ข้อเสนอเพื่อการถกเถียงว่าด้วยความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เงื่อนไขที่จะทำให้การประท้วงประสบความสำเร็จนอกจากมาจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้ประท้วงดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมาจากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย

บทความขนาดสั้นชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย การถกเถียงเรื่องนี้มีอยู่มากมายต้องเขียนเป็นบทความหลายชิ้นจึงจะครอบคลุม ในครั้งนี้ขอหยิบเอาข้อสรุปของ Micah White นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันมาพิจารณา White ในขณะที่ทำงานที่กองบรรณาธิการวารสารด้านวัฒนธรรมชื่อ Adbusters ในแคนาดาได้สร้าง #OCCUPYWALLSTREET เรียกร้องให้ผู้คนออกมาชุมนุม ส่งผลให้เกิดการชุมนุมในกว่าพันเมืองของ 80 ประเทศในเวลาต่อมา เขาสรุปบทเรียนของการประท้วงละลอกนั้นไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ 

ประการแรก เขาชี้ว่าในปัจจุบันรัฐมีบทเรียนในการรับมือกับการประท้วงเป็นอย่างดี ดังนั้น การต่อสู้จะประสบความสำเร็จได้ผู้ประท้วงต้องไม่ใช้ยุทธวิธีเดิม ๆ ที่มีแบบแผนที่ตายตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนทำตามบท หากทำเช่นนั้นยุทธวิธีจะไร้ค่า สูญเสียพลังในการปลุกเร้ามวลชน  รัฐรู้วิธีเอาชนะผู้ประท้วงโดยง่าย การประท้วงจะพ่ายแพ้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ผู้ประท้วงต้องมีการสร้างสรรค์ยุทธวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้รัฐคาดเดายาก ตั้งหลักไม่ทัน รับมือไม่ถูก ขบวนการประชาธิปไตยต้องไม่หยุดอยู่แค่การนำเอายุทธวิธีในอดีต (repertoire) มาใช้กับการต่อสู้ของตน หากแต่ต้องสร้างกระบวนทัศน์ (paradigm) ใหม่ของการต่อสู้ขึ้นมาให้ได้ กล่าวอย่างรวบรัดการประท้วงที่เยี่ยมที่สุดคือการประท้วงที่ไม่มีใครคาดเดาได้ 

ประการที่สอง ผู้ประท้วงต้องมีศรัทธาและความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายของการต่อสู้จะเป็นจริงได้ นั่นคือ ต้องมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงให้ได้ (to dream the impossible dream) ความคิดของ White ในประเด็นนี้ตรงกับแนวคิดการปลดแอกทางความคิด (cognitive liberation) ของทฤษฎีกระบวนการทางการเมืองที่เสนอโดย Doug McAdam การปลดแอกทางความคิดมีลักษณะเด่นสามประการคือ (1) ประชาชนที่เคยยอมรับอำนาจการปกครองหันมาเห็นว่าผู้ปกครองและระบอบที่เป็นอยู่ไม่ชอบธรรม (2) ประชาชนเอาชนะความคิดยอมจำนนที่ว่า ‘มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก’ แล้วหันมาเชื่อว่าโครงสร้างอำนาจในสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ (3) ประชาชนเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของพวกเขาเอง

ประการที่สาม การประท้วงจะประสบความสำเร็จเมื่อผู้ประท้วงพร้อมเสียสละ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง กล้าต่อสู้ถึงที่สุดจนบรรลุจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้

ประการที่สี่ ถึงแม้ว่า social media จะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ระดมผู้คน สร้างอารมณ์ร่วม ตลอดจนเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวในจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้อย่างทรงพลังในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่มันก็ไม่สามารถทดแทนการปฏิบัติการจริงของการชุมนุมได้ หากไม่มีการปฏิบัติการบนท้องถนนการประท้วงก็จะไม่มีพลังในการกดดันรัฐให้ทำตามข้อเรียกร้อง

ประการที่ห้า การสื่อสารผ่าน social media โดยระยะยาวแล้วอาจจะส่งผลลบต่อการต่อสู้ได้ มันอาจจะทำให้ผู้คนเลือกที่จะชมการประท้วงที่บ้านมากกว่าที่จะมาร่วมชุมนุมเพราะสะดวกสบายกว่า หากเป็นเช่นนั้นพลังการขับเคลื่อนของการประท้วงจะอ่อนแรงลง

ประการที่หก การใช้  social media ต้องไม่เสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ต้องไม่ปกปิดความเพลี่ยงพล้ำของตนเอง และต้องไม่ขยายความสำเร็จจนเกินจริง

ประการที่เจ็ด ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ชุมนุมจะมีความสำคัญแต่ก็ไม่ได้ชี้ขาดความสำเร็จของการชุมนุมเสมอไป ต้องมีเงื่อนไขที่เอื้ออื่น ๆ การเรียกร้องจึงจะประสบความสำเร็จ

เราอาจจะเพิ่มเติมได้ว่าเงื่อนไขที่จะทำให้การประท้วงประสบความสำเร็จนอกจากมาจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้ประท้วงดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมาจากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย

สิ่งบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่ว่านี้ประการแรกคือ ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วงรุนแรง มีงานวิจัยที่สำคัญเป็นจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมักจะประสบชัยชนะในภาวะที่รัฐบาลเผด็จการเผชิญหน้ากับวิกฤติทางเศรษฐกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ เอื้อต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ

ประการที่สอง เกิดวิกฤติทางการเมืองอันมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ การคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง การเกิดเรื่องฉาวโฉ่ อยุติธรรม ลำเอียงในวงการรัฐบาล ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘พลังเงียบ’ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมหันมาเข้าร่วมหรืออย่างน้อยก็ไม่คัดค้านฝ่ายต่อต้าน ยังผลให้ฝ่ายต่อต้านซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ขยายตัวเป็นขบวนการมวลชนที่ใหญ่โต ในขณะเดียวกันก็เกิดความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ชนชั้นนำ วิกฤติทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ถ้ามีความรุนแรงมากก็จะนำไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว

ประการที่สามคือการเกิดวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันหลักของประเทศ วิกฤติทั้งสามประการนี้เมื่อรวมกันเข้าก็จะนำไปสู่วิกฤติอย่างทั่วด้าน (organic crisis) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สุกงอมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทั้งระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท