Skip to main content
sharethis

รมต.กระทรวงดิจิทัลฯ รับมีประกาศ กอร.ฉ. ให้บล็อกสื่อ 4 เจ้า 1 เพจกิจกรรม พบสำนักข่าวทำผิดและอาจปิดถ้ามีคำสั่งศาล สื่อออนไลน์เตือนก่อนและดำเนินคดี ตอนนี้พบผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียกระทำผิดแล้ว 3 แสน URLs กำลังหาตัวบุคคลมาดำเนินคดี รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งขอคำสั่งศาลแล้วและแจ้งทุกเจ้าแล้ว อีก 15 วันต้องระงับไม่ดำเนินการตามจะแจ้งความ

19 ต.ค.2563 เดอะ รีพอร์ทเตอร์รายงานกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำการตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการหรือเผยแพร่ข้อมูลหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสำนักข่าว 4 แห่ง ได้แก่ Voice TV ประชาไท The reporters และThe STANDARD รวมถึงเพจของนักกิจกรรมคือ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH ซึ่งมีการออกอากาศที่มีเนื้อหากระทบความมั่นคง

เดอะ รีพอร์ทเตอร์รายงานว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่งว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด

ทั้งนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ซึ่งวันนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค. 2563 เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดประมาณ 300,000 URL โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลให้ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อไป พร้อมฝากเตือนประชาชนให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะห้ามยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก ดังนั้นหากมีการกระทำที่เข่าข่ายก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีที่ตำรวจประสานงานให้ตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ข่าวและช่องทางในการนัดหมายชุมนุม นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ในการแจ้งความดำเนินคดี จะมีสำนักข่าวที่เข้าข่ายความผิดด้วย แต่จะถึงขั้นปิดหรือไม่ต้องตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งหากมีคำสั่งศาลให้ปิดก็จะประสานให้ปิดทันที ส่วนสื่อดิจิทัลก็จะประสาน กสทช. ขณะที่สื่อออนไลน์ที่รายงานสถานการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็จะตักเตือนก่อน และจะดำเนินคดีต่อไป เบื้องต้นมีประมาณ 2-3 ราย ที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กออกอากาศ และเป็นสถานีข่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงฯ จะเก็บรวบรวมหลักฐานผู้กระทำความผิด ส่วนจะใช้กฎหมายฉบับใดก็จะพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็จะดำเนินการทันที พร้อมยืนยันทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

นายพุทธิพงษ์ ยอมรับว่าเอกสารคำสั่ง ผบ.ตร.ที่ให้ตรวจสอบสื่อเป็นของจริง แต่จะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงได้ติดตามทั้งสื่อและรายบุคคลอย่างระมัดระวัง และหากสิ่งใดไม่เข้าข่ายชัดเจน ก็ยังไม่ส่งดำเนินคดี ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชน ก็ย้ำว่า ไม่ได้ดำเนินคดีกับทึกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฏหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน

กระทรวงดิจิทัลขอคำสั่งศาลในการระงับ 5 สื่อออนไลน์

12.36 น. เดอะรีพอร์ตเตอร์ ยังรายงานถึงความเคลื่อนไหวของกระทรวงดิจิทัลฯ ไปขอคำสั่งศาลอีกว่า ภุชพงศ์  โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่ากระทรวงฯ ได้ยื่นขอคำสั่งศาลมาเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ หากทางพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ กอร.ฉ. มีคำสั่งให้ระงับทางกระทรวงก็พร้อมดำเนินการ ตามความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการดำเนินการสามารถทำได้ตั้งแต่ เรียกดูอุปกรณ์ ระงับการออกอากาศ และยึดอุปกรณ์โดยทันที ส่วนนักข่าวที่รายงานขณะนั้นต้องดูที่เจตนาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงได้ดำเนินการแจ้งไปยัง 5 สื่อแล้ว กำหนด ระยะเวลา 15 วันต้องระงับทันที หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดต่อพนักงานสอบสวน ปอท.

นอกจากนี้ทางกระทรวงได้ ตรวจสอบพบการกระทำความผิด ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนและเพจต่างๆ ระหว่างวันที่ 13-18 ต.ค.2563  พบว่า เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิดทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น Twitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Web board 4,236 เรื่อง รวมทั้งผู้โพสต์และผู้แชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย ยังพบว่า มีทั้งแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมือง และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมิเดีย เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pavin Chachavalpongpun นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง อีกด้วย ส่วนประชาชนที่แชร์และรีทวิตข้อความที่เข้าข่ายก็ถือว่ามีความผิดร่วมเช่นกัน แต่เจ้าหย้าที่จะดำเนินการกับผู้โพสต์คนแรกก่อน  รวมถึงจะตรวจสอบในกลุ่มไลน์และเทเลแกรม อีกด้วย

ตำรวจแจงประกาศระงับออกอากาศยังไม่บังคับใช้

ขณะเดียวกัน เดอะ รีพอร์ตเตอร์ รายงานอีกว่า พลตำรวจโทจารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่มีการบังคับใช้ เพียงให้สำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการตรวจสอบรายการบางส่วนของ Voice TV และ/หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Voice TV ประชาไท Prachatai.com The Reporters  THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH เนื่องจาก ได้รับการร้องเรียนว่า มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ยืนยัน ไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน หรือ สั่งปิดสื่อแต่อย่างใด เพียงเป็นการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อมูลที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น พร้อมกันนี้ ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสื่อ เพื่อตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ หากข้อมูลข่าวสารที่กระทบความมั่นคง ถ้าผู้กระทำเป็นบุคคล ก็จะเรียกมาตักเตือนก่อน แต่หากผิดกฎหมาย จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่หากเป็นข่าวปลอม ก็จะให้หน่วยงานที่มีอำนาจ ดำเนินการไปตามกฎหมาย

ด้าน พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการชุมนุม 3 พื้นที่หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกอโศก และถนนสุขุมวิท แยกอุดมสุข ถึงแยกบางนา โดยตำรวจจัดกำลัง 12 กองร้อย ดูแลความปลอดภัย

นอกจากนี้ ในช่วงการชุมนุมได้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดรวมแล้ว 74 คน ซึ่งจะนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย ส่วนผู้ที่ก่อความวุ่นวายบริเวณสุขุมวิท 103 ถึงแยกบางนา หลังมีเลิกการชุมนุมเมื่อวานนี้ จะมีการออกหมายจับ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมในวันนี้ เตรียมกำลังเบื้องต้นไว้ 12 กองร้อยเช่นเดิม โดยจะเน้นดูแลความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม ป้องกันมือที่สามสร้างความวุ่นวาย ส่วนการสลายการชุมนุม พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะเป็นผู้พิจารณาสั่งการ

ด้าน พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พบเพจข่าวออนไลน์ มีการนำคลิปเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม มาถ่ายทอดซ้ำ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ว่ามีเหตุปะทะกันอีกครั้ง ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน ก็จะมีการความแจ้งความดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ก่อนหน้านี้ กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวมัลติมีเดียของประชาไท ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 เวลา 21.25 น. ขณะทำข่าวตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในช่วงค่ำ และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่กองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค1) ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 300 บาท ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับในวันที่ 17 ต.ค.2563 เวลา 2.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net