคลโดยเฉพาะ และยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมาอาทิ อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง

ส่วนการใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม และอากาศเกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก

อีกทั้งการใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัวอาเจียนหรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื่ออย่างเร่งด่วนที่สุด

ถ้าหากเป็นการใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวืต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

ทางด้าน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ระบุว่าการสลายการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนนี้เป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และเป็นเรื่องน่าอับอาย

แถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องว่าให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการหยุดยั้งผู้เห็นต่างทางการเมืองทุกกลุ่ม และเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้แสดงออก รัฐบาลควรเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ใส่ใจในข้อเรียกร้องของขบวนการเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมือง

แถลงการณ์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาอย่างจริงใจและยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน

เหตุการณ์การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ในค่ำวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณราชเทวี สยามและแยกปทุมวัน เป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลที่มีอำนาจอยู่แล้วมาแก้ปัญหาทางการเมืองร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่และมาตรการที่เกินความจำเป็นต่อสถานการณ์ เป็นสิ่งที่น่าอับอาย การกระทำดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเพราะปิดทางการเจราจาและหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการหยุดยั้งผู้เห็นต่างทางการเมืองทุกกลุ่ม

ในสถานการณ์ที่รัฐสภาไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้แสดงออก รัฐบาลควรเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ใส่ใจในข้อเรียกร้องของขบวนการเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันหาทางออกเพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นวิกฤติการเมืองครั้งนี้โดยไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ทุกฝ่าย

ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท