“รถน้ำมาแล้ว” เฟคนิวส์ในระหว่างการชุมนุม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หนึ่งสิ่งที่เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนในการชุมนุมประท้วงของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนในครั้งนี้ก็คือรูปแบบการประท้วงที่มีความคล้ายคลึงกับม็อบฮ่องกง ทั้งการชุมนุมแบบดาวกระจายทั่วกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด หรือแม้แต่การเริ่มใช้การสื่อสารผ่านเทเลแกรม เพื่อปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นรูปแบบและวิธีการที่ม็อบฮ่องกงก็เคยใช้เช่นเดียวกัน

และในขณะเดียวกันม็อบไทยในขณะนี้ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกันกับม็อบฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อมูล ข่าว สถานการณ์ ภาพข่าว หรือการปล่อยเฟคนิวส์ ข้อมูลที่สร้างความสับสน ทั้งเพื่อการสร้างความสับสนแก่ผู้มาชุมนุม หรือการสร้างชุดข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อก่อให้เกิดภาพลักษณ์ความเสียหายแก่ผู้ชุมนุม ทั้งชุดข้อมูลเท็จที่ถูกแชร์โดยผู้ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการการชุมนุม หรือชุดข้อมูลที่เป็นเท็จที่ถูกแชร์เพราะคิดว่าเป็นความจริงจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนผู้ชุมนุมเอง

“รถน้ำมาแล้ว” การรับรู้ข่าวสารและข้อเท็จจริงในระหว่างชุมนุม

ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสไปร่วมชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา จากกประสบการณ์ตรงพบว่า ข้อมูลที่สร้างความสับสนเริ่มเกิดขึ้นอย่างมีความน่าสนใจ ในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงดึกของคืนวันที่ 19 กันยายน ที่เริ่มมีการวางกำลังปิดล้อมทางออกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ชุมนุมหรือผู้ที่ได้รับข่าวสาร แต่เหตุการณ์อาจจะยังไม่มีความตึงเครียดมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในวันนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์การบุกจับตัวแกนนำ หรือการสลายการชุมนุม (อย่างในวันที่ 17 ตุลาคม) จึงยังทำให้ประเด็นเรื่องข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริงของการเคลื่อนไหวฝ่ายรัฐ โดยกองกำลังตำรวจหรือทหารในระหว่างการชุมนุมนั้นยังไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและแม่นยำมากนัก หรือแม้กระทั่งในคืนวันที่ 14 ตุลาคม กับการชุมนุมบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลก็ตามที 

เหตุการณ์เรื่องข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 15 ตุลาคม กับการชุมนุมที่ราชประสงค์ ที่มาพร้อมด้วยข่าวคราวของกองกำลังทหารและรถน้ำที่แพร่สะพัดในแพลตฟอร์มออนไลน์ บ้างกล่าวว่าอยู่แยกปทุมวัน บ้างกล่าวว่าอยู่ฝั่งลุมพินี แต่ด้วยในวันนั้นมีการจัดตั้งเวที มีการใช้เครื่องเสียง มีการปราศรัยและมีแกนนำในการจัดการการชุมนุม ข่าวสารข้อมูลที่สร้างความสับสนนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการชุมนุมมากเท่าไรนัก

ในขณะที่การชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นวันที่มีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหลัง หลังวินาทีการสลายการชุมนุมไม่นานนัก มวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมในแยกปทุมวันเริ่มแตกกระจาย หลบหนีการสลายการชุมนุม ผู้เขียนเองได้รับการบอกกล่าวให้วิ่งไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องด้วยกองกำลังปราบปรามกำลังรุกพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ จนจะถึงแยกปทุมวันแล้ว (ก่อนที่จะเลี้ยวขวาไปทางราชเทวี) ในขณะนั้น มีการส่งข่าวกันทางช่องทางออนไลน์ว่าให้เข้าไปหลบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ 

เมื่อผู้เขียนสามารถเข้าไปถึงคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ก็เริ่มที่จะติดตามข่าวสารและสื่อสารกับผู้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์การสลายการชุมนุม ซึ่งข่าวสารที่ผู้เขียนได้รับจำนวนมากก็คือให้รีบออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีกองกำลังตำรวจพร้อมอาวุธ (กระสุนยาง) กำลังเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อจับตัวผู้ชุมนุม ในขณะที่เหตุการณ์จริงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น โดยเฉพาะในส่วนของคณะรัฐศาสตร์ มีการจัดการที่เป็นระบบระเบียบและมีความปลอดภัยดีมาก จนสุดท้ายผู้เขียนได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอาจารย์และนิสิตที่ขับรถยนต์ออกมาส่งผู้เขียนและผู้ชุมนุมคนอื่นที่เข้าไปหลบที่คณะรัฐศาสตร์ในจุดขนส่งมวลชน (MRT) ที่ปลอดภัย เพื่อเดินทางกลับบ้านได้ในที่สุด

การสื่อสารในม็อบไร้แกนนำ

ประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนนี้ ดูจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น ในวันชุมนุมแบบไร้แกนนำในวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งผู้เขียนเดินทางไปร่วมชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว นอกจากจะเป็นการชุมนุมโดยไร้แกนนำแล้ว ยังไม่การใช้เครื่องเสียง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารหรือทิศทางการชุมนุมอีกด้วย ในวันนั้นมีการใช้วิธีการการตะโกนบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ทั้งการตะโกนส่งต่อข้อมูลข่าวสาร หรือความช่วยเหลือ เช่น การขอร่ม หมวกกันน็อค หน้ากาก น้ำ ฯลฯ ซึ่งประสบความสำเร็จและกลายเป็นภาพที่งดงามอย่างที่ได้เห็นกันไปแล้ว

แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีการตะโกนบอกต่อกันว่า “รถน้ำมาแล้ว” “รถน้ำอยู่อารีย์แล้ว” รถน้ำอยู่สะพานควายแล้ว” “ตำรวจอยู่สวนจตุจักร” “ตำรวจอยู่สวนสมเด็จ” “ตำรวจอยู่ลาดพร้าวซอยห้า” ฯลฯ เป็นระลอก แม้การชุมนุมจะล่วงเลยไปเป็นชั่วโมงชุดข้อมูลนี้ก็ยังมีการตะโกนบอกต่อกันอย่างกึกก้องในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไป ก็ยังไม่พบว่ามีการเคลื่อนไหวใดๆ เช่น แม้จะมีการตะโกนบอกว่ารถน้ำอยู่สะพานควายแล้ว แต่อีกไม่นาน ก็มีการตะโกนบอกต่อกันใหม่ว่ารถน้ำอยู่อารีย์แล้ว 

ผู้เขียนเองปักหลักอยู่กลางม็อบ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว (แนวหน้าอยู่จตุจักร) และด้วยหน้าที่การงานที่มีความเกี่ยวข้องกับนักข่าว สื่อสารมวลชน และองค์กรอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคนที่เป็นทั้งนักข่าว หัวหน้าองค์กร หรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนอื่นๆ เป็นเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มสนทนาในห้องแชตเดียวกันที่สร้างไว้ขึ้นเพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสารและพูดกันกันในประเด็นต่างๆ (ขอไม่เอ่ยนามหน่วยงานหรือองค์กร) จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่มีการตะโกนบอกต่อกันในม็อบกับนักข่าว สื่อสารมวลชน หรือผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรุ๊ปแชตนั้นเป็นระยะ ซึ่งก็ได้รับคำตอบ พร้อมข้อมูลที่เชื่อถือได้ แหล่งข้อมูล ภาพถ่าย ช่วงเวลา ฯลฯ โดยตลอด และมีการยืนยันว่าไม่มีรถน้ำตามที่มีการตะโกนบอกต่อกันในม็อบ 

แต่ทุกครั้งที่มีการตะโกนเรื่องรถน้ำขึ้นมาใหม่ในม็อบ ผู้เขียนก็จะขอการตรวจสอบข้อมูลจากในกรุ๊ปนั้นตลอดเวลา และได้รับการยืนยันกลับมาเช่นเดิมว่าไม่มีรถน้ำ จนถึงเวลายุติการชุมนุม ซึ่งสุดท้ายก็ปรากฏว่าการชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคมที่ห้าแยกลาดพร้าวนั้น ไม่มีรถน้ำเดินทางมาประชิดกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุมจริงๆ 

การตรวจสอบและกระจายข้อมูลข่าวสารในระหว่างการชุมนุม

ผู้เขียนเข้าใจสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความตื่นตระหนก หวาดกลัว หวาดระแวงการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคมที่แยกปทุมวัน และในนัยหนึ่งก็คือการเตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ กับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุมด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นจากการสร้างข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักในการขับเคลื่อนส่งต่อข้อมูลข่าวสารในการชุมนุมครั้งนี้) ด้วยความไม่ตั้งใจและตั้งใจเพื่อก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวานของมวลชนในการมาร่วมชุมนุม (หรือแม้กระทั่งให้รู้สึกกลัวจนไม่มาร่วมชุมนุม หรือออกจากการชุมนุม) 

แต่ถึงอย่างนั้นเฟคนิวส์ หรือข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวานก็ควรจะได้รับการยืนยันตรวจสอบก่อนที่จะมีการสื่อสารกันด้วยการตะโกนบอกต่อๆ กันในม็อบอยู่ดี

ก่อนการชุมนุมวันที่ 18 ตุลาคม (ซึ่งผู้เขียนเดินทางไปร่วมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ผู้เขียนได้ทำการตกลงกับกลุ่มเพื่อนสื่อสารมวลชนและผู้ปฏิบัติการในเหตุการณ์ครั้งนี้ในกรุ๊ปการพูดคุย (ซึ่งไม่ได้เดินทางมาร่วมหรือมาทำข่าวในการชุมนุม) เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน โดยผู้เขียนจะเป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในม็อบเข้ากลุ่มเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ทางผู้ปฏิบัติการต่างๆ ตรวจเช็กและยืนยันกลับมา 

เมื่อเดินทางไปถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ พบว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมแบบไร้แกนนำอีกครั้ง และไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง (ในช่วงต้น) แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนพบกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มย่อยกลางม็อบที่มาพร้อมโทรโข่งและใช้โทรโข่งในการสื่อสารกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ผู้เขียนจึงเดินเข้าไปแนะนำตัว พร้อมบอกกล่าวในเรื่องที่จะทำ เพื่อป้องกันการสื่อสารข้อมูลที่สร้างความสับสน ซึ่งได้รับการตอบรับ โดยผู้เขียนจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลกับสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติการต่างๆ ในห้องแชต และนำข้อมูลที่สำคัญที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันแล้วมาบอกกล่าวผู้ชุมนุมที่มีโทรโข่งผู้นั้นเพื่อกระจายข่าวและข้อมูลแก่ผู้ที่มาร่วมชุมนุม 

โดยชุดข้อมูลแรกที่ได้รับและมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันแล้ว ก็คือเส้นทางการหลบหนีที่ปลอดภัย และเซฟโซนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือวัดบ้านซาเวียร์ ซึ่งในช่วงแรกเป็นไปด้วยดี 

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมในจุดนั้น ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มาก รัศมีไม่เกิน 10 เมตร ในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วผ่าน airdrop ไม่ว่าจะเป็นแผนที่การหลบหนี หรือข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งเรื่องกองกำลังตำรวจ ชุดปราบปราม หรือรถน้ำ

แต่ในขณะเดียวกันก็พบปัญหาว่า ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้ว และมีการกระจายต่อจากผู้เขียนไปยังผู้ชุมนุมที่มีโทรโข่ง (ซึ่งภายหลังเดินหายไปจึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้) การส่งผ่านข้อมูลผ่าน airdrop มีข้อจำกัด เพราะในขณะเดียวกันก็มีทั้งการส่งผ่านข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบปะปนมา หรือแม้กระทั่งผู้ที่ได้รับข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบ ยืนยัน หรือมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (เช่น iLaw หรือ ประชาไท) ไม่ส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นเพื่อกระจายเป็นวงกว้าง 

เพราะในขณะที่มีการส่งต่อข้อมูลโดยผู้เขียนและน้องๆ กลุ่มเล็กๆ ในบริเวณนั้นว่าพบรถน้ำจอดติดเครื่องอยู่ที่บริเวณคุรุสภาแต่ไม่มีการเคลื่อนไหว ในการชุมนุมก็ยังมีการตะโกนบอกว่ารถน้ำมาแล้ว รถน้ำมาแล้ว แม้ว่าชุดข้อมูลนั้น (ที่บอกว่ารถน้ำมาแล้ว) บางครั้งจะมาหยุดอยู่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณที่ผู้เขียนอยู่ และเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับชุดข้อมูลที่ตรวจสอบและยืนยันอีกแบบแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะสามารถหยุดการตะโกนสื่อสารว่า “รถน้ำมาแล้ว รถน้ำมาแล้ว” ได้ 

และด้วยจำนวนคนมหาศาล และไม่อาจรู้ได้ว่าต้นตอของการเริ่มตะโกนส่งต่อข้อมูลว่ารถน้ำมาแล้ว รถน้ำมาแล้วนั้นมาจากใคร จากจุดไหน และเขาคนนั้นได้รับข้อมูลมาจากไหน ตรวจสอบและเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ความพยายามในการสกัดข้อมูลที่อาจจะเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวาย และยังไม่ได้รับการตรวจสอบก่อนจะกระจายข้อมูลนั้น ประสบความสำเร็จเพียงพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น และก็ยังประสบปัญหาอยู่บ้าง ทั้งในเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการที่ผู้รับไม่ส่งต่อข้อมูลให้กระจายต่อ เพราะ airdrop นั้นสามารถส่งต่อข้อมูลในรัศมีไม่กวางมากนัก หากจะให้มีการแพร่กระจายข้อมูลจะต้องมีการได้รับและส่งต่อกันไปอีก 

นอกจากชุดข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยืนยันตรวจสอบที่มีการแพร่กระจายทั้งการตะโกนบอกต่อ หรือการใช้ airdrop ที่ทำให้ความพยายามในการสกัดข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวายของผู้เขียนและน้องๆ ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มเล็กกลางอนุสวารีย์ชัยฯ ในวันที่ 19 ตุลาคม ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ยังพบปัญหาที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นก็คือ การรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนที่รายงานเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในม็อบ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อน และเมื่อรายงานออกไป รายงานชิ้นนั้นก็วนกลับมาเป็นข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนในม็อบอีกที 

ยกตัวอย่างเช่น มีการตะโกนบอกต่อๆ กันในม็อบ เรื่องกองกำลังเจ้าหน้าที่และรถฉีดน้ำว่าอยู่บริเวณฝั่ง “ราชวิถี” แต่เมื่อไปถึงผู้ที่มีเครื่องกระจายเสียง กลับมีการพูดว่าอยู่ “ราชเทวี” (อาจจะฟังผิดหรือได้ยินไม่ชัด) แล้วสื่อก็นำไปรายงานว่าผู้ชุมนุมแจ้งว่ามีกองกำลังเจ้าหน้าที่และรถน้ำอยู่ที่ราชเทวี และข้อมูลจากการรายงานของสื่อนั้นก็วนกลับมาที่ม็อบอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ก็มีการตะโกนทั้งราชวิถี และราชเทวีสลับกัน

จนสุดท้ายเมื่อยุติการชุมนุม ก็ไม่ปรากฏกองกำลังเจ้าหน้าที่หรือชุดปราบปราม หรือรถน้ำแรงดันสูงในระยะประชิดที่พร้อมสลายการชุมนุม 

บทเรียนจากฮ่องกง

ประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนระหว่างการชุมนุม ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในการชุมนุมที่ไทยเท่านั้น แต่ในม็อบฮ่องกงที่ผ่านมาก็มีประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากการสื่อสารผ่านเทเลแกรม ซึ่งช่วยในการปิดบังข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ในเรื่องข่าวการข้อมูลที่สร้างความสับสนนั้น ม็อบฮ่องกงใช้วิธีการตั้งแต่ มีการให้เรตติ้งสำนักข่าวต่างๆ ที่ทำข่าวม็อบฮ่องกงว่าสำนักข่าวใด ให้ข้อมูล สื่อสารข้อมูลเหตุการณ์ได้น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดเรียงลำดับลงมา เพื่อให้ผู้ชุมนุมเลือกที่จะติดตามเพื่อการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงและไม่สร้างความสับสนวุ่นวาย แทนที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากตัวบุคคลที่อาจระบุตัวตนได้ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่อาจตรวจสอบยืนยันได้ ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างข้อมูลข่าวสารที่ทำให้สับสนวุ่นวายทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นอกจากนั้นม็อบฮ่องกงยังมีการใช้แอปพลิเคชั่น ซึ่งหลายคนเคยอาจจะทราบมาก่อนแล้ว กับการใช้แอปพลิเคชั่นบ่งบอกความเคลื่อนไหวของของกำลังตำรวจว่าอยู่ ณ จุดไหนบ้าง ซึ่งต่อมาแอปพลิเคชั่นนั้นถูกถอดออกจากแอปสโตร์ 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีการสร้างเพจหลักเพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร และเป็นศูนย์กลางเรื่องข้อมูลสื่อสารที่เชื่อถือได้ ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาแล้ว อย่างเพจ “Kauyim" ซึ่งเป็นภาษากวางตุ้ง แปลว่า “ตรวจสอบ" เป็นเพจที่คอยอัปเดตข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้วในช่วงระหว่างการชุมนุมประท้วง และยังคอยตรวจสอบและแจ้งเรื่องเฟกนิวส์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมประท้วงอีกด้วย ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1.2 แสนคน 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology พบว่า เฟกนิวส์ในช่วงการประท้วงนั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากกว่าข่าวสารข้อเท็จจริงที่ได้รับการยืนยันตรวจสอบแล้ว โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ในช่วงปี 2006-2017 พบว่าเฟกนิวส์แพร่กระจายเร็วกว่าข้อเท็จจริงที่ได้รับการยืนว่าว่าเป็นความจริงถึง 6 เท่าเลยทีเดียว

ม็อบครั้งต่อไปและการกระจายข่าวสารข้อมูล

ผู้เขียนเข้าใจว่า นี่คือการเริ่มต้นและการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และปัญหาเหล่านี้ก็คือหนึ่งในการเรียนรู้ที่เราจะต้องแก้ไขอย่างรวดเร็วพอๆ กันกับการไปร่วมชุมนุมอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การหาเครื่องมือในการสื่อสารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องพื้นฐานในการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลก่อนจะมีการแพร่กระจายข้อมูล จากนั้นจึงอาจจะเป็นการสร้างระบบการกระจายข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบ ยืนยันแล้วขึ้นมา เพื่อใช้กระจายข่าวสารข้อมูลและสกัดข่าวสารข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวาย เป็นระบบที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเป็นความร่วมมือของกลุ่มผู้ชุมนุมกับองค์กรสื่อสารมวลชนหรือกลุ่มผู้ปฏิบัติการอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้โมเดลในแบบฮ่องกง เพื่อสร้างการชุมนุมที่งดงาม ปลอดภัยและเราจะได้ไม่ต้องตะโกนว่า “รถน้ำกำลังมา” ตลอดเวลา (ถ้าเช็กแล้วว่ามันไม่มีรถน้ำจริงๆ นะ)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท