Skip to main content
sharethis

17 ต.ค. 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ระบุว่าตามที่รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความกังวลและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย แม้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมที่ต้องห้ามตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการที่ไม่สามารถละเมิดได้ (non-derogable) ของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน

กสม. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้

1. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยสงบซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขปัญหา

2. รัฐบาลไม่พึงใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนไม่กระทำการใดที่จะมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพ พัฒนาการ และความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองไว้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) 

3. รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติควรใช้กระบวนการของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง และให้หลักประกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทุกกลุ่มจะได้รับการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การยุติข้อพิพาทโดยเร็ว

4. รัฐบาลควรเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการ รวมทั้งดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมโดยสงบได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

5. การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง และดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ทั้งนี้ กสม. ขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้ความอดทนอดกลั้นและร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสันติเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

เกษตรกร คนจน ปลดแอก ออกแถลงการณ์กรณีสลายการชุมนุม 16 ต.ค.

กลุ่มเกษตรกร คนจน ปลดแอก เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และแรงงานไร้ทีดิน ที่ได้ประกาศเข้าการชุมนุมกับ กลุ่มคณะราษฎร์ (2563) เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 จำนวนกว่า 200 คน เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งหมด ของ คณะราษฎร (2563) 

ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ที่ แยกปทุมวัน มีเนื้อหากล่าวถึงอาวุธของตำรวจที่ใช้กับผู้ชุมนุมที่รุนแรง พร้อมทั้งมีการใช้สารเคมีที่สร้างการละคายเคืองแก่ร่างกาย ต่อการชุมชนนุมโดยปราศจากอาวุธของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ, การจับกุมตัวแกนนำ นักข่าว นักเรียน-นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 100 คน โดยปิดกั้นการเข้าถึงทนายความตามหลักการกระบวนการยุติธรรมพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิของทนายความที่เข้าช่วยเหลือด้านคดีความกับผู้ชุมนุมมากมาย เช่น การยึดโทรศัพท์ของทนายความ, การให้ผู้ชุมนุมมีทนายความได้เพียงคนเดียว ห้ามมีมากกว่า 1 คน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ป่าเถือและไร้ซึ่งมนุษยธรรม และขัดต่อหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ระบุให้ประชาชนมีสิทธิชุมนุมอย่างสงบได้

โดย เกษตรกร คนจนปลดแอก ได้มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1. ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน เปิดทางให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อแสดงออกทางการเมือง

2. ยกเลิกการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบสลายการชุมนุม

3. ยุติการจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหา ผู้ชุมนุมทุกคนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติทุกคดีทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและในอนาคต

4. ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่ผู้ชุมนุมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินโดยไม่มีเงื่อนไข

5. รัฐบาลต้องมีมาตราการปกป้องผู้ชุมนุมให้ได้รับความปลอดภัยในการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นทุกครั้ง โดยต้องไม่สลายการชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ

แถลงการณ์ "เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย" ประณามการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

ด้าน เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน พรรคการเมืองเล็ก ๆ ว่าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ สื่ออิสระและ ภาคประชาสังคม ที่เกิดการรวมตัวเครือข่ายผ่านการร่วมประชุมปรึกษาหารือระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค. 2563 ในกรุงเทพฯ

ขอประนามรัฐบาลไทยที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขั้นร้ายแรงในเขต กทม เพื่อให้โอกาสเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทำการล้อมปราบและกดดันสลายการชุมนุมของประชาชนมือเปล่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย มีการจับกุมผู้นำตั้งแต่ก่อนการชุมนุมไป และระหว่างการสลายการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคมมีการจับผู้นำการชุมนุมเพิ่ม ประชาชนจำนวนมากหลายหมื่นคนยังออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยปราศจากอาวุธและแม้ไม่มีผู้นำ เรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม รัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนโดยใช้ ตำรวจสลายฝูงชน ใช้รถฉีดน้ำแรงสูงผสมสารเคมี Methylene Blue ฉีดขับไล่ประชาชนและมีการจับกุมประชาชนมือเปล่าที่คัดค้านการสลายการชุมนุมไปหลายคนรวมทั้งมีการจับกุมสื่อมวลชนที่กำลังทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ในการชุมนุมไปด้วย

ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ทางตัน แม้ตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพยายามจะขอร้องให้รัฐยุติความรุนแรงต่อประชาชน ฟ้องศาลปกครอง เปิดประชุมสภา แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใดภายใต้สภานการณ์ฉุกเฉินขั้นรุนแรง

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ลาออก เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด

เราขอประณามและขอเรียกร้องให้

1. นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผู้ใดที่สั่งการอยู่เบื้องหลังต้องลาออกทันทีเพราะการอนุญาติให้กระทำความรุนแรง เป็นปฎิปักษ์ต่อประชาชนของตัวเองที่ปราศจากอาวุธจำนวนมากในจำนวนนั้นมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วย การชุมนุมของประชาชนที่จัดชุมนุมมากว่า 200 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จำนวนประชาชนที่ออกมาร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยมีจำนวนมากกว่าแสนคน นายกประยุทธจันทร์โอชาควรพิจารณาตัวเองในการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2. การสั่งการและการกระทำของรัฐที่อ้างว่าเป็นไปตามหลักสากลนั้นไม่ใช่ การสลายการชุมนุมต้องไม่ทำในตอนกลางคืนหรือเช้ามืด การประกาศใช้ พรบ ฉุกเฉินขั้นรายแรงใน กทม นั้นไม่ชอบตามหลักสากล เพราะไม่ใช่ภาวะการก่อการร้าย การสลายการชุมนุมของประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมตามหลักสากล

3. การจับกุมผู้สื่อข่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นการละเมิดหลักสากลอย่างรุนแรง

4. ประชาชนยังไม่ยอมยุติการเรียกร้อง มีการเชิญชุมนุมต่อเนื่องอีกในวันนี้ (17 ตุลาคม) และนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดต่างๆจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เป็นที่น่ากังวลว่าการชุมนุมและความรุนแรงจะบานปลายไปเป็นความรุนแรงทั้งประเทศ

5. มีการออกแถลงการณ์ของประชาชนทุกฝ่ายประนามการกระทำความรุนแรงของรัฐ และจากผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการชุมนุมอย่างสงบที่แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

6. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศควรออกมาแสดงบทบาทเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และควรยืนอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนควรเป็นองค์กรแรกที่ออกมาปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติ และการปกป้องผู้ถูกจับกุมโดยมิชอบจากรัฐบาล ตามแถลงการณ์ของกรรมการสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ในวันที่ 15 ตุลาคมกล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นรุนแรงเป็นไปเพื่อความจำเป็นในการระงับเหตุไปสู่ความรุนแรงนั้น เป็นการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลในการลิดรอนสิทธิของประชาชนพลเมือง ทางเครือข่ายภาคประชาชนฯพึงเรียกร้องให้กรรมการสิทธิมนุษยชนทบทวนบทบาทตนเองในภาวะที่รัฐเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ในขณะที่ประชาชนได้แสดงออกในการชุมนุมอย่างสันติ

ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นว่าสถานการณ์จะจบลงได้อย่างไร เพราะผู้นำประเทศไทยไม่มีความเข้าใจหลักการระหว่างประเทศและใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย

เช้ามืดวันที่ 17 ตุลาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net