สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 11-17 ต.ค. 2563

เห็นชอบร่างแรกทิปรีพอร์ต ประจำปี 2563 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ 109 คดี

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 6/2563 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแรกของรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2563 แล้ว มีผลการดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ

ดังนี้ 1.ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายมีการนำเสนอสถิติการปราบปรามดำเนินคดีค้ามนุษย์ 109 คดี เป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจำนวนมากที่สุด 95 คดี การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยึดหลักผู้เสียหาย เป็นศูนย์กลางในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

2.ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ : พัฒนาระบบการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย และการเตรียมการรองรับการดูแลกลุ่ม ผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ การพัฒนา Mobile Application “PROTECT-U” เป็นช่องทางช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายและการแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์

3.ด้านป้องกัน : การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด

นางพัชรีกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจะนำร่างดังกล่าวรายงานเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรี และส่งให้สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดระดับประเทศ ไทยในรายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 ต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/10/2563

ประกันสังคมเยียวยาด้านสิทธิประโยชน์กรณีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัส

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังที่ได้มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางไปมอบสิทธิประโยชน์ทดแทนแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้าชนรถบัสขณะไปงานกฐินที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว จำนวน 6 รายได้แก่ เป็นค่าทำศพรายละ 50,000 บาท เป็นเงิน 300,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพรวม 70,888 บาท

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 370,888 บาท ณ วัดด่านสำโรง ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมด้วย

นายมิว เมียน นาย (Myo Myint Naing) ทูตแรงงานเมียนมาประจำประเทศไทย ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตและการจ่ายค่าทำศพให้แก่ญาติและครอบครัวของคนงานสัญชาติเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยจำนวน 6 คน ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้าชนรถบัสขณะไปงานกฐินที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทูตแรงงานเมียนมาฯ กล่าวอีกว่า รู้สึกปลื้มใจที่รัฐบาลไทยกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ทอดทิ้งคนงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ ในวันนี้จึงขอขอบคุณรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานที่ได้ให้การดูแลสิทธิประโยชน์ของพลเมืองชาวเมียนมาให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน แม้ว่าคนงานจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับในวันนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวญาติพี่น้องให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/10/2563

แรงงานข้ามชาติให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ ถูกนายหน้าเถื่อนเปิดเฟซบุ๊กหลอกต่อพาสปอร์ต

15 ต.ค. 2563 ที่สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นายสุชิน พึ่งประเสริฐ์ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จัดหางาน ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ สิทธิมงคล ผกก.สอบสวนสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณี แรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกนายหน้าเถื่อน เปิดเฟซบุ๊กว่า Peudearn Nanokok รับต่อพาสปอร์ตแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 5,000-12,000 บาทรวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 300,000 บาท มีแรงงานต่างด้าวเสียหายหลายพื้นที่ เบื้องต้นได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ สภ.คูคต สน.ราษฎร์บูรณะ และสน.บางเขน รวมทั้งได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ร้องทุกข์กระทรวงแรงงาน

ด้าน นายสุชิน พึ่งประเสริฐ์ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าคนที่รับงานบอกว่าเป็นตัวแทนของบริษัทโดยนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานภายในประเทศไทย โดยทางสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ได้ตรวจสอบแล้วว่าบุคคลดังกล่าว ไม่ใช่พนักงานของบริษัทนำเข้าแรงงานแต่อย่างใด ซึ่งผู้ที่จะทำงานในการนำเข้าแรงงานต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานเท่านั้น ทั้งนี้คนที่รับงานดังกล่าวมีการยึดพาสปอร์ตของแรงงานต่างด้าวไปจริง และไม่สามารถติดต่อได้ สมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว พร้อมสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี ได้พาแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหามาร้องเรียนตำรวจ

ส่วน พ.ต.อ.เจริญพงษ์ ขันติโล ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า อยากจะฝากประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานภายในประเทศไทย ให้ตรวจสอบดูให้แน่และชัดเจน ว่าโบกเกอร์ที่ประสานนำเข้าแรงงานนั้น เป็นโบกเกอร์ที่นำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องหรือไม่จะได้ไม่เกิดปัญหาลักษณะนี้ ในส่วนของกรณีแรงงานกลุ่มนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องไว้แล้ว และจะดำเนินการสอบปากคำ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 15/10/2563

เริ่มแล้ว ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป

15 ต.ค. 2563 ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานเปิดกิจกรรมการให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ผู้ประกันตน วันเริ่มให้สิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงอายุ 50 ปีขึ้นไป ในโรงพยาบาลประกันสังคมพร้อมกันทั่วประเทศ

นายสุเทพ กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมจึงจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้การคุ้มครองดูแลผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของประเทศในลักษณะของการป้องกันมากกว่าการรักษา และเพื่อลดขั้นตอนการคัดกรอง วินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยจัดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดปีละ 1 ครั้งโดยปี 2563 เริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ให้บริการได้ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 ส.ค. ของทุกปี

เลขานุการรมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า วันนี้ (15 ต.ค.63) เป็นวันแรก ที่สำนักงานประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตน กลุ่มเสี่ยงอายุ 50 ปีขึ้นไป เข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีอยู่ทั้งสิ้น 242 แห่ง ให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับขั้นตอนการขอรับบริการ ผู้ประกันตนสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา

หากสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา ไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมให้บริการ ให้แจ้งลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้าได้ที่ โทร.0 2956 2500 ถึง 2510 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แน่นอน เมื่อไปรับบริการตามวัน เวลา ที่ลงทะเบียนไว้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตน และพร้อมพัฒนางานด้านประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานปรัชญาการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้เกิด ความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/10/2563

ครม. อนุมัติหลักการเพิ่มค่าทำศพ-เงินสงเคราะห์ประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 40

วันที่ 12 ต.ค. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับปรุงอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนเกี่ยวกับเงินค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตาย สำหรับบุคคลซึ่งไม่ใช่ลูกจ้าง แต่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533

สำหรับอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนใหม่ที่ปรับปรุงเป็นดังนี้

- ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 บาท และเงินสงเคราะห์อัตราเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 8,000 บาท

- ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 40,000 บาท อัตราใหม่ 50,000 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประมาณการรายรับของกองทุนประกันสังคมจากการจัดเก็บเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563 รวมมีผู้ประกันตนทั้งหมด 3,353,939 คน จัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนในปี 2562 ได้จำนวน 1,557 ล้านบาท และเงินสมทบจากรัฐบาล 779 ล้านบาท มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ประจำปี 2562 จำนวน 200 ล้านบาท และเมื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในอัตราใหม่คาดว่าในปี 2563-2564 กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินค่าทำศพเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 77 ล้านบาท และเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นปีละ 93 ล้านบาท

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 12/10/2563

กสร.ขอความร่วมมือนายจ้าง ให้ลูกจ้างหยุดงาน 19-20 พ.ย. และ 11 ธ.ค.

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ก.ย.63 กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 19 และวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.63 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ และให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ จากเดิมคือ วันจันทร์ที่ 7 ธ.ค. 63 เป็นวันศุกร์ที่ 11 ธ.ค.63 ซึ่งจะทำให้มีวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน 4 วัน ดังนี้

- ตั้งแต่วันที่ 19-22 พ.ย.63

- ตั้งแต่วันที่ 10-13 ธ.ค.63

ทั้งนี้ กสร. จึงได้ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการภาคเอกชน กำหนดให้วันที่ 19-20 พ.ย. 63 และวันที่ 11 ธ.ค.63 เป็นวันหยุดเป็นกรณีพิเศษ หรือจัดให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพื่อให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดต่อเนื่อง และสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศตามมติ ครม.ดังกล่าว

นอกจากนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างด้วย หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร ทั้ง 10 พื้นที่ หรือสายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: TNN, 12/10/2563

“การบินไทย” เปิด “เออร์รีรีไทร์” 2 แพกเกจ ตั้งเป้าลดคน-หั่นค่าใช้จ่ายยืดสภาพคล่องถึง เม.ย.

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร 2 โครงการเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน สามารถยืดค่าใช้จ่ายออกไปเดิมที่จะมีถึงเดือน ธ.ค. 2563 ไปเป็นเดือน เม.ย. 2564

โดยโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร แพกเกจ A เป็นโครงการร่วมใจจากองค์กร ( Mutual Separation Plan : MSP A) ระยะเวลาโครงการ กำหนดรับสมัครวันที่ 15-31 ต.ค. 2563 ประกาศผล 20 พ.ย. 2563 มีผลบังคับ 1 ธ.ค. 2563 โดยมีเงื่อนไข คือ พนักงานทุกคนมีสิทธิสมัคร การอนุมัติต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลางและหลักเกณฑ์ของหน่วยงานเพื่อรักษา key person ไว้ รวมถึงอายุและผลประเมินการปฏิบัติการ ภาษีที่บริษัทต้องรับผิดชอบให้พนักงาน ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามกำหนดของบริษัท, กองทุนประกันสังคม ละเงินทดแทนการว่างงาน โดยประเมินเงินตอบแทนโครงการ จำนวน 2-14.33 เดือนตามกฎหมาย บวก 1 เดือน (จ่ายทุกเดือนเริ่ม ม.ค. 2564

ข้อดีของแพกเกจ A คือ สามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและประหยัดค่าใช้จ่ายบุคลากรในระยะยาว วางแผนการเงินได้ ส่วนพนักงานได้รับผลตอบแทนตามกฎหมาย ได้รับเงินรายเดือน ส่วนข้อเสียมีประเด็นเดียว คือ บริษัทฯ ยังคงมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไปอีกระยะหนึ่ง

โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร แพกเกจ B (Leave with out pay หรือ LWOP ระยะยาว+ MSP B) ระยะเวลาโครงการรอบ 6 เดือน ช่วง วันที่ 1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2564 ประกาศรับสมัคร 15-31 ต.ค. 2563 เป็นการขยายเงื่อนไข Together WeCan นับอายุงานต่อเนื่อง ได้รับเงินช่วยเหลือ 20% ของเงินเดือนปัจจุบัน ทุกเดือน (ไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ) ส่วนสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด ซึ่งจะมีข้อดีทำให้บริษัทประหยัดเงินได้ทันที พนักงานสามารถช่วยบริษัทได้ และมีโอกาสตัดสินใจเข้าโครงการ MSP B ส่วนข้อเสีย คือ ต้นสังกัดต้องวางแผนบุคลากรใหม่เพื่อไม่ให้กระทบการทำงานปกติ

สำหรับโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร MSP B : Mutual Separation Plan) รอบพิเศษ รับสมัคร 1-15 มี.ค. 2564 ประกาศผล 20 เม.ย. 2564 มีผลวันที่ 1 พ.ค. 2564 เงื่อนไขสำหรับพนักงานที่เข้าโครงการ LWOP ระยะยาว จนสิ้นสุดโครงการแล้วเท่านั้น การอนุมัติ ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์กลางและหลักเกณฑ์ของหน่วยงาน เพื่อรักษา key person ไว้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ เป็นไปตามที่บริษัทฯ และกองทุนประกันสังคมกำหนด ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน โดยเงินตอบแทนโครงการ จำนวน 2-14.33 เดือน ตามกฎหมาย บวก 4 เดือน (จ่ายทุกเดือนเริ่ม มิ.ย. 2564) ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบหเหน็จ (จ่าย พ.ค. 2564) เงินอื่นๆ (เริ่มจ่าย มิ.ย. 2564 เป็นงวดๆ) ข้อดี บริษัทฯ จะเคยชินกับแผนการทำงานใหม่และวางแผนจัดการด้านเงินได้ ส่วนพนักงานได้ผลตอบแทนมากกว่ากฎหมายได้รับเงินรายเดือน ส่วนข้อเสีย บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไปอีกระยะหนึ่ง

สำหรับพนักงานในกลุ่มนักบินบริษัท จะทำการ Recurrent เพื่อให้สามารถรักษาสถานะภาพใบอนุญาตการบิน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา พนักงานมีความร่วมมือร่วมใจ กันเป็นอย่างดี หาช่องทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายด้านต่างๆ โดยในส่วนของการลดรายจ่าย พนักงานการบินไทยประมาณ 1.7-1.8 หมื่น หรือประมาณ 80% ของพนักงานทั้งหมด 1.9 หมื่นคน ให้ความร่วมมือ โดยประมาณ 40-70% ร่วมลดเงินเดือน บางส่วนร่วมมือแบบหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสด สามารถใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม จากสภาพการบินระหว่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักจากปัญหาโควิด-19 แม้จะหารายได้จากส่วนอื่นก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อรักษากระแสเงินสดให้ได้ถึงเดือน เม.ย. 64 บริษัทฯ จึงออกโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เริ่มกลางเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจากการพูดคุยพนักงานบางส่วนก็พร้อมลาออกก่อนเกษียณ เพียงแต่ขอให้มีแพกเกจที่เหมาะสม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/10/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท